ตลาดเฟอร์นิเจอร์ในประเทศปี’55….อานิสงส์หลังน้ำลดดันยอดขายโตร้อยละ 7-10

เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน เป็นธุรกิจหนึ่งที่จะได้รับอานิสงส์หลังน้ำลด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ตลาดเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านในประเทศปี 2555 มีมูลค่าตลาดประมาณ 59,000 – 60,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7-10 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยความต้องการเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านใหม่ เพื่อทดแทนเฟอร์นิเจอร์ที่ชำรุดเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมจะเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยดันให้ยอดขายเฟอร์นิเจอร์ขยายตัวอย่างมาก นอกจากนี้ ตลาดเฟอร์นิเจอร์ฯ ยังได้รับปัจจัยหนุนจากนโยบายบ้านหลังแรก และการปรับกลยุทธ์ในการแข่งขันของผู้ประกอบการ ที่เน้นการขยายช่องทางการจำหน่าย ไปสู่รูปแบบร้านค้าปลีกที่ขายสินค้าเฉพาะเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน รวมทั้งพัฒนา/ปรับปรุงคุณภาพสินค้า และการให้บริการแก่ลูกค้า

วิกฤตอุทกภัยปลายปี’54….ผลกระทบต่อธุรกิจและสินค้าเฟอร์นิเจอร์ในประเทศปี 2554
มหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2554 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างครอบคลุมพื้นที่ทั้งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพและปริมณฑล โดยอุทกภัยได้สร้างความเสียหายให้กับธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ และสินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ตกแต่งภายในบ้านเรือน และอาคารสำนักงานต่างๆ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ วิกฤตอุทกภัยส่งผลให้ยอดขายเฟอร์นิเจอร์ในประเทศชะลอตัวลง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 4/2554 เนื่องจากเป็นช่วงที่ความเสียหายได้ขยายบริเวณลงมายังพื้นที่ภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ที่สำคัญของประเทศ (จากที่ปกติช่วงไตรมาส 4 จะเป็นช่วงฤดูขายของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์) โดยอุทกภัยส่งผลให้มูลค่าตลาดเฟอร์นิเจอร์ปรับลดลงจากที่คาดการณ์เมื่อช่วงต้นปี 2554 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าตลาดเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านในปี 2554 มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 55,000 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 3-4 (YoY)1 ทั้งนี้ มูลค่าตลาดที่ชะลอตัวลงเป็นผลมาจาก

  • ความต้องการซื้อเฟอร์นิเจอร์ฯ ของลูกค้าลดลง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่กำลังประสบอุทกภัย รวมทั้งกลุ่มลูกค้าที่อยู่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงที่อาจประสบภัย (เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล) ซึ่งมีความกังวลว่าเฟอร์นิเจอร์ฯ ที่ซื้อมาใหม่อาจได้รับความเสียหาย หากเกิดน้ำท่วม ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่ต้องชะลอการซื้อเฟอร์นิเจอร์ออกไป
  • ปริมาณการผลิตเฟอร์นิเจอร์ลดลง เนื่องจากมีพื้นที่โรงงานบางแห่งได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ประกอบกับแหล่งวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ โดยเฉพาะร้านค้าไม้ ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม นครสวรรค์ และอยุธยา ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการจำหน่าย การกระจายไม้ และการลำเลียงไม้จากภาคเหนือและกลาง ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจนไม่สามารถเปิดกิจการและส่งสินค้าได้ ทำให้โรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ต้องหยุดการผลิตชั่วคราวหรือลดปริมาณการผลิตลง
  • ช่องทางการจัดจำหน่ายลดลง เนื่องจากบริษัทตัวแทนจำหน่าย โชว์รูมและร้านค้าเฟอร์นิเจอร์จำนวนมากถูกน้ำท่วมพื้นที่ขายและคลังสินค้า ทำให้ต้องปิดกิจการชั่วคราว
  • ปัญหาทางด้านเส้นทางการจราจร/ขนส่ง จากการที่ถนนหลายเส้นทางมีน้ำท่วมสูงจนไม่สามารถเปิดการจราจรได้ จึงเป็นอุปสรรคแก่การเดินทางของลูกค้า การขนส่งสินค้าให้กับลูกค้าหน้าร้านและลูกค้าที่สั่งซื้อสินค้าออนไลน์
  • สินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ตกแต่งบ้านเรือน และอาคารสำนักงาน คาดว่าจะได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมจำนวนมาก เนื่องจาก

  • อุทกภัยสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างแก่บ้านเรือน อาคารสำนักงาน ร้านค้าและกิจการต่างๆ ของประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพ ปริมณฑล และเทศบาลต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย โครงการบ้านจัดสรรจำนวนมาก รวมทั้งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ โดยจากเหตุอุทกภัยในครั้งนี้ ได้สร้างความเสียหายแต่บ้านเรือนมากกว่า 7 แสนหลังคาเรือน2 และคาดว่าจะส่งผลให้เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ตกแต่งที่อยู่ภายในอาคารบ้านเรือนดังกล่าว ได้รับความเสียหายด้วยเป็นจำนวนมาก
  • ความนิยมใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้ในการตกแต่งบ้าน โดยส่วนใหญ่ตลาดเฟอร์นิเจอร์ในประเทศมีการผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ในสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 60 ของการผลิตเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าในประเทศ เนื่องจากเฟอร์นิเจอร์ไม้มีความสวยงาม ไม้ที่ใช้เป็นวัตถุดิบบางชนิดมีราคาไม่สูงมาก และเป็นวัตถุดิบที่ยังคงสามารถหาได้ภายในประเทศ
  • นอกจากนี้ ไม้ที่ใช้ผลิตส่วนใหญ่จะเป็นไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้ยางพารา ไม้แผ่นเรียบ (ปาร์ติเคิ้ล บอร์ด และเอ็มดีเอฟ บอร์ด) ซึ่งจะไม่ทนน้ำ บวมและชำรุดได้ง่าย เมื่อโดนน้ำและแช่ในน้ำเป็นเวลานาน ทำให้เฟอร์นิเจอร์ที่โดนน้ำท่วมส่วนใหญ่ได้รับความเสียหาย

    ตลาดเฟอร์นิเจอร์ปี 2555…..ธุรกิจรับอานิสงส์หลังน้ำลด
    แม้ว่าอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554 จะส่งผลให้ยอดขายเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านปลายปี 2554 ชะลอลง แต่ผลกระทบดังกล่าวเป็นเพียงผลกระทบระยะสั้นต่อธุรกิจ และคาดว่าตลาดเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านจะฟื้นตัวภายหลังจากช่วงน้ำลดประมาณ 1-3 เดือน หลังจากที่ประชาชนซ่อมแซมและทำความสะอาดบ้านเรือน ทั้งนี้ ความต้องการเฟอร์นิเจอร์ใหม่เพื่อทดแทนเฟอร์นิเจอร์ที่ชำรุดเสียหายจากน้ำท่วมจะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยดันให้ตลาดเฟอร์นิเจอร์ในปี 2555 ขยายตัว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า มูลค่าตลาดเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านในปี 2555 มีมูลค่าตลาดประมาณ 59,000 – 60,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7-10 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยได้รับแรงหนุนจากปัจจัยบวกสำคัญ ดังต่อไปนี้

  • ความต้องการเฟอร์นิเจอร์ใหม่ เพื่อทดแทนเฟอร์นิเจอร์ที่ชำรุดเสียหายจากน้ำท่วม จะเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นให้ตลาดเฟอร์นิเจอร์ในปี 2555 ขยายตัวอย่างมาก เนื่องจากวิกฤตน้ำท่วมได้สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือน รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ตกแต่งภายในบ้านเรือน อาคารสำนักงาน และร้านค้าต่างๆ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มที่อยู่อาศัยแนวราบ (บ้านเดี่ยว/แฝด และ ทาวน์เฮ้าส์) ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีสัดส่วนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากถึงร้อยละ 54.78 ของจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนทั้งหมด
  • อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์น้ำท่วม อาจส่งผลให้ปัจจัยในการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ของลูกค้า โดยเฉพาะในกลุ่มบ้านเดี่ยว/แฝด และทาวน์เฮ้าส์ เปลี่ยนแปลงไป โดยอาจจะให้ความสำคัญกับเฟอร์นิเจอร์ที่ทนน้ำ หรือสามารถถอดและขนย้ายได้สะดวก

  • นโยบายรัฐบาลที่ช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ และเพิ่มการถือครองที่อยู่อาศัยของประชาชน ได้แก่ โครงการบ้านหลังแรก3 และโครงการสินเชื่อบ้านหลังแรก 0% ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)4 ทั้งนี้ หากภาวะเศรษฐกิจหลังน้ำลดสามารถฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติได้อย่างรวดเร็ว คาดว่านโยบายดังกล่าวจะช่วยให้การซื้อบ้านและที่อยู่อาศัย (การโอนกรรมสิทธิ์) ในปี 2555 มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จากเดิมซึ่งการโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในปี 2554 มีทิศทางที่ชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมีเนียมยังคงเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีการซื้อขายในสัดส่วนที่สูง (มีการโอนกรรมสิทธิ์มากถึงร้อยละ 38.74 ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2554) จึงมีแนวโน้มที่เฟอร์นิเจอร์สำหรับตกแต่งคอนโดมีเนียม ที่เน้นการออกแบบเพื่อประหยัดพื้นที่ใช้สอย จะมีความต้องการเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
  • การปรับกลยุทธ์ในการแข่งขันของผู้ประกอบการในตลาดเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ตลาดเฟอร์นิเจอร์ในประเทศคึกคักมากขึ้น นอกจากนี้ อาจจะส่งผลให้พฤติกรรมการเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ของคนไทยค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต จากปัจจุบัน ลูกค้าที่ซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่ส่วนใหญ่ซื้อเพื่อทดแทนที่ชำรุด หรือมีความต้องการใช้ใหม่ (ซื้อบ้านใหม่ ต่อเติมพื้นที่บ้านใหม่) ส่วนกลุ่มลูกค้าที่นิยมเปลี่ยนชุดเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านยังมีจำนวนน้อยมาก และมีความถี่ที่ไม่บ่อยมากนัก
  • สำหรับทิศทางการปรับกลยุทธ์การแข่งขันหลักๆ ที่จะเกิดขึ้นในธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ปี 2555 มีดังนี้

    การขยายช่องทางการจัดจำหน่าย

  • ธุรกิจขนาดใหญ่ จะเน้นการขยายสาขา ในรูปแบบของธุรกิจร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ที่ขายเฉพาะเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน โดยส่วนใหญ่จะเปิดสาขาบริเวณย่านที่อยู่อาศัยชานเมือง ใกล้กับโครงการบ้านจัดสรร คอมมูนิตี้มอลล์ และห้างค้าปลีกโมเดิร์นเทรดต่างๆ อีกทั้งยังมีการขยายร้านสาขาในห้างสรรพสินค้าทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด นอกจากนี้ มีการขยายช่องทางการจำหน่ายไปยังลูกค้าธุรกิจ เช่น กลุ่มบ้านจัดสรร คอนโดมีเนียม
  • ธุรกิจขนาดเล็ก นอกจากจะจำหน่ายสินค้าผ่านทางหน้าร้านของตนเองแล้ว ผู้ประกอบการบางรายยังหันมาขยายช่องทางการขายไปยังห้างค้าปลีกโมเดิร์นเทรด เปิดบูทตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ รวมทั้งรับจ้างผลิตสินค้าตามแบบของผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ ที่เข้ามาเปิดร้านค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ในประเทศ
  • พัฒนาคุณภาพสินค้า โดยผู้ผลิตเน้นการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น จำแนกเป็นรูปแบบและชุดต่างๆ เพื่อตอบสนองรสนิยมของกลุ่มผู้บริโภคที่แตกต่างกัน เช่น สไตล์วินเทจ สไตล์คลาสสิค และสไตล์โมเดิร์น นอกจากนี้ ยังออกแบบให้เหมาะกับการใช้งานเฉพาะกลุ่ม เช่น เฟอร์นิเจอร์ที่เน้นประหยัดพื้นที่ใช้สอยและพื้นที่จัดเก็บ สำหรับอาคารชุด/คอนโดมีเนียม เป็นต้น

    พัฒนาการให้บริการ โดยเน้นการสร้างความสะดวกสบายและความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าในการซื้อสินค้า เช่น เปิดให้บริการซื้อขายสินค้าออนไลน์ พร้อมบริการจัดส่ง สำหรับกลุ่มลูกค้าต้องการความสะดวก รวดเร็ว และไม่มีเวลาเลือกซื้อสินค้า หรือเปิดโชว์รูม/ร้านค้าขนาดใหญ่ให้ลูกค้าได้เลือกซื้อ เห็นและสัมผัสสินค้าจริงเพื่อสนองตอบความพอใจของกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบการช๊อปปิ้ง นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาบริการต่างๆ เช่น การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ตามความต้องการของลูกค้า บริการซ่อมเฟอร์นิเจอร์

    การปรับตัวของผู้ประกอบการปี’55…..เพื่อรองรับแนวโน้มการขยายตัวของตลาดและการแข่งขันที่รุนแรง

    สำหรับแนวทางเพื่อรับมือกับการขยายตัวของตลาดเฟอร์นิเจอร์ช่วงหลังน้ำลด และการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรงของตลาดเฟอร์นิเจอร์ในปี 2555 ผู้ประกอบการควรเร่งดำเนินกลยุทธ์ในการขยายตลาดเชิงรุก ต่อไปนี้

    กลยุทธ์ทางด้านการผลิต
    ปรับปรุงคุณภาพสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าหลังน้ำลด คาดว่าหลังจากน้ำลด กลุ่มลูกค้าบางส่วนจะเริ่มคำนึงถึง “คุณสมบัติในการทนน้ำ” ในการเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่พักในที่อยู่อาศัยแนวราบ (บ้านเดี่ยว/แฝด ทาวน์เฮ้าส์) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมค่อนข้างมาก โดยคาดว่าทิศทางความต้องการเฟอร์นิเจอร์หลังน้ำลดของกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-ล่าง และระดับบน แตกต่างกันดังนี้

  • กลุ่มลูกค้าระดับกลาง-ล่าง : เป็นกลุ่มที่เน้นการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ตามประโยชน์ของการใช้สอย และราคา อาจมีแนวโน้มจะเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตจากวัสดุที่ทนน้ำมากขึ้น อาทิ เหล็ก อลูมิเนียม และพลาสติก
  • กลุ่มลูกค้าระดับบน : เป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับประโยชน์ใช้สอยและความสวยงามของเฟอร์นิเจอร์ คาดว่ายังคงเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้ และหนังเป็นวัสดุหลัก แต่อาจต้องการการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่มีส่วนประกอบของวัสดุทนน้ำ เช่น การใช้หล็ก หรือพลาสติกแข็งคุณภาพสูง เป็นฐานรองด้านล่าง นอกจากนี้ ลูกค้าอาจต้องการการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่คล้ายกับการติดตั้งเฟอร์นิเจอร์แบบ Build-in แต่สามารถถอดเคลื่อนย้ายได้
  • นอกจากนี้ ผลจากน้ำท่วมอาจส่งผลให้คนจำนวนไม่น้อย หันมาสนใจอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารชุด/คอนโดมีเนียม จึงมีแนวโน้มที่ความต้องการเฟอร์นิเจอร์สำหรับคอนโดมีเนียมจะมีเพิ่มมากขึ้น โดยเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งคอนโดฯ ควรจะเน้นความทันสมัย และประหยัดพื้นที่ใช้สอย

  • ให้ความสำคัญกับการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงการลอกเลียนแบบ และปรุงปรุงสินค้าให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า และเหมาะกับการใช้สอย เพื่อสร้างความสะดวกสบายและความพึงพอใจของกลุ่มลูกค้า โดยการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ใหม่ (ทั้งสีและรูปทรง) ควรปรับปรุงโดยอาศัยข้อมูลจากการสำรวจตลาดและความพึงพอใจของกลุ่มลูกค้าเป็นหลัก
  • เพิ่มรูปแบบการให้บริการก่อนและหลังการขาย จากความนิยมเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ Build-in ในกลุ่มลูกค้าระดับบน (กลุ่มบ้านเดี่ยว และทาวน์โฮม) นอกจากผู้ผลิตจะเพิ่มโอกาสทางการขายในการให้บริการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่คล้ายกับการติดตั้งเฟอร์นิเจอร์แบบ Build-in แต่สามารถถอดและเคลื่อนย้ายได้ ผู้ประกอบการควรเพิ่มบริการเสริมหลังการขาย ในอัตราค่าบริการพิเศษ สำหรับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการเคลื่อนย้ายและหาที่จัดเก็บเฟอร์นิเจอร์ชั่วคราว
  • กลยุทธ์ทางด้านการตลาด

  • จัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย เพื่อกระตุ้นตลาด และดึงดูดกลุ่มลูกค้า ที่คาดว่าจะมีความต้องการซื้อเฟอร์นิเจอร์จำนวนมาก ภายหลังช่วงน้ำลด โดยอาจจะจัดโปรโมชั่นราคาพิเศษสำหรับชุดเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งห้องในราคาประหยัด รวมทั้งให้ส่วนลดแก่ลูกค้าที่ต้องการปรับเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ภายในชุดที่ลดราคา และให้ส่วนลดพิเศษเพิ่มเติมสำหรับลูกค้าที่ซื้อเฟอร์นิเจอร์จำนวนมาก นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอาจจะจัดโปรโมชั่นร่วมกับบริษัทบัตรเครดิตต่างๆ อาทิเช่น รับส่วนลดพิเศษเพิ่มเติม และเพิ่มทางเลือกในการชำระสินค้าแบบระบบเงินผ่อนไม่เสียอัตราดอกเบี้ย หรืออัตราดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น
  • เร่งประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการ ผู้ประกอบการควรเร่งทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าและการให้บริการ หลังจากที่ทางบริษัทได้มีการปรับปรุง/พัฒนาสินค้าและรูปแบบการให้บริการ รวมทั้งเมื่อมีการปรับโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย เพื่อสร้างความรับรู้แก่กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
  • ขยายช่องทางการจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ไปยังกลุ่มลูกค้าธุรกิจมากขึ้นเนื่องจาก การซื้อบ้านและที่อยู่อาศัยใหม่ ผ่านโครงการบ้านจัดสรร/บริษัทอสังหาริมทรัพย์ (ในราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท) จะมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นในปี 2555 เพราะการซื้ออสังหาริมทรัพย์ประเภทดังกล่าว จะได้รับสิทธิ์การหักลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามเงื่อนไขของนโยบายบ้านหลังแรก ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการในธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ ควรที่จะร่วมมือ/เป็นพันธมิตรกับโครงการบ้านจัดสรร/บริษัทอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเพิ่มช่องทางในจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์พร้อมใช้ควบคู่ไปกับบ้านและที่อยู่อาศัย
  • โดยสรุป แม้ว่าวิกฤตอุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศ จะส่งผลให้ยอดขายเฟอร์นิเจอร์ในช่วงสุดท้ายของปี 2554 ชะลอลง แต่ผลกระทบดังกล่าวจะเป็นเพียงผลกระทบในระยะสั้น และคาดว่าแนวโน้มความต้องการเฟอร์นิเจอร์ในช่วงหลังน้ำลดจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับอานิสงส์มาจากความต้องการเฟอร์นิเจอร์ใหม่เพื่อทดแทนเฟอร์นิเจอร์เก่าที่ชำรุดเสียหายจากน้ำท่วมไปเป็นจำนวนมาก โดยความต้องการเฟอร์นิเจอร์ใหม่เพื่อทดแทนที่เสียหายจากน้ำท่วม จะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยกระตุ้นตลาดเฟอร์นิเจอร์ในปี 2555 โดยเฉพาะกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งที่อยู่อาศัยแนวราบ เช่น บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ และทาวน์โฮม นอกจากนี้ ยังได้รับปัจจัยเสริมจากนโยบายบ้านหลังแรก และการปรับกลยุทธ์ในการแข่งขันของผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า และพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการให้สอดคล้องตามความต้องการของลูกค้า ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ตลาดเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านในปี 2555 มีมูลค่าตลาดประมาณ 59,000 – 60,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7-10

    แนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการ เพื่อรองรับกับแนวโน้มการขยายตัวของตลาดและการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรง ผู้ประกอบการควรเร่งดำเนินกลยุทธ์ทางด้านการผลิต โดยปรับปรุงคุณภาพสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปภายหลังจากที่น้ำลด เช่น อาจจะมีความต้องการเฟอร์นิเจอร์ที่มีคุณสมบัติกันน้ำ/ทนน้ำ เฟอร์นิเจอร์ที่สามารถถอดเคลื่อนย้ายได้ง่าย หรือเหตุการณ์น้ำท่วมอาจจะมีผลให้คนหันไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารชุด/คอนโดมีเนียมเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งคอนโดมีเนียมมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการออกแบบสินค้าใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น และปรับปรุงการให้บริการทั้งก่อนและหลังการขาย เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความประทับให้แก่ลูกค้า สำหรับกลยุทธ์ทางการตลาด ควรจัดโปรโมชั่นลดราคาพิเศษ และจัดโปรโมชั่นร่วมกับบริษัทบัตรเครดิต ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการเพื่อสร้างความรับรู้แก่กลุ่มลูกค้า นอกจากนี้ ควรขยายช่องทางการจัดจำหน่ายไปยังกลุ่มลูกค้าบริษัท (โครงการบ้านจัดสรรและบริษัทอสังหาริมทรัพย์)