สนุกดอทคอมเปิดตัว Dealfish.co.th แหล่ง/พื้นที่พบปะซื้อ-ขายสินค้าและบริการออนไลน์ที่เน้นการเชื่อมโยงระหว่างบุคคลกับบุคคลหรือ (P2P) ตามพื้นที่ในประเทศไทย เพียงไม่กี่ขั้นตอนคุณสามารถประกาศขายสินค้าหรือค้นหาสิ่งที่ต้องการตามหมวดหมู่การจัดกลุ่มประเภทที่ได้รวม ไอที เครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป ไลฟ์สไตล์ แฟชั่น ยานยนต์ อสังหาริมทรัพย์ อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน และอื่นๆ อีกมากมาย Dealfish.co.th พร้อมแล้วที่จะขับเคลื่อนการซื้อ-ขายแบบ P2P เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซที่มีการคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้
นายทิวา ยอร์ค กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ บริษัทสนุก ออนไลน์ จำกัด เปิดเผยว่า “บริการ Dealfish.co.th คือแหล่ง/พื้นที่พบปะซื้อ-ขายสินค้าและบริการออนไลน์ที่มีวิวัฒนาการมาจากสนุก! คลาสสิฟายด์ ผู้ใช้บริการสามารถเข้ามาประกาศสิ่งที่ต้องการขาย พร้อมระบุราคาและตำแหน่งที่อยู่ของสินค้าได้ง่ายๆ ในเพียงไม่กี่ขั้นตอน”
“ด้วยประสบการณ์ที่ได้จากสนุก! คลาสสิฟายด์ บริการประกาศซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ชั้นนำในประเทศไทย เราพบว่าผู้ใช้บริการในเว็บไซต์ของเราเลือกซื้อ-ขายสินค้า ที่อยู่ในท้องที่ของตนเอง ด้วยการใช้รูปแบบการจัดสรรตามพื้นที่ เราสามารถเชื่อมต่อพวกเขาเหล่านั้นกับสิ่งของที่เขาต้องการได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถจัดสรรกลุ่มลูกค้าที่เป็นเป้าหมายให้กับผู้ขาย และนำเสนอสินค้าและบริการให้ตรงกับผู้ซื้อได้ดีมากยิ่งขึ้น” นายทิวากล่าว
สนุก! ยังคาดการณ์ว่าในปี 2555 นี้ มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซจะมีการขยายตัวไม่ต่ำกว่า 40-50% เพิ่มขึ้นจากการซื้อ-ขายออนไลน์เมื่อปีที่ผ่านมา โดยตัวเลขที่สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุตัวเลขการซื้อขายออนไลน์ในปี 2553 มีมูลค่า 6,770 ล้านบาท
“Dealfish.co.th สร้างความแตกต่างให้กับตัวเอง ด้วยการนำเสนอรูปแบบพื้นที่พบปะซื้อ-ขายออนไลน์ ที่สะดวก รวดเร็ว และให้ความสำคัญกับแหล่งที่อยู่อาศัยของผู้ใช้บริการ ทั้งในกรุงเทพฯ และยังขยายสู่พื้นที่ในต่างจังหวัดอีกด้วย เพราะเราเชื่อว่าโดยส่วนใหญ่ผู้ใช้บริการจะมองหาผู้ซื้อและผู้ขายที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ใกล้เคียงกับตนเอง เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการติดต่อ ดังนั้น Dealfish.co.th จึงเป็นบริการที่ตั้งใจพัฒนาขึ้นเพื่อเชื่อมต่อบุคคลกับบุคคลหรือผู้ซื้อกับผู้ขายให้ง่ายที่สุด” นายทิวากล่าวเสริม
“ปัจจุบันบริการต่างๆ บนเว็บไซต์นั้นเปิดให้ใช้บริการฟรี และสำหรับในอนาคตจะมีการเก็บค่าบริการ สำหรับฟีเจอร์ใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาสำหรับผู้ขาย”
“ในอนาคต เรามีแผนการที่จะผสานรวมการติอต่อสื่อสาร สังคมออนไลน์ และการใช้งานกับอุปกรณ์เคลื่อนที่ เข้าด้วยกัน เพื่อให้การเชื่อมต่อบนไซต์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”