“ร.ฟ.ท.” ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ แยก 3 หน่วยธุรกิจ กำกับดูแลกิจการรถไฟไทย

ร.ฟ.ท. ปรับโครงสร้างครั้งประวัติศาสตร์กิจการรถไฟไทย ในรูปแบบหน่วยธุรกิจ (Business Unit: BU) แยก 3 หน่วยธุรกิจกำกับดูแลกิจการ หน่วยธุรกิจการเดินรถ หน่วยธุรกิจการซ่อมบำรุง และหน่วยธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน หวังช่วยยกระดับการให้บริการทั้งในด้านความปลอดภัย ความสะดวกรวดเร็ว การตรงต่อเวลา และปริมาณขบวนที่เพิ่มขึ้น ทั้งเพิ่มความคล่องตัวสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในส่วนการโดยสาร และการขนส่งสินค้าของ ร.ฟ.ท. สามารถแข่งขันในด้านราคาและคุณภาพกับการขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเชื่อมโยง และรองรับ  AEC ด้วยงบลงทุน 1.76 แสนล้านบาท 3-5 ปี จะรับรู้การเปลี่ยนแปลงของ ร.ฟ.ท. แน่

พล.ต.ท. ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะผู้กำกับดูแลการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปัจจุบันที่ราคาของพลังงานในตลาดโลกได้มีแนวโน้ม และคาดว่าจะสูงขึ้นไปอีก ทำให้ต้นทุนด้านการขนส่งโดยรวมสูงขึ้นและส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้น ดังนั้นเพื่อให้ประเทศไทยยังคงระดับความสามารถในการแข่งขันกับนานาชาติการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งระบบการขนส่งด้วยระบบรางเป็นรูปแบบการขนส่งทางบกที่มีต้นทุนต่ำที่สุด สามารถขนส่งผู้โดยสารและสินค้าได้ทีละมาก ๆ รวมทั้งก่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในระดับที่ต่ำกว่าการขนส่งทางบกในรูปแบบอื่น ๆ อย่างมาก อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาการคมนาคมขนส่งทางรางขาดการสนับสนุนจากรัฐบาลทำให้โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ อาทิ ทาง และรถจักร มีสภาพเก่าและไม่มีการทดแทนอย่างเหมาะสม ทำให้ระดับการให้บริการการขนส่งและโดยสารของการรถไฟแห่งประเทศไทยอยู่ในลักษณะถดถอย และส่งผลกระทบให้การรถไฟแห่งประเทศไทยมีผลการดำเนินงานขาดทุนสะสมอย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปี

ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณมูลค่า 1.76 แสนล้านบาทเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของการรถไฟแห่งประเทศไทย อาทิ ระบบทางคู่ (873 กม.) และ รถจักรใหม่กว่า 70 คัน ตลอดจนรถโดยสารและรถขนส่งสินค้าใหม่ 605 คัน ที่จะช่วยยกระดับการให้บริการทั้งในด้านความปลอดภัย ความสะดวกรวดเร็ว การตรงต่อเวลา และปริมาณขบวนที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนสนับสนุนให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินการปรับโครงสร้างให้อยู่ในรูปแบบหน่วยธุรกิจ (Business Unit: BU) ที่มุ่งเน้นในด้านการดำเนินงานที่มีความคล่องตัวสูง สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดทั้งในส่วนการโดยสารและการขนส่งสินค้าเพื่อให้การรถไฟแห่งประเทศไทยสามารถให้บริการในระดับที่สามารถแข่งขันในด้านราคาและคุณภาพกับการขนส่งในรูปแบบอื่น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

พล.ต.ท. ชัจจ์ กุลดิลก กล่าวต่อว่า สำหรับในเบื้องต้น การรถไฟแห่งประเทศไทย จะประกอบไปด้วย 3 หน่วยธุรกิจ คือ

1) หน่วยธุรกิจการเดินรถที่รับผิดชอบในด้านการกำหนดตารางเดินรถให้สอดคล้องต่อความต้องการของตลาดทั้งในส่วนการโดยสารและการขนส่ง

2) หน่วยธุรกิจการซ่อมบำรุง ที่รับผิดชอบในด้านการสนับสนุนความพร้อมของรถจักรรวมทั้งการควบคุมค่าใช้จ่ายของรถจักร และล้อเลื่อนให้อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับการขนส่งในรูปแบบอื่น ๆ 

3) หน่วยธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน ที่รับผิดชอบในการหาประโยชน์จากที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยในการที่จะนำมาสนับสนุนการดำเนินงานโดยในระยะแรกจะเป็นเรื่องของการลดภาระหนี้สิน อาทิ ภาระบำเหน็จบำนาญ เป็นต้น 

โดยหน่วยธุรกิจทั้งสามยังคงเป็นหน่วยงานภายใต้การรถไฟแห่งประเทศไทย แต่มีการปรับแนวทางและระเบียบการดำเนินการให้มีความคล่องตัวในการปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ขององค์กร สำหรับในส่วนของการอื่น ๆ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย จะทำหน้าที่ในด้านการวางแนวนโยบายและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการพัฒนาและดูแลรักษาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ โครงข่ายทางรถไฟ ระบบอาณัติสัญญาณ และงานบุคลากรและการบริหารทั่วไป ทั้งนี้อำนาจของผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยยังคงมีเช่นเดิม แต่มีการมอบอำนาจให้หัวหน้าหน่วยธุรกิจตัดสินใจในประเด็นด้านการปฎิบัติงานเพื่อเป็นการสร้างความคล่องตัวในการให้บริการของการรถไฟแห่งประเทศไทย

รมช. คมนาคม กล่าวต่ออีกว่า อย่างไรก็ดีการลงทุน 1.76 แสนล้านบาท นั้นจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-5 ปี กว่าประชาชนจะรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงในการให้บริการของการรถไฟแห่งประเทศไทย เนื่องจากระยะเวลาที่ใช้ในการก่อสร้างทางคู่และจัดหารถจักรและล้อเลื่อน โดยคาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ. 2563 การรถไฟแห่งประเทศไทยสามารถเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าจาก 11 ล้านตัน ในปี 2553 เป็น 37 ล้านตัน และปริมาณผู้โดยสารจาก 48 ล้านคนในปี 2553 เป็น 71 ล้านคน โดยขบวนรถโดยสารจะมี ความเร็วเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 90-100 ก.ม. ต่อชั่วโมง จาก 50-60 ก.ม. ต่อชั่วโมงในปัจจุบัน ซึ่งหากการรถไฟสามารถดำเนินการได้ตามที่ได้คาดการณ์ไว้ก็จะช่วยประหยัดพลังงานให้กับประเทศได้ถึงปีละ 2-3 หมื่นล้านบาทต่อปี และยังยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เนื่องจากต้นทุนของโลจิสติกส์จะลดลงอีกด้วย

 “หากการปรับโครงสร้างในครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ กระทรวงคมนาคมก็จะพยายามผลักดันให้โครงข่ายเส้นทางรถไฟเป็นทางคู่ทั้งหมดรวมทั้งจัดสร้างเส้นทางใหม่ ๆ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับประเทศต่าง ๆ ใน AEC รวมทั้งพัฒนาและยกระดับบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับระบบรางให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในด้านเทคโนโลยีและรูปแบบการให้บริการ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการคมนาคมและโลจิสติกส์ด้วยระบบรางในทศวรรษหน้า” รมช. คมนาคม กล่าวสรุปในตอนท้าย