Gangnam Style เพลงยิ่งกว่าเพลง ฮิตยิ่งกว่าฮิต

 

“แม้ว่าเธอจะดูเรียบร้อย แต่เมื่อถึงเวลาต้องสนุก เธอจะสุดๆ กับมัน

แม้ว่าจะสวมชุดที่ปกปิดมิดชิด แต่เธอยิ่งดูเซ็กซี่กว่าตอนใส่ชุดที่วาบหวิว

เธอก็เป็นผู้หญิงแบบนั้นนั่นแหละ

 

ส่วนผมก็คือผู้ชายคนนึง

ผู้ชายที่ดูสุภาพ แต่พอถึงเวลาสนุก ผมก็จะมันส์เต็มที่เหมือนกัน

เป็นผู้ชายที่บ้าคลั่ง แบบสุดๆ เมื่อถึงเวลา

สนใจกับเรื่องพุง มากกว่าสนใจเรื่องกล้าม

ผมก็เป็นผู้ชายแบบนั้นนั่นแหละ”

 

เนื้อเพลงดังกล่าว เป็นคำแปลในท่อนหนึ่งของเพลง Gangnam Style ที่หลายคนรู้จักกันดี กับการเสียดเสียชีวิตของผู้คนในย่านสังคมชั้นสูงของเกาหลี เป็นงานที่มีผู้คนจำนวนไม่น้อยยกให้เป็น “เพลงแห่งปี 2012” ของวงการดนตรีโลก กับระยะเวลาไม่กี่เดือน ด้วยพลังของสื่อยุคอินเทอร์เน็ต ที่สร้างปรากฏการณ์อันยิ่งใหญ่ และเปลี่ยนให้ “ไซ” (PSY) เจ้าของเพลงจากศิลปินระดับประเทศของเกาหลีใต้ เป็นคนดังระดับโลกโดยทันที

เพลงเพียงเพลงเดียว ที่ร้องเป็นภาษาเกาหลี กับท่วงทำนองสนุกสนาน และท่าเต้นที่สามารถขยับแขนขาตามทันทีตั้งแต่เห็นครั้งแรก สื่อสารกับผู้คนด้วยภาพและเสียง เอาชนะก้าวข้ามกำแพงภาษาได้สำเร็จ แต่หากมองให้ลึกไปกว่านั้น กระแสความสำเร็จของเพลงจากศิลปินระดับโนเนมในระดับโลก ได้สะท้อนภาพต่างๆ ให้เห็นกันหลายมิติ ทั้งเส้นทางของอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ ตลอดจนความเป็นไปของวัฒนธรรมการฟังเพลงในยุคปัจจุบัน

 

“ไซ” K-Pop นอกคอก

“ไซ” หรือ “ปาร์คแจซัง” ไม่ใช่ศิลปินหน้าใหม่ที่เพิ่งจะมีผลงานเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะในประเทศบ้านเกิด ที่เขามีชื่อเสียงโด่งดังมาร่วม 10 ปีแล้ว มีเพลงฮิตในหมู่ชาวเกาหลีใต้มาแล้วไม่น้อย … เป็นหนุ่มร่างท้วม ขี้โวยวาย ติดจะเถื่อนๆ เรียกว่าห่างไกลจาก “อุดมคติ” แบบผู้ชายเกาหลีโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนุ่มเค ป๊อป หน้าใส กล้ามใหญ่ ที่มีแฟนคลับกรี๊ดทั่วเมือง ไซ  ไม่ใกล้เคียงแม้แต่น้อย 

หนุ่มวัย 34 ปี ชาวกรุงโซลโดยกำเนิด เติบโตขึ้นมาในตระกูลมั่งมี ด้วยพื้นฐานครอบครัวที่ค่อนข้างมีอันจะกิน คงจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ว่า ไซ น่าจะใช้ชีวิตอยู่ในย่าน กังนัม มีวิถีชีวิตแบบ “กังนัมสไตล์” ที่เป็นศูนย์รวมของบรรดาคนร่ำรวยในเกาหลีใต้ ที่เขาล้อเลียนอยู่มาไม่น้อย 

แต่สิ่งที่โดดเด่นยิ่งกว่ากลับเป็นประวัติด้านการศึกษาของเขา หลังเรียนจบในระดับมัธยมต้นที่เกาหลี ไซ ได้มีโอกาสไปศึกษาต่อต่างประเทศกับสถาบันดังอย่าง มหาวิทยาลัยบอสตัน ก่อนจะไปเรียนต่อด้านการดนตรีที่ วิทยาลัยดนตรีเบิร์กลีย์ อันโด่งดัง เมื่อเดินทางกลับมาบ้านเกิด ก็เริ่มต้นเส้นทางสายดนตรีทันที

ในปี 2001 ไซ ออกอัลบั้มเต็มชุดแรก Psycho World! นอกจากจะสามารถสร้างชื่อได้อย่างน่าพอใจแล้ว งานเพลงของเขาก็ยังได้รับความสนใจจากภาครัฐเป็นพิเศษ ถึงขั้นสั่งแบนเพลงของ ไซ ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม แต่แทนที่จะเข็ดหลาบนับจากวันนั้นความสุดโต่งดูจะกลายเป็นเอกลักษณ์ของศิลปินหนุ่มผู้นี้ไปโดยปริยาย เขามักจะปรากฏตัวพร้อมกับเพลงแนวฮิปฮอปอันเร่าร้อน มีเนื้อเรื่องที่หยาบโลน และท่าเต้นอันรุนแรง ผสมกับการแต่งตัวแบบแปลกประหลาดชนิดที่คงไม่สามารถใส่ไปเดินตามถนนหนทางได้ ไซ จึงได้รับฉายาว่าเป็น “นักร้องประหลาด” ไปโดยปริยาย

ไซ มีเพลงฮิตติดอันดับ 1 ตั้งแต่ผลงานชิ้นแรกเมื่อ 11 ปีก่อน และสามารถสานต่อความสำเร็จได้เรื่อยๆ ในเวลาเดียวกันเขาก็ถูกร้องเรียนบ่อยครั้ง ว่าแต่งเพลงที่มีเนื้อหาค่อนข้างจะล่อแหลม ว่าด้วยเรื่องราวทางเพศ และความรุนแรงอยู่เสมอ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อเยาวชนของชาติได้ มีกระทั่งเพลงที่กล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ก็เคยมาแล้ว งานเพลงชุด Ssa 2 ที่ออกจำหนายเมื่อปี 2002 แม้จะทำยอดขายได้อย่างมากมาย แต่ในเวลาเดียวกันก็โดนแบน ห้ามจำหน่ายสำหรับผู้มีอายุต่ำกว่า 19 ปี 

นอกจากเรื่องงานแล้ว ชีวิตส่วนตัวของ ไซ ก็มีประเด็นให้พูดถึงพอๆ กัน เขาเคยมีปัญหาเรื่องยาเสพติด โดนเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมในคดีกัญชา จนถูกปรับเงินมาแล้ว นอกจากนั้นการเกณฑ์ทหารก็ยังทำให้หนุ่มคนนี้ต้องพบกับเรื่องวุ่นวายเช่นเดียวกัน

ปัญหาในเรื่องการรับราชการทหารของ ไซ เกิดขึ้นเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน หลังเขารับใช้ชาติตามกำหนด 2 ปี ระหว่าง 2003 – 2005 ไซ ได้ตัดสินใจเข้าพิธีวิวาห์กับแฟนสาวหลังปลดประจำการมาได้ 1 ปีเต็ม ด้วยข้อหาที่ว่าเขาไม่ได้ทำหน้าที่เต็มเม็ดเต็มหน่วยระหว่างปฏิบัติงานในฐานะเจ้าหน้าที่เทคนิค เมื่อตอนเกณฑ์ทหาร จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนัก ถึงขั้นที่ว่าเขาต้องตัดสินใจกลับไปเกณฑ์ทหารใหม่อีกครั้งในปี 2007 ถึงแม้ว่าตอนนี้ภรรยาได้ตั้งท้องลูกคนแรกแล้วก็ตาม ไซ ได้เปิดใจว่าความผิดพลาดในตอนนั้นเป็นบทเรียนที่สอนอะไรให้กับเขาหลายๆ อย่างเลยทีเดียว 

 

ปรากฏการณ์ Gangnam Style

หลังจากต้นสังกัดเดิมประสบกับปัญหาทางการเงินในปี 2010 ไซ ได้ย้ายมาอยู่กับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ YG Entertainment ที่เขาเองก็สนิทสนมกับประธาน ยางฮยอนซอก แห่งค่าย YG อยู่แล้ว และได้เริ่มออกผลงานเพลงมาตั้งแต่ปลายปี 2010 ด้วยภาพที่แตกต่างจากศิลปินคนอื่นๆ ในวงการโดยสิ้นเชิง

ไซ ออกเพลงไปตามปกติจนในเดือน ส.ค. 2012 เขาปล่อยซิงเกิลใหม่ออกมา เป็นเพลงเต้นรำสนุกๆ ตามสไตล์ โดยไม่มีใครทราบมาก่อนว่าวงการเพลงโลกจะสั่นสะเทือนไปหมดด้วยเพลงดังกล่าว

Gangnam Style เป็นเพลงแรกจากอัลบั้มชุดที่ 6 PSY’s Best 6th Part 1 ของ PSY ซึ่งได้รับความนิยมในเกาหลีใต้โดยทันที หลังเริ่มเผยแพร่เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ก็สามารถทะยานขึ้นไปสู่อันดับ 1 ของหลายๆ ชาร์ตเพลงฮิต นอกจากตัวเพลงแล้ว ความสำเร็จยังเกิดขึ้นด้วยมิวสิกวิดีโอ ที่ประกอบไปด้วยภาพของ PSY กับแดนเซอร์แบ็กอัพ ที่ออกลีลาท่าเต้นประจำเพลง เป็นท่าที่มีลักษณะคล้ายๆ กับการขี่ม้า กับฉากหลังในหลายๆ สถานที่ ทั้ง โรงจอดรถใต้ดิน, รถประจำทาง หรือไม่ก็ย่านริมน้ำ กับดาราดังมากมายที่มาร่วมเป็นแขกรับเชิญในมิวสิกวิดีโอ เป็นงานที่สร้างเสียหัวเราะให้กับทุกคนได้ แม้จะไม่ได้เข้าใจความหมายของเพลง หรือความหมายของแก๊กตลกต่างๆ เลยก็ตาม

แต่ความนิยมในตัวเพลง, มิวสิกวิดีโอ และท่าเต้นของ Gangnam Style กลับไปไกลกว่าที่ใครๆ จะคาดเดาได้ โดยเฉพาะคลิปใน Youtube ที่มียอดผู้ชมมากขึ้นเรื่อยๆ ได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากชาวตะวันตก โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยสนใจใน K-Pop มาก่อน กลายเป็นดาวเด่นแห่งวงการเพลงเกาหลี ในยุคที่อุตสาหกรรมถูกครอบงำ ด้วยศิลปินวัยรุ่นแนวไอดอล เป็นเพลงที่สามารถทำลายกำแพงภาษาได้อย่างไม่น่าเชื่อ

หลังจากเป็นกระแสในเน็ตอยู่พักใหญ่ Gangnam Style กลายเป็นที่สนใจของบรรดาคนดังในโลกตะวันตก ไม่ว่าจะเป็น ร็อบบี้ วิลเลียมส์, บริทนี่ย์ สเปียร์ส, เคที เพอร์รี, โจเซฟ กอร์ดอน-เลวิตต์, วิลเลียม กิบสัน จนไปถึง ทอม ครูซ ที่ต่างทวีตข้อความถึงเพลงอินเทรนต์นี้กันถ้วนหน้า จนสำนักข่าวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น CNN, BBC, Forbes นำไปตีข่าวต่อ ไซ จึงได้ไปปรากฏตัวที่รายการฮิตของเมืองลุงแซม ทั้ง The Ellen DeGeneres Show จนไปถึง Saturday Night Live และไปโชว์ตัวเต้นท่าม้าควบในสนามเบสบอล Dodger Stadium ที่ได้รับเสียงปรมมือจากผู้ชมในวันนั้นอย่างกึกก้อง

ในที่สุด ไซ ได้ลงเอยด้วยการไปปรากฏตัวบนเวที MTV Music Video Awards ได้เซ็นสัญญาเป็นศิลปินในสังกัดเดียวกับ จัสติน บีเบอร์ และในที่สุดเพลงก็ขึ้นชาร์ต Billboard Hot 100 ในอันดับ 64 ก่อนจะพุ่งขึ้นไปเรื่อยๆ และติดอันดับ 2 ในที่สุด สำหรับยอดคลิปใน Youtube ที่ถือว่ามีบทบาทที่ส่งเพลงให้โด่งดังก้องโลก ก็มโหฬารถึงเฉียด 500 ล้านครั้ง ด้วยระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น

 

“กังนัม ไลฟ์สไตล์” ชีวิตที่น่าอิจฉา หรือน่าหมั่นไส้ ?

Gangnam Style อาจโด่งดังด้วยทำนอง และลีลาสนุกสนาน เนื้อร้องภาษาต่างชาติที่เปิดโอกาสให้คนหลายชาติหลายภาษา ตีความเพลงไปในความหมายของใครของมัน แต่สำหรับชาวเกาหลีใต้แล้ว เพลงแดนซ์สนุกๆ เพลงนี้กลับมีความหมายลึกซึ้งไปกว่านั้น

“กังนัม” (หรือ “คังนัม”) เป็นย่านที่ตั้งอยู่ทางเขตตอนใต้ของกรุงโซล แม้จะมีประชากรเพียงแค่ 5 แสนคน แต่กลับเป็นศูนย์รวมของธุรกิจ แฟชั่น และการศึกษา ถือว่าเป็นย่านของคนมีอันจะกินในกรุงโซลยุคปัจจุบัน แต่ย้อนหลังไปก่อนหน้านี้หลายปี “กังนัม” ที่แปลว่า “ฝั่งใต้ของแม่น้ำ” เป็นเพียงหมู่บ้านธรรมดาที่ถูกล้อมรอบด้วยพื้นที่เกษตรกรรม กระทั่งเมื่อเวลาล่วงเลยไป ผลพวงของการเติบโตเศรษฐกิจในช่วงยุค 1970s ทำให้ที่ดินในเขตกังนัมราคาถีบตัวสูงขึ้นหลายเท่า ถึงตอนนี้พื้นที่ทั้งหมดเต็มไปด้วยบ้านสุดหรูของคนมีอันจะกิน 

อย่างไรก็ตาม คนร่ำรวยในกังนัม กลับถูกมองว่าเป็นพวกเศรษฐีใหม่ แตกต่างจากย่านธุรกิจและที่ทำการรัฐบาลในย่านเก่าที่ตั้งอยู่ฝั่งเหนือของแม่น้ำฮัน อันเป็นที่ตั้งของบ้านเรือนเก่าของขุนนาง และเศรษฐีเก่า 

ด้วยเหตุนี้อาจพูดได้ว่า กังนัม คือจุดศูนย์กลางของเกาหลีใต้ยุคใหม่อย่างแท้จริง ผู้คนใช้ชีวิตกับการบริโภคกันอย่างหนักหน่วง ถึงขั้นมีคำกล่าวว่า คนในกังนัมใช้ชีวิตกันชนิดตลอด 24 ชั่วโมง แม้แต่ในเพลงของ ไซ ก็มีเนื้อเรื่องถึงเรื่องพวกนี้ 

กังนัมยังเป็นเขตซึ่งที่ดินราคาแพงที่สุดในประเทศ เต็มไปด้วยโรงเรียนกวดวิชา และที่สำคัญแม้จะอยู่ใจกลางเมือง แต่กลับเป็นเขตที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่ได้แออัดยัดเยียดเสื่อมโทรมเหมือนมหานครโดยทั่วไป จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากใครๆ ฝันถึงการใช้ชีวิตอยู่ในกังนัม

เนื้อเพลงของ ไซ มีความหมายถึงวิถีชีวิตของผู้คนในย่านกังนัม กรุงโซล ศูนย์รวมแห่งคนเทรนดี้, ฮิป, มีคลาส เป็นเหมือนชนชั้นสูงแห่งสังคมกรุงเกาหลีใต้ แบบที่ ไซ เองอธิบายว่าคล้ายๆ กับย่านฮอลลีวู้ดในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเขาเองก็ยอมรับว่าเป็นมุกตลกของตัวเอง เพราะไม่ว่าจะเป็นท่าเต้น ทำนอง หรือองค์ประกอบใดๆ ในเพลง Gangnam Style นั้นไม่ได้มีอะไรใกล้เคียงกับคำว่า “มีคลาส” เลยแม้แต่น้อย

ไซ บอกว่าเอาเข้าจริงๆ แล้วคนในกังนัมเองไม่เคยคุยโวว่าตัวเองเป็นเช่นไร มีแต่คนอื่นที่มองพวกเขา และอยากจะใช้ชีวิตแบบนั้นบ้างเท่านั้น เพลงของเขาพูดถึงเรื่องราวประเภทนี้เอง เสียดสีวิถีชีวิตของผู้คนในเมืองหลวง โดยเฉพาะคนที่อยากได้อยากเป็นในสิ่งที่ตัวเองไม่เป็น ไม่มี นอกจากความหรูหรา และคุณภาพชีวิตที่สูงมากแล้ว กังนัม ยังแทรกด้วยภาพของความฟุ่งเฟ้อกันแบบไร้ขีดจำกัด ศูนย์ศัลยกรรมความงามที่เด็กหนุ่มสาววัยรุ่นเดินเข้าเดินออกเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองให้กลายเป็นอีกคน

 

กระแสที่มากกว่าแค่เรื่องเพลง

ความสำเร็จของ ไซ นั้นเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้ด้วยโลกยุคอินเทอร์เน็ตอย่างแท้จริง หลังเพลงเริ่มปล่อยให้ฟังกันในเกาหลีใต้ ความนิยมของมันกลับไปไกลถึงโลกตะวันตกอย่างที่ไม่ได้มีการวางแผนใดๆ เอาไว้ ในยุคที่แผ่นซีดีแทบจะไม่สามารถขายได้แล้ว มาตรวัดความสำเร็จกลับไปอยู่ที่ยอดในเว็บ iTune และจำนวนคลิกใน Youtube หรือจำนวน Like ซึ่งทุกอย่างก็สามารถการันตีความนิยมของ Gangnam Style ได้เป็นอย่างดี 

นอกจากได้รับความสนใจจากคนฟังทั่วโลกแล้ว หรือในวงสังคมบันเทิงแล้ว Gangnam Style ยังไปไกลถึงสังคมอื่น ไม่ว่าจะเป็นการเมือง อย่างที่ บอริส จอห์นสัน นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน กับนายกรัฐมนตรี เดวิด แคเมรอน ยังเต้นเพลงนี้มาแล้ว เช่นเดียวกับ อีริค ชมิดต์ ประธาน Google ที่ยอมรับว่าตนก็เคยแดนซ์ท่าควบม้ามาแล้วเหมือนกัน 

เช่นเดียวกับมิวสิกวิดีโอฮาๆ ของ ไซ ที่มีคนนำไปทำใหม่ล้อเลียนมากมาย และหลากหลายกลุ่มทั้ง นางงามเกาหลี นักกีฬาสัญชาติต่างๆ แม้แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเกาหลีเหนือก็ยังนึกสนุกขึ้นมาถ่ายคลิปล้อเลียนเพลงของ ไซ มาแล้ว

ปรากฏการณ์เช่นนี้เลขาธิการสหประชาชาติชาวเกาหลีใต้ บันคีมูน ได้กล่าวยกย่อง Gangnam Style คือพลังแห่งการสร้างสันติภาพอย่างแท้จริง รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และท่องเที่ยวของประเทศก็ยกย่องว่า Gangnam Style มีบทบาทที่สำคัญยิ่ง ในการแนะนำวัฒนธรรมเกาหลี ทั้งภาษา และวิถีชีวิตร่วมสมัยของชาวเกาหลี ให้โลกได้รู้จัก แม้สุดท้ายแล้วยังมีเสียงที่ไม่ค่อยยอมรับเพลงนี้ออกมาบ้างอย่างโดยเฉพาะการนำเสนอภาพของชาวเกาหลีที่ไม่ค่อยจะถูกต้องนัก แม้แต่ โอยองจิน บรรณาธิการของ The Korea Times ก็เขียนแสดงความเห็นว่าท่าเต้นของ ไซ ก็ไม่ได้แตกต่างอะไรจากศิลปินอเมริกาคนอื่นเลย 

นอกจากสิ่งที่ทุกคนยอมรับกันก็คือเพลงมัน “ตลกดี” แล้ว Gangnam Style เป็นเพลงเต้นรำสนุกๆ ที่นักวิจารณ์หลายคนชื่นชมว่ามีท่วงทำนองติดหู ฟังเพียงไม่กี่รอบก็จำได้ทันที อย่างไรก็ตาม ในสายตาของผู้คนในวงการเพลงจำนวนไม่น้อย กลับคิดว่า Gangnam Style ไม่ได้เป็นอะไรไปมากกว่าเพลงแดนซ์ดาดๆ อีกเพลง โดยเฉพาะเว็บไซต์วิจารณ์เพลง Digital Spy ที่สับ Gangnam Style จนเละโดยเฉพาะในแง่ที่ว่าเพลงไม่ได้มีอะไรใหม่เลย นอกจากจะเป็นการลอกเลียนงานฮิตๆ ของวง LMFAO มาเท่านั้น

โดยภาพรวมแล้ว Gangnam Style ประสบความสำเร็จในการผสมความเป็นเกาหลีกับต่างชาติอย่างลงตัว เป็นการหยิบองค์ประกอบหลายๆ อย่างมากวนเข้าด้วยกัน แบบที่นักวิจารณ์ทางฝั่งตะวันตกคนนี้ให้ความเห็นไว้น่าฟังว่า เป็นงานที่ผสมองค์ประกอบแย่ๆ จนออกมาเป็นของดี

เอาเข้าจริงๆ แล้วความสำเร็จของ Gangnam Style อาจไปไกลว่าที่ว่าเพลงนี้มัน “ดีหรือไม่ดีกันแน่?” แต่เป็นกระแสที่บูมขึ้นมาในลักษณะใกล้เคียงกับ “อินเทอร์เน็ตมีม” ประเภทหนึ่ง มากกว่าจะเป็นเรื่องของเพลงเพียงอย่างเดียว

“อินเทอร์เน็ตมีม” คือสื่อประเภทใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่ง, คลิป, ข้อความ, ข่าวแปลกๆ ที่ถูกส่งต่อกันไปในบรรดาชุมชนออนไลน์ ผ่านทางไฟล์ดิจิตอล หรือไฮเปอร์ลิงค์ เป็นวิวัฒนาการของกระแสปากต่อปากแบบโลกยุคใหม่ ที่ไปเร็วและแรงยิ่งกว่าเดิม ส่วนใหญ่มักจะเป็นสื่อประเภทที่สร้างความตลกขบขันเป็นหลัก และตัวงานก็ไม่ได้สร้างกระแสด้วยตัวเองเท่านั้น แต่มุกตลกต่อยอดที่แวดล้อมมันอยู่ และการถูกนำไปตีความใหม่ๆ อย่างไร้ขีดจำกัด ก็กลายเป็นแรงส่งให้ “มีม” ถูกบอกต่อกันในวงกว้างไปเรื่อยๆ

ซึ่งดูเหมือนว่าเพลง และมิวสิกวิดิโอ Gangnam Style จะเข้าข่ายเป็นมีมชนิดหนึ่ง ที่คงไม่สามารถใช้มาตรฐานทางดนตรีใดๆ มาจับเพื่อตีค่าได้ เป็นมีที่คนหลายชาติหลายภาษาสามารถเข้าใจได้พร้อมๆ กัน อย่างที่ตัวของ ไซ เองก็ยอมรับว่าการเรียกเสียงฮา คือจุดประสงค์หลักของเขา แต่ก็ต้องเป็นตลกที่ไม่ “โง่” ด้วย

ไม่ว่าจะเป็นด้วยภาษาเกาหลีที่ยังคงแปลกใหม่สำหรับผู้คนในโลกตะวันตก ที่กลายเป็นช่องว่างสำหรับคนฟังในการตีความหมายเพลงในแบบของตัวเองได้, ใบหน้าตลกๆ ของไซ, แก๊กในแบบเกาหลี, แน่นอนว่าความเซ็กซี่เล็กๆ ที่แทรกเข้ามาก็ดูลงตัวไปกับอารมณ์แมนๆ ของเพลงด้วย บวกกับท่วงทำนองติดหู, ท่อนสร้อยภาษาอังกฤษอย่าง “Sexy Lady!!!” ที่พอจะทำให้คนฟังได้ตะโกนตามในบางจังหวะ แม้ไม่สามารถร้องตามได้ตลอดทั้งเพลง กลายเป็นความลงตัวที่ทำให้ Gangnam Style สามารถสร้างอารมณ์ขันให้กับคนทั่วโลกต่างวัฒนธรรมได้พร้อมๆ กัน

 

ตบหน้า K-Pop

เป็นอันว่าในที่สุด ไซ กับ Gangnam Style กลายเป็นเพลงที่สามารถปักธงของดนตรีเกาหลีใต้ในตลาดเพลงตะวันตกได้สำเร็จ อย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน แต่ก็ยังคงเป็นคำถามอยู่ว่า ต่อจากนี้แล้ว ไซ จะสามารถเดินทางไปถึงจุดใด และจะสามารถเปลี่ยนวิถีทางของ K-Pop ได้หรือไม่ เพราะดูเหมือนว่าสิ่งที่เขาทำจะแตกต่างจากความพยายามของเพื่อนร่วมชาติคนอื่นโดยสิ้นเชิง

เป็นที่รู้กันดีว่าเกาหลีใต้ “บุกหนัก” ในสินค้าทางวัฒนธรรมทุกประเภททุกแขนง ด้วยแรงสนับสนุนจากภาครัฐบาลอย่างเต็มอัตราศึก วงการหนังของเกาหลีกลายเป็นดาวเด่นในเทศกาลภาพยนตร์ทั่วโลก ขณะที่ซีรี่ส์เกาหลีใต้ก็ฮิตทั่วบ้านทั่วเมืองในหลายประเทศ 

สำหรับวงการเพลง K-Pop มีที่ทางของตัวเองในตลาดเพลงของหลายประเทศ โดยเฉพาะในญี่ปุ่นที่กลายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำสำคัญไปแล้ว แต่สำหรับตลาดเพลงสหรัฐฯ จุดศูษย์กลางอุตสาหกรรมดนตรีโลก กลับเป็นตลาดเพลงที่เกาหลีไม่สามารถ “เจาะ” เข้าได้เสียที

ซูเปอร์สตาร์อย่าง เรน, โบอา แทบจะไม่สามารถสร้างกระแสใดๆ ได้ในตลาดเพลงสหรัฐฯ ขณะที่ความพยายามพักใหญ่ของ Wonder Girls เกิร์ลกรุ๊ปหญิงระดับขวัญใจของประเทศก็ดูเหมือนจะไปได้ไม่ถึงไหน แม้สาวๆ สังกัดค่ายใหญ่ JYP Entertainment จะพยายามกันอย่างหนัก เรียนภาษาอังกฤษกันอย่างเข้มงวด ใช้เวลาทำงานที่สหรัฐฯ แรมปี มีสมาชิกคนหนึ่งยอมแพ้ขอลาออกจากวงไป แต่เพลง Nobody อันโด่งดังของพวกเธอก็ทำได้เพียงแค่อันดับ 76 ของชาร์ต Billboard Hot 100 ในสัปดาห์เดียวก่อนจะหลุดชาร์ตไปแบบไม่มีใครสนใจ พร้อมกับข้อครหาการใช้แผนการตลาดชนิด “ทำทุกทาง” อย่างแถมแผ่นซีดีไปกับข้าวสารแบรนด์เกาหลีใต้ หรือผูกการขายแผ่นซีดีไปกับร้านค้าปลีกเสื้อผ้าที่มีสาขาอยู่ทั่วสหรัฐฯ ก็ทำมาแล้ว 

การทำตลาดอย่างหนักหน่วง, สงครามราคา อย่างที่ทำให้เกาหลีใต้เคยประสบความสำเร็จในหลายๆ ประเทศ และในเวลาเดียวกันก็ทำให้พวกเขาโดนต่อต้านกับการรุกหนักแบบนี้จากบางประเทศ แต่สุดท้ายกลายเป็นศิลปินที่แทบไร้คุณสมบัติแห่งความสมบูรณ์แบบอย่าง ไซ ที่ทำได้

ความสำเร็จของ Gangnam Style อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับแนวทางของ K-Pop ขนานใหญ่ เพราะที่แล้วมาวงการเพลงเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จอย่างสวยงามกับการขายเพลงในรูปแบบของศิลปินป๊อปวัยรุ่น ที่เต็มไปด้วยความสมบูรณ์แบบ หน้าตาหล่อสวย (ที่บางครั้งมาพร้อมกับคำนินทาของบรรดาเสียงนกเสียงกาเรื่องการทำศัลยกรรม), รูปร่างสมบูรณ์แบบชนิดไร้ที่ติ, หากเป็นวงไอดอลก็จะประกอบไปด้วยสมาชิกที่หลากหลาย ทั้งหน้าตาดี, เซ็กซี่, อ่อนหวานเรียบร้อย และมีสมาชิกเสียงดีไว้ร้องประคองเพื่อน 

ก่อนจะได้ออกงานเพลงก็ต้องผ่านการเตรียมตัวในสถานะ “ศิลปินฝึกหัด” กันหลายปี เรียนร้องเพลง, เต้นรำ, การแสดง กันเข้มงวดชนิดเหมือนค่ายทหาร เพื่อสร้างขวัญใจวัยรุ่นที่มีคุณสมบัติครบถ้วน เป็นสูตรที่ได้ผลในประเทศแถบเอเชีย แต่ยังไม่สามารถผ่านด่านของฝั่งตะวันตกไปได้

แต่แล้วศิลปินที่ประสบความสำเร็จได้รับการยอมรับในตลาดตะวันตกอย่างเป็นทางการเป็นรายแรก กลับเป็นหนุ่มท้วม ไซ ที่แม้แต่เจ้าตัวเองก็ยอมรับว่าเขาไม่ได้มีอะไรเหมือน “K-Pop” ทั่วไปเท่าไหร่ เส้นทางความสำเร็จของ Gangnam Style ก็แตกต่างจากวิธีการของ K-Pop ที่แล้วมาโดยสิ้นเชิง บางคนอาจเรียกว่าเป็นการ “ตบหน้า K-Pop” ด้วยซ้ำไป

 

อนาคตของ “ไซ”

ถึงตอนนี้กระแสของ ไซ และ Gangnam Style ยังไม่หมดแรงลงง่าย ๆ หนุ่มกิมจิวัย 34 ปี ยังคงเดินสายไปโปรโมตเพลงฮิตของเขาทั่วโลก ไซ เองก็กำลังจะมีกำหนดออกอัลบั้มในสหรัฐฯ ชุดแรกในปลายปีนี้ 

แต่ก็ใช่ว่าเส้นทางของเขาสดใสไปเสียทั้งหมด และคงไม่สามารถการันตีได้ว่าจะ ไซ ต่อยอดความสำเร็จของ Gangnam Style ได้ง่าย ๆ เหมือนเมื่อ 15 ปีก่อนที่มีเพลง Macarena ของศิลปินชาวสเปน Los del Río ที่โด่งดังไปทั่วโลก กับเพลงแดนซ์ติดหู, มีท่าเต้นประจำ และร้องด้วยภาษาที่ไม่ได้เป็นสากลสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่ Los del Río ก็ไม่เคยมีอะไรที่โด่งดังในวงกว้างเช่นนั้นอีกเลย จึงเป็นคำถามสำหรับ Gangnam Style ว่าจะต้องมีชะตากรรมแบบเดียวกันด้วยหรือไม่

ไซ ได้กลายเป็นศิลปินที่คนทั้งโลกรู้จักไปเรียบร้อยแล้ว แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงที่กระแสในช่วงนี้จะเป็นจุดสูงสุดในชีวิตของเขา ที่ยากจะสามารถทำซ้ำได้อีกครั้ง สุดท้ายหาก ไซ จะกลายเป็นศิลปินที่เมื่อออกงานใหม่ ทุกสายตาทั่วโลกก็พร้อมที่จะจับตามอง ก็คงถือว่ายอดเยี่ยมแล้ว อนาคตหลังจากนี้จึงเป็นช่วงเวลาแห่งการพิสูจน์ตัวเองอย่างแท้จริง