WeChat กับโอกาสแจ้งเกิดในไต้หวัน

WeChat แอปฯ แชตจากบริษัทเท็นเซ็นต์ที่มีฐานทัพอยู่ที่เสินเจิ้นในจีนแผ่นดินใหญ่ ใช้เวลาไม่ถึง 2 ปีในการหาฐานลูกค้า 300 ล้านคน และถือเป็นโปรแกรมแรกที่จีนกล้าพูดเต็มปากว่า “โกอินเตอร์” ได้อย่างแท้จริง ด้วยตัวแอปฯ ถึง 14 ภาษา รองรับกับสมาร์ทโฟนฮิตทุกระบบปฏิบัติการ ทั้งยังมีฟีเจอร์ที่กินขาดแอปฯ อื่นอย่างการใช้จุดเด่นของฟีเจอร์จีพีเอสเพื่อหาเพื่อนแชตใกล้ๆ ตัว รวมไปถึงฟีเจอร์น่ารักๆ อย่างเป่ายิ้งฉุบที่เป็นประโยชน์ต่อการสื่อสารในเวลาอันรวดเร็ว

ถึงแม้ WeChat จะบุกไปได้เจ็ดย่านน้ำแต่ตลาดเล็กๆ ณ บ้านพี่เมืองน้องอย่างไต้หวันกลับไม่ได้รุกง่ายๆ เหตุผลก็คล้ายๆ กับไทย เพราะตลาดแชตในไต้หวันถูกปกคลุมด้วยเฟซบุ๊ก (90% ของคนไต้หวันใช้) และแอปฯ คู่แข่งอย่าง LINE ที่ถูกใจเพราะมีสติ๊กเกอร์คิกขุสไตล์ญี่ปุ่นที่คนไต้หวันชื่นชมอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทั้งทาง LINE ยังได้พันธมิตรท้องถิ่นนำตัวการ์ตูนไปเป็นบรรจุภัณฑ์และของรางวัลแจกกับหลายธุรกิจ ทำให้แบรนด์ของ LINE ถือว่าแกร่งมากๆ ในไต้หวัน

และเหตุผลที่ลึกลงไปอีกขั้นก็คือ ทางรัฐบาลไต้หวันเกรงว่ารัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนจะใช้เครื่องมือสื่อสารใหม่นี้สอดแนมการสื่อสารของประชากรไต้หวัน (เพราะตั้งแต่วันแรกที่ WeChat เปิดตัว ณ ไต้หวัน ส.ส. จากพรรค DDP (Democratic Progressive Party) ก็รีบออกมาประกาศว่าแอปฯ  นี้อาจจะนำมาซึ่งภัยคุกคามต่อความมั่นคงของไต้หวันได้) และในความเป็นจริงกำแพงไฟ (Great Firewall) ของรัฐบาลจีนก็ทำงานหลังแอปฯ นี้จริงๆ เพราะคำใดๆ ที่เป็นคำที่มีความหมายในเชิงสั่นคลอนความมั่นคงทางการเมือง ก็จะถูกเซ็นเซอร์ทันที โดยแอปฯ จะแจ้งผู้ส่งว่าข้อความมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมส่งไม่ได้ และเหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นกับผู้ใช้ทุกประเทศ ซึ่งวิธีแบบนี้ย่อมไม่ถูกใจผู้ใช้ชาวไต้หวันผู้ยึดมั่นในสิทธิการแสดงออกแบบประชาธิปไตยอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี ทาง WeChat ก็ได้สรรหากลยุทธ์มากมายที่จะดึงฐานลูกค้าชาวไต้หวัน เรามาดูกลยุทธ์ต่างๆ ที่ WeChat ใช้บุกตลาดไต้หวันนั้นมีอะไรกันบ้าง?

– เปลี่ยนชื่อ : เพื่อการโปรโมตแอปฯ นี้ในไต้หวัน ทางเท็นเซ็นต์เลือกใช้ชื่อ WeChat แทนที่จะเป็น Weixin แบบเดียวกับจีนแผ่นดินใหญ่ใช้ เพิ่มความอินเตอร์ให้กับแบรนด์ และลบภาพแอปฯ เมดอินไชน่า

– ทุ่มงบโฆษณามหาศาล : ลงโฆษณาทั้งทางทีวียิงช่วงไพรม์ไทม์ โดยดึง 2 ดาราวัยรุ่นดังที่สุดของไต้หวันมาประกบคู่กันได้แก่ เสี่ยวจู ( ???) และ เรนนี่ หยาง (???) ทั้งยังลงโฆษณาบนบิลบอร์ดขนาดใหญ่ใจกลางชีเหมินติง (สยามสแควร์เมืองไทย) และป้ายสติ๊กเกอร์ขนาดใหญ่ในสถานีรถไฟใต้ดิน

– จัดกิจกรรมพิเศษในแอปฯ WeChatTW : เปิดบัญชีอย่างเป็นทางการของ WeChat ในไต้หวันเพื่อส่งดวงประจำปีให้อ่านฟรีผ่านระบบอัตโนมัติ 

– จัดอีเวนต์งานปีใหม่แจกเงินแสน : จัดอีเวนต์ในย่านช้อปปิ้งกลางไทเป เพื่อโปรโมตให้คนส่งคำอวยพรวันคริสต์มาสและปีใหม่ผ่านการอัดเสียงหากันผ่านแอปฯ WeChat แล้วลุ้นรับของรางวัลใหญ่มูลค่าหลักแสนบาท

โฆษณาทีวีโปรโมตแอปฯ  WeChat ได้ที่นี่

ดังนั้นหากจะบอกว่า WeChat มีโอกาสโตยากในไต้หวัน ถือเป็นการสรุปที่เร็วเกินไป เพราะ WeChat ถือเป็นแหล่งขุมทรัพย์ใหม่ของเท็นเซ็นต์ (จากที่หลายปีอยู่ได้เพราะเกมออนไลน์) ดังนั้นแผนร่ายยาวในการอัปฟีเจอร์และรุกต่างประเทศปีนี้จึงถูกวางไว้หมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการจับมือ Paypal ทำให้สามารถใช้จ่ายเงินซื้อสินค้าดิจิตอลได้จากในแอปฯ รวมถึงการเปิดให้นักพัฒนาอิสระสร้่างปลั๊กอินเสริมเพื่อเชื่อมต่อการใช้งานกับแอปฯ WeChat ทำให้อัปเกรดความสามารถต่อไปได้ไม่รู้จบ

ไม่น่าเชื่อว่า WeChat แอปฯ ที่เกิดขึ้นมาจากการก๊อบปี้แอปฯ แชตของฝรั่งอย่าง Kik Messenger วันนี้กลับมีเป้าหมายเดียวที่ท้าทายสุดๆ นั่นคือ การทำให้มันกลายเป็นแอปฯ แชตอันดับหนึ่งของโลก  เมื่อมีฐานผู้ใช้มหาศาลแล้ว ช่องทางการหาเงินก็มิใช่ปัญหาเชาว์สำหรับเท็นเซ็นต์ บริษัทอินเทอร์เน็ตตัวจริงจากจีนแผ่นดินใหญ่อย่างแน่นอน!