เมื่อ Tencent ใช้ WeChat เป็นเดิมพันครั้งใหม่ในโลกมือถือ

ทำไมเรายังไม่เห็นระบบปฏิบัติการมือถือในชื่อ QQ OS เสียที? คำถามที่น่าสงสัยในวงการมือถือจีน นั่นก็เพราะที่ผ่านมาหลายบริษัทเน็ตยักษ์ใหญ่ของจีนต่างออกมือถือระบบคลาวด์คอมพิวติ้งกันจ้าละหวั่น ไม่ว่าจะเป็น Aliyun ของอลีบาบา Baidu Yi ของไป๋ตู้ รวมถึง Sina ที่มีข่าวลือว่ากำลังซุ่มทำมือถือของตัวเองอย่างลับๆ

คำตอบก็คือ ทีมงาน Tencent Holding Co.,LTD บริษัทแม่ของ QQ กำลังปลุกปั้นโปรดักต์ใหม่อย่าง “WeChat” ให้กลายเป็นหัวหอกในการบุกวงการมือถือนั่นเอง

การเติบโตของ WeChat ที่วันนี้ขึ้นแท่นเป็นแอปฯ แชตยอดนิยมอันดับหนึ่งของเอเชียด้วยยอดผู้ใช้กว่า 300 ล้านคนนั้นเป็นไปตามแผนที่ Tencent Holding บริษัทแม่ของ WeChat จากเสิ่นเจิ้นวางเอาไว้ แต่ความสำเร็จนี้ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหม่เมื่อเทียบกับบริการโคลนนิ่งอื่นๆ ของบริษัทในตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น QQ Messenger (ที่ได้ไอเดียจาก MSN แต่วันนี้ยังขึ้นแท่นความนิยมทั่วจีนไม่เสื่อมคลาย), QZone (เว็บโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คที่ดังพร้อมๆ กับ Facebook) หรือเว็บเกมออนไลน์อย่าง QQGames ที่ล้วนกลายเป็นบริการออนไลน์พื้นฐานของคนจีนทั่วแผ่นดินใหญ่ไปแล้ว

แต่การลุกขึ้นปลุกปั้น WeChat ครั้งนี้มีแผนใหญ่กว่าทุกครั้ง นั่นก็เพราะ Tencent ตั้งเป้าหมายให้กลายเป็นแอปฯ แรกสายพันธุ์จีนที่โกอินเตอร์อย่างแท้จริง โอกาสนี้เราจะมาวิเคราะห์กัน Tencent ทุ่มอะไร? วางแผนหาเงินอย่างไร? ที่จะทำให้ WeChat กลายเป็นแอปฯ แชตที่จะเป็นเบอร์รองก็แต่ Facebook Chat เท่านั้น

WeChat ดัง…ค่ายมือถือสะเทือน

ความสามารถของ WeChat คือการส่งข้อความหากันกี่ครั้งก็ได้โดยไม่เสียเงิน ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับ SMS ที่เสียค่าส่งเป็นรายครั้ง รวมถึงกดปุ่มเดียวก็สามารถโทรหากันฟรีๆ ดังนั้นความฮอตของ WeChat ในสมาร์ทโฟนทุกระบบปฏิบัติการจึงทำให้ค่ายมือถือใหญ่อย่าง China Mobile ขาดได้รายก้อนโตจาก SMS และค่าโทรฯ ทั้งจำนวนผู้ใช้ WeChat ถือเป็น 40% ของผู้ใช้รับ-ส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายมือถือ พูดง่ายๆ ก็คือ คนใช้ WeChat โทร-ส่งข้อความถล่มระบบ ผลก็คือทั้ง ค่ายมือถือของจีนทุกรายทั้ง China Mobile, China Unicom, China Telecom ก็ต้องการแบ่งรายได้จาก Tencent ด้วย มิฉะนั้นอาจจะมาถึงมาตรการขั้นสูงสุดคือ การบล็อคบริการ WeChat กับผู้ใช้กว่า 700 ล้านคนในเครือข่ายของแต่ละเจ้าก็เป็นได้

ทั้งที่ผ่านมาทางค่ายมือถืออย่าง China Mobile ก็พยายามแก้หมัด WeChat ด้วย 2 วิธีก็ยังไม่ได้ผล ไม่ว่าจะเป็น เข้าเป็นพันธมิตรกับแอปฯ แชตท้องถิ่นอย่าง Feixin (飛信) หรือการเตรียมจับมือกับ Line แอปฯ แชตคู่แข่ง

เจาะแผน WeChat โกอินเตอร์

นอกเหนือจากการทำแอปฯ เป็นภาษาถิ่นกว่า 18 ภาษาแล้ว เบื้องต้น WeChat ได้เปิดหลากประเทศทั่วเอเชีย เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย ไทย แต่ที่ยึดเป็นเบอร์หนึ่งได้จริงๆ คือ เวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยรายหลังที่ออกทีวีไม่กี่วันดันยอดโหลดได้ 90,000 ครั้ง/วัน กลยุทธ์ต่อไปเลยเตรียมจัดเต็มกับแอปฯ WeChat บนแบล็คเบอร์รี่ 10 ที่คนอินโดรอคอย (มือถือแบล็คเบอร์รี่คือสมาร์ทโฟนยอดฮิตของคนอินโดฯ)

นอกจากนี้แล้วในยุโรปก็วางแผนไปที่สเปน อังกฤษ ทั้งยังเตรียมบุกอัฟริกา ออสเตรเลีย และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ สหรัญอเมริกาที่ได้เปิดออฟฟิศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อหวังจะเป็นศูนย์บัญชาการเพื่อขยายไปยังเม็กซิโก บราซิล และอาร์เจนตินาด้วย

แผนโกอินเตอร์ของ WeChat ในแต่ละประเทศคล้ายๆ กันคือ การเป็น “พ่อบุญทุ่ม” โดยทุ่มแหลกกับการทำโฆษณาทีวี ไม่ใช่แค่ค่าแอร์ไทม์ช่วงไพรม์ไทม์เท่านั้นที่ยอมจ่าย แต่ยังดึงดาราดังที่สุดของแต่ละประเทศมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ด้วย จากนั้นก็ลงสื่อออฟไลน์และสื่อนอกบ้านต่างๆ อย่าง นิตยสาร รถไฟใต้ดิน รถเมล์ รวมถึงจัดอีเวนต์แจกรางวัลอีกด้วย

WeChat กับ โมเดลธุรกิจที่ลึกและไกลกว่าทุกแอปฯ แชต

โมเดลธุรกิจสำหรับแอปฯ แชตที่เห็นกันว่าสำเร็จ เพราะหลายค่ายเลือกใช้ คือ การขายค่าส่งข้อความผ่านระบบ Official Account และสติ๊กเกอร์ แต่ WeChat ในปี 2013 นี้เตรียมรุกไกลกว่านั้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็น…

ทำ Official Account ให้เป็น AI สำหรับการค้นหาข้อมูลสินค้า : โดยร่วมมือกับ Tmall และ Taobao เว็บขายของอันดับหนึ่งของจีน เพื่อใช้ Official Account ใน WeChat สำหรับการค้นหาสินค้า เพียงแค่เข้าไปติดตามบัญชีอย่างเป็นทางการ และพิมพ์ข้อความใดๆ ก็ได้เกี่ยวกับชื่อสินค้า ก็จะได้ลิงค์กลับมาเพื่อกดเข้าไปดูรายละเอียดสินค้าที่มีคีย์เวิร์ดนั้น แน่นอนว่าไอเดียนี้สามารถต่อยอดไปกับทุกแบรนด์ที่มีหน้าร้านขายของออนไลน์อยู่แล้ว

เปิดระบบให้เชื่อมกับโปรแกรมแชต QQ เพื่อติดต่อลูกค้า : ระบบนี้เรียกว่า “Multi-Customer Service System” ซึ่งเมื่อลูกค้าสอบถามข้อมูลสินค้าผ่านคีย์เวิร์ดหรืออัดเสียง ทางแบรนด์จะได้รับข้อมูลผ่านโปรแกรมแชต QQ บนคอม และตอบกลับลูกค้ารายคนได้

ทำ Mobile Marketing กับฟีเจอร์ Shake : Shake เป็นหนึ่งในฟีเจอร์หลักที่แอปฯ แชตคู่แข่งไม่มี ที่ผ่านมาให้เขย่าเพื่อหาเพื่อนคุยรอบๆ ตัว ต่อไปสามารถใช้เขย่าเพื่อชิงรางวัล เมื่อเห็นโฆษณาปรากฏบนทีวี เหมือนกับที่โค้กทำสำเร็จกับแอปฯ Chok ในฮ่องกง ที่ใช้การเขย่ามือถือหน้าจอเพื่อลุ้นรางวัล ซึ่งเป็นแคมเปญที่ได้รับรางวัล Best Advertising & Marketing จากเวที Global Mobile Awards 2013 จากสมาคม GSMA และ Cannes Mobile Lion 2012 ด้วย


เปิดระบบต้อนรับพันธมิตร : WeChat เปิดช่องให้นักพัฒนาแอปฯ รายอื่นเข้ามาเชื่อมต่อการทำงานกับแอปฯ WeChat ได้ เช่น แชร์รูปจากแอปฯ อื่นๆ มาใน WeChat หรือแชร์รูปจากแอปฯ อื่นมายัง WeChat ซึ่งประตูนี้ เพิ่มโอกาสให้ WeChat กลายเป็นช่องทางการสื่อสารมาตรฐานบนมือถือ และเพิ่มความถี่บ่อยในการเปิดใช้งานแอปฯ มากขึ้นด้วย

WeChat กับอุปสรรคที่อาจจะยากเกินควบคุม

เนื่องจากปัจจุบัน ทาง WeChat เปิดให้แบรนด์ต่างๆ เข้ามาเปิด Official Account ได้อย่างเสรี บางประเทศถึงขั้นให้ฟรี ทำให้เกิดปัญหาชื่อบัญชีซ้ำซ้อน ซึ่งในอนาคตอาจจะส่งผลให้เจอบัญชีปลอม และส่งข้อความหลอกลวงได้ นอกจากนี้แล้วปัญหาที่ใหญ่ยิ่งกว่าของ WeChat ที่นอกเหนือจากการจะถูกสั่งบล็อกจากค่ายมือถือหากไม่ยอมแบ่งรายได้แล้ว ยังมีอีกปัญหาที่ขัดขวางการโกอินเตอร์อย่างยิ่งยวดคือ การเซ็นเซอร์ข้อความที่ส่งกันไปมาระหว่างสมาชิกจากกำแพงไฟของรัฐบาลจีน ที่ดูแลผู้ใช้ WeChat ไม่ว่าจะเล่นจากประเทศไหนในโลก

ด้วยฟีเจอร์แบบครอบจักรวาลของ WeChat ที่ทำทั้งแชต โทร แต่งภาพ โซเชี่ยล ช้อปปิ้ง ฯลฯ ย่อมเป็นตัวดึงดูดใจผู้ใช้ให้แนะนำยอดดาวน์โหลดเพิ่มแบบปากต่อปากง่ายๆ และการที่ Tencent ใช้ WeChat เป็นตัวต่อยอดเพื่อทำให้ระบบนิเวศน์ของ QQ แข็งแกร็งขึ้น โดยเฉพาะกับตลาดมือถือ ทั้งยังมุ่งเป้าโกอินเตอร์ ไม่แน่ว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าอาจจะได้ยินข่าวว่า WeChat ได้กลายเป็นแอปฯ แชตแรกที่มียอดสมาชิกครบ 1,000 ล้านคนเหมือนที่เฟซบุ๊กเคยทำสำเร็จกับโลกออนไลน์ก็เป็นได้