ถึงยุค “วิดีโอ” ครองเมือง… เผยยอดวิดีโอบนอินสตาแกรม ช่วง 4 วันแรก ยอดอัพโหลดเฉลี่ย 10,330 วิดีโอต่อวัน นักการตลาดออนไลน์เชื่อ ฟังก์ชัน “วิดีโอ” ของอินสตาแกรมจะเป็นโอกาสใหม่ให้สินค้าและแบรนด์ประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย
ถ้าพูดถึงเรื่องการใช้ Social Media ทั่วๆ ไปนั้น เราก็มักจะคุ้นเคยกับการใช้รูปภาพ ข้อความเป็นหลักเนื่องจากว่าเป็นรูปแบบที่ทำได้ง่าย เป็นที่นิยม สะดวกต่อการแชร์ใน Social Network ที่คนเรามักใช้กันอย่าง Facebook หรือ Twitter ซึ่งผิดกับวิดีโอที่เรามักจะเห็นการโพสต์กันใน YouTube แล้วนำมาแชร์ต่ออีกที
แม้ว่า YouTube จะยังคงเป็นแหล่งรวบรวมคลิปวิดีโอที่ใหญ่ที่สุด ได้รับความนิยมที่สุด แต่สิ่งที่มันต่างออกไปจากแพลตฟอร์มอื่นๆ คือ YouTube ไม่ได้มี Social Network ชัดเจนแบบเดียวกับที่ Facebook หรือ Twitter มี ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว YouTube จึงกลายเป็นเสมือนคลังวิดีโอให้หยิบไปแชร์ มากกว่าที่จะสร้างตัวเองให้เป็นเครือข่ายสังคมที่แข็งแรงได้ ผิดกับสื่อในรูปแบบภาพที่สามารถสร้างเครือข่ายของตัวเองได้อย่างเช่น Instagram ที่ปัจจุบันกลายเป็น Social Network ที่มีการแชร์ภาพจำนวนมหาศาลในแต่ละวัน
ปัจจัยที่กลายเป็นอุปสรรคสำคัญของการสร้างเครือข่ายการแชร์วิดีโอคงไม่พ้นเรื่องของอุปกรณ์ในการถ่ายวิดีโอและการอัพโหลดขึ้นอินเทอร์เน็ต
ถ้าเราสังเกตกันจะเห็นว่าถ้ามีแคมเปญการตลาดไหนให้คนถ่ายคลิป (โดยเฉพาะคลิปตัวเอง) เข้ามาร่วมสนุกกันแล้ว น้อยครั้งที่เราจะเห็นการส่งคลิปกันมาแบบมากมายชนิดดูกันไม่ทัน ส่วนสำคัญอย่างหนึ่งคือการอัพโหลดขึ้นYouTubeนั้นมีขั้นตอนที่ค่อนข้างจะยุ่งยากอยู่ไม่น้อย และส่วนมากมักต้องทำผ่านคอมพิวเตอร์แทนที่จะทำได้ผ่านโทรศัพท์มือถือที่เป็นเครื่องถ่ายวิดีโอ (แม้ว่าทุกวันนี้จะมีแอปที่ถ่ายคลิปแล้วช่วยอัพโหลดให้ทันที แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมมากนัก)
อย่างไรก็ตาม นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าการถ่ายและแชร์วิดีโอจะไม่ได้รับความนิยม เพราะอย่างSocialCamเองก็ได้รับความนิยมจากผู้ใช้ชาวไทยอยู่มากพอสมควร แม้ว่าจะเป็นเครือข่ายที่ใช้กันในเฉพาะกลุ่มก็ตาม
ที่กล่าวมานั้นจะเห็นว่า “เครือข่ายการแชร์วิดีโอ” ยังเป็นเหมือนพื้นที่ที่ยังไม่มีใครเข้าไปจับจองในโลกดิจิตอลอย่างจริงจังนัก แม้แต่ Facebook เองที่มีฟีเจอร์ของการโพสต์วิดีโอเองก็ยังไม่ได้รับความนิยมมากเท่าไรนักเมื่อเทียบกับรูปภาพที่เราเห็นกันเป็นเรื่องปรกติ
จุดเปลี่ยนที่น่าสนใจของการถ่ายและแชร์วิดีโอนี้ น่าจะเริ่มเห็นได้จากการที่ Twitter ได้เปิดบริการใหม่ที่ชื่อว่า Vine (หลังจากที่ Twitter เข้าซื้อกิจการของบริษัทในเดือนตุลาคมปี 2012) ซึ่งเป็นอีกแอปพลิเคชั่นที่มีเครือข่ายของตัวเองสำหรับการแชร์คลิปวิดีโอขนาดสั้น ความยาวสูงสุด 6 วินาที โดยใช้แอคเคานต์เดียวกับ Twitter สำหรับการใช้บริการได้เลย ซึ่งจะว่าไปแล้ว Vine น่าจะเป็นจุดที่ทำให้นักการตลาดเริ่มหันมาสนใจว่า “เครือข่ายการแชร์วิดีโอ” เริ่มมีการเคลื่อนไหวในระดับ Mass และก็เริ่มมีการสร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจบน Vine อย่างเช่นการถ่ายบรรยากาศแคตวอล์ก หรือตัวอย่างหนังที่มีการตัดพิเศษให้อยู่ในความยาว 6 วินาที
แน่นอนว่าเมื่อกลายเป็นภาพเคลื่อนไหวแล้วนั้น มิติของคอนเทนต์ย่อมมีอะไรที่แตกต่างไปจากภาพนิ่ง เพราะมิติของเวลาจะเป็นตัวช่วยสร้าง “การเดินทาง” ของคอนเทนต์ได้อีกมากมาย (แม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ ก็ตาม)
เช่นเดียวกับที่ TVC จะมีเสน่ห์ที่แตกต่างไปจาก Print Ad หรือ Billboard นั่นเอง
แต่สิ่งที่ดูจะทำให้วงการ Social Media และการแชร์วิดีโอเคลื่อนไหวได้น่าสนใจที่สุดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คงไม่พ้นการที่ Photo Social Network ที่ใหญ่ที่สุดอย่าง Instagram (ซึ่งปัจจุบันเป็นของ Facebook ไปแล้ว) เข้ามาร่วมรองรับการถ่ายวิดีโอเช่นเดียวกับที่ Vine ได้ทำไว้ก่อนหน้านี้
ปัจจุบัน Instagram มีฐานผู้ใช้งานต่อเดือนอยู่ที่ 130 ล้านบัญชี โดยมีการประมาณการว่าคนไทยใช้ Instagram อยู่ที่ราวๆ 2 ล้านบัญชี สิ่งที่น่าสนใจคือเมื่อ Instagram รองรับการถ่ายและแชร์คลิปวิดีโอได้นั้น
ย่อมหมายถึงว่าจำนวนผู้ใช้ดังกล่าวจะกลายเป็นกลุ่มที่มีโอกาสสร้างคอนเทนต์วิดีโอขึ้นมาได้ทันทีโดยเพียงแค่อัพเดตแอปพลิเคชั่นเป็นเวอร์ชั่นล่าสุดเท่านั้น และจากสถิติที่มีการประกาศออกมาพบว่า มีการถ่ายคลิปวิดีโอและโพสต์ขึ้นแชร์บนเครือข่ายถึง 5 ล้านคลิป ภายในระยะเวลาเพียง 24 ชั่วโมงเท่านั้น
จุดได้เปรียบอย่างมากของ Instagram คือการเพิ่มความสามารถการถ่ายวิดีโอเข้าไปในแอปพลิเคชั่นเดิมของตัวเองซึ่งคุ้นมือผู้ใช้งานอยู่แล้ว และที่ดียิ่งกว่าคือการใช้ฐานเครือข่ายเดิมต่อได้ทันทีโดยไม่ต้องไปสร้างใหม่แต่อย่างใด (ผิดกับ Vine หรือ SocialCam ที่เสมือนกับต้องไปเริ่ม Add Friend/Follower กันใหม่อีก)
ด้วยความง่าย สะดวก และฟีเจอร์ที่คุ้นเคยกันอยู่แล้ว จึงเป็นไปได้มากว่าในอนาคตเราจะเห็นคอนเทนต์ประเภทคลิปวิดีโอขนาดสั้นถูกแชร์ขึ้นอีกมากบน Social Network อย่าง Instagram ที่คงมิวายถูกเชื่อมต่อไปยัง Facebook และ Twitter ซึ่งก็คงจะไม่แปลกใจอะไรที่มันจะกลายเป็นขุมทรัพย์แห่งใหม่ของธุรกิจและการตลาดที่สามารถตักตวงโอกาสจากความสามารถใหม่นี้
ถ้าเรามองดูว่า 15 วินาทีซึ่งเป็นระยะเวลาที่ Instagram ให้ผู้ใช้สามารถถ่ายคลิปได้นั้นจะสามารถทำอะไรได้บ้าง เราจะสามารถเห็นได้ว่ามันพลิกแพลงหรือประยุกต์ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการายงานสถานการณ์สั้นๆ แบบกระชับฉับไว การถ่ายวิธีการใช้งานสินค้าหรือบริการ การตัดต่อเป็นเสมือนหนังสั้น
และที่สำคัญคือ มันมีขนาดความยาวเท่ากับระยะเวลาของหนังโฆษณาทางทีวีอีกด้วย ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จะเห็นได้ว่าคลิปวิดีโอเหล่านี้จะสามารถกลายเป็นคอนเทนต์ให้กับแบรนด์ต่างๆ ได้
จากการเปิดบริการที่รองรับการถ่ายคลิปวิดีโอเหล่านี้ น่าจะตรงกับที่นักวิเคราะห์หลายคนเริ่มให้ความสนใจว่าวิดีโอคอนเทนต์จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าแต่ก่อนวิดีโอคอนเทนต์จะเป็นการใช้งานเฉพาะกลุ่มเนื่องจากข้อจำกัดของเทคโนโลยี แต่เมื่อแพลตฟอร์มและผู้บริการมีความพร้อมมากขึ้นเช่นเดียวกับผู้บริโภคที่คุ้นชินกับการใช้งาน เราก็จะเคลื่อนเข้าสู่การใช้งานในระดับ Mass อย่างรวดเร็ว
และถ้านักการตลาดของธุรกิจไหนไหวตัวก่อน รีบฉวยโอกาสของความสดใหม่นี้ทำแคมเปญที่โดนใจได้ ก็แน่นอนว่าจะกลายเป็นที่สนใจและถูกพูดถึงเยอะได้ง่ายกว่าตอนที่ผู้เล่นคนอื่นๆ กระโจนเข้ามาในตลาดจนกลายเป็นเรื่องปรกติ เช่นเดียวกับที่ตอนนี้ใครๆ ก็ทำ Facebook Page หรือมี Instagram กัน
ถึงตอนนั้นก็คงยากที่จะ “ว้าว” กันได้แล้วล่ะครับ
เผยตัวเลข คนไทยอัพ “หมื่นกว่า” วิดีโอต่อวัน
หลังจากปล่อยฟังก์ชันใหม่ได้ไม่นาน อินสตาแกรมได้ออกมาเผยสถิติ มีการถ่ายคลิปวิดีโอแล้วแชร์เกิน 5 ล้านคลิปภายใน 24 ชั่วโมง
ในไทยปัจจุบันมีผู้ใช้อินสตาแกรม 8 แสนราย ที่น่าสนใจ ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้ง Zocial Inc ซึ่งพัฒนาระบบ ZocialEye Monitoring เพื่อมอนิเตอร์ผู้ใช้โซเชี่ยลมีเดียในไทย เปิดเผยว่า ในช่วง 4 วันหลังอินสตาแกรมออกฟังก์ชันวิดีโอคลิป มีผู้อัพโหลดวิดีโอ 10,330 วิดีโอ หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8% ของการอัพโหลดภาพทั้งหมด
มาถูกที่ถูกเวลา
จิณณ์ เผ่าประไพ กรรมการผู้จัดการร่วมและหุ้นส่วนบริษัท CJ Worx มองว่า คนไทยนิยมใช้อินสตาแกรมเพิ่มขึ้นตลอด ยิ่งเวลานี้เมืองไทยเปิดให้บริการมือถือระบบ 3 จี ความเร็วในการรับส่งสัญญาณสูงขึ้น ช่วยให้การโหลดภาพวิดีโอได้ดียิ่งขึ้น การเปิดให้อัพโหลดวิดีโอของอินสตาแกรมจึงมาถูกที่ถูกเวลา
แพลตฟอร์มใหม่ของอินสตาแกรม จะช่วยให้แบรนด์หรือสินค้าสามารถนำไปใช้เครื่องมือสื่อสารกับลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น โดยเหมาะกับสินค้าและบริการที่ต้องการนำเสนอเรื่องของ “ไลฟ์สไตล์”เป็นหลัก เนื่องจากคนที่นิยมใช้อินสตาแกรม เพื่อต้องการตามดูชีวิตของคนอื่นๆ คนดัง ดารา นักร้องและบรรดาเซเลบริตี้ คนที่เป็นเทรนด์เซตเตอร์ในสังคม ว่าใช้ชีวิตกันอย่างไร ไปกินไปเที่ยวที่ไหน
ดารา เซเลบริตี้ได้ประโยชน์มากกว่าแบรนด์
อรรถวุฒิ เวศรานุรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อะแดปเตอร์ ดิจิตอล จำกัด มองว่า ผู้ที่จะได้รับประโยชน์ได้ดีน่าจะเป็นผู้ใช้มากกว่า อย่างดารา นักร้อง เซเลบริตี้ เพราะทุกวันนี้ใช้ อินสตาแกรมเป็นช่องทางหลักในการสื่อสารกับกลุ่มแฟนคลับอยู่แล้ว แทนที่จะอัพภาพนิ่ง ก็อัพเป็นภาพวิดีโอ การนำเสนอเพิ่มความน่าสนใจยิ่งขึ้น
สำหรับในแง่ของแบรนด์ ที่ผ่านมายังไม่มีการใช้อินสตาแกรมเป็นช่องทางในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายโดยตรง ส่วนใหญ่จะใช้วิธีทำตลาดผ่านอินสตาแกรมของดารา นักร้อง หรือเซเลบริตี้ อีกที
“อินสตาแกรม เหมาะจะใช้เป็นช่องทางสื่อสารส่วนบุคคลมากกว่าจะใช้เป็น “ชาแนล” ของแบรนด์ ซึ่ง “ยูทิวบ์” ยังคงทำหน้าที่นี้ได้ดีกว่า เพราะนำเสนอเรื่องราวได้เต็มที่”
เพิ่มลูกเล่นให้แบรนด์
อดิลฟิตรี ประพฤติสุจริต กรรมการผู้จัดการ อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ ออนไลน์มองว่า ฟังก์ชั่นใหม่ของอินสตาแกรมน่าจะได้รับความนิยมจากผู้ใช้โซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค เนื่องจากการใช้งานจะอยู่บนสมาร์ทโฟนเป็นหลัก และเวลานี้เมืองไทยมีบริการ 3 จี ที่เอื้อต่อการอัพโหลดวิดีโอได้ดียิ่งขึ้น ประกอบกับเวลานี้บนโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คยังไม่มีแพลตฟอร์มใหม่ๆ ออกมา การใช้เฟซบุ๊กก็เริ่มอิ่มตัว อินสตาแกรมเป็นทางเลือกของคนยุคนี้ ที่ต้องการติดตามดูดารา นักร้อง และคนไทยเองก็เห่อดารา ทำให้อินสตาแกรมได้รับความนิยมจากผู้ใช้เพิ่มขึ้น
ส่วนในแง่แบรนด์เอง ฟังก์ชันใหม่นี้ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำตลาดเพิ่มลูกเล่นในการนำเสนอสินค้าและผลิตภัณฑ์ได้ดียิ่งขึ้น
เพิ่มมิติการนำเสนอให้กับแบรนด์
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการ บริษัทตลาดดอทคอม และผู้ก่อตั้งเว็บ Zocial Inc มองว่า รูปแบบการนำเสนอของบนอินสตาแกรมไม่ได้มีแค่มิติเดียวที่เป็นภาพนิ่งแบบเดิม แต่ทำได้หลายมิติมากขึ้น จากการนำเสนอวิดีโอคลิปเป็นภาพเคลื่อนไหวได้
ในแง่ของแบรนด์จะได้ประโยชน์จากการใช้อินสตาแกรมเป็นช่องทางในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายมาก ทำให้การนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการเพิ่มความน่าสนใจยิ่งขึ้น ซึ่งเวลานี้เริ่มมีแบรนด์สินค้าในต่างประเทศ อย่าง เอสทีซี, ลีวายส์ เริ่มทำวิดีโอคลิปออกมาเผยแพร่ที่อินสตาแกรมของแบรนด์แล้ว