เมื่อวงการเอเยนซี่โฆษณา และการตลาดของไทย ต้องทิ้งตำราเล่มเดิม เรียนรู้หาโซลูชั่น เพื่อคำตอบใหม่ไปกับขี่คลื่น “ดิจิตอล” ลูกล่าสุด ผู้บริโภคยุคนี้ใจร้อน ความอดทนน้อยลง ชอบดูและอ่านอะไรสั้นๆ ดูทีวีน้อยลง หรือดูทีวีไปทวิตไป… ทำโฆษณายุคนี้ต้องให้คนดูบอกต่อกันเอง ยิ่งเป็นไวรัล ยิ่งแชร์ ยิ่งเมนต์ เท่าไหร่ก็ยิ่งดี ยิ่งให้ผู้บริโภคคิดเองแชร์เองก็ยิ่งดี …อะไรที่ฮิตๆ มาวันเดียวก็เลิกแล้ว อีกสารพัดที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคนี้ อันเป็นผลมาจาก “โลกดิจิตอล” เปลี่ยนการเสพข้อมูลจากทีวี วิทยุ ไปสู่หน้าจอสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ทุกอย่างกลายเป็น “เรียลไทม์” แน่นอนว่าดิจิตอลไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่รับรู้กันมาหลายปี แต่เป็น “โจทย์ใหญ่” ขึ้นเรื่อยๆ สำหรับนักโฆษณาและการตลาด ต้องปรับตัวกันสุดชีวิต กับการสร้างตัวเองให้เป็นนักโฆษณา และนักการตลาดพันธุ์ใหม่ ที่พร้อมจะขี่ไปบนคลื่นลูกใหม่นี้ ดูได้จากทุกเวทีงานสัมมนา และงานประกวดโฆษณาไทยที่มี “ดิจิตอล” เป็นโจทย์สำคัญ ตามหาคำตอบได้จากคนในวงการโฆษณา และการตลาดระดับ “กูรู” ที่สะท้อนแง่คิดอย่างน่าสนใจ จากงานสัมมนา “โฆษณาไทย จากนี้ไปใครจะ Set trend“ จัดโดยสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ที่ได้ชี้ให้เห็นว่า หมดยุคโฆษณาผูกขาดการสร้างเทรนด์ เพราะอิทธิพลของสื่อดิจิตอลได้ทำให้ผู้บริโภคกลายเป็น “เทรนด์เซตเตอร์“ หากจำกันได้ หนังโฆษณา หนอนชาเขียว โฆษณาสมูทอี หรือโฆษณาจนเครียดกินเหล้าของ สสส. หรือหนังโฆษณาเศร้าสุดซึ้งของไทยประกัน หนังโฆษณาเหล่านี้เคยเรียกเสียงหัวเราะและน้ำตา เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ระดับทอล์กออฟเดอะทาวน์ แต่นั่นคืออดีต เมื่อทีวียังเป็นสื่อทางเดียวที่ทรงอิทธิพล เมื่อการมาของเทคโนโลยีส่งผลให้ผู้บริโภคยุคนี้เปลี่ยนพฤติกรรมมาสู่การเสพสื่อหลายทางทั้งสื่อดั้งเดิม ไปพร้อมๆ กับเสพสื่อใหม่ ผ่านสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต เป็นยุคของ “มัลติสกรีน” หรือ “มัลติแพลตฟอร์ม” “คนทำโฆษณาวันนี้ต้องพลิกตำรากันใหม่ เมื่อก่อนเราเรียนรู้เรื่องการสร้างหนังให้มีพลัง เพื่อให้คนมารักมาชอบแบรนด์ และซื้อสินค้า ต่อมาก็มีเรื่องของการทำอีเวนต์และพีอาร์ ตามมาด้วยรีเทลมาร์เก็ตติ้ง ชอปเปอร์มาร์เก็ตติ้ง แต่ศาสตร์ใหม่ในวันนี้ คือ เรื่องของโซเชียล ออนไลน์ เป็นเรื่องของการทำแบรนด์เดด เอนเตอร์เทนเมนต์ การสร้างคอนเทนต์ครีเอชั่น เพราะเวลานี้คนไม่ได้เชื่อโฆษณาทีวีอีกต่อไปแล้ว เขาเชื่อเพื่อนในโซเชียลเน็ตเวิร์ก” อ่อนอุษา ลำเลียงพล นายกสมาคมโฆษณาฯ สะท้อนความเห็น เช่นเดียวกับ สุทธิศักดิ์ สุจริตตานนท์ ประธานและประธานกรรมการบริหารฝ่ายสร้างสรรค์ / บีบีดีโอ กรุงเทพ จำกัด ในฐานะครีเอทีฟไดเรคเตอร์ ที่คร่ำหวอดกับวงการโฆษณามา 30 ปี มองการเปลี่ยนแปลงวงการโฆษณาในรอบ 10 ปี จากหนังโฆษณาทีวีของไทยเคยสร้างผลงานในระดับเวทีโลก หนังโฆษณาที่เคยทรงอิทธิพล วันนี้นักโฆษณาต้องมาทำความเข้าใจกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ใหม่ ผู้บริโภคยุคนี้สมาธิสั้น ทำอะไรหลายอย่างพร้อมกัน อัพเฟซบุ๊ก ดูรูปอินสตาแกรม การทำโฆษณาจึงต้องก้าวให้ทันกับพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้บริโภคยุคนี้ โดยต้องคิดหลายแพลตฟอร์ม และ “อินทิเกรต” ทุกสื่อเข้าด้วยกัน “เวลานี้เราจะคิดแบบเดิม เคยทำหนังโฆษณากันปีละ 100 กว่าเรื่อง ทำเสร็จก็ใช้ เงินเรื่องหนึ่งไม่ต่ำกว่า20-30 ล้าน สาดลงไปในแมสมีเดีย เพื่อให้ผู้บริโภคติดหูติดตา มันเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว ไม่มีใครให้เงินเรามาทำแบบนี้อีกแล้ว เพราะผู้บริโภคเวลานี้เขาไม่ได้รับสื่อทางเดียว เวลานี้มีเรื่องของออนไลน์เข้ามา ผู้บริโภคมีทางเลือกเสพสื่อหลายทาง เราไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลยว่า ทำไปแล้วผู้บริโภคเขาจะมีผลตอบรับ (รีแอค) กับโฆษณาชิ้นนั้นอย่างไร”
อำนาจอยู่ในมือของผู้บริโภค ขณะเดียวกัน อิทธิพลของโซเชียลทำให้เรื่องใดเรื่องหนึ่งฮิตทั่วบ้านทั่วเมือง แต่เกิดขึ้นเพียงช่วงสั้นๆ บางกระแส 3 วันก็หายไปแล้ว เช่นเดียวกับโฆษณาทีวี จากในอดีตหนังบางเรื่องที่เคยสร้างทอล์กออฟเดอะทาวน์ กระแสอยู่ได้เป็นเดือน แต่เวลานี้อยู่ได้ 3 วันก็นับว่าเก่งแล้ว เพราะผู้บริโภคในยุคออนไลน์จะเสพข้อมูลจากทุกที่ทุกทาง จึงมีสิ่งใหม่ๆ มาสร้างความสนใจได้ตลอดเวลา ในมุมของครีเอทีฟ มองว่า ไอเดียยังเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการคิดงานโฆษณา แต่ต้องปรับวิธีคิดใหม่รองรับกับแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่หลากหลาย และต้องปรับไปสู่การสร้าง “คอนเทนต์” เพื่อให้ผู้บริโภคไปเมนต์ หรือแชร์ต่อ สังคมไทยต้อง “เดี๋ยวนี้” ในฐานะของผู้ที่เคยซื้อสื่อรายใหญ่ ธนา เธียรอัจฉริยะ ผู้อำนวยการสถาบัน Academy of Business Creativity มองว่า โฆษณายังคงเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ทรงพลังที่สุด เหมาะกับพฤติกรรมของคนไทยยุคนี้ที่อดทนต่ำ ทุกอย่างต้องตอบสนองทันที ไม่ชอบซับซ้อน ชอบดูอะไรสั้นๆ ยิ่งเมื่ออยู่ในสื่อดิจิตอล ก็ยิ่งตอบสนองความต้องการปัจจุบันทันด่วนได้มากขึ้น อิทธิพลโซเชียลเน็ตเวิร์ก อ่อนอุษา มองว่า เทรนด์ที่มาแรงที่สุด คือ โซเชียลเน็ตเวิร์ก คนไทยใช้ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม โหลดสติกเกอร์ไลน์ ดังนั้นการสื่อสารต้องไม่ใช่ทางเดียว หรือแมสคอมมูนิเคชั่น แต่ต้องเป็น “แมสคอนเวอร์เซชั่น” อาจเริ่มจากเล็กๆ จากนั้นถูกบอกต่อ และเกิดเป็นไวรัล เธอยกตัวอย่าง “คลิปเด็กร้องไห้คิดถึงละครคุณชายแห่งวังจุฑาเทพ อยากให้กลับมาอีก พอสรยุทธ (สุทัศนะจินดา) นำมาออกอากาศ เกิดการบอกต่อ กลายเป็นไวรัลขึ้นมา เปรียบเป็นการสร้างแบรนด์ของละครเรื่องนี้ “เป็นผลมาจากวิถีของออนไลน์ พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป เป็นการสื่อสารสองทาง ผู้บริโภคมีการพูดคุยและแชร์กัน การวัดผลของแบรนด์เวลานี้จึงไม่ได้แค่กดไลค์ แต่ต้องวัดผลกันที่การถูกพูดถึง หรือ Talk about และเป็นกลยุทธ์ของแบรนด์ที่ต้องให้คนพูดถึงในด้านบวก จรรยาบรรณเป็นเรื่องสำคัญ
นักโฆษณาต้องกลายพันธุ์ คนทำงานด้านโฆษณาเวลานี้จึงต้องปรับตัวให้ทันกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ และการเปิดรับแพลตฟอร์มใหม่ๆ ในโลกออนไลน์ สุทธิศักดิ์ ยกตัวอย่างของการปรับตัวจากเอเยนซี่ที่เคยคิดงานโฆษณาทีวีปีละเป็นร้อยเรื่องมาสู่โลกของโฆษณาบนสื่อดิจิตอล เช่น การทำแอปพลิเคชั่นบน “โมบายแพลตฟอร์ม” ให้กับร้านกาแฟอเมซอน ด้วยงบประมาณที่มีจำกัด จึงเลือกทำเป็นแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน คอย “ปลุก” คนขับรถเมื่อเกิดอาการง่วง โดยที่คิดมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภค คือ คนขับรถ ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของร้านกาแฟอเมซอน เมื่อปลุกแล้ว ก็มีแผนที่พาไปร้านกาแฟอเมซอนที่ใกล้ที่สุด เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการปรับตัวของคนทำโฆษณา ที่เปลี่ยนมุมคิดจากการทำหนังโฆษณาแบบเดิมๆ มาสู่การหาไอเดียเพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภค ได้ทั้งแบรนด์และขายสินค้าในเวลาเดียวกัน โฆษณาไทยใครเป็นคนเซตเทรนด์ การทำโฆษณายุคนี้ เอเยนซี่โฆษณาไม่ได้เป็นผู้สร้างเทรนด์อีกต่อไปแล้ว เพราะดิจิตอลทำให้ผู้บริโภคมีบทบาทสูง และเป็นผู้กำหนดเทรนด์ด้วยตัวเอง นักโฆษณา และนักการตลาดต้องเรียนรู้และจับพฤติกรรมเหล่านี้มาใช้ โดยให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการโคครีเอชั่น และการตัดสินใจ ร่วมสร้าง “คอนเทนต์” ผ่านไปยังแพลตฟอร์มต่างๆ โดยที่ไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ยังเป็นเรื่องสำคัญ แลนี่คือการโฆษณาวันนี้ พรีเซนเตอร์ต้องเล่นดิจิตอล ส่วน ดร.ลักขณา ลีละยุทธโยธิน ประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ บริษัทเซเรบอส แปซิฟิก เป็นอีกหนึ่งในผู้ที่คร่ำหวอดกับการตลาดมาหลายสิบปี มองว่า นักการตลาดและโฆษณายุคนี้จะใช้ตำรา 4 P ไม่ได้แล้ว ต้องมีมุมมองเกี่ยวกับดิจิตอลมากขึ้น เพราะเทรดดิชันแนลมีเดียจะใช้ได้ผลน้อยลงไปเรื่อยๆ และพฤติกรรมของผู้บริโภคบนเทรดดิชันแนลและดิจิตอลแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในแง่ของ “เซเรบอส” เอง สู่โลกดิจิตอลมา 5 ปี โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนการตลาดที่ต้องมีสื่อออนไลน์ที่ผู้บริโภคนิยม เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ไลน์ รวมถึงการซื้อขายผ่าน อีคอมเมิร์ซ ที่มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี “รวมถึงผู้ที่มาพรีเซนเตอร์ให้กับเรา ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมในสื่อดิจิตอล ไม่ว่าจะเป็นอินสตาแกรม พูดคุยกับแฟนๆ ในเฟซบุ๊ก นี่คือข้อกำหนดของเราเลย”
นักการตลาดต้องกล้าเปลี่ยน เวทีสัมมนาในแวดวงตลาด ก็มี “ดิจิตอล” เป็นหนึ่งในโจทย์ของนักการตลาดยุคนี้เช่นกัน วรรณิภา ภักดีบุตร รองประธานกรรมการบริหาร ด้านการตลาดผลิตภัณฑ์ความงาม บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด ให้ความเห็นว่า โลกข้างหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก แม้แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้าก็ไม่มีใครรู้ได้เลยว่าโลกดิจิตอลจะเปลี่ยนแปลงทำให้การสื่อสารการตลาดไปอย่างไร ผู้บริหารองค์กรจึงต้องมองเห็นการเปลี่ยนแปลงได้เร็วและชัด และกล้าที่จะเปลี่ยน ความท้าทายขององค์กรเวลานี้ ไม่ได้อยู่ที่งบประมาณการลงทุนในเรื่องดิจิตอล แต่เป็นเรื่องที่ผู้บริหารรุ่นเก่าต้องเข้าใจและเรียนรู้ เธอยกตัวอย่าง ยูนิลีเวอร์ ที่มีโครงการให้ทีมงานรุ่นใหม่อายุ 20 ปี มาสอนเกี่ยวกับดิจิตอลให้กับผู้บริหารระดับแชร์แมน “ผู้ใหญ่ในองค์กรต้องยอมรับว่า เราไม่รู้เรื่องดิจิตอลเท่ากับคนรุ่นใหม่ ที่เกิดมาพร้อมกับโลกดิจิตอล ดังนั้นไม่จำเป็นว่าไดรฟ์เอง แต่ควรให้ทีมงานรุ่นใหม่เข้ามาช่วยงาน” เอสซีจี ใช้ดิจิตอลขับเคลื่อนธุรกิจ ทางด้านเอสซีจี ผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ อนุวัตร เฉลิมไชย แบรนด์ ไดเรคเตอร์ สำนักงานบริหารแบรนด์ บริษัท เอสซีจี ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด บอกถึงการปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิตอลของเอสซีจี ไม่ใช่แค่ “เรียนรู้” หรือช่วยเหลือสังคม แต่ต้องการให้เป็นอาวุธที่ใช้ขับเคลื่อนธุรกิจ และการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย “เวลานี้เอสซีทีได้ลงทุนในการสร้าง “แพลตฟอร์ม” ใช้ทั้งภายใน และต่อยอดไปถึงภายนอก เช่น โซเชียลลิสเทนนิ่ง การนำข้อมูลทุกอย่างที่อยู่ในโลกออนไลน์ มาพัฒนาสินค้าและบริการ”
งบโฆษณาดิจิตอลโต นอกจากนี้ อ่อนอุษาได้บอกถึงงบโฆษณาทั้งปี ที่สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ประเมินว่า งบโฆษณาโดยรวมของปีนี้ จะอยู่ที่ 125,000 ล้านบาท เติบโต 3-5% จากอิทธิพลของสื่อใหม่ๆ ทั้งสื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดีย ทีวีดาวเทียม และทีวีดิจิตอล ธนา มองว่า ยังมีโฆษณาดิจิตอลไม่ได้ถูกนำมารวมเยอะมาก เนื่องจากมีโฆษณานอกระบบที่ไม่ได้นำมาวัด หรือวัดไม่ได้ เขายกตัวอย่าง รายการ VRZO ที่คิดค่าผลิตรายการกับสปอนเซอร์ ตอนละ 1 ล้านบาท ก็เป็นหนึ่งในโฆษณาออนไลน์ที่ไม่ได้ถูกรวมในงบโฆษณา ซึ่งยังมีโฆษณาออนไลน์อื่นๆ อีกหลายวิธีที่ไม่ได้รวมไป เชื่อว่างบโฆษณาดิจิตอลจะสูงกว่าที่ประเมินไว้ ขาดแคลนโฆษณาสายพันธุ์ใหม่ อย่างไรก็ตาม ผลที่ตามมาจากกระแสดิจิตอล เอเยนซี่กำลังขาดแคลนบุคลากรที่เชี่ยวชาญสื่อโฆษณาดิจิตอลอย่างหนัก ทั้งผลิตคนไม่ทัน และขาดคนใหม่ที่เรียนจบทางด้านนี้โดยตรง เนื่องจากสถาบันการศึกษาของไทยยังไม่มีหลักสูตรที่สอนเรื่องนี้โดยตรง เอเยนซี่บางรายถึงกับต้องไปรอรับสมัครจากผู้ที่จบจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ นอกจากนี้ ค่านิยมของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป ไม่นิยมเป็นลูกจ้าง มักจะรวมตัวกันเปิดบริษัทของตัวเอง เพราะคนเหล่านี้ต้องการทำงานอิสระมากกว่าการเป็นพนักงานในบริษัทเอเยนซี่ ทำให้เอเยนซี่ต้องแก้ปัญหาด้วยการพัฒนาคนเดิม แต่ก็ต้องใช้เวลา “เอเยนซี่ทุกรายเปิดแผนก หรือบริษัทมารองรับเรื่องของโฆษณาดิจิตอลกันหมด แต่ปัญหาคือขาดบุคลากรดีๆ ทางด้านนี้อย่างหนัก คือสิ่งที่เรากำลังต้องเผชิญ”