ตามติดชีวิตดิจิตอล “เจนวาย” อีสาน

ในยุคที่ดิจิตอลกลายเป็นเรื่องชีวิตประจำวันของคนเมืองกรุง สมาร์ทโฟนกลายเป็นอีกหนึ่งอวัยวะที่ขาดไม่ได้จากร่างกาย ทุกคนอัพเดตชีวิตส่วนตัวหรืออัพเดตข่าวสารจากโซเชียลมีเดียกันหมดทั้งสิ้น แต่ในอีกมุมนึงของทางด้านฝั่งชนบทนอกเมือง แม้บางคนยังไม่มีความเข้าใจในสื่อดิจิตอลเท่ากับคนกรุงมากนัก แต่ก็พร้อมที่จะก้าวทันตามโลกดิจิตอลอย่างเต็มที่

แมคแคน ทรูธ เซ็นทรัล ได้เจาะลึกคอนซูมเมอร์อินไซต์ “วัฒนธรรมดิจิตอล” ของชนบทในภาคอีสาน ไว้ 5 ประการ จึงเลือก “เจนวายภูธร” อายุระหว่าง 17 – 23 ปี โดยลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ที่เป็นจังหวัดที่มีกำลังใช้จ่ายเงินอันดับหนึ่งของภาคอีสาน

วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปจากรุ่นสู่รุ่น

แม้ในชนบทจะยังถูกปกคลุมด้วยพื้นที่เกษตรกรรมซะส่วนใหญ่ สามารถพบเห็นวิถีชีวิตที่ทำไร่ ทำนา ทำสวนเป็นเรื่องปกติทั่วไปได้ แต่เด็กยุคใหม่ หรือวัยเจนวายขอปฏิเสธในการรับช่วงต่อจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ในการทำไร่ทำนา แล้วกลับมาสวมสูทผูกไทด์เป็นพนักงานบริษัท หรือทำธุรกิจส่วนตัวกันมากกว่า เนื่องจากไม่อยากเหนื่อยเหมือนพ่อแม่ตนเอง

อาชีพที่นิยมทำกันส่วนใหญ่จะคล้ายๆ กับคนเมือง อย่างพนักงานธุรการ พนักงานบัญชี พนักงานขาย หรือทำงานราชการ

2. สมาร์ทโฟนรุ่นประหยัด ดาวเด่นในใจวัยรุ่น

การพัฒนาระบบ 3G ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ ทำให้วัฒนธรรมยุคดิจิตอลแผ่เป็นวงกว้างไม่เพียงเฉพาะเจาะจงแค่ในเมืองอย่างเดียวแล้ว ในชนบทเองดิจิตอลก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ชั้นดีอย่าง “สมาร์ทโฟน” ที่สามารถเชื่อมต่อโลกออนไลน์กับออฟไลน์ไว้ด้วยกัน

ถ้าเปรียบเทียบกับในสมัยก่อนที่วัยรุ่นต่างจังหวัดทุกคนจะต้องการมีมอเตอร์ไซค์เป็นของตัวเอง เพื่อเป็นพาหนะในการไปเรียน ทำงาน หรือไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูง แต่ในปัจจุบันต้องบอกว่าสมาร์ทโฟนได้เลื่อนขั้นมาเป็นไอเท็มคู่ใจของวัยรุ่นชนบท และด้วยราคาที่ถูกลงของสมาร์ทโฟนทำให้พวกเขาสามารถจับจองเป็นเจ้าของได้ง่ายขึ้น

ส่งผลให้ยอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนในในภาคอีสานเพิ่มขึ้นถึง 344 % ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2556 (เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ที่มา : GFK, Mobile Market Insights Survey) โดยมีผู้ใช้งานทั้งหมดประมาณ 917,519 คน หรือคิดเป็น 34 % ของเขตชนบททั่วประเทศ (ที่มา : สำนักงานสถิติแห่งชาติ 2555)

ส่วนรุ่นที่ยอดนิยมจะเป็นแค่รุ่นราคาประหยัด ราคาตั้งแต่ 3,000 – 5,000 บาท ขอแค่มีฟังก์ชั่นถ่ายรูปกับเข้าเฟสบุคได้ก็พอ ไม่ได้ต้องการ iPhone หรือรุ่นที่หรูกว่านี้ และการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่จะยังพึ่งพา Wifi จากสถานศึกษา โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือแหล่งชุมชนอย่างอนามัย ถ้าบ้านไหนมีฐานะขึ้นมาหน่อยจะใช้ Wifi & 3G Air Card ที่บ้าน ต่างจากในเมืองที่ส่วนใหญ่จะมี Internet Modem พร้อม Wifi Router กันแทบทุกบ้าน

3.เฟสบุค ประตูสู่โลกดิจิตอล

ถ้าพูดถึงสื่อโซเชียล มีเดีย เจนวายภูธรจะนึกถึงเฟสบุคเป็นอันดับแรก เนื่องจากวัยรุ่นชนบทมีไลฟ์สไตล์ที่ค่อนข้างจำกัด ไม่มีแหล่งท่องเที่ยวมากมายเหมือนในเมือง สถานที่แฮงค์เอาท์พบปะเพื่อนฝูงจะอยู่แต่ในเขตชุมชน สถานศึกษาเท่านั้น เฟสบุคจึงกลายเป็นตัวเลือกใหม่ในการใช้เวลาว่างของวัยรุ่น

พฤติกรรมการใช้เฟสบุคของวัยรุ่นชนบทจะแตกต่างจากในเมืองค่อนข้างมาก จะใช้เพื่อฆ่าเวลาหรือมีเวลาว่างจริงๆ พวกเขาจึงนิยมใช้แพ็คเกจเล่นอินเตอร์เน็ตแบบเหมาจ่ายรายวัน เช่น วันละ 9 บาท วันละ 49 บาท เพราะโดยพื้นฐานคนต่างจังหวัดจะใช้ระบบเติมเงินอยู่แล้ว หาน้อยคนมากที่จะใช้แบบระบบรายเดือน เพราะฉะนั้นทาร์เก็ตกรุ๊ปของโปรโมชั่นแต่ละเครือข่ายอยู่ที่เด็กเหล่านี้นี่เอง

ส่วนคอนเท้นท์ที่วัยรุ่นนิยมใช้จากเฟสบุคหลักๆ คือ 1. การได้เพื่อนใหม่ๆ ที่ไม่ได้เจอในชีวิตประจำวัน อาจจะเป็นเพื่อนจากจังหวัด 2. ได้แสดงความเป็นตัวเอง ได้โพสรูป และแสดงสเตตัสของตนเอง 3. ใช้เสพสื่อ ข่าวสารทั่วไปที่เป็นกระแสอยู่ตอนนั้น รวมไปถึงได้ตามศิลปิน ดารา หรือเน็ตไอดอลที่ชื่นชอบจากแฟนเพจด้วย

4. เสพติดการไลค์

ในยุคที่ใครๆ ก็อยู่ในโลกโซเชียล กลุ่มวัยรุ่นชนบทค่อนข้างที่จะให้ความสำคัญกับภาพพจน์ภายนอกมากขึ้น ในการจะลงรูปถ่ายสักหนึ่งรูป ต้องศัลยกรรมด้วยแอพพลิเคชั่นแต่งภาพถึง 3 แอพ! ทั้งนี้เพื่อให้ตัวเองดูดี และได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆ ในโซเชียลจากการกดไลค์

มีวัยรุ่นจำนวนไม่น้อยที่แข่งขัน “ถ่ายรูปเรียกไลค์” กันเองในกลุ่มเพื่อน เหมือนเป็นการสะสมแต้ม สร้างความภาคภูมิใจในตนเอง ซึ่งพวกเขาก็ไม่แคร์ว่าใครจะหาว่า “ในรูปไม่เห็นเหมือนตัวจริงเลย!” เจนวายภูธรยอมที่สร้าง “ตัวตนออนไลน์” ที่ดูดี เพื่อแลกกับการได้รับการกดไลค์ให้ได้มากที่สุด

5. ไลน์ &ไอจี ไม่ฮิต วัยรุ่นไม่ติดเหมือนในเมือง

Line และ Instagram อีกสองสื่อมาแรง และกำลังฮิตติดลมบนในกรุงเทพฯ แต่ในขณะเดียวกันกลับไม่เป็นที่นิยมของวัยรุ่นชนบท เพราะพวกเขาไม่ได้ก้มหน้าก้มตาเล่นสมาร์ทโฟนแบบ “เรียลไทม์” เหมือนวัยรุ่นในเมือง อาศัยการเล่นอินเตอร์เน็ตก็ต่อเมื่อมีสัญญาณ Wifi หรือซื้อแพ็คเกจแบบรายวันเท่านั้น สองแอพพลิเคชั่นนี้จึงไม่ได้อยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเขา

ส่วนอีกหนึ่งแอพฯ อย่าง Socialcam ที่ในหลายประเทศหมดความนิยมไปแล้ว แต่วัยรุ่นชนบทยังคงให้ความสนใจอยู่ เขาใช้เป็นช่องทางในการติดตามศิลปิน ดารา หรือเน็ตไอดอลที่เขาชื่นชอบ นั่นเป็นเพราะความ “เรียล” ของเหล่าเซเลปที่ถ่ายทอดมาในคลิป ทำให้พวกเขารู้สึกเข้าถึงได้ง่าย

ส่วนเจ้าของโซเชียลแคมยอดนิยมคือสองสาวตัวแม่แห่งวงการพริตตี้ “หญิงแย้” และ “แมลงเมี่ยง” ส่วนหนึ่งเพราะทั้งคู่มีเบื้องหลังในการศัลยกรรม แต่ก็อัพตัวเองจนเป็นพริตตี้ระดับแนวหน้าได้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในค่านิยมของวัยรุ่นชนบทที่เชื่อว่าความโด่งดังสามารถเปลี่ยนชีวิตให้ดีขึ้นได้

สรุปการใช้โซเชียลมีเดียของวัยรุ่นอีสาน