ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มองผลกระทบจากบาทแข็งต่อเศรษฐกิจและส่งออกอาจไม่รุนแรงอย่างที่หลายๆ ฝ่ายคาด ทั้งภาคส่งออกสินค้าและท่องเที่ยว คาด กนง. มีมติคงดอกเบี้ยที่ร้อยละ 2.75 ในการประชุมวันพุธนี้
หนึ่งในประเด็นที่อยู่ในความสนใจและได้รับการกล่าวขวัญมากที่สุดนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้นเรื่องของค่าเงินบาท ที่แข็งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจนไปซื้อขายเข้าใกล้ระดับ 29 บาทต่อดอลลาร์ฯ นับเป็นการทุบสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 16 ปี ซึ่งประเด็นคำถามที่เกิดขึ้นตามมา และมักเกิดขึ้นทุกครั้งเวลาค่าเงินบาทแข็งค่าคงหนีไม่พ้น แล้วการส่งออกของไทยจะเป็นเช่นไร ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ เพราะภาคการส่งออกสินค้าและบริการนับว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี เหรียญต้องมีสองด้านเสมอ มีด้านร้ายก็ย่อมมีด้านดีอยู่เช่นกัน ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น จะทำให้ต้นทุนในการนำเข้าสินค้าไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือเครื่องจักร สินค้าขั้นกลาง/วัตถุดิบในการผลิตตลอดจนสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคมีราคาถูกลงโดยเปรียบเทียบ หากมองในภาพรวมแล้ว เมื่อนำการส่งออกสินค้ามาหักลบกับการนำเข้าสินค้าจะเหลือส่วนส่งออกสินค้าสุทธิอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเท่านั้น ซึ่งเป็นส่วนรายได้ของประเทศที่จะได้รับผลลบจากค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นอย่างร้อยทั้งร้อยและอาจน้อยกว่าที่หลายๆ ฝ่ายเข้าใจ
จากการวิเคราะห์ของ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ยังพบอีกว่า โดยภาพรวมเกือบร้อยละ 90 ของผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการส่งออกสินค้ามีการนำเข้าวัตถุดิบ และ สินค้าสำเร็จรูป มาจากต่างประเทศเพื่อมาดำเนินธุรกิจด้วยเช่นกัน ข้อมูลดังกล่าวเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นว่า แท้จริงแล้วผู้ส่งออกไทยอาจไม่ได้รับผลกระทบด้านลบทั้งหมดจากการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาท แต่ก็ได้รับประโยชน์จากต้นทุนการนำเข้าสินค้าที่ถูกลงด้วยเช่นกัน ซึ่งเสมือนกับว่าผู้ส่งออกได้มีการทำประกันความเสี่ยงทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนโดยธรรมชาติ (Natural hedge) บางส่วนไปโดยปริยายซึ่งมากน้อยอยู่ที่สัดส่วนการนำเข้าต่อการส่งออกของแต่ละผู้ประกอบการ
ในขณะที่ตัวเลขภาคการท่องเที่ยว ยังไม่สะท้อนถึงความกังวลที่อาจจะเกิดขึ้นจากการแข็งค่าของเงินบาท โดยในเดือนกุมภาพันธ์ยังขยายตัวถึงร้อยละ 25 และเป็นการเปิดปีด้วยตัวเลขนักท่องเที่ยวที่สูงขึ้นแท่นทำสถิติเป็นอันดับสองเกือบ 2.4 ล้านคน เหตุผลหนึ่งคือ โครงสร้างนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากและมีการพึ่งพานักท่องเที่ยวจากอาเซียนและเอเซียกว่าครึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่ค่าเงินแข็งค่าไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนี้ การบริโภคภายในประเทศก็จะได้รับผลดีจากการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทด้วยเช่นกันทางภาคครัวเรือนอาจมีการเร่งตัวขึ้นในส่วนของการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ ในขณะที่ทางภาคธุรกิจก็จะได้รับผลดีจากการนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักรด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำลงด้วย นอกจากนี้ ภาคเอกชนและภาครัฐบาล ที่มีภาระหนี้อยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสดังกล่าวในการลดภาระต้นทุนทางการเงินลงได้จากการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินในประเทศ
อย่างไรก็ดี คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ราบรื่นมากนักรวมไปถึงแนวโน้มที่ค่าเงินบาทจะแข็งค่าโดยเฉลี่ยกว่าปีที่ผ่านมานับว่ายังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่ผู้ประกอบการส่งออกยังคงต้องเผชิญอยู่ตลอดช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ ดังนั้น การทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนจึงเป็นหนึ่งในทางเลือกอันดับต้นที่น่าสนใจ รวมทั้งการปรับกระแสเงินสดรับ/จ่าย ของเงินตราต่างประเทศให้มีความสอดคล้องกัน เพื่อจำกัดความเสี่ยงดังกล่าวในการปกป้องรายได้และผลกำไรของธุรกิจ
สำหรับการประชุมคณะกรรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทยในวันพุธที่ 4 เมษายน นี้ ทางศูนย์วิเคราะห์ฯ ประเมินว่าทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากการประชุมครั้งก่อนอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งผลกระทบโดยแท้จริงจากการแข็งค่าของค่าเงินบาทต่อผู้ส่งออกไทยอาจไม่ได้รุนแรงอย่างที่หลายฝ่ายเป็นกังวล ทำให้คาดว่า กนง. จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับร้อยละ 2.75 เนื่องจากยังมีความเหมาะสมต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยต่อไป