สงกรานต์คนกรุงฯ ปี' 56 … หยุดยาวต่อเนื่อง 5 วัน เงินสะพัดกว่า 31,500 ล้านบาท

เทศกาลสงกรานต์ ที่มาพร้อมกับวันหยุดยาวติดต่อกันถึง 5 วันในปีนี้ น่าจะทำให้บรรยากาศในการจับจ่ายและทำกิจกรรมต่างๆ ของคนกรุงเทพฯ คึกคักกว่าปีก่อน แม้ว่าปัจจัยในเรื่องของค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น และความไม่สะดวกในการเดินทาง ยังคงสร้างความกังวลให้กับคนกรุงเทพฯ บางส่วน แต่โดยรวมแล้วคนกรุงเทพฯ กว่าร้อยละ 98 ก็ยังคงให้ความสำคัญ และมีกำลังซื้อเพียงพอที่จะตั้งงบประมาณในการจับจ่าย และเตรียมตัวสำหรับทำกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้เพิ่มขึ้น

ในขณะที่ประเด็นในเรื่องของปริมาณไฟฟ้าที่อาจจะไม่เพียงพอในช่วงวันที่ 5-14 เมษายนนั้น คนกรุงเทพฯ บางส่วนมีความกังวลว่าจะมีผลกระทบต่อการทำงาน และการท่องเที่ยวในระดับปานกลาง แต่ถึงกระนั้น ผลจากการติดตามข่าวสาร ทำให้คนกรุงเทพฯ มีการเตรียมการและวางแผนล่วงหน้า จึงไม่น่าจะมีผลต่อการใช้จ่ายและทำกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์มากนัก ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2556 ระหว่างวันที่ 20-27 มีนาคม 2556 จากจำนวนกลุ่มตัวอย่าง 549 ราย ที่มีอายุระหว่าง 15-65 ปี ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ ดังนี้

ค่าครองชีพ & ความไม่สะดวกในการเดินทาง ปัจจัยส่งผลต่อการจับจ่ายในช่วงสงกรานต์ปี’ 56
ปัจจัยทางด้านภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น (ร้อยละ 52.5) เป็นปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อการจับจ่ายใช้สอยของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ เช่นเดียวกับปีก่อนๆ เนื่องจากประชาชนยังต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ปัจจัยเรื่องความไม่สะดวกในการเดินทาง (ร้อยละ 43.7) และความปลอดภัยในการเดินทาง (ร้อยละ 42.8) ยังเป็นปัจจัยสำคัญในลำดับต่อไปที่คนกรุงเทพฯ คำนึงถึง ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในปีนี้คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของการเดินทางมากขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดยาว ทำให้เกิดความกังวลทั้งในเรื่องของการจราจรที่อาจจะติดขัด รวมไปถึงการไม่มีตั๋วโดยสารเพื่อเดินทางกลับบ้านหรือท่องเที่ยวต่างจังหวัด ซึ่งแตกต่างจากปีก่อนที่ส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญกับปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันมากกว่า

เทศกาลสงกรานต์ปี’ 56 … คนกรุงเทพฯ เลือกเดินทางออกนอก กรุงเทพฯ “เพิ่มขึ้น”
• ช่วงสงกรานต์ปี 2556 ภาพรวมคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังเลือกที่จะใช้วันหยุดอยู่ภายใน กรุงเทพฯ คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 59.0 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า ในปีนี้คนกรุงเทพฯ มีแนวโน้มเลือกใช้วันหยุดอยู่ในกรุงเทพฯ ลดลงจากปีที่แล้ว ทั้งในกลุ่มของคนที่เลือกพักผ่อนทำกิจกรรมต่างๆ ภายในกรุงเทพฯ และกลุ่มที่วางแผนจะเดินทางท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับ เนื่องจากในปีนี้ มีวันหยุดราชการติดต่อกันถึง 5 วัน คือตั้งแต่วันที่ 12-16 เมษายน 2556 ทำให้คนกรุงเทพฯ บางส่วนตัดสินใจวางแผนเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด หรือท่องเที่ยวค้างคืนในต่างจังหวัดมากขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

โดยกิจกรรมหลักที่คนกรุงเทพฯ ที่เลือกอยู่ในกรุงเทพฯ นิยมทำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ได้แก่ การช็อปปิ้งจับจ่ายใช้สอยสินค้าตามห้างสรรพสินค้าและดิสเคาน์สโตร์ต่างๆ (ร้อยละ 77.9) รองลงมาคือ การเข้าวัดทำบุญ (ร้อยละ 77.2) การเลี้ยงสังสรรค์ในกลุ่มเพื่อนฝูงและครอบครัว (ร้อยละ 71.2) ในขณะที่การท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับ จังหวัดที่ได้รับความนิยมจากคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังเป็นจังหวัดใกล้เคียงที่สามารถเดินทางไปกลับภายในวันเดียวได้ อาทิ ชลบุรี เพชรบุรี อยุธยา และประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น

• คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 41.0 เลือกเดินทางออกนอกกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่ง “เพิ่มขึ้น” กว่าปีที่แล้ว ทั้งในส่วนของการเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด (สัดส่วนมากที่สุดร้อยละ 32.9) การท่องเที่ยวทั้งในประเทศ (ร้อยละ 6.9) และต่างประเทศ (ร้อยละ 1.2) ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับวันหยุดยาวที่เอื้อต่อการวางแผนโปรแกรมท่องเที่ยว รวมไปถึงนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐและเอกชน ที่ยังเป็นอีกแรงกระตุ้นให้คนกรุงเทพฯ ตัดสินใจเลือกใช้เวลาในช่วงวันหยุดสงกรานต์ไปกับการเดินทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้นในปีนี้

ทั้งนี้ กิจกรรมหลักที่คนกรุงเทพฯ ที่เดินทางกลับต่างจังหวัด นิยมทำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ได้แก่ การเลี้ยงสังสรรค์ในกลุ่มเพื่อนฝูงและครอบครัว (ร้อยละ 81.6 ) การเข้าวัดทำบุญ (ร้อยละ 73.5) การซื้อของฝากสำหรับครอบครัวในต่างจังหวัด และการซื้อของกลับมาฝากเพื่อนที่อยู่กรุงเทพฯ (ร้อยละ 62.8 )

เทศกาลสงกรานต์ปี’ 56 … คนกรุงเทพฯ จับจ่ายเงินสะพัดกว่า 31,500 ล้านบาท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การจับจ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของคนกรุงเทพฯ ปี 2556 จะมีเม็ดเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 31,500 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ตั้งงบประมาณการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ “เพิ่มขึ้น” กว่าปีก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาสินค้าและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการวางแผนที่จะทำกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น จากการที่ปีนี้มีวันหยุดยาวติดต่อกันถึง 5 วัน โดยการจับจ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัด ดังนี้

• เม็ดเงินสะพัดภายในประเทศมีมูลค่าประมาณ 25,500 ล้านบาท (ร้อยละ 81.0 ของเม็ดเงินสะพัดของคนกรุงเทพฯ ทั้งหมด) โดยส่วนใหญ่จะเป็นเม็ดเงินการใช้จ่ายในกิจกรรมสำหรับการเลี้ยงสังสรรค์ประมาณ 8,400 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ การช็อปปิ้ง (ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อสินค้าเพื่อเป็นของฝากญาติพี่น้องเมื่อเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม ซื้อของฝากกลับมายังกรุงเทพฯ และการซื้อสินค้าเพื่อตนเอง) 7,000 ล้านบาท ค่าเดินทางและที่พัก 5,600 ล้านบาท การทำบุญ 4,000 ล้านบาท และกิจกรรมอื่นๆ เช่น กิจกรรมด้านบันเทิง 500 ล้านบาท

• เม็ดเงินที่ไหลออกนอกประเทศจากการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศประมาณ 6,000 ล้านบาท (ร้อยละ 19.0) โดยส่วนใหญ่จะเป็นการใช้จ่ายในส่วนของค่าเดินทาง ค่าที่พัก และการช็อปปิ้งซื้อสินค้ากลับมาเมืองไทย ซึ่งในปี 2556 นี้ คนกรุงเทพฯ ที่เลือกเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วงสงกรานต์นิยมไปส่วนใหญ่จะอยู่ในภูมิภาคเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์

กล่าวโดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เทศกาลสงกรานต์ที่มีวันหยุดยาวติดต่อกัน 5 วันในปีนี้ น่าจะทำให้บรรยากาศในการจับจ่ายและทำกิจกรรมต่างๆ ของคนกรุงเทพฯ คึกคักกว่าปีที่ผ่านมา แม้ว่าปัจจัยในเรื่องของค่าครองชีพ และความไม่สะดวกในการเดินทาง ยังคงสร้างความกังวลให้กับคนกรุงเทพฯ บางส่วน แต่โดยรวมแล้วคนกรุงเทพฯ ก็ยังคงให้ความสำคัญ และมีกำลังซื้อเพียงพอที่จะตั้งงบประมาณในการจับจ่าย และเตรียมตัวสำหรับทำกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้เพิ่มขึ้นจากปี 2555

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2556 นี้ คนกรุงเทพฯ จะมีการจับจ่าย คิดเป็นเม็ดเงินสะพัดกว่า 31,500 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 (YoY) แบ่งเป็นเม็ดเงินที่สะพัดภายในประเทศกว่า 25,500 ล้านบาท และเม็ดเงินที่ไหลออกนอกประเทศจากการท่องเที่ยวกว่า 6,000 ล้านบาท โดยเม็ดเงินดังกล่าวน่าจะกระจายไปยังธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจร้านจำหน่ายของฝาก/ของที่ระลึก รวมไปถึงธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งผู้ประกอบการแต่ละธุรกิจไม่ควรพลาดโอกาสในช่วงเวลาดังกล่าวในการทำยอดขายเพิ่มขึ้น โดยการออกโปรโมชั่นหรือแคมเปญต่างๆ เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายของคนกรุงเทพฯ