จากรายงานผลสำรวจ “เต็ดตรา แพ้ค แดรี่ อินเด็กซ์” ฉบับล่าสุด เต็ดตรา แพ้ค? บริษัทชั้นนำระดับโลกด้านกระบวนการผลิตและบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม คาดการณ์ว่า แนวโน้มการบริโภคผลิตภัณฑ์นมปรุงแต่งพร้อมดื่มจะมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าสองเท่าของอัตราการเติบโตของการบริโภคนมทั่วโลกในระหว่างปี พ.ศ. 2555 ถึง 2558 ผู้บริโภคเริ่มให้ความสนใจในตัวผลิตภัณฑ์นมปรุงแต่งที่มีรสชาติอร่อย ให้คุณค่าทางโภชนาการ รวมถึงบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่สะดวกต่อการบริโภคกันมากขึ้น โดยกลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยกว่าเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมนมสามารถพัฒนาศักยภาพของตลาดได้มากยิ่งขึ้น
นมปรุงแต่งที่มีรสชาติหลากหลาย นับเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการบริโภคมากที่สุดเป็นอันดับสองในหมวดผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มประเภทนม (Liquid Dairy Product) หรือ LDP รองลงมาจากนมจืด จากผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า ความต้องการในการบริโภคนมปรุงแต่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) ประมาณร้อยละ 4.1 ในระหว่างปี พ.ศ. 2555 ถึง 2558 โดยคิดเป็นปริมาณนมที่เพิ่มขึ้นจาก 17,000 ล้านลิตร เป็น 19,200 ล้านลิตร ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาจะเป็นตลาดที่ช่วยผลักดันความต้องการบริโภคนมปรุงแต่งให้เติบโตขึ้นด้วยการพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์และรสชาติที่แปลกใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องคุณค่าทางโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพ และสำหรับผลิตภัณฑ์นมรสจืด ผลการสำรวจพบว่า จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี ในช่วงปีเดียวกันอยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 1.7 คิดเป็นปริมาณจาก 208,500 ล้านลิตรในปี พ.ศ. 2555 เพิ่มขึ้นเป็น 219,500 ล้านลิตรในปี พ.ศ. 2558 โดยสรุป แนวโน้มการเติบโตของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มประเภทนมทั้งหมด จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.4 จากปริมาณ 280,300 ล้านลิตร เพิ่มเป็น 301,300 ล้านลิตรในช่วงปีเดียวกัน
มิสเตอร์เดนนิส ยอนสัน ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เต็ดตรา แพ้ค กล่าวว่า “ยิ่งนมจืดได้กลายสถานะเป็นผลิตภัณฑ์ทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวันมากขึ้นเท่าไหร่ ผลิตภัณฑ์นมปรุงแต่ง ก็ยิ่งจะสร้างโอกาสให้กับผู้ผลิตนมในการนำเสนอคุณค่าที่ไม่ใช่เฉพาะกับผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผลกำไรของพวกเขา” ด้วยการหาจุดที่ลงตัวของรสชาติต่างๆ ขนาดของบรรจุภัณฑ์ และสูตรที่เหมาะสม นมปรุงแต่งที่ผลิตออกมาก็จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการด้านคุณภาพ โภชนาการ และไลฟ์สไตล์ ได้เป็นอย่างดี”
เต็ดตรา แพ้คได้จำแนกปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของการบริโภคผลิตภัณฑ์นมปรุงแต่งออกเป็น 4 ปัจจัย ประกอบด้วย
(1) ความต้องการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ประชากรส่วนใหญ่ต่างหันมาให้ความสนใจต่อการบริโภคนมซึ่งอุดมด้วยสารอาหารต่างๆ มากขึ้น
(2) การขยายตัวของเมือง วิถีชีวิตของผู้คนในปัจจุบันที่ต้องรีบเร่งตลอดเวลา ส่งผลให้อัตราการบริโภคนมปรุงแต่งพร้อมดื่มที่บรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์ในขนาดที่พอดีเพิ่มมากขึ้น ด้วยรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปเป็นการบริโภค “ระหว่างเดินทาง”
(3) ความต้องการทดลองผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มใหม่ๆ ของผู้บริโภค ซึ่งนมปรุงแต่ง ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านนี้ได้เป็นอย่างดี
และ (4) การมองหาประสบการณ์ในการดื่ม-กิน ในระดับใหม่ที่ถือเป็นการ “ได้ทำตามใจตัวเอง” ของผู้บริโภคปัจจุบัน เนื่องจากไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ ในระบบเศรษฐกิจที่ไม่มีความแน่นอนทำให้หลายๆ คนต้องการหลีกหนีกฎเดิมๆ ของชีวิตประจำวันที่ซ้ำซากจำเจ
มิสลิบบี้ คอสติน ผู้อำนวยการด้านการตลาดผลิตภัณฑ์ทั่วโลกของเต็ดตรา แพ้ค กล่าวว่า “ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่ยอมที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย เพื่อให้ได้ตามใจตัวเองในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังชะลอตัว ซึ่งถือว่าเป็นการยอมสละเพื่อความสุขเล็กๆ น้อยๆ มากขึ้นกว่าเมื่อก่อนนี้”
ถึงแม้ว่าอัตราการบริโภคผลิตภัณฑ์นมปรุงแต่งจะต่ำกว่าเมื่อเทียบกับเครื่องดื่มประเภทอื่นๆ อาทิ น้ำอัดลม แต่ทัศนคติในเชิงบวกของผู้บริโภคเกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพจากการดื่มนม เป็นสิ่งที่ช่วยเปิดโอกาสมากมายให้กับการบริโภคนมปรุงแต่งอย่างมีนัยสำคัญ ไม่เพียงเท่านี้ ผลการสำรวจของเต็ดตรา แพ้ค พบว่า แนวโน้มในการบริโภคผลิตภัณฑ์นมปรุงแต่งคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าสามเท่าของอัตราการบริโภคน้ำอัดลมระหว่างปีพ.ศ. 2555 ถึง 2558 โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีในช่วงดังกล่าวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมของการบริโภคน้ำอัดลมในช่วงเวลาเดียวกันซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1.3
จากเดิมผลิตภัณฑ์นมปรุงแต่งเป็นเพียงเครื่องดื่มที่แพร่หลายแค่เฉพาะในกลุ่มเด็ก ปัจจุบัน เต็ดตรา แพ้ค มองว่าผลิตภัณฑ์นมปรุงแต่งจะสามารถสร้างการเติบโตในตลาดกลุ่มลูกค้าอื่นๆ ได้มากยิ่งขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะเป็นเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความลงตัวด้านคุณค่าทางโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพและมีรสชาติอร่อย
มิสเตอร์เดนนิส ยอนสัน กล่าวเสริมว่า “สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการคุณสมบัติครบถ้วนทั้งความอร่อย ความสะดวก และประโยชน์เพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์นมปรุงแต่งถือว่าเป็นเป็นทางเลือกที่กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องดื่มประเภทอื่นๆ” ในขณะที่มีแนวโน้มว่าการบริโภคนมปรุงแต่งจะเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ความต้องการของผู้บริโภคในประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ทั้งในเอเชียและละตินอเมริกาก็พุ่งทะยานขึ้นแซงกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วในอเมริกาเหนือและยุโรป ซึ่งจะช่วยผลักดันการเติบโตจากตลาดเกิดใหม่ ให้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนมไปในทิศทางที่ดีต่อไป
จากผลสำรวจของเต็ดตรา แพ้ค แสดงให้เห็นว่า 7 ตลาดหลักจากจำนวนตลาดผลิตภัณฑ์นมปรุงแต่ง 10 ตลาดทั่วโลก ล้วนเป็นตลาดที่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนาทั้งสิ้น นำโดยจีน ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด ตามด้วยสหรัฐอเมริกา และอินเดียตามลำดับ นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังชี้ให้เห็นว่าความต้องการในการบริโภคนมปรุงแต่งที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2552 ถึง 2555 เกิดขึ้นจากแรงผลักดันของตลาดเกิดใหม่ใน 4 ประเทศด้วยกัน ได้แก่ บราซิล จีน อินเดีย และอินโดนีเซีย
แนวโน้มดังกล่าวจะยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2555 ถึง 2558 โดยประเทศกำลังพัฒนามีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการเติบโตของผลิตภัณฑ์นมปรุงแต่งถึงร้อยละ 66 ในปี พ.ศ. 2555 และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 69 ในปี พ.ศ. 2558 ทั้งนี้ จีน และประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอัตราการบริโภคผลิตภัณฑ์นมปรุงแต่งสูงกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณนมปรุงแต่งจากทั่วโลก ซึ่งหากจะนับกันจริงๆ แล้ว ผลสำรวจของเต็ดตรา แพ้คระบุว่าเพียงแค่ 6 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย อันได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ก็มีอัตราการบริโภคผลิตภัณฑ์นมปรุงแต่งมากถึงร้อยละ 47 จากปริมาณผลิตภัณฑ์นมปรุงแต่งทั้งหมดจากทั่วโลก
ทั้งนี้ เต็ดตรา แพ้คพบว่า “กล่องเครื่องดื่ม” เป็นรูปแบบของบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์นมปรุงแต่งโดยทั่วไป โดยในปี พ.ศ. 2555 มีผลิตภัณฑ์นมปรุงแต่งพร้อมดื่มจำนวนกว่าร้อยละ 62 เป็นผลิตภัณฑ์ที่บรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์แบบกล่อง เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 57 ใน ปี พ.ศ. 2552 และคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 64 ในปี พ.ศ. 2558 โดยอัตราการบริโภคนมปรุงแต่งพร้อมดื่มที่บรรจุในกล่องขนาดพกพานั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 81 ของปริมาณการบริโภคนมปรุงแต่งพร้อมดื่มทั้งหมด
ดูรายละเอียดรายงานผลสำรวจ “เต็ดตรา แพ้ค แดรี่ อินเด็กซ์” ฉบับที่ 6 ในรูปฉบับเต็มได้ที่ www.tetrapk.com/dairyindex