โรเบิร์ต บ๊อช เผยตัวเลขปี 55 มียอดขายในประเทศไทยรวม 9,300 ล้านบาท ภูมิใจผลการดำเนินงานปี 55 เติบโตขึ้นอัตราร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับปีก่อน เปิดตัวฝ่ายธุรกิจใหม่ เทคโนโลยีขับเคลื่อนและควบคุม (Drive and Control Technology) มั่นใจประเทศไทยมีศักยภาพการเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมเต็มพิกัด ด้วยการนำเสนอนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นใหม่ๆ ในหลายธุรกิจเพื่อสนองตอบความต้องการของตลาด
นายปีเตอร์ แวนดลิค กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรเบิร์ต บ๊อช จำกัด (ประเทศไทย) ผู้นำด้านเทคโนโลยีและบริการระดับโลกเปิดเผยว่า ในปี 2555 บ๊อชประเทศไทยมียอดขายสุทธิรวมทั้งสิ้น 9,300 ล้านบาท (222 ล้านยูโร) คิดเป็นอัตราการเติบโตเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ 5 โดยมีผลมาจากการลงทุนของ บ๊อช ในตลาดใหม่ๆ รวมถึงการขยายตัวทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่ทำรายได้สูงสุดของบ๊อชในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีสัดส่วนยอดขายมากกว่า ร้อยละ 30 ของยอดขายรวมภูมิภาคนี้
แม้ภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2555 จะเต็มไปด้วยความท้าทาย บ๊อชยังมั่นใจว่าการเติบโตในปี 2556 จะเกิดขึ้นและขยายตัวอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย นายแวนดลิค กล่าวเสริมว่า “กับความพยายามในการสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้กลับคืนมาและมุ่งเน้นความเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยจะยังคงเป็นฐานที่มั่นสำหรับการเติบโตและการขยายตัวสำหรับธุรกิจของบ๊อช” ปัจจุบันบ๊อช ประเทศไทย มีพนักงานเกือบ 900 คน ทำงานในสำนักงาน 7 แห่งทั่วประเทศ และมีการเติบโตของพนักงานที่เพิ่มขึ้นสอดรับกับการเติบโตทางธุรกิจคิดเป็นเกือบร้อยละ 7
เติบโตอย่างต่อเนื่องในทุกหน่วยธุรกิจ
หน่วยงานธุรกิจต่างๆ ของ บ๊อช มีการพัฒนาและสามารถทำยอดขายได้ดี โดยฝ่ายเทคโนโลยีระบบความร้อน (Thermotechnology) สามารถทำยอดขายเพิ่มขึ้นปีต่อปีสูงสุดมากกว่า 3 เท่า จากโครงการสำคัญๆในอุตสาหกรรมเคมี อาหารและเครื่องดื่ม ในขณะที่ฝ่ายอะไหล่รถยนต์ ฝ่ายขายชิ้นส่วนรถยนต์ ฝ่ายเครื่องมือไฟฟ้า และ ฝ่ายผลิตภัณฑ์ระบบรักษาความปลอดภัย ล้วนมีตัวเลขยอดขายเพิ่มขึ้นเป็นตัวเลขสองหลักเช่นเดียวกันในปี 2555
ขยายธุรกิจทั่วประเทศไทย
ในปี 2556 บ๊อช วางแผนขยายธุรกิจในประเทศไทยผ่านการเปิดฝ่ายธุรกิจใหม่ๆ การแนะนำผลิตภัณฑ์ และโซลูชั่นใหม่ รวมถึงการขยายตัวไปยังพื้นที่ต่างๆ นายแวนดลิค เปิดเผยว่า “ล่าสุด บ๊อชได้เปิดสำนักงานขายแห่งใหม่ที่เชียงใหม่เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลลูกค้าที่อยู่ในเขต 17 จังหวัดภาคเหนือได้อย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่พันธกิจของบริษัทในการสนองตอบความต้องการของลูกค้า เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องให้กับองค์กร นอกจากนี้มีการวางแผนขยายธุรกิจไปยังพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย อาทิ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้”
ฝ่ายเครื่องมือไฟฟ้า บ๊อชเตรียมรุกตลาดด้วยการเปิดตัวผลิตภัณฑ์มากขึ้นในปีนี้ ซึ่งรวมถึงการเปิดตัวของ ‘เดรเมล’ (Dremel) เครื่องมืออเนกประสงค์จากประเทศสหรัฐอเมริกาที่เป็นรู้จักกันดีสำหรับมืออาชีพ ช่างฝีมือ ศิลปิน และผู้ที่ชื่นชอบงานประดิษฐ์ด้วยตนเองเพื่อเจาะตลาดเมืองไทย
ในส่วนของฝ่ายระบบรักษาความปลอดภัย ได้เปิดตัวกล้องโทรทัศน์วงจรปิด รุ่นใหม่ “Starligtht” ที่ทำงานผ่านเว็บ และให้ภาพคมชัดแม้ในสภาพที่มีแสงน้อยมาก
สำหรับฝ่ายอะไหล่รถยนต์ ภายในปีนี้เตรียมแผนขยายศูนย์บริการบ๊อชสำหรับทั้งรถยนต์นั่งบุคคล และ รถเพื่อการพาณิชย์ เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อให้ผู้ขับขี่รถยนต์ทั่วประเทศไทยเข้าถึงบริการได้สะดวกยิ่งขึ้น
ในเดือนเมษายน 2556 ฝ่ายเทคโนโลยีขับเคลื่อนและควบคุม (Drive & Control Technology) ได้ทำการเปิดสำนักงานและศูนย์บริการที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ. ชลบุรี ฝ่ายเทคโนโลยีขับเคลื่อนและควบคุม พร้อมนำเสนอโซลูชั่นและการประยุกต์ใช้งานแก่อุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศ รวมถึงบริการที่กว้างขวางครอบคลุมการใช้งานที่หลากหลาย
เพื่อรองรับการเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย และความต้องการรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บ๊อชเตรียมขยายการดำเนินงานในส่วนของการผลิตชิ้นส่วนประกอบยานยนต์เพื่อผลิต ส่วนประกอบของระบบการจัดการเครื่องยนต์ เช่น เซ็นเซอร์ และตัวกระตุ้นการทำงาน (actuator)
พัฒนาการด้านบุคลากรใหม่ๆ
บ๊อชได้เตรียมแผนพัฒนาบุคลากร ผ่านโครงการฝึกงานและพัฒนาทักษะด้านเมคคาทรอนิกส์บ๊อช หรือ Bosch Mechatronics Apprenticeship Program (BMAP) ที่จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะความสามารถทางด้านวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องกลสำหรับการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูงให้กับนักศึกษาในระดับอาชีวศึกษาที่มีศักยภาพ “จากการเติบโตทางธุรกิจของบ๊อชในประเทศไทย บ๊อชมีความต้องการบุคลากรที่มีทักษะและความสามารถเฉพาะเพื่อสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการเติบโต โครงการ BMAP เป็นโครงการที่บ๊อชมุ่งมั่นในการยกระดับการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาในประเทศไทย ให้มีทักษะความชำนาญที่เชี่ยวชาญขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมไทยในระยะยาว” นายแวนดลิคกล่าว
ภาพรวมธุรกิจบ๊อชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียแปซิฟิก
ในปี 2555 กลุ่มบริษัทบ๊อชมียอดขายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวม 29.4 พันล้านบาท (702 ล้านยูโร) ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปีก่อน และมีจำนวนพนักงานในภูมิภาคเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 9
นายมาร์ติน เฮย์ส ประธานของบ๊อชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “ปัจจุบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดสำหรับบ๊อช และคาดหวังจะรักษาสัดส่วนการเติบโตนี้ไว้ และตั้งเป้าในปี 2556 จะสร้างการเติบโตขึ้นได้ในอัตราตัวเลขสองหลัก”
สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บ๊อชมียอดขายที่เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 5.6 คิดเป็นยอดขายรวมประมาณ 530 พันล้านบาท (12.6 พันล้านยูโร) โดยยอดขายในประเทศจีนและอินเดียสำหรับปี 2555 ไม่เคลื่อนไหวมากนักเมื่อเทียบกับปี 2554 และเพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาวในการเพิ่มสัดส่วนยอดขายของบ๊อชในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ให้เป็นร้อยละ 30 บ๊อชใช้เงินลงทุนในปี 2555 เท่ากับในปี 2554 หรือประมาณ 32.8 พันล้านบาท (780 ล้านยูโร)
การพัฒนาธุรกิจของกลุ่มบ๊อชในปี 2555 – 2556
ในปี 2555 กลุ่มบริษัทบ๊อชทำยอดขายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 คิดเป็นยอดขายรวมมูลค่ากว่า 2.2 ล้านล้านบาท (52.5 พันล้านยูโร) โดยมีกำไรก่อนหักภาษีมากถึง 118 พันล้านบาท (2.8 พันล้านยูโร) โดยในแต่ละส่วนธุรกิจมีพัฒนาการที่แตกต่างกันไป ในปี 2555 ฝ่ายเทคโนโลยียานยนต์ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของบ๊อช มียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 คิดเป็นยอดขายรวมมูลค่า 1.3 ล้านล้านบาท (31.1 พันล้านยูโร) ในส่วนของธุรกิจเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ยอดขายรวมเป็น 336 พันล้านบาท (8 พันล้านยูโร) และธุรกิจสินค้าอุปโภคและเทคโนโลยีสิ่งก่อสร้าง ทำยอดขายได้ถึง 562 พันล้านบาท (13.4 พันล้านยูโร) เพิ่มขึ้นอัตราร้อยละ 2.5
จำนวนพนักงานเปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับการพัฒนาธุรกิจของบริษัทในช่วงปี 2555 ที่ผ่านมา โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจำนวน 3,400 คน รวมพนักงานทั่วโลกกว่า 305,900 คน ด้านการลงทุน ในปี 2555 บ๊อชได้ใช้เงินลงทุนเพื่ออนาคตไปทั้งสิ้นกว่า 336 พันล้านบาท (8 พันล้านยูโร) โดยแบ่งเป็น 202 พันล้านบาท (4.8 พันล้านยูโร) สำหรับการวิจัยและพัฒนา และกว่า 134 พันล้านบาท (3.2 พันล้านยูโร) เป็นเงินลงทุนด้านสินทรัพย์ต่างๆ
สำหรับปี 2556 บ๊อชคาดว่ายอดขายทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2-4 นอกจากนี้มาตรการณ์ต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้เพื่อปรับปรุงธุรกิจที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2555 เช่น การจำกัดค่าใช้จ่ายเงินลงทุน และการซื้อกิจการบริษัทจะถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง
บ๊อชจะยังคงดำเนินงานตามกลยุทธ์หลักที่วางไว้อย่างจริงจังด้วยระบบสำหรับการคุ้มครองและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และความปลอดภัย บ๊อชเชื่อว่ายังมีช่องทางในการจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพอีกมาก ตลอดจนมีโอกาสด้านการขายในส่วนของการปรับปรุงแหล่งจ่ายพลังงาน การจัดการพลังงาน และฉนวนกันความร้อนของอาคารมากขึ้น เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2556 บ๊อชได้ตั้งกลุ่มธุรกิจที่ 4 คือ กลุ่มเทคโนโลยีพลังงานและอาคาร โดยปรับรวมธุรกิจในส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งเฉพาะกลุ่มธุรกิจใหม่นี้ ทำยอดขายได้ประมาณ 210 พันล้านบาท (5 พันล้านยูโร) ในปี 2555
กลุ่มบริษัทบ๊อช คาดว่า ยอดขายจะยังคงเติบโตจากผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่และเป็นประโยชน์ รูปแบบธุรกิจบนเว็บ และการขยายธุรกิจไปยังประเทศต่าง ๆ ในงานแถลงข่าวประจำปีของกลุ่มบริษัทบ๊อชในประเทศเยอรมนี ดร. โฟล์คมาร์ เดนเนอร์ ประธานคณะกรรมการบริหารของ กลุ่มบ๊อช กล่าวว่า “เครือข่ายที่กว้างขวางของบ๊อชมีประโยชน์อย่างมากในยุคที่ชีวิตถูกเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน”