อินโดนีเซียแม้เผชิญโจทย์ทางเศรษฐกิจ: แต่ยังคงความน่าสนใจในเชิงการลงทุน

เศรษฐกิจของอินโดนีเซียในระยะ 2-3 เดือนที่ผ่านมา นับเป็นประเด็นที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งโดยรัฐบาลและธนาคารกลางอินโดนีเซียได้มีความพยายามในการปฏิรูปเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความพยายามต่างๆที่สำคัญสามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้

• ธนาคารกลางอินโดนีเซียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 2 ครั้งติดต่อกัน โดยการปรับขึ้นครั้งแรก เป็นการปรับขึ้นร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 5.75 เป็นร้อยละ 6 เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2556 และล่าสุดปรับขึ้นถึงร้อยละ 0.50 จากร้อยละ 6 เป็นร้อยละ 6.50 เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2556 ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นการปรับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและเป็นประเทศในเอเชียประเทศแรกที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2554 เป็นต้นมา

• การลดการอุดหนุนราคาน้ำมัน รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศขึ้นราคาน้ำมันที่ได้รับการอุดหนุนราคา โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันเสาร์ที่ 22 มิ.ย. 2556 ที่ผ่านมา โดยราคาน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.4 จาก 4,500 รูเปียห์ต่อลิตรเป็น 6,500 รูเปียห์ต่อลิตร และราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้นร้อยละ 22.2 จาก 4,500 รูเปียห์ต่อลิตรเป็น 5,500 รูเปียห์ต่อลิตร ซึ่งถือเป็นความตั้งใจที่แน่วแน่ของรัฐบาล เนื่องจากมาตรการดังกล่าวเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของรัฐบาลอินโดนีเซีย ด้วยความพยายามที่จะควบคุมรายจ่ายทางการคลัง สืบเนื่องจากรัฐบาลอินโดนีเซียเป็นผู้รับภาระในการรักษาระดับพลังงานให้อยู่ในระดับที่ต่ำมาเป็นเวลานานตั้งแต่ปี 2548 อีกทั้ง เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์น้ำมันสุทธินับตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับการถอนตัวออกจากกลุ่มองค์กรร่วมประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออกหรือโอเปก (OPEC) ของอินโดนีเซีย จึงมีผลต่อการอ่อนค่าของเงินรูเปียห์อย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ผลักดันมาตรการการปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาลอินโดนีเซีย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การตัดสินใจปฏิรูปเศรษฐกิจรอบด้านดังกล่าวของรัฐบาลอินโดนีเซียนั้น เป็นการบรรเทาปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่สั่งสมมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร ซึ่งมีผลต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ โดย S&P ยังคงจัดให้อยู่ในสถานะที่ต่ำกว่าระดับที่น่าลงทุน ทั้งนี้ ปัญหาที่สำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจทางด้านนโยบายเศรษฐกิจข้างต้น ได้แก่

• อัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 12 ก.ค. 2556 อยู่ที่ 9,991 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยอ่อนค่ากว่าร้อยละ 2.02 จากสิ้นปี 2555 ทั้งนี้ ธนาคารกลางอินโดนีเซียตั้งเป้าอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศให้อยู่ในระดับไม่เกิน 10,000 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และโดยเฉลี่ยทั้งปี 2556 ไม่เกิน 9,600 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งครึ่งปีแรกของปี 2556 อัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 9,740 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

• ภาวะการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด อินโดนีเซียขาดดุลการค้ามาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2555 จากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของคู่ค้าและการนำเข้าพลังงานในอัตราที่สูง ซึ่งส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลตามไปด้วย โดยล่าสุดในเดือน พ.ค. 2556 ตัวเลขการขาดดุลการค้าอยู่ที่ 590.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

• ตัวเลขขาดดุลงบประมาณปี 2556 สูงกว่ากรอบเดิมที่เคยตั้งไว้ ตัวเลขการขาดดุลงบประมาณครึ่งปีแรกของประเทศอยู่ที่ 54.5 ล้านล้านรูเปียห์ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 0.58 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี ปี 2556 ที่คาดการณ์ไว้อยู่ที่ 9,420 ล้านล้านรูเปียห์ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขขาดดุลงบประมาณทั้งปีที่รัฐบาลคาดการณ์ล่าสุดอยู่ที่ 224.2 ล้านล้านรูเปียห์ หรือคิดเป็นร้อยละ 2.38 ของจีดีพีที่คาดการณ์ ทั้งนี้ ตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ตั้งไว้ก่อนหน้าที่ 153.3 ล้านล้านรูเปียห์ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.63 ของจีดีพี ซึ่งภาระทางการคลังส่วนใหญ่มาจากเงินอุดหนุนพลังงานและไฟฟ้ากว่าร้อยละ 20 ของงบประมาณประจำปี

• มูลค่าทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเดือน มิ.ย. 2556 ทุนสำรองระหว่างประเทศของอินโดนีเซียอยู่ที่ระดับ 98.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 7.05 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯจากเดือน พ.ค. 2556 จากการที่เงินทุนไหลออกเป็นปริมาณมากจากตลาดทุน ซึ่งถือเป็นปริมาณการลดลงรายเดือนมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2541 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย และลดลงร้อยละ 13.02 จากสิ้นปี 2555 ที่อยู่ที่ระดับ 112.78 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยทุนสำรองระหว่างประเทศในเดือนมิ.ย. 2556 ได้หลุดระดับ 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯซึ่งเป็นกรอบล่างที่รัฐบาลอินโดนีเซียตั้งเป้าเอาไว้ และเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2554 เป็นต้นมา

• สัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงมาก ในปี 2555 อินโดนีเซียมีสัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 231.6 เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่ร้อยละ 211.3 โดยภาระหนี้ต่างประเทศนั้น มีความอ่อนไหวต่ออัตราแลกเปลี่ยนซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่รัฐบาลอินโดนีเซียพยายามให้ค่าเงินรูเปียห์อยู่ในกรอบที่ตั้งไว้และไม่อ่อนค่าเกินไป

• เงินเฟ้อของประเทศที่มีแนวโน้มสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อในเดือน มิ.ย. 2556 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าเดือน พ.ค. 2556 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.47 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากมาตรการลดการอุดหนุนราคาน้ำมัน

จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า แนวโน้มประเทศอินโดนีเซียในระยะสั้นย่อมได้รับผลกระทบเชิงลบจากมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจ เนื่องจากกำลังซื้อของประชาชนและการลงทุนภายในประเทศคาดว่าจะชะลอตัวจากเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น อันจะส่งผลต่อการกู้ยืมเพื่อการบริโภคและการลงทุน

อย่างไรก็ตาม แนวทางการปฏิรูปประเทศดังกล่าวของรัฐบาลอินโดนีเซีย ย่อมส่งผลต่อการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศให้มั่นคง เตรียมพร้อมรับมือการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน พร้อมทั้งดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในระยะยาว จากแนวโน้มความน่าเชื่อถือของประเทศที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นการตอบโจทย์เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางทางด้านการลงทุนของภูมิภาค

ความน่าสนใจด้านการลงทุนในประเทศอินโดนีเซียยังมีอยู่มาก … โอกาสของผู้ประกอบการไทย

ถึงแม้ว่า สภาพเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ณ ขณะนี้จะเผชิญความท้าทายในหลายด้าน แต่หากพิจารณาในระยะยาว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเล็งเห็นว่า อินโดนีเซียยังมีปัจจัยอื่นๆที่ช่วยส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนให้ยังมีความน่าสนใจอยู่ อีกทั้ง ในปัจจุบันสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch และ Moody’s ได้ปรับอันดับให้อินโดนีเซียอยู่ในกลุ่มประเทศที่น่าลงทุน (Investment Grade) แล้ว นับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2554 และ ม.ค. 2555 ที่ผ่านมาตามลำดับ จากการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และนโยบายการเงินและการคลังที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยปัจจัยต่างๆดังกล่าวประกอบไปด้วย

• โครงสร้างประชากรของประเทศเอื้อต่อการเจาะตลาด อินโดนีเซียมีสัดส่วนประชากรที่คาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจถดถอยมากนัก1ประมาณร้อยละ 13 ของประชากรทั้งประเทศหรือประมาณ 32.3 ล้านคนในปี 2555 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 27 ของประชากรทั้งประเทศหรือกว่า 72.7 ล้านคนในปี 2563 ซึ่งถือได้ว่ามีจำนวนมากเพียงพอที่นักลงทุนที่ต้องการเจาะตลาดลูกค้ากลุ่มดังกล่าวสามารถเข้าไปลงทุนได้

• ธุรกิจที่น่าสนใจสำหรับกลุ่มประชากรที่มีกำลังซื้อ (Consuming Class) ที่ขยายตัว ประชากรในกลุ่มเมืองมีแนวโน้มขยายตัวจากการที่สัดส่วนประชากรในวัยทำงานเพิ่มขึ้น โดยคาดการณ์ว่าในปี 2565 สัดส่วนประชากรในเมืองจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 63.9 จากร้อยละ 55.5 ในปี 2555 และกำลังซื้อของประชากรในเมืองจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1,486 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2565 จากประมาณ 464 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2555 โดยธุรกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวตามการเพิ่มขึ้นของกลุ่มประชากรในเมืองได้แก่ ธุรกิจทางด้านค้าปลีก (Retail Product) รวมถึง ธุรกิจทางด้านการก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง และอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน

• ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ อินโดนีเซียมีพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ อาทิ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน เป็นจำนวนมากและยังมีเทคโนโลยีในการเพาะปลูกสำหรับพืชบางประเภทที่ยังไม่ทันสมัย อีกทั้ง ยังมีทรัพยากรแร่ธาตุจำนวนมาก อาทิ ถ่านหิน ทองคำ ทองแดง ดีบุก ที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนโดยตรง อินโดนีเซียมีจำนวนโครงการที่ขอรับการอนุมัติและมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติเพิ่มขึ้นทุกปี โดยล่าสุดในปี 2555 มีจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติทั้งสิ้น 4,579 โครงการและมีมูลค่าการลงทุนกว่า 24,565 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเป็นการลงทุนโดยตรงเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ในประเทศมากที่สุดกว่าร้อยละ 20

• การเข้าร่วมทุนหรือกิจการของอินโดนีเซีย จากแนวโน้มค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียที่อ่อนค่ามากกว่าเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท จึงถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการเข้าไปซื้อกิจการบริษัทที่มีศักยภาพในการต่อยอดธุรกิจของตนเองในประเทศอินโดนีเซีย โดยในปัจจุบัน มีธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซียเป็นจำนวนพอสมควร ทั้งในธุรกิจเหมืองแร่ ธุรกิจอุปกรณ์ก่อสร้าง ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจการเกษตร ธุรกิจปิโตรเคมี ธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น เนื่องจากสินค้าไทยเป็นที่นิยมและได้รับความเชื่อถือจากผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียมาก และมีราคาถูกกว่าสินค้านำเข้าจากประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ ญี่ปุ่น แต่สินค้าไทยที่นำไปขายหรือตั้งฐานการผลิตในอินโดนีเซียเพื่อขายในประเทศอินโดนีเซียนั้น ยังมีจำนวนน้อย โดยในปี 2555 ที่ผ่านมา การลงทุนโดยตรงของไทยในอินโดนีเซียมีเพียง 17 โครงการ มูลค่ารวม 68 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากปี 2554 ที่มีการลงทุนโดยตรง 26 โครงการ มูลค่ารวม 87.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อีกทั้ง ธุรกิจไทยที่เข้าไปเปิดในอินโดนีเซียส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ โดยมีบริษัทขนาดกลางที่มีศักยภาพเพียงไม่กี่ราย ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยรายอื่นในการเฟ้นหาตลาดและเริ่มใช้คุณค่าของตราสินค้า (Brand Equity) ของไทยในการเข้าสู่ตลาดอินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปลงทุนในอินโดนีเซียในระยะอันใกล้ ควรพิจารณาเรื่องต้นทุนการผลิตและอัตราค่าแรงที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการปรับขึ้นของราคาน้ำมันและนโยบายการปรับขึ้นแรงงานขั้นต่ำของรัฐบาลที่เล็งเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยร้อยละ 6 ต่อเนื่องทุกปี โดยค่าแรงขั้นต่ำในปี 2556 ปรับขึ้นโดยเฉลี่ยทั้งประเทศร้อยละ 19 โดยในเขตเมืองจะปรับขึ้นมากเป็นพิเศษ ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำในกรุงจาการ์ตาปรับขึ้นจาก 15.29 ล้านรูเปียห์ต่อเดือนในปี 2555 เป็น 22 ล้านรูเปียห์ต่อเดือนในปี 2556 หรือปรับขึ้นกว่าร้อยละ 44

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอาจพิจารณาถึงความจำเป็นในส่วนของการปกป้องความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ อาทิ การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนในกรณีที่ค่าเงินรูเปียห์มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง หรือความเสี่ยงด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ผู้ร่วมทุนชาวอินโดนีเซียอาจละเมิดหากสินค้าของไทยมีแนวโน้มขายดีในอินโดนีเซีย เป็นต้น

ประเด็นอื่นๆ ที่ควรคำนึงถึงในการลงทุนในประเทศอินโดนีเซีย ได้แก่ กฎระเบียบทางด้านการลงทุนที่อาจมีบางประเด็นซึ่งเป็นอุปสรรคหรือสร้างความยุ่งยากในขั้นตอนการดำเนินธุรกิจสำหรับนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้งและเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หากรัฐบาลเล็งเห็นว่ามีแนวโน้มที่ผู้ประกอบการภายในประเทศจะได้รับผลกระทบด้านลบจากการลงทุนดังกล่าว อีกทั้ง จากการจัดอันดับความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจในปี 2556 โดยธนาคารโลกนั้น อินโดนีเซียอยู่ในอับดับที่ 128 ในขณะที่ไทยอยู่ในอันดับที่ 18 เนื่องจากกฎระเบียบทางราชการที่ซับซ้อนและใช้ระยะเวลานาน โครงสร้างพื้นฐานในปัจจุบันที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร

อนึ่ง พฤติกรรมผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียมีความแตกต่างจากผู้บริโภคชาวไทย ผู้ประกอบการที่ต้องการดำเนินธุรกิจในอินโดนีเซีย ควรศึกษาพฤติกรรมการบริโภคในแต่ละผลิตภัณฑ์ให้ละเอียด ไม่ว่าจะเป็น ช่องทางการสื่อสารหรือการตลาด รูปแบบบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้การเข้าตลาดในอินโดนีเซียเป็นไปอย่างราบรื่น