“การเรียนอาชีวะก็เหมือนกับการปลูกต้นมะม่วง เราไม่ต้องปีนสูงนัก เราก็ได้ทานผลมะม่วง พอปีนสูงขึ้นอีกนิดเราก็เจอมะม่วงอีก ไม่จำเป็นต้องปีนถึงยอดก็มีผลให้เรารับประทานระหว่างทาง ในขณะที่การเรียนสายสามัญเป็นเหมือนการปีนต้นมะพร้าว คือสูงและหากปีนไม่ถึงยอดของมัน ก็ไม่สามารถเก็บผลมะพร้าวได้” ว่าที่ ร.ต.สุขุม กาญจนสุระกิจ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากิจการนักเรียนนักศึกษา วิทยาลัยเทคนิคแพร่ กล่าวในงานพบปะนักเรียนทุน ‘เด็กช่าง สร้างชาติ’ (ภาคเหนือ) จัดโดยมูลนิธิเอสซีจี
แม้ว่า ‘อาชีวศึกษา’ ในสายตาของหลายคนอาจจะมีภาพในแง่ลบปะปนอยู่บ้าง แต่หากมองลึกลงไปถึงข้อดีของการเรียนอาชีวะที่ตอบโจทย์ทั้งเรื่องความต้องการของตลาดแรงงาน และยังเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะในยุคที่ไทยกำลังย่างเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC แล้ว เชื่อว่าหลายคนคงไม่อาจปฏิเสธถึงความสำคัญของแรงงานฝีมือสายอาชีพนี้ และเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยหันมาเลือกเรียนสายอาชีพมากขึ้น มูลนิธิเอสซีจี องค์กรสาธารณกุศลที่มุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาคนให้เป็นคนเก่งและดี จึงได้มอบทุนการศึกษา ‘เด็กช่าง สร้างชาติ’ ภายใต้ โครงการ SCG Sharing the Dream โดยมูลนิธิเอสซีจี ให้น้องๆ นักเรียนที่ศึกษาต่อประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาช่างอุตสาหกรรม ทั่วประเทศไปแล้วกว่า 500 ทุน โดยทุนนี้ไม่มีภาระผูกพันต้องใช้คืน และเป็นทุนต่อเนื่องไปจนจบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาช่างอุตสาหกรรมอีกด้วย
ในงานต้อนรับนักเรียนทุน “เด็กช่าง สร้างชาติ” (ภาคเหนือ) สู่ครอบครัวมูลนิธิเอสซีจี ที่ผ่านมา จึงมีเสียงสะท้อนจากพ่อแม่ผู้ปกครองในส่วนของความรู้สึกและทัศนคติต่อการเรียนอาชีวะสาขาช่างอุตสาหกรรมของบุตรหลานของพวกเขา
“แม่สนับสนุนมากที่ลูกเลือกเรียนสายช่าง เห็นว่าลูกชอบทางนี้ตั้งแต่เด็กๆ แล้ว พอโตขึ้นน้องเห็นพี่สาวเขาเรียนจบ ปวส. แล้วมีงานทำทันที เขายิ่งอยากเรียน แม่ก็เห็นว่าดี ใช้เวลาเรียนไม่มาก ได้ฝึกจริงทำจริง ระหว่างเรียนก็หารายได้จากสิ่งที่เรียนได้ด้วย จบแล้วก็มีงานทำเลย” คุณแม่พิศมัย จันศรี แม่ของน้องชัยรัตน์ รัตนแพทย์ ปวช. ปี 1 สาขาช่างอิเลคทรอนิคส์ วิทยาลัยเทคนิคลำปาง กล่าว
เช่นเดียวกับ เพชรา เสนอิ่น คุณป้าของน้องศักดิ์สิทธิ์ ปันตี ปวช. ปี1 สาขาช่างก่อสร้าง วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ กล่าวด้วยใบหน้ายิ้มแย้มและภูมิใจว่า “ดีใจกันทั้งบ้านตอนที่รู้ว่าน้องได้ทุนจากมูลนิธิเอสซีจี อยากให้เค้าเป็นช่าง นับเป็นบุญเป็นกุศลของน้องที่ได้เรียนอย่างที่ต้องการ พ่อของน้องก็เป็นช่างปูน”
ไม่เพียงทัศนคติเชิงบวกที่น่าสนใจในสายตาของผู้ใหญ่เท่านั้น ขณะเดียวกันเยาวชนเองก็มีแง่มุมที่น่ารับฟังไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุมมองของน้องๆ ผู้หญิงปวช. ปี 1 ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อยในการเรียนอาชีวะ สาขาช่างอุตสาหกรรม โดยน้องๆ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ถึงพวกหนูจะเป็นผู้หญิง แต่การเรียนสายช่างอิเลคทรอนิคส์ก็ไม่มีอุปสรรคเลย เพื่อนที่เป็นผู้ชายทำอะไร เราก็ทำได้เช่นกัน การเรียนสนุก และการทำกิจกรรมก็ได้รับความร่วมมือจากเพื่อนๆ ทุกคนเป็นอย่างดี รู้สึกอยากมาเรียนทุกวัน” (สุพิชญา ขัดทะเสมา, ญาษิต อินทร์สะอาด และอารียา อุ่นเรือน ปวช.ปี 1 สาชาช่างอิเลคทรอนิคส์ หลักสูตร MEP: Mini English Program วิทยาลัยเทคนิคลำปาง)
นอกจากการสนับสนุนทางการศึกษาแล้ว สิ่งหนึ่งที่มูลนิธิเอสซีจีมุ่งเน้นควบคู่กันไปนั่นคือการปลูกจิตอาสาในใจน้องๆ เยาวชน ดังคำกล่าวของสุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี ที่ว่า“เก่งอย่างเดียวคงไม่อาจสร้างชาติให้เข้มแข็งได้ ‘เก่งและดี’ คือความมุ่งหวังของมูลนิธิฯ เราอยากเห็นน้องๆ นักเรียนทุน ‘เด็กช่าง สร้างชาติ’ ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนพร้อมกับนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้ไปตอบแทนประเทศ ไปพัฒนาประเทศ จริงอยู่ที่คนเก่งย่อมเป็นที่ต้องการของทุกองค์กร แต่คนดีมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมเป็นยิ่งกว่านั้น เพราะเป็นสิ่งจำเป็นของสังคมซึ่งจะนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ฉะนั้นนอกจากน้องนักเรียนทุนมูลนิธิฯ จะเป็นเด็กที่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนแล้ว เรายังเสริมกิจกรรมร่วมทำประโยชน์เพื่อสังคมให้กับน้องๆ ด้วย เหตุนี้เองมูลนิธิฯ จึงถือโอกาสพาน้องๆ เด็กช่างภาคเหนือกว่าร้อยชีวิตมาสร้างฝายชะลอน้ำด้วยกันที่ลำปาง”
บรรยากาศของการสร้างฝายก็ไม่ต่างอะไรจากการเรียนอาชีวะ นั่นคือเรียนรู้จริงและปฏิบัติจริง น้องๆ ยิ้มแย้มและเพลิดเพลินไปกับการหยิบจับเครื่องไม้เครื่องมือในการสร้างฝายชะลอน้ำ ต่างร่วมแรงร่วมใจกันขุดดิน ผ่ากระบอกไม้ไผ่ บ้างคอยส่งไม้ให้เพื่อน บ้างคอยปักไม้ บางคนเป็นฝ่ายเสบียงคอยส่งน้ำบริการเพื่อนๆ ที่มาจากคนละจังหวัด คนละสถาบัน เสียงหัวเราะ และเสียงพูดคุยหยอกล้อกันของเยาวชนทำให้เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วและงานก็สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี นพพร บุญเฉลียว ปวช. ปี 1 สาขาช่างไฟฟ้าวิทยาลัยเทคนิคลำปางเล่าให้เราฟังว่า “เหนื่อยแต่สนุกครับ ได้สร้างฝาย ได้เพื่อน ดีใจที่ได้มาทำประโยชน์ครับ คุณตาของผมเป็นช่างไม้ ผมเห็นตาทำงานไม้ตั้งแต่ผมเล็กๆ พอโตขึ้นผมก็อยากเป็นช่าง แต่ผมถนัดเรื่องไฟฟ้า ก็เลยเลือกเรียนสาขาช่างไฟฟ้าเพื่อให้ตรงกับงานที่ผมอยากทำในอนาคตครับ”
หากกรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว การสร้าง ‘กำลัง’ ของชาติก็เช่นกัน
ผลผลิตที่งดงาม ย่อมต้องการเวลาและแรงสนับสนุนเพื่อเติบโต มูลนิธิเอสซีจีตระหนักดีว่าการสร้างสังคมคุณภาพไม่ใช่เรื่องง่ายเพียงพลิกฝ่ามือแต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ปาฏิหาริย์ที่จะเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องลงมือทำ เหตุนี้เองการสร้างและหล่อหลอมเยาวชนให้เป็นกำลังสำคัญของชาติ จึงถือเป็นภารกิจสำคัญของมูลนิธิฯ ที่จะมุ่งมั่นดำเนินไป เราเชื่อมั่นในคุณค่าของคน เพราะคนเก่งและดีจะเป็นกำลังทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศต่อไป