Phablet เทรนด์ฮอตแห่งปี 2014

จอใหญ่มาแรง… ปีทองของ Phablet หรือ สมาร์ทโฟนลูกผสมกับแท็บเล็ต ขนาดจอ 5 นิ้ว จนถึง 7 นิ้ว จะครองแชร์ 50% ของสมาร์ทโฟนปี 2014 ส่งผลผู้ค้า โอเปอเรเตอร์มือถือ และนักพัฒนาแอปพลิเคชั่นต้องปรับตัว

ความร้อนแรงของ “สมาร์ทโฟน” ของไทยที่กำลังเติบโตแบบก้าวกระโดด ทั้งขีดความสามารถ และขนาดของเครื่องที่พัฒนาให้เลือกหลากหลาย ซึ่งไอดีซี ประเทศไทย บริษัทวิจัยเกี่ยวกับอุปกรณ์ไอที ได้คาดการณ์ว่าปีหน้าสมาร์ทโฟนจะเติบโตไปถึง 12.8 ล้านเครื่อง และที่น่าสนใจความนิยมจะไปอยู่ที่ Phablet สมาร์ทโฟนลูกผสมกับแท็บเล็ต ที่มีขนาดหน้าจอ5 นิ้ว ถึง 7 นิ้ว

แม้ว่าเมื่อย้อนหลังไปดูถึงการใช้งานของ Phablet ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คือในปี 2011 การนำเข้ายังน้อยมาก มีผู้ผลิตและนำเข้าเพียงแค่รายเดียวคือซัมซุงกาแล็คซี่โน้ต ทำให้ตลาด Phabletในเวลานั้นมีไม่ถึง 1% เท่านั้น แต่เมื่อผ่านมาได้เพียงแค่ปีเดียว ปรากฏว่า Phabletกลับเติบโตเร็วที่สุดในตลาดมือถือ โดยส่วนแบ่งตลาดเพิ่มไปถึง 9% เนื่องจากมีผู้เล่นในตลาดเพิ่มขึ้น

ยิ่งมาในช่วง 3 ไตรมาสของปี 2013 ผลปรากฏว่าส่วนแบ่งตลาดของ Phablet เพิ่มขึ้นไปถึง 27% หรือคิดเป็น 2.5 ล้านเครื่องในตลาดสมาร์ทโฟน ซึ่งมีทั้งหมด 6 ล้านเครื่องในปัจจุบัน และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2012 ยังมีอยู่แค่ 2 แสนเครื่อง

ตัวเลขที่เติบโตถึง 5 เท่าตัว ไอดีซีจึงคาดการณ์ไว้ว่าตลาดหลักของสมาร์ทโฟนในปี 2014 จะตกเป็นเครื่อง Phablet หรือสมาร์ทโฟนจอใหญ่ ที่จะกลายเป็น “เมนสตรีม” ในตลาด โดยจะครอบครองตลาดได้ถึง 50% ของตลาดสมาร์ทโฟนในไทย ซึ่งจะมีประมาณ 12.8 ล้านเครื่อง

“จากตอนแรกที่มีแค่ซัมซุงยี่ห้อเดียว ปีต่อมาก็มีผู้ผลิตเพิ่มขึ้น เวลานี้ผู้ผลิตรายใหญ่ๆ 10 กว่ารายในตลาด อย่าง Asus เอชพี เลอโนโว หรืออย่างล่าสุดโนเกีย ก็เตรียมจะผลิตออกมา เรียกว่ามากกว่าครึ่งของตลาด จะไปที่ Phablet”เสฐียรพร สุวรรณสุภา นักวิเคราะห์ด้าน Mobile Devices/Tablets ของไอดีซี สะท้อนความเห็น

ไอดีซี พบว่า การที่ Phablet ได้รับความนิยมมาจาก 3 สาเหตุ

1. ผู้ใช้มีประสบการณ์ในการใช้สมาร์ทโฟนมากขึ้น และดีขึ้น จากเดิมใช้แชต หรือดูข้อมูลเล็กน้อย เวลานี้ใช้เล่นเกม ดูวิดีโอ หรือแม้แต่ทำงานบนมือถือ จึงต้องการสมาร์ทโฟนจอใหญ่ขึ้น และจากการสำรวจของไอดีซี สำรวจผู้ใช้มือถือในเอเชีย พบว่า เมื่อต้องการซื้อมือถือครั้งต่อไป ผู้ใช้ถึง 34% จะเลือกซื้อขนาดจอใหญ่ขึ้น มีเพียงแค่ 2% เท่านั้นที่ต้องการเครื่องที่จอเล็กลง

2. ความพร้อมของเครือข่าย 3 จี และกำลังพัฒนาไปสู่ 4 จี ทำให้การส่งข้อมูลได้เร็วขึ้น จะช่วยให้การใช้งานสมาร์ทโฟนจอใหญ่ซึ่งต้องการแบนด์วิธ ใช้งานได้ดีขึ้น ทั้งดูหนัง เล่นเกม

3. เทคโนโลยีในการผลิตสมาร์ทโฟนจอใหญ่ดีขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่คนส่วนใหญ่คิดกันว่าจอใหญ่แล้วจะใช้งานไม่สะดวก แต่ด้วยการที่พัฒนาให้มีความบางและน้ำหนักเบาลง ทำให้การใช้งานสะดวกมากขึ้น ขนาดจึงไม่เป็นปัญหา

4. ปัจจัยสุดท้ายที่สำคัญ คือ ราคาของเครื่อง Phablet ซึ่งเวลานี้ยังสูงกว่าสมาร์ทโฟนขนาด 3.5 นิ้ว และ4.99 นิ้ว ซึ่งเป็นเมนสตรีมของตลาด มีแนวโน้มลดลง โดยเวลานี้ราคาของเครื่อง Phablet อยู่ประมาณ 12,000 จนถึง 6,000 บาท โดยคาดว่า ปี 2014 ราคาจะลดต่ำลง เพราะดูจากราคาเฉลี่ยในปัจจุบันของเครื่อง Phablet ยังถูกกว่าเครื่องเมนสตรีมในปีที่แล้ว

ความนิยมของ Phablet ส่งผลให้กับผู้นำเข้าสมาร์ทโฟนจำเป็นต้องหามาจำหน่ายเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค แต่ก็ต้องระวังว่าเครื่อง Phablet จะเกิดการกินตลาดแท็บเล็ตรุ่นเล็กที่มีขนาด 7 นิ้ว
นอกจากนี้ ในด้านของดีเวลลอปเปอร์ ต้องให้ความสำคัญกับตลาดนี้ โดยพัฒนาแอปพลิเคชั่นและคอนเทนต์เอง ให้รองรับกับสมาร์ทโฟนจอใหญ่ ที่ต้องอาศัยความละเอียดเพิ่มขึ้น

ส่วนในด้านของโอเปอเรเตอร์มือถือเอง จะได้รับผลกระทบสองด้าน ด้านดี คือ จะมีรายได้ และสร้างกำไร จากบริการดาต้ามากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องลงทุนเรื่องของเครือข่ายให้รองรับกับการใช้งานด้านดาต้าเพิ่มขึ้นด้วย

จีรวุฒิ วงศ์พิมลพร กรรมการผู้จัดการ เลอโนโว ประเทศไทย ปัจจุบันเลอโนโวทำตลาดสมาร์ทโฟนที่เป็น Phablet ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 5 นิ้ว – 7 นิ้ว เยอะมาก เนื่องจากผู้ใช้ต้องการเครื่องที่รองรับได้ทั้งสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตในเครื่องเดียวกัน หากซื้อแท็บเล็ต ก็จะไม่มีฟังก์ชันโทรศัพท์ ทำให้คนส่วนใหญ่เวลานี้หากต้องการซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องที่ 2-3 มักจะเลือก Phablet เพราะรองรับการใช้งานได้ทั้งสองอย่าง โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ทำงานเฉพาะ และคนที่ใช้ฟังก์ชันการโทรศัพท์น้อย แต่ใช้งานเรื่องอินเทอร์เน็ตมากหน่อย

แต่ในต่างประเทศอย่างฝั่งยุโรป อเมริกาจะไม่ค่อยใช้ Phablet กัน เพราะมีกำลังซื้อสูง จะซื้อสมาร์ทโฟนแยกกับแท็บเล็ต แต่ฝั่งเอเชียหรือประเทศที่กำลังพัฒนา อาจจะมีกำลังซื้อที่จำกัด เลยซื้อที่สามารถใช้งานได้ทั้งสองอย่าง

Trend ไอที ที่นักการตลาดต้องรู้

ไอดีซี ประเทศไทย บริษัทวิจัยข้อมูลการตลาดด้านไอที โทรคมนาคม และคอนซูเมอร์เทคโนโลยี ได้คาดการณ์แนวโน้มสำคัญที่จะเกิดขึ้นในปี 2557 ที่จะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนด้านธุรกิจและเทคโนโลยีของไทยในปีหน้า

ไมเคิล อาราเน็ตตา ผู้จัดการประจำไอดีซี ประเทศไทย คาดการณ์ว่า การใช้จ่ายด้านไอทีของไทยในปีหน้า จะเพิ่มขึ้น 7.2% ซึ่งงบใช้จ่ายด้านไอทีจะอยู่ที 22.4 พันล้าน US$

ดิจิตอลทีวีปีหน้า มีผู้รับชมแค่ 42%

การมาของดิจิตอลทีวี ที่จะเป็นการปฏิรูปวงการโทรทัศน์ของเมืองไทย และเพิ่งผ่านพ้นการประมูลไปหมาดๆ
ตามเป้าหมายที่วางไว้ ปีแรกจะมีบ้านที่เปลี่ยนมาใช้ดิจิตอลทีวี 50% ปีที่สอง เพิ่มเป็น 80% ปีที่ 3 เพิ่มเป็น 90% และเพิ่มเป็น 95% ในปีที่ 4

แม้ว่าหน่วยงานรัฐจะมีการแจกคูปองเพื่อนำไปเปลี่ยนอุปกรณ์เซตท็อปบ็อกซ์ก็ตาม แต่ด้วยเศรษฐกิจที่ซบเซาต่อเนื่อง จะส่งผลให้มีการเปลี่ยนทีวีที่รับสัญญาณดิจิตอล หรือกล่องรับสัญญาณช้าลง โดยคาดว่าปีแรกจะครอบคลุมเพียง 42% ปีที่ 2 70% ปีที่ 3 80% และปีที่ 4 90%

นอกจากนี้ ไอดีซี ยังได้มองถึงธุรกิจดิจิตอลทีวีในปีหน้าว่าจะรุ่งหรือร่วง ก็ต้องอาศัย3 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.พื้นที่บริการของดิจิตอลทีวี 2.คุณภาพของรายการ 3.การสร้างความเข้าใจให้กับคนทั่วไปได้รู้จักดิจิตอลทีวีได้มากน้อยแค่ไหน

5 Gadget มาแรง

ไอดีซี มองว่า อุตสาหกรรมการผลิตของญี่ปุ่นจะส่งผลให้อุปกรณ์มีไอพีส่วนตัว ติดต่อผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อถ่ายโอนข้อมูล ส่งผ่าน และดึงข้อมูล จะมีบทบาทสำคัญในปีหน้า ซึ่งจะพัฒนามาเป็น 5 Gadget ที่จะมาแรง 1. Glass เช่น กูเกิลกลาส 2. Camera 3. Band กำไล 4. Clicker / Clip (เข็มขัด) 5. Watch นาฬิกา ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้จะพัฒนาให้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

5 จังหวัดใช้จ่ายไอทีสูงสุด

 

5 หัวเมืองหลักของแต่ละภูมิภาคของไทย เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช ชลบุรี ขอนแก่น อุดรธานี จะมีอัตราการเติบโตการใช้จ่ายด้านไอทีโตขึ้นไม่ต่ำกว่า 15% ส่งผลให้กรุงเทพฯ และปริมณฑลถูกลดบทบาทการเป็นศูนย์กลางการใช้จ่ายด้านไอที

เทรนด์ CYOD

เทรนด์นี้ พัฒนาจาก BYOD (Bring- Your-Own-Device) หรือการที่คนทำงานมักจะนำอุปกรณ์โมบาย เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ตมาใช้ในที่ทำงาน โดยมีอุปกรณ์ที่นำมาใช้ประมาณ 1.25 ล้านเครื่อง และได้พัฒนาไปสู่สิ่งที่เรียกว่า CYOD หรือการที่ผู้ใช้งานที่ต้องการเลือกใช้อุปกรณ์ตามความชอบของตัวเอง (Choose-Your-Own-Device) ส่งผลให้ให้องค์กรของไทยจำเป็นต้องพัฒนาแผนงานด้าน Mobility ขึ้นมารองรับการใช้งานให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ยกตัวอย่าง มีการนำแอปพลิเคชั่นบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า หรือ CRM ใส่ในมือถือของพนักงานขาย เพื่อให้จัดการด้านCRM กับลูกค้าได้ทุกที่ ทุกเวลา