วรมน ดำรงศิลป์สกุล 6 กุมภาพันธ์ 2557
ชื่อของ “โต้วป้าน (Douban, 豆瓣) ”ที่แฟนประจำคอลัมน์นี้คงคุ้นหูอยู่บ้าง เพราะปีก่อนเราเคยเขียนถึงในหัวข้อ “Douban เต็งหนึ่งอาณาจักรบันเทิงไฮเทค แห่งแดนมังกร” (http://www.positioningmag.com/magazine/details.aspx?id=93977) ที่เนื้อหาส่วนใหญ่ย้ำว่าโต้วป้านมีบทพิสูจน์ว่าคอนเซ็ปต์ของเว็บที่ใช้เนื้อหามาจับคู่ไลฟ์สไตล์แล้วสามารถทำเงินได้จริง!
นี่คือแผนผังโชว์โมเดลการผสานระหว่าง Users+Content+Liked (กดถูกในใจแต่ละเนื้อหา)+Brands ผสานกันอย่างลงตัว
หมายถึงเมื่อใดก็ตามที่โต้วป้านร่วมกับแบรนด์ใหญ่เพื่อออกแคมเปญใดๆ ทางทีมงานสามารถเลือกเจาะกลุ่มลูกค้าจากลักษณะประชากรและลงลึกไปจนถึงไลฟ์สไตล์ในการเสพสื่อต่างๆ ได้อีกด้วย
ดูวิดีโออธิบายถึงคอนเซ็ปต์เหล่านี้อย่างชัดเจนที่นี่
และแล้วเวลาผ่านไปเพียงปีเดียว “โต้วป้าน” ก็เริ่มเอาจริงๆ กับช่องทางการหารายได้อื่นๆ ที่เป็นการ “ขายตรง” ที่ดูสมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้น เรามาดูกันเลยว่ามีอะไรบ้าง?
หนังสือ
จากที่เคยได้รายได้ 10% จากการช่วยเว็บขายหนังสือออนไลน์อื่นๆ ขายหนังสือผ่านระบบการรีวิวหนังสือของตัวเองแล้ว
โต้วป้านก็ได้ขยายโดยการออกแอปฯ อ่านหนังสืออี-บุ๊ก โดยแอปฯ อ่านและขายหนังสืออี-บุ๊กนี้ใช้ได้กับทุกอุปกรณ์ดิจิตอลไม่ว่าจะเป็นเว็บ มือถือ แท็ปเบล็ต ที่สำคัญคือทุกเล่มมีลิขสิทธิ์ ทั้งยังเปิดช่องให้คนทั่วไปที่อยากมีรายได้จากงานเขียนของตนก็สามารถเปิดขายบทความรายชิ้น ชิ้นละ 10 บาท (หักค่าคอมให้เว็บ 30%) ได้อีกด้วย นอกจากนี้รายได้แบบเป็นกอบเป็นกำอีกทางก็คือ บริการแปลหนังสือ คิดค่าบริการเฉลี่ยนเรื่องละ 1 หมื่นบาท (ไม่รวมกับส่วนแบ่ง 20% ของยอดขาย)
ภาพยนตร์
ในอดีตจากที่เป็นเว็บรวมข้อมูลหนังทั้งจากจีนและทั่วโลกแล้ว ทุกหน้าเพจมีการเปิดให้คนมารีวิวและให้เรตติ้งหนัง ส่วนค่ายหนังก็ร่วมกับทีมงานเว็บเปิดไมโครไซต์ และลงโฆษณาหน้าที่หน้าแรกของแอปฯ ในช่วงหนังกำลังเข้าโรงด้วย
และวันนี้หนังทุกเรื่องที่ออกฉายสามารถกดเลือกที่นั่งและจองตั๋วหนังได้เลยจากทั้งเว็บและแอปฯ (ผู้ซื้อจะได้รหัสตั๋วหนังส่งมาทางมือถือ เอารหัสนี้ไปกดที่ตู้พิมพ์ตั๋วหรือบอกพนักงานขาย) รายได้ก็คือส่วนแบ่งจากค่าขายตั๋วทุกใบนั่นเอง
เพลง
เหมือนที่ใครๆ รู้ว่าเพลงออนไลน์นั้นมีฟรีทั่วโลกไซเบอร์จีน ดังนั้นจึงไม่มีใครยอมจ่ายเงินค่าฟังเพลง ที่ผ่านมาโต้วป้านจึงให้กลยุทธ์โฆษณา ตั้งแต่ให้แบรนด์มาเปิดสถานีของตัวเอง (เลือกเพลงที่เหมาะกับบุคคลิกของแบรนด์) รวมถึงแทรกคลิปเสียงโฆษณา ทั้งหมดก็เพื่อให้คนฟังเพลงได้ไม่จำกัดผ่านระบบของตัวเองได้ฟรี
แต่วันนี้โต้วป้านก็เดินรอยตามผู้ทำระบบสตรีมมิ่งเพลงทั่วโลก คือ หากอัปเกรดเป็นลูกค้าระดับโปร จ่ายเดือนละ 50 บาท หรือ 6 เดือน 250 บาท แลกกับการได้ฟังเพลงที่คุณภาพเสียงดีขึ้นนั่นเอง ซึ่งสำหรับคอเพลงตัวจริงราคานี้โออยู่แล้ว!
อีเว้นท์
เพราะเป้าหมายของโต้วป้านคือ เป็นศูนย์กลางการเสพวัฒนธรรมของชนชั้นกลางในจีน บริการที่ขาดไม่ได้ก็คือ ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดงานอีเว้นท์ต่างๆ ในแต่ละเมือง เช่น คอนเสิร์ต ทอล์คโชว์ งานศิลป์ ล่าสุดทุกอีเว้นท์ที่จัด สามารถเข้ามาที่นี่เพื่อโปรโมทตัวเองและขายบัตรในหน้าเพจเดียวกันได้เลย
ขายสินค้า
ซับโดเมนใหม่ล่าสุดของโต้วป้านที่เปิดตัวเมื่อเดือนตุลาคม 2013 ก็คือ “ตงชี (東西)”ซึ่งหมายถึงการขายสินค้านั่นเอง อย่าตกใจ! โต้วป้านรู้ดีว่าตัวเองไม่สามารถต่อกรกับ “เถาเป่า” และ “เทียนเมา” ของอลีบาบาได้ จึงหันมาหาตลาดเล็กมากๆ อย่าง “สินค้ามีดีไซน์” ที่หน้าเพจ http://dongxi.douban.com นอกเหนือจากดีไซน์จะโคลนนิ่งพินเทอร์เรสต์แล้ว รูปต่างๆ สินค้าสวยๆ ต่างๆ ดึงดูดตาวัยทีนได้เต็มๆ (รูปนั้นมีทั้งมาจากเถาเป่า แอมะซอน หรือแม้แต่แฟนซี (Fancy.com) เว็บขายของมีดีไซน์น้องใหม่มาแรงจากอเมริกา) โดยการหารายได้ก็มาจากค่าคอมมิสชั่นที่ส่งให้กับเว็บอี-คอมเมิร์ซเจ้าของรูปนั่นเอง
ปีนี้โต้วป้านจะขึ้นปีที่ 9 ซึ่งยังมีตำแหน่งของตัวเองชัดเจนว่าเป็นเว็บของชาวจีนที่มีเทสต์โดยเฉพาะ ผู้เขียนเชื่อว่าด้วยโมเดลธุรกิจที่สมจริง ต่อยอดจากเนื้อหาที่เป็นทรัพย์สินหลักของตนเอง ประกอบกับฐานลูกค้ามากพอ (72 ล้านคน ยอดเปิดเว็บ 200 ล้านเพจ/เดือน) และระบบจ่ายเงินพร้อม อนาคตของโต้วป้านยังไปได้อีกไกล เพราะจุดที่สำคัญที่สุดก็คือ การเลี่ยงเนื้อหาที่สุ่มเสี่ยงกับการเมือง หันมาจับเรื่องไลฟ์สไตล์ ศิลปะ วัฒนธรรม ก็สามารถครองใจเศรษฐีรุ่นที่ 2 (富二代) ได้อีกนาน