แชท แอปพลิเคชั่น ได้กลายเป็นตลาดที่ต้องถูกจับตามอง หลังจากที่เฟซบุ้ค ได้เข้าซื้อกิจการ WhatsApp อย่างเป็นทางการ
เฟซบุ้คได้แจ้งอย่างเป็นทางการถึงข้อตกลงในการเข้าซื้อกิจการของ WhatsApp ในวันนี้ ซึ่งนับเป็นบริษัทด้านแพลตฟอร์มการสื่อสารผ่านมือถือที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว การซื้อกิจการครั้งนี้มีมูลค่าประมาณ 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งรวมการจ่ายเป็นเงินสด 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจ่ายเป็นหุ้นของ Facebook มูลค่าประมาณ 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ข้อตกลงครั้งนี้ยังรวมถึงการมอบหุ้นแบบจำกัดจำนวนให้แก่ผู้ก่อตั้งและพนักงานของ WhatsApp เพิ่มอีกเป็นมูลค่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะครอบคลุมเป็นเวลา 4 ปี
“WhatsApp เป็นช่องทางที่เชื่อมต่อกับผู้คนทั่วโลกถึง 1 พันล้านคน การให้บริการที่สามารถเข้าถึงผู้คนได้มากขนาดนี้นับเป็นสิ่งที่มีมูลค่าอย่างมหาศาล ผมรู้จักแจน (Jan Koum ซีอีโอของ WhatsApp) มาเป็นเวลานาน และก็ตื่นเต้นมากที่ได้ร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับเขาและทีมงาน เพื่อร่วมกันเปิดโลกให้กว้างขึ้น และเชื่อมต่อกันมากขึ้น” มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก กล่าว
Facebook หวังว่าการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ช่วยเสริมศักยภาพด้านการเชื่อมต่อผู้คนและประโยชน์การใช้งานด้านต่างๆ ของFacebook สู่โลกมากขึ้น
การเข้าซื้อกิจการ WhatsApp ของ Facebook ครั้งนี้ เชื่อว่าจะส่งผลต่อการแข่งขันให้ “แชท แอปพลิเคชั่น” แข่งขันรุนแรงมากขึ้น โดยผู้เล่นหลักๆ ในตลาดแชทแอปพลิเคชั่น นอกจาก WhatsApp ยังมี Line ของค่าย Never ญี่ปุ่น และ WeChat แชทแอปพลิเคชั่นจากจีน ที่พยายามรุกขยายตลาดออกนอกประเทศ
สำหรับในไทย ผู้ใช้แชทแอปพลิเคชั่นส่วนใหญ่จะตกเป็นของ LINE ที่มีผู้ใช้ 22 กว่าล้านราย เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากญีปุ่น โดย LINE มียอดผู้ใช้ 340 ล้านรายทั่วโลก
ในช่วงปีที่ผ่านมา LINE ได้รุกตลาดอย่างหนัก เปิดสำนักงานในไทย ออกสื่อโฆษณาทีวี การเปิดป็อปอัพ สโตร์ ออกเกมใหม่ ๆ ซึ่งความนิยมของไลน์ก็ไม่ได้ลดลงเลยแม้แต่น้อย
ส่วน WeChat ของค่าย Tencent ยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตของจีน ได้พยายามรุกทำตลาดไปทั่วโลก รวมทั้งในไทย ผ่านสนุกดอทคอม ที่ Tencent ได้เข้ามาซื้อกิจการ ได้พยายามขยายฐานผู้ใช้ ด้วยการออกสติ๊กเกอร์ที่เคลื่อนไหวได้ และการเปิดให้แบรนด์สินค้าเข้ามาเป็น ออฟฟิเชียล สปอนเซอร์ได้ฟรี และล่าสุดยังได้พัฒนาเกมใหม่ๆ ออกมาเพื่อเพิ่มยอดการใช้ให้มากขึ้น
เฟซบุ้คเอง ก็มีเฟซบุ้ค แมสเซนเจอร์ ที่ออกมาแข่งขันในตลาด โดยใช้วิธีการเป็นพันธมิตรกับโอปะเรเตอร์มือถือ เป็นฐานในการขยายยอดผู้ใช้ เช่นการร่วมมือกับเทเลนอร์ ของนอร์เวย์ และมีผลต่อเนื่องมาถึงดีแทค ที่เป็นพันธมิตรในการนำเฟซบุ้ค แมสเซนเจอร์มาให้บริการแก่ลูกค้าในเครือข่ายของดีแทค แต่ดูเหมือนว่าก็ยังไม่สามารถดึงผู้ใช้จาก LINE ไปได้
ส่วน Whatsapp เอง หลังจากที่ LINE เข้ามาสร้างความนิยมด้วยสติ๊กเกอร์ ความนิยมของผู้ใช้ Whatsapp ลดลงไปเรื่อยๆ
ดีลการซื้อกิจการ Whatsapp ของ Facebook ในครั้งนี้ จึงถูกคาดหมายว่า จะทำให้สงครามแชทแอปพลิเคชั่นดุเดือดขึ้นอย่างแน่นอน Facebook เองก็เห็นความสำคัญของบริการเหล่านี้ เพราะ Facebook เองก็ต้องเผชิญกับความนิยมในกลุ่มผู้ใช้ในกลุ่มวัยรุ่นลดลง และพฤติกรรมของคนที่หันมาใช้บริการผ่านแชทแอปพลิเคชั่นบนมือถือเพิ่มขึ้น
จิณณ์ เผ่าประไพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเจ เวิร์ค จำกัด ดิจิตอลเอเยนซี่ของไทย ได้ตั้งข้อสังเกตพฤติกรรมผู้ใช้คนไทยได้หันไปนิยมการใช้ LINE มากขึ้น
“ถึงแม้ว่า Facebook ยังมีคนใช้อยู่มาก แต่กลุ่มผู้ใช้จะเล็กลงไปเรื่อยๆ เพราะ คนไทยเวลานี้หันไปหาบริการ LINE มากขึ้น เพราะเขารู้สึกสะดวกกว่า เหมาะกับพฤติกรรมมากกว่า อย่าง ในLINE จะมีเพื่อนหลายกลุ่ม กลุ่มเพื่อนที่ทำงาน กลุ่มเพื่อนมัธรม แต่ละกลุ่มเราจะคุยไม่เหมือนกัน แต่เวลาข้อความบน Facebook ทุกคนเห็นเหมือนกันหมด ซึ่งบางทีเราก็ไม่อยากให้คนเห็นทั้งหมด คนเลยนิยมใช้ LINE มากขึ้น แม้แต่แคมเปญที่บริษัททำ เวลานี้คนก็ไปแชร์ใน LINE เยอะมาก”
นี่คือ ส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้เกิดดีลนี้ขึ้นมา เพราะ Facebook มองแล้วว่า ตลาดแชท แอปพลิเคชั่นมีบทบาทเพิ่มขึ้นทุกวัน ยิ่ง smartphone เพิ่มสูงเท่าไหร่ ก็ทำให้แชทแอปพลิเคชั่นมียอดผู้ใช้เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้การมาของให้การแข่งขันของตลาดแชท แอปพลิเคชั่นดุเดือดขึ้นแน่ เพราะงานนี้ LINE และ WeChat ก็ยิ่งต้องหาอะไรใหม่ๆ ออกมาเพื่อรับมือกับคู่แข่งอย่าง Facebook แน่นอน