ถึงแม้ว่าช่อง 3 จะเป็นช่องเดียวที่ได้ใบอนุญาตทีวีดิจิตอลมาถึง 3 ช่องก็ตาม แต่ช่อง 3 กลับเลือกการรักษาฐานคนดูในระบบอนาล็อกไว้ให้ยาวนานที่สุด ในขณะที่ กสทช. ต้องใช้ทุกกระบวนท่าแจ้งเกิดทีวีดิจิตอล
กำลังเป็น “เงื่อนปมร้อน” ระหว่าง สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ กสทช. กับเส้นทางของการก้าวเข้าสู่ “ทีวีดิจิตอล”
ในฐานะองค์กรกำกับดูแล และเป็นผู้ออกใบอนุญาต กสทช.จึงต้องการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมทีวีไทยไปสู่ “ทีวีดิจิตอล” โดยเร็ว โดยใช้ “กฎ และกติกา” ต่างๆ มาใช้กำกับดูแลให้เป็นไปตาม “เงื่อนไข” ที่กำหนดไว้
ในขณะที่ช่อง 3 ในฐานะ “บิ๊กทีวี” ของระบบเดิม ที่มีฐานคนดูจำนวนมาก จึงต้องการประวิงเวลาในระบบอนาล็อกเดิมไว้ให้ยาวที่สุด
เมื่อเดินกันคนละเกม ทั้งช่อง 3 และ กสทช. ต่างฝ่ายต่างต้องหาทุกวิธีที่จะเดินไปสู่เกมกลยุทธ์ที่ตัวเองวางไว้
กสทช.นั้นต้องการให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ “ทีวีดิจิตอล” ลุล่วงโดยเร็วภายใน 3 ปี ไม่ต้องใช้เวลา 8-10 ปี เหมือนกับประเทศอื่นๆ
หนึ่งในกติกาของการเปลี่ยนผ่าน คือ การประกาศหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป หรือ Must Carry (มัสต์แครี่)
กติกาของ Must Carry คือ ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา กสทช.ได้ให้ใบอนุญาตช่องรายการ “ทีวีดิจิตอล” 24 ช่อง ซึ่งทั้ง 24 ช่องต้องทำตามเงื่อนไข คือนำเฉพาะช่องรายการที่ได้รับใบอนุญาตในระบบดิจิตอลมาออกอากาศเท่านั้น
สำหรับทีวีอนาล็อกเดิม ช่อง 5 ช่อง 11 ไทยพีบีเอส กสทช.อนุญาตให้ออกอากาศคู่ขนาน (Simulcast) ในระบบดิจิตอลได้เพราะถือเป็นช่องสาธารณะ ส่วนช่อง 3, 7, 9 ที่ประมูลได้ใบอนุญาตทีวีดิจิตอล แต่มีช่อง 7 และช่อง 9 เท่านั้น ที่นำช่องระบบอนาล็อกมาออกอากาศคู่ขนานบนโครงข่ายดิจิตอลได้ เพราะเป็นนิติบุคคลเดียวกัน
ส่วนช่อง 3 นำช่องอนาล็อกมาออกอากาศคู่ขนานในระบบดิจิตอลไม่ได้ เพราะเป็นคนละคู่สัญญากัน บริษัทที่รับสัมปทานในระบบอนาล็อกกับ อสมท คือบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ซึ่งรับสัมปทานมาตั้งแต่ปี 2513 และสิ้นสุดสัมปทานในเดือนมีนาคม 2563 ออกอากาศมาแล้ว 45 ปี ส่วนบริษัทที่ประมูลดิจิตอลคือ บริษัท บีอีซีมัลติมีเดีย จำกัด เป็นคนละนิติบุคคลกัน ซึ่งตามกฎหมายระบุว่า ผู้ได้รับการจัดสรรคลื่นต้องประกอบกิจการด้วยตนเอง
หลักเกณฑ์นี้มาจากมติที่ประชุมของ กสท. เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ได้เห็นชอบให้ฟรีทีวี 6 ช่องเดิม สิ้นสุดการเป็นโทรทัศน์ระดับชาติ ตามประกาศหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้เป็นบริการทั่วไป หรือ Must Carry นับตั้งแต่วันที่เริ่มต้นแพร่ภาพดิจิตอลแล้ว 30 วัน คือวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นไป
ผลที่เกิดจากกติกาดังกล่าว ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 ผู้รับใบอนุญาตโครงข่าย เช่น ทรูวิชั่นส์, ซีทีเอช และเคเบิลทีวีท้องถิ่น 300-400 ราย ห้ามนำช่อง 3 แบบอนาล็อกออกอากาศอีกต่อไป หากยังออกอากาศอยู่จะถือว่ามีความผิด ต้องถูกปรับตามกฎที่ตั้งไว้
กสทช.มองว่า หากไม่ออกกติกา Must Carry มาใช้บังคับ ปล่อยให้ช่อง 3 ยังคงออกอากาศแบบเดิม จะทำให้ช่อง 3 มีข้อได้เปรียบช่องอื่นๆ โดยจะมีช่องพร้อมกัน 4 ช่อง คือ มีทีวีดิจิตอลที่ประมูลได้ 3 ช่อง คือช่องวาไรตี้ SD, ช่อง HD, ช่องเด็กและครอบครัว และยังคงอนาล็อกเดิมอีก 1 ช่อง
ที่สำคัญช่องอนาล็อกของช่อง 3 ยังมีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมทีวี เพราะครองฐานคนดู การที่ช่องดิจิตอลใหม่ๆ จะมาแข่งผลิตละครช่อง 3 เพื่อดึงคนดูไปที่ทีวีดิจิตอลย่อมไม่ง่าย เมื่อช่อง 3 อนาล็อกยังออกอากาศได้เหมือนเดิม การเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิตอลย่อมเป็นเรื่องยาก
แต่ กสทช.ได้เสนอทางออกให้ช่อง 3 ไว้สองทาง คือ ให้ช่อง 3 ดิจิตอล ทำสัญญาซื้อ “คอนเทนต์” จากช่อง 3 อนาล็อกมาออกอากาศในทีวีดิจิตอล
หรือ ช่อง 3 ต้องการให้ผู้ชมรับชมช่อง 3 อนาล็อกผ่านช่อง Pay TV เพื่อออกอากาศแบบคู่ขนาน (Simulcast) เหมือนอย่างที่ช่อง 7 ทำอยู่ ช่อง 3 จะต้องขอใบอนุญาตช่องรายการใหม่ เพื่อออกอากาศผ่านทีวีบอกรับสมาชิก แต่มีเงื่อนไขว่า ช่อง 3 จะต้องปฏิบัติตามกฎ คือ โฆษณาได้ไม่เกิน 6 นาทีต่อชั่วโมง จากเดิมทีวีอนาล็อกสามารถโฆษณาได้ 12 นาทีต่อชั่วโมง
นอกจากนี้ ช่อง 3 จะต้องเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ กสทช. 2% ของรายได้ และจ่ายเงินสมทบกองทุนวิจัยและพัฒนาอีก 2% นอกจากต้องจ่ายค่าสัมปทานให้ อสมท
หากช่อง 3 ไม่รับกติกานี้ เท่ากับว่า ในวันที่ 26 พฤษภาคม ช่อง 3 ออกอากาศได้เฉพาะระบบภาคพื้นดิน และจะเป็นช่องเดียวที่ต้องเจอปัญหา “จอดำ” ในช่องทรูวิชั่นส์, ซีทีเอช และเคเบิลท้องถิ่น อีก 300-400 ราย
ทำให้ช่อง 3 ต้องสูญเสียฐานคนดูไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากผู้ชมทีวีดูผ่านทีวีดาวเทียมหรือเคเบิล 60-70% ของจำนวนประชากร ส่วนดูผ่านระบบอนาล็อกภาคพื้นดินแค่ 30% เท่านั้น โดยทรูวิชั่นส์มีลูกค้า 2.4 ล้านราย ซีทีเอชมีฐานลูกค้า 5 แสนราย และเคเบิลท้องถิ่นจำนวน 300-400 ราย ซึ่งมีฐานลูกค้าอีกจำนวนหนึ่ง
ปรากฏว่า ช่อง 3 เลือกใช้วิธียื่นฟ้องร้อง กสทช. ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้เพิกถอนมติที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2557 ที่กำหนดให้ช่อง 3 ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโทรทัศน์ ต้องสิ้นสุดการทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการโทรทัศน์เป็นการทั่วไปตามประกาศ กสทช. ตามหลักเกณฑ์ของ Must Carry นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนเป็นเหตุให้ช่อง 3 ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จากการที่ช่องอนาล็อกของช่อง 3 ไม่สามารถออกอากาศได้บนโครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีแบบบอกรับสมาชิกอย่างทรูวิชั่นส์-ซีทีเอชได้ จึงขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินและคุ้มครองชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีด้วย
ทำให้ระหว่างที่รอผลตัดสิน ช่อง 3 อนาล็อกจึงยังไม่ถูกออกจากเพย์ทีวี เพราะยังอยู่ในกระบวนการขอคุ้มครองฉุกเฉินจากศาลปกครองกลาง เพย์ทีวีทุกรายเวลานี้จึงยังคงสามารถออกอากาศต่อไปได้
การที่ช่อง 3 ต้องการยืนหยัดในโลก “อนาล็อก” แบบเดิมให้นานที่สุดจนกว่าจะสิ้นสุดสัมปทานที่ทำไว้กับ อสมท ในเดือนมีนาคม 2563 โดยไม่รับเงื่อนไขที่ กสทช.เสนอมา
เนื่องจากระบบอนาล็อกช่อง 3 ยังเป็น “อู่ข้าว อู่น้ำ” ให้กับช่อง 3 ที่ครองฐานคนดู และโฆษณามากกว่าใคร แถมคู่แข่งก็มีแค่ไม่กี่ราย ตรงกันข้ามกับทีวีดิจิตอล ที่ช่อง 3 ต้องเผชิญกับกฎ กติกา และเกมการแข่งขันใหม่จากคู่แข่งมากหน้าหลายตาที่จะเข้ามาแย่งชิงเค้กก้อนเดิม แม้ว่าช่อง 3 จะมีข้อได้เปรียบกว่าในเรื่องฐานคนดูและประสบการณ์ทีทำมาก่อนก็ตาม แต่เค้กก้อนใหม่ในโลกดิจิตอลย่อมไม่ง่ายเหมือนเดิมอีกต่อไป
นอกจากนี้ ช่อง 3 ยังคงอัตราค่าโฆษณาช่อง 3 อนาล็อกไว้ได้เหมือนเดิม ในขณะที่ช่องอื่นๆ ในระบบอนาล็อกเริ่มมีการลดราคา หรือ แถมโฆษณากันแล้ว เช่น ช่อง 7 ซื้อโฆษณาในช่องอนาล็อกได้แถมช่องดิจิตอล เช่นเดียวกับช่อง 5 และช่อง 9 ที่มีการลดค่าโฆษณาลงมาแล้
ช่อง 3 จึงต้องดิ้นรนเต็มที่ นอกจากการยื่นศาลปกครอง ช่อง 3 ยังเตรียมทางออกอื่นๆ เช่น บริษัท เซิร์ช เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ บริษัทลูกที่ผลิตรายการข่าวและบันเทิงป้อนให้ช่อง 3 ก็เพิ่งได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโครงข่ายไร้สาย (ผ่านดาวเทียม) เพื่อก้าวไปสู่การเป็นเจ้าของ “แพลตฟอร์ม” เหมือนอย่าง จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และอาร์เอส
ตามแผนบริหารโครงข่ายของเซิร์ช จะให้บริการช่องทีวีดิจิตอล ฟรีทีวี และอนาล็อกของช่อง 3 และช่องเคเบิล ทีวีดาวเทียม ในกลุ่มเซิร์ช และพันธมิตร รวม 50 ช่อง เช่น ช่องข่าวบันเทิง, ช่องครอบครัวข่าวประเทศไทย, ช่องมิตรทีวี
ขณะที่เซิร์ชยังเตรียมขายกล่องรับสัญญาณดาวเทียมของโครงข่าย โดยชูจุดขายเรื่องของราคา และการมีทั้งทีวีดิจิตอล ฟรีทีวี อนาล็อก และดาวเทียม โดยตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 1 ล้านกล่อง
หมายความว่า หากช่อง 3 จะมีกล่องดาวเทียมของเซิร์ช เป็นอีกหนึ่งในช่องทางในการออกอากาศช่องอนาล็อก เพื่อเพิ่มยอดคนชมรายการในช่องอนาล็อก
หลังการประกาศกฎเหล็กของ กสทช. ช่อง 3 จึงต้องนัดประชุมบรรดาเอเยนซี่โฆษณามาชี้แจง เพื่อเรียกความมั่นใจ เพราะนี่คือ “จุดเปลี่ยน” สำคัญอุตสาหกรรม ซึ่งได้สร้างความปั่นป่วนให้กับเอเยนซี่โฆษณา ที่กำลังรอดูว่า ช่อง3 จะเจอปัญหา “จอดำ” หรือไม่ เม็ดเงินโฆษณาจะไหลจากอนาล็อก ที่ช่อง 3 ยึดครองไปสู่ทีวีดิจิตอลมากขึ้น งบโฆษณาจะถูกแชร์ไปสู่ผู้เล่นในทีวีดิจิตอล
“หากช่อง 3 อนาล็อกออกอากาศได้เหมือนเดิม โฆษณาก็ยังลงไปที่ช่อง 3 เพราะฐานคนดูเขายังเยอะ แต่ถ้าช่อง 3 เจอปัญหาจอดำ ออกอากาศผ่านทีวีดาวเทียมไม่ได้ ช่อง 3 ต้องได้รับผลกระทบ เพราะยอดคนดูผ่านทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี มีถึง 60-70%“
กสทช.เอง ก็สบโอกาส ใช้จังหวัดคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ออกประกาศเรื่องการอนุญาตออกอากาศของสถานีต่างๆ ลงมือจัดระเบียบ “ทีวี” ใหม่ โดยนำเข้าสู่ “เพย์ทีวี” ที่กสทช.สามารถควบคุมได้ และออกกฎ Must Carry ในคราวเดียวกัน เข้าตำรา “ยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว”
ตามประกาศ คสช. ได้อนุญาตให้สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีอนาล็อก 6 ช่อง สถานีโทรทัศน์ทีวีดิจิตอล 23 ราย ยกเว้นวอยซ์ทีวี ทั้งในระบบภาคพื้นดิน ระบบโครงข่ายดาวเทียมและเคเบิล รวมทั้งผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบรับสมาชิก หรือเพย์ทีวี 9 ราย ได้แก่ ทรูวิชั่นส์, ซีทีเอช,จีเอ็มเอ็ม แซท, เคมาสเตอร์, ทีโอที, เจริญเคเบิล, ลีเนียร์, กล่องเอ็มเอสเอส, กล่องดีทีวี และช่องรายการแบบบอกรับสมาชิก 274 ช่องรายการ ออกอากาศได้ตามปกติ โดยงดเว้นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารต้องห้ามตามประกาศ คสช.
หากผู้รับใบอนุญาตโครงข่ายรายใดไม่ปฏิบัติตามประกาศและหลักเกณฑ์ของ กสทช. และไม่ปฏิบัติตามประกาศ คสช. ทาง กสทช.จะมีบทลงโทษ เริ่มจากการตักเตือนก่อน หากยังไม่ปฏิบัติ จะสั่งปรับวันละ 5 แสนบาท ไปจนถึงการเพิกถอนใบอนุญาต
ผลจากคำสั่งนี้ ส่งผลให้ช่อง จีเอ็มเอ็มแซท, เคมาสเตอร์, เจริญเคเบิลทีวี ที่เดิมยังไม่ได้ระบุประเภท ยอมเข้าสู่การเป็นทีวีบอกรับสมาชิก หรือเพย์ทีวี เพื่อจะได้ออกอากาศ
ส่วนผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ที่ไม่ได้ระบุประเภทชัดเจน 22 ราย เช่น พีเอสไอ, ไอพีเอ็ม จะต้องมากำหนดประเภทให้ชัดเจนว่า เป็นแบบบอกรับสมาชิก หรือแบบฟรีทูแอร์ เพื่อให้การออกอากาศไม่ขัดต่อประกาศของ คสช.
และด้วยคำสั่งของ คสช. นอกจากจะทำให้ช่องทีวีดาวเทียม ประเภทฟรีทูแอร์ เข้าสู่ระบบเพย์ทีวี ซึ่งจะทำให้ กสทช.สามารถควบคุมรายการต่างๆ ที่นำมาออกอากาศ รวมถึงโฆษณาสินค้าไม่ได้มาตรฐานแล้ว ยังส่งผลช่องรายการเหล่านี้ จะต้องเข้าสู่ “กฎ Must Carry” ไปโดยปริยาย นั่นก็คือช่องเพย์ทีวี หมดสิทธิ์ที่นำช่องอนาล็อกของช่อง 3 ไปออกอากาศบนกล่องทีวี หากยังออกอากาศอยู่จะถือว่ามีความผิด
ไม่ใช่แค่ทรูวิชั่นส์, ซีทีเอช และเคเบิลทีวี 300-400 ช่อง ที่อยู่ใน “ลิสต์” เดิมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง จีเอ็มเอ็ม แซท, ช่องอาร์เอส บรรดาเคเบิลทีวีต่างๆ และอาจรวมไปถึง พีเอสไอ (หากตกลงกันได้) ที่แต่เดิม กสทช. บอกให้ช่อง 3 ไปเจรจาขอออกอากาศเอาเอง จะต้องมาอยู่ใต้กติกา Must Carry ทันที
เท่ากับว่า ช่องทางในการแพร่ภาพช่องอนาล็อกของช่อง 3 น้อยลงไปอีก จนเหลือแต่ อากาศภาคพื้นดิน เช่น เสาก้างปลา เท่านั้น
งานนี้ จึงมีผลตัดสินของ “ศาลปกครองกลาง” เป็นเดิมพัน หากช่อง 3 ชนะ จะทำให้ช่อง 3 รักษาช่องอนาล็อกไว้ไปอีกพักใหญ่ ส่วนแผนการเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกไปสู่ดิจิตอลของ กสทช. จะไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ แถมยังมีเรื่องการแจกคูปองที่กำลังเป็นประเด็นร้อนที่มีผลต่อการผลักดันสู่ดิจิตอลรอยู่
ส่วนผลจะเป็นอย่างไร ต้องดูว่า พลังระหว่างบิ๊กทีวีอย่างช่อง 3 และผู้คุมกฎกติกาอย่าง กสทช. ว่าใครจะเหนือกว่ากัน