85c กับ 3 สูตรสำเร็จพาร้านกาแฟไต้หวันโกอินเตอร์!

เรื่องโดย : วรมน ดำรงศิลป์สกุล

เค้กทิรามิสุชิ้นละ 50 หาได้ที่ไหนในกรุงเทพฯ? คำถามธรรมดาๆ ที่แทบจะกลายมาเป็นปัญหาเชาว์สำหรับวันที่ค่าครองชีพในเมืองหลวงมีแต่ถีบตัวขึ้นทุกวัน แต่ที่ “ไต้หวัน” ร้านแฟรนชายส์กาแฟ 85c (85 องศา) ยังขายเค้กหลายสิบรสในราคานี้อยู่ แถมวันนี้ได้ขยายไปเกือบ 800 สาขาทั้งในเอเชียและอเมริกา เขาทำได้อย่างไร? และใครอยู่เบื้องหลัง? วันนี้เราจะพามารู้จักกรณีศึกษาที่น่าสนใจจากเถ้าแก่ไต้หวันกัน!

85C ขายอะไร?ในร้านกาแฟ!

นอกจากเมนูกาแฟดำฟองเกลือ (เสิร์ฟที่อุณหภูมิ 85 องศาเซลเซียสในทุกครั้ง ที่อุณหภูมิพอเหมาะนี้จะทำให้ลูกค้าดื่มได้เลยไม่ต้องรอและไม่ลวกปาก) ที่ฝรั่งติดใจจนนำไปเขียนขึ้นซีเอ็นเอ็นแล้ว ที่ร้านแฟรนชายส์กาแฟแห่งนี้ (ที่คุณพบได้ทุกหัวมุมถนนของทั้งเกาะไต้หวัน) ยังเน้นขายเค้กที่มีรสให้เลือกมากกว่า 1 โหลในทุกๆ วัน รวมถึงขนมปังแซนด์วิชด้วย

จุดเด่นของอาหารในร้านนี้ก็คือ ของสดใหม่ ใช้วัตถุดิบดี อบใหม่ทุกๆ ชั่วโมงส่งตรงจากโรงผลิตศูนย์กลาง ทำให้ควบคุมคุณภาพได้ จากนั้นก็ส่งมายังแต่ละร้านเพื่อขายกับลูกค้า วิธีนี้ทำให้ร้านค้าไม่ต้องมีขนาดใหญ่มาก (เพราะไม่ต้องมีครัว) ทำให้ลูกค้าได้ทานขนมอร่อยๆ ตลอดวัน

85C กับฉายา “สตาร์บัคส์แห่งไต้หวัน”

อันที่จริงจะเอาสตาร์บัคส์มาเปรียบกับ 85C ถือว่าผิดถนัด เพราะราคาของสินค้าทุกอย่างในร้าน 85C ถูกกว่าแบรนด์มะถึง 30-45% แต่ทั้งสองมีไลน์สินค้าที่ใกล้เคียงกันนั่นเอง ด้วยราคาที่ถูกกว่าร้านใดๆ นี่เอง ทำให้คู่แข่งที่สายไม่แข็งพอก็ไม่กล้ามาลงแข่งราคากับ 85C ดังนั้นในไต้หวันเมื่อมองไปรอบๆ แล้ว จะหาร้านกาแฟแฟรนชายส์โคลนนิ่ง 85C ก็ยังไม่มี

ที่ไต้หวันร้าน 85C กว่า 400 สาขา 80% เป็นของคนทั่วไปที่มาซื้อแฟรนชายส์ แต่ที่ต่างประเทศอย่าง ฮ่องกง จีน ออสเตรเลีย และอเมริกา ทุกร้านเป็นบริษัท Gourmet Master Co., Ltd. บริษัทแม่ของ 85C เป็นผู้ดำเนินการ

ทางบริษัทรู้ดีว่า ณ วันนี้ ตลาดใหญ่ของ 85C อยู่ที่จีน (ตลาดจีนทำรายได้ให้บริษัท 70%) มีมากกว่า 400 สาขา แต่อนาคตเขากลับปักธงไปที่อเมริกา เพราะยอดขายของแต่ละสาขา สามารถสร้างรายได้มากกว่าร้านที่ไต้หวัน และจีน เนื่องจากลูกค้ามะกันเล่นซื้อแต่ละครั้งเยอะ 8-10 ชิ้น สนนราคาถึง 400-600 บาทขึ้นไป/ครั้ง

3 เคล็ดลับมัดใจลูกค้าของ 85C

ทำเล : ที่ไต้หวันและจีนร้านค้า 85C มักจะพบได้ในหัวมุมถนน (เพราะทำให้เห็นเค้กสีสันสดใสจากทั้ง 2 มุมถนน) ส่วนที่อเมริกาทีมงานก็ปรับเป็นเปิดร้านค้าใหญ่และมีที่จอดรถกว้างๆ แทน

ราคา : ถือว่าตั้งแต่เด็กนักเรียนถึงคนทำงานก็จ่ายไหว เค้กชิ้นละ 50 กาแฟ ชา เริ่มต้นที่ 35-60 บาท ทำให้ยอดขายสินค้ารายชิ้นมากยิ่งขึ้น

ความหลากหลาย : ทุกร้านจะมีเค้กให้เลือกทานมากกว่า 10-20 รส (ตามขนาดร้าน) และรสไม่หวานเกินไป (แต่สำหรับคนไทยอาจจะบอกไม่หวานเอาซะเลย!) นอกจากนี้ทุกเดือนจะมีรสใหม่ออกจากห้องทดลองให้ลองชิมด้วยกว่า 10 รสชาติ

อันที่จริงความเคล็ดลับทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นเคล็ดลับเลย แต่ไม่ใช่ทุกแบรนด์จะสามารถขายสินค้าคุณภาพดีในราคาถูกได้อย่าง 85C ดังนั้นมาดูกันว่าหัวเรือของกองทัพนี้คือใครกัน?

เปิดตำนานเถ้าแก่อู๋…ผู้ไม่ (ยอม) แพ้

ไต้หวัน คือ เกาะของเถ้าแก่ ว่ากันว่า 1 ในทุก 20 คนจากประชากร 23 ล้านคนของไต้หวันได้ชื่อว่าเป็น “เจ้าของกิจการ” หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า “เหลาป่าน” ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นระดับ SME’s ทั้งสิ้น

“อู่เจ้งเฉว (吳政學)” ผู้ก่อตั้งแบรนด์ 85C ก็มีตำนานชีวิตเช่นเดียวกับเถ้าแก่ทุกคน นั่นก็คือ สู้มาไม่รู้กี่ครั้ง ล้มมาแล้วไม่รู้กี่รอบ หลังจากมั่นใจแล้วว่าสปิริตของการอยากเป็นเจ้าของธุรกิจสลัดอย่างไรก็ไม่พ้น วัยเพียง 15 ปี เขาก็เริ่มลุยทำงาน เริ่มจากเป็นลูกจ้าง และขยับมาเป็นเถ้าแก่ ซึ่งเถ้าแก่นั้นเขาเป็นมาไม่รู้ต่อกี่ครั้ง ตั้งแต่เปิดร้านเสริมสวย โรงงานผลิตชิ้นส่วนรองเท่า และโรงงานหินอ่อน ร้านพิซซ่า ร้านขายชาไข่มุก ร้านชานี้เองที่ทำให้เขาได้เรียนรู้การทำธุรกิจแฟรนชายส์ 

ระหว่างที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นในช่วงวิกฤตโรคซาร์ส เขาเห็นว่าคนญี่ปุ่นสวมหน้ากากต่อคิวซื้อร้านอาหารจากภัตตาคารดัง ทำให้ฉุกคิดได้ว่า หากของคุณภาพดี ราคาเหมาะสมใครๆ ก็อยากจ่าย ดังนั้นเมื่อเห็นว่าเทรนด์ร้านกาแฟมาแรง เขาจึงอยากเริ่มบ้าง แต่คราวนี้เชิญกุ๊กเบเกอร์รี่มือดีมาช่วยออกแบบสูตรต่างๆ และภายในปี 2004 ร้าน 85C ก็เปิดตัว จากนั้นแค่ปีครึ่งร้านก็ถูกขยายไปถึงกว่า 100 สาขาทั่วไต้หวัน ปัจจุบันร้านกาแฟ 85C จากทุกสาขาทำรายได้ปีละ 6,400 ล้านบาท และขยายไปยัง ออสเตรเลีย ในปี 2006 และต่อไปยังอเมริกาในปี 2008

ก้าวต่อไปของ Gourmet Master

บริษัทแม่ Gourmet Master ตั้งใจไปเปิดสาขาที่ต่างประเทศ ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าก้าวต่อไปของ Gourmet Master คือการนำแบรนด์ 85C โกอินเตอร์ ในขณะเดียวกันก็แตกไลน์บริษัทด้านอาหารออกไปเป็นธุรกิจใหม่ ได้แก่ ร้านสุกี้ Top One Pot  (這一鍋) และร้านขนมปังระดับพรีเมี่ยม Better Simple (麵包同話) เพิ่มเติมด้วย

หากคุณได้ไปถึงไต้หวัน อย่าลืมแวะไปร้าน 85c จิบชานมไข่มุก พร้อมละเลียดเค้กช็อกโกแลตไส้สตอรเบอร์รี่ แล้วจะพบว่างบแค่ 100 เหรียญไต้หวัน…ก็นั่งชิลได้จริงๆ!