"TRANSMEDIA STORYTELLING" เล่าเรื่องข้ามสื่อในยุคดิจิทัล (ตอน 3)

ผู้เขียน : ธาม เชื้อสถาปนศิริ

กฎ 7 ข้อ ในการเล่าเรื่องข้ามสื่อ

เพื่อให้ผู้ใช้สามารถสร้าง 3 อย่างนั้นได้, ต่อไปนี้  “กฎ 7 ข้อ ในการเล่าเรื่องข้ามสื่อ” ที่จะช่วยทำให้เนื้อหาสื่อกลายเป็นพระราชา หรือ “Content is the king.”

(1) หาเรื่องดี :
เรื่องที่ดีก็เหมือนแม่น้ำสายใหญ่ มันคือเรื่องหลัก ที่เสมือนเป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่สุด หาต้นน้ำ ต้นกำเนิด แรงผลัก ขับดัน ที่เป็นจุดสำคัญของเรื่องให้พบ, นั่นคือส่วนสำคัญที่สุดที่จะทำให้เรื่องหลักนั้นแตกกอ ต่อยอดออกเป็นแม่น้ำสายย่อยๆ ได้

เทคนิค : หาเรื่องที่ดี ที่แปลก ที่ใหม่ แตกต่าง และมีพลัง ที่ยังไม่เคยมีใครเจอ การค้นหาเรื่องที่ดี คือ คุณต้องขยันอ่านมาก ดูมาก ฟังมาก เข้าถึงพฤติกรรมและหายใจรถต้นคอผู้ชมให้ได้ว่าพวกเขาสนใจอะไร

(2) แบ่งเรื่องเด่น :
เมื่อค้นพบเนื้อหาเรื่องหลักแล้ว ให้แบ่งซอยเรื่องหลักออกเป็นเรื่องย่อยๆ ให้แต่ละเรื่องมีเนื้อหา พลัง ปม ความขัดแย้ง สาระสำคัญที่หนักแน่น เข้มข้น เพียงพอที่มันจะขับเคลื่อนเนื้อหานั้นๆ ได้ด้วยตนเอง

เมื่อแบ่งเรื่องย่อยๆ แต่ละเรื่องแล้ว ก็ต้องคิดออกแบบด้วยว่า แต่ละเรื่องนั้นๆ จะสามารถกลับมารวมกันใหม่ได้เมื่อใดอีก และเรื่องนั้นๆ กับมารวมเรื่องกันที่จุดเชื่อมใด

เทคนิค : ทุกเรื่องเล่าย่อยๆ ไม่จำเป็นต้องดำเนินไปในทิศทางเดียวกับเรื่องหลัก มันอาจเป็นเรื่องใหม่ แต่มีโครงเรื่อง คล้ายกัน ตัวละครคล้ายกัน หรือ มีส่วนใดส่วนหนึ่งที่เชื่อมต่อไปยังเรื่องหลักเพียง 5-10% เท่านั้น

ที่สำคัญคือ จะต้องรู้ว่า เรื่องย่อยๆ แต่ละเรื่องนี้ มีฐานคนดู ผู้รับสารที่ต้องแตกต่างกันให้ได้ เรื่องย่อยบางเรื่อง อาจมีพลังและความน่าสนใจมากกว่าหากมันยืนอยู่เอกเทศด้วยตนเอง

(3) ดูลู่ทาง :
ลองดูว่า เรื่องย่อยๆ แต่ละเรื่องนั้น จะไหลเล่าสู่ผู้รับสารที่แตกต่างกันได้แตกต่างกัน ก็ต้องพิจารณา ช่องทางสื่อ – รูปแบบเนื้อหา – วิธีการนำเสนอเรื่องราว – ช่วงเวลา – บรรยากาศรอบข้าง – อุปสรรคและคู่แข่ง เหล่านี้เสมือนร่องน้ำที่จะโอบรับกระแสน้ำ คุณต้องพิจารณา “บริบท” (context) ของเรื่องเล่าอย่างรอบคอบ และเลือกคัดสรรเรื่องที่เหมาะสมกับร่องน้ำนั้นๆ ทั้งในเชิงแพลทฟอร์มของสื่อที่เหมาะสม กลุ่มผุ้รับสารแต่ละประเภท วัย (ซึ่งไม่ควรมองผู้รับสารเป็นเหมือนๆ กันไปหมด แบบ มวลชน – mass แต่ควรมองแบบกลุ่มย่อยๆ ที่มีลักษณะความสนใจ และพฤติกรรมที่เป้นเอกลักษณ์แตกต่างกัน)

เทคนิค : ทุกเรื่องเล่าย่อยๆ ไม่จำเป็นต้องดำเนินไปในทิศทางเดียวกับเรื่องหลัก มันอาจเป็นเรื่องใหม่ แต่มีโครงเรื่อง คล้ายกัน ตัวละครคล้ายกัน หรือ มีส่วนใดส่วนหนึ่งที่เชื่อมต่อไปยังเรื่องหลักเพียง 5-10% เท่านั้น
ที่สำคัญคือ จะต้องรู้ว่า เรื่องย่อยๆ แต่ละเรื่องนี้ มีฐานคนดู ผู้รับสารที่ต้องแตกต่างกันให้ได้!

(4) จัดสรรเรื่อง :
เมื่อมีเรื่องเอกและเรื่องย่อยแล้ว ให้จัดสรรเรื่องย่อยๆ เหล่านั้นลงร่องน้ำ หรือลงช่องทางสื่อรูปแบบต่างๆ โดยคำนึงถึงระยะเวลา จังหวะ และความเหมาะสมกับผู้รับสารแต่ละกลุ่ม ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องนำเสนอเรื่องเล่านั้นๆ พร้อมกันคราวเดียว
เรื่องเล่าข้ามสื่อที่ดี เสมือนกระแสน้ำที่ไหลอยู่ตลอดเวลา มีแม่น้ำไหลเอื่อย ไม่แน่นิ่ง แห้งขอด – ฉะนั้น ผู้ผลิตจะต้องเข้าใจว่า ระยะเวลาของเรื่องเล่านั้นๆ ที่จะสามารถหล่อเลี้ยงผู้รับสารได้จะต้องสอดคล้องเข้ากันดี และเหมาะสมตามห้วงเวลาหนึ่งๆ

เทคนิค : การทำให้เรื่องเล่าหนึ่ง มี “แรงดัน” อยู่ตลอดเวลานั้นเป็นสิ่งที่ทำให้เรื่องเล่ามีพลัง, ผู้ผลิตควรจัดสรรและทำการตลาดเนื้อหาสื่อ วางแผนให้เรื่องเล่าข้ามสื่อต่างๆ นั้น ได้เสริมแรงกันในห้วงเวลาเดียวกัน
คีย์เวิร์ดสำคัญๆ เรื่องการจัดสรรปันเรื่อง คือ
(1) เริ่มแต่ละเรื่องย่อยๆ ในช่วงระยะเวลาต่อเนื่องกัน – ใกล้เคียงกัน เหมือนแผนโปรโมตทั่วไปแต่มีช่วงระยะเวลามากกว่า กว้างกว่า,
(2) แต่ละเรื่องย่อย ให้มีแก๊ก มุข รส ชาติ โทน อารมณ์ บรรยากาศของมันเอง อย่าให้มันเชื่อมโยงกันได้ถนัด (ให้จินตนาการคนดู ไปผูกเรื่องเอาเอง)
(3) บูรณาการเรื่องทั้งหมด เข้าด้วยกันด้วยกิจกรรมการตลาดสักหนึ่งอย่าง เช่น ปาร์ตี้ มีทแอนด์กรี๊ด หรือ ทัวร์แฟนคลับตะลุยฉากจากละคร/กองถ่าย หรือ จัดคอนเสิร์ตปิดท้ายทิ้งทวนกับแฟนๆ หรือมีกิจกรรม ดูหนัง/ดูละครตอนจบกับแฟนๆ

(5) เปลี่ยนมุมเล่า :
การเล่าเรื่องข้ามสื่อ มิสามารถใช้มุมมอง หรือทัศนะส่วนตัวของผู้ประพันธ์ ผู้เล่าเสียได้ทั้งหมด หากมี ก็ควรคงไว้ซึ่งสักส่วน 80% เท่านั้น – เรื่องเล่าที่ดี ไม่จำเป็นต้องตีความชัดเจน รัดกุม ไม่สามารถเข้าใจเป็นอื่นไปได้อีก, ในทางกลับกัน เรื่องที่ดี คือ เรื่องที่มีทั้งความชัดเจน และความคลุมเครือ ซ่อนเร้น กำกวม เว้นช่องว่างทางความหมายแบบเปิดให้มีเงื่อนงำที่คนดู คนฟังสามารถเอาไปคิดต่อยอดจินตนาการเองได้

ฉะนั้น ผู้เล่าเรื่องจึงต้องคิดในมุมของผู้รับสาร ว่า เขาสามารถเติมแต่งจินตนาการและความรู้สึก ประสบการณ์ส่วนตัว เทียบเคียงเปรียบเทียบไปแบบไหนได้บ้าง

เทคนิค : การย้ายจุดศูนย์กลางของเรื่องเล่ามาไว้ที่ผู้รับสาร ก็ยังคงถูกเล่าด้วยผู้ประพันธ์นั่นเอง – แต่ผู้ประพันธ์จะอยู่ในมุมมองแบบ “ผู้สังเกตการณ์” (viewer) เท่านั้น คือ ต้องไม่ปรากฏตัวตน ตำแหน่ง มุมมองของผู้เล่าโดยเด็ดขาด

ไม่เป็นไร ถ้าเราจะกำหนดให้ตัวละครใดตัวละครหนึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องหลัก แต่เราจะต้องเล่าออกมาด้วยภาษา ท่าที ท่าทาง อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของตัวละครนั้นจริง

เราอาจเล่าเรื่องย่อยๆ ผ่านตัวละครย่อยๆ แต่ละตัวก็ได้เช่นกัน แต่สำคัญที่ว่า – ต้องไม่ปรากฏความคิดชี้นำแก่ผู้ชม

หลักสำคัญคือ อย่ามีมุมมองตัดสิน วิพากษ์ ชี้นำถูกหรือผิด – การเล่าเรื่องต้องเป็นแบบสงวนความแตกต่างหลากหลายมุมมอง

ในยุคการเล่าเรื่องข้ามสื่อ- คุณจำเป็นต้องให้ผู้รับสาร เสพเรื่องนั้นๆ เองโดยเขาจะไม่ถูกชี้นำความคิด แต่เขาจะอินมากๆ จนเอาชีวิต ประสบการณ์ อารมณ์ ความรู้สึกอินของตัวเองมาจับและถอดรหัสเรื่องเล่านั้นเอง

บ่อยครั้งไปที่การตีความของผู้รับสารเองนั้น สนุกว่า ขำกว่า เศร้ากว่า ท้าทายกว่า เพราะฉะนั้น ผู้เล่าเรื่อง หรือ ผู้ผลิตรายการหรือสื่อ ควรจะต้องจำเอาไว้ว่า “การตีความของผู้รับสารที่อาจไม่ตรงต้องกับผู้ส่งสารนั้น ไม่มีอะไรผิด!”

(6) เผยไต๋/อุ๋บไต๋ :
งานสื่อยุคก่อนถูกผลิตขึ้นมาจนเสร็จ จึงจะปล่อยให้ผู้รับสารได้ชมปลายน้ำ, จากนี้คุณต้องคิดใหม่ว่า ในกระบวนการผลิตรายการโทรทัศน์ หรือสื่ออื่นๆ มีอะไรที่น่าสนใจระหว่างกระบวนการหรือไม่?

เดี๋ยวนี้ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์พยายามที่จะสร้างฐานคนดูเสียก่อนที่จะผลิตรายการโทรทัศน์จนเสร็จสิ้น 100%

การสร้างฐานผู้ชมก่อนผลิต หรือระหว่างผลิต จะช่วยให้คุณคาดเดาทิศทางลมได้ ตั้งแต่การคัดเลือกตัวผู้ร่วมแสดง-ร่วมรายการ คุณสามารถทำรายการโทรทัศน์ขึ้นมาหนึ่งรายการได้ เช่น ถ่ายทอดสดการประกวด คัดเลือกผู้แสดง หรือการทดลองเสื้อผ้า หน้าผม การหาสถานที่ หรือการสร้างเนื้อหาก่อนการสร้างที่ทำให้แฟนๆ ติดตามได้ เช่นเว็บไซต์รายการ ที่คอยอัพข่าวสารการถ่ายทำรายการ – เหล่านี้เป็นเนื้อหาที่กล่อมเกลาและชวนชักจูงให้ผู้รม อดใจรอคอยแบบมีความหวัง และจะได้ “มโนโน่น มโนนี่ไปพลางๆ”

เทคนิค : ความชัดเจนทำให้เรื่องเข้าใจได้ แต่ความคลุมเครือทำให้เรื่องน่าสนใจกว่า ฉะนั้น ผู้ผลิตสื่อจึงต้องรู้จักการสร้างการเปิดเผยข้อมูลบางส่วนและปิดข้อมูลบางส่วนเอาไว้ เช่น รายชื่อนักแสดงในบทบาทสำคัญ ตัวละครลึกลับ เงื่อนงำที่ผูกเอาไว้ตั้งแต่ต้นเรื่อง กระทั่งบทสนทนาปริศนา ที่ดูมีเลศนัยและชวนสับสน – เหล่านี้ช่วยกระตุ้นต่อมความอยากรู้อยากเห็นของผู้ชม และ พวกเขาจะคิดว่าตนเองนั้นฉลาดพอที่จะเดาเนื้อหาที่ซ่อนอยู่ได้ ควรทำให้พวกเขารู้สึกว่า ฉลาด และตามทันผู้เขียนบทรายการ แต่ทว่า จริงๆ แล้ว ไม่ใช่ในสิ่งที่เขาคิด

บางครั้ง การปกปิดคลุมเครือ ก็ทำให้เรื่องธรรมดาดูน่าสนใจได้อย่างไม่น่าเชื่อ

(7) เรื่องระดับโลก เล่าระดับบ้าน :
เดี๋ยวนี้งานผลิตสื่อนั้น คิดกันเพื่อออกอากาศในระดับโลก ซีรี่ย์ดังๆ หนังดังๆ นั้น ทุ่มทุนสร้างด้วการหาซื้อเรื่องดีๆ บทประพันธ์จากนวนิยายที่พิสูจน์แล้วว่า “ขายได้ทั่วโลก” เช่น แฮร์รี่ พ๊อตเตอร์ แวมไพร์ทไวไลท์ กระทั่งฮังเกอร์เกมส์ หรือหนังดังๆ ที่สร้างมาจากเกมส์ เช่น ลอล่าครอฟท์ หรือ เรสสิเดนท์อีวิล (ผีชีวะ)

กระทั่งซีรี่ย์เกาหลีที่ขายดีเทน้ำเทท่าในบ้านเรา ตั้งแต่ แดจังกึม เป็นต้นมา สื่อเหล่านี้ต่างก็ถูกคิดและผลิตเป็นเรื่องเล่าที่คนทั้งโลกเข้าใจได้ ด้วยงานลงทุนการผลิต/สร้าง สื่อในปัจจุบันนั้น ต้องมองตลาดเรื่องเล่าในระดับทั้งโลก ที่ๆ ตลาดมันใหญ่กว่า มีผู้คนเสพสื่อได้มากกว่า

แต่ที่สุด เมื่อมันถูกนำเสนอในแต่ละประเทศ ก็จะถูกเอาไปทำให้ถูกรสชาติของคนในประเทศนั้นๆ เช่น มีดารานักพากย์ หรือ มีการแปลภาษาท้องถิ่น กระทั่งการเอาไป “รีเมค” เช่นภาพยนตร์ไทย เรื่อง เดอะชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ ที่ถูกฮอลลีวู้ดเอาไปผลิตใหม่ หรือภายนตร์หนังผีญี่ปุ่น “ริงกุ” หรือ “The Ring” ในเวอร์ชั่นฮอลีวู้ดนั้น ก็ถือว่าเป็นการดัดแปลงเรื่องเล่าให้ถูกรสถูกปากคนทั่วโลกมากกว่าเดิม

เทคนิค : เรื่องดีที่เล่าได้ระดับโลกมักเป็นเรื่องที่มีแก่นความขัดแย้งที่คนทั่วโลกเข้าใจได้ – ส่วนมากเป็นเรื่องเชิงนามธรรม เช่น ธรรมะชนะอธรรม ความยุติธรรม-อยุติธรรม ความแค้น – การให้อภัย, ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นพล็อตที่คนทั่วโลกซึมซับได้ง่ายๆ, เพราะทุกๆ ประเทศท้องถิ่นมีปัญหาเหล่านี้เช่นเดียวกัน การที่เรื่องมีพล็อตความขัดแย้งที่เป็นนามธรรมเกี่ยวเนื่องกับสังคม วิถีชีวิต ผู้คน (ที่ไม่แอบอิงกับประวัติศาสตร์ ตัวบุคคลมากนัก) ทำให้เรื่องนั้นๆ สามารถมีความหมายเชื่อมโยงกับชุดประสบการณ์ของผู้คนมากกว่า

พยายามนึกถึงเรื่องทั่วๆ ไปที่มีความขัดแย้งที่ยิ่งใหญ่ จะทำเรื่องมีพลังเล่าเรื่องในระดับโลก แต่สามารถร้อยเนื้อต่างทำนองได้ในแต่ละท้องถิ่น

การเล่าเรื่อง คือ หัวใจสำคัญของสื่อ เรื่องเล่าในสื่อถูกนำเสนอได้มากมาย ทั้งผ่านข่าว ละคร เกมโชว์ รายการทำอาหาร เพลง รายการโต้วาที การโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองและพาณิชย์ ข้ามผ่านไปยังสื่อสังคออนไลน์ มุขตลกในโลกอินเทอร์เน็ต แฮชแท็ก โพสต์ หรือคำสุดฮิต จนเป็นคอนเสิร์ต สวนสนุก การ์ตูนเล่ม เสื้อยืดหรือสวนสนุก ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ มันก็คือเรื่องเล่าข้ามสื่อนั่นเอง

วันนี้การหลอมรวมสื่อเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อทั้งหมด การเล่าเรื่องจึงจำเป็นต้องเล่าแบบข้ามสื่อ (cross media platform) ซึ่งนั่นหมายความว่าคุณในฐานะนักเล่าเรื่อง จำเป็นต้องเรียนรู้ “วิธีการขยายเรื่องเล่า” ให้มีการสื่อสารผ่านสื่อต่างๆ มากขึ้น (transmedia) ทั้งในสื่อเก่าและสื่อใหม่

โดยสรุป คนทำสื่อ นักเล่าเรื่องต้องคิดให้มากขึ้นกว่าเดิม, คนทำสื่อยุคดิจิทัลไม่สามารถเล่าเรื่องภายใต้ไวยากรณ์สื่อสาร “มวลชน” (mass) แบบเดิมได้, แต่เป็นผู้ใช้งานนั่นเองที่จะมากำหนดเรื่องเล่าของคุณ คุณอาจรู้สึกสูญเสียอำนาจในฐานะ “ผู้ประพันธ์” (author) ลงเหลือเพียงนักเล่าเรื่องที่แคร์ผู้รับสารมากขึ้น แต่โลกสื่อสารปัจจุบันกำหนดศูนย์กลางเรื่องเล่ามาจากผู้อ่าน มิใช่ผู้เขียน

หัวใจสำคัญที่สุดของการเล่าเรื่องข้ามสื่อในยุคดิจิทัล อยู่ที่ผู้ใช้ ผู้รับสาร ที่จะสร้างประสบการณ์กับเรื่องเล่านั้นผ่านสื่อแพลตฟอร์มต่างๆ ด้วยตัวเขาเอง

เป็นผู้ใช้เองแล้ว ที่ผลิตเนื้อหา และก็เป็นผู้รับสารเอง ที่ผลิตประสบการณ์ คนทำสื่อเราเพียงแต่ออกแบบเรื่องเล่าเหล่านั้นนำเสนอผ่านสื่อให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมและเป็นผู้สร้างผู้เสพผู้แบ่งปันประสบการณ์นั้นเองเถิด!

=================================================
ผู้เขียน : ธาม เชื้อสถาปนศิริ., นักวิชาการสื่อ สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) , timeseven@gmail.com
หมายเหตุ : ท่านผู้อ่านที่สนใจเรื่องการเล่าเรื่องข้ามสื่อ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ http://goo.gl/BBybkS