เมื่อยุคที่การ “รีวิวสินค้า” กลายเป็นหนึ่งในกลยุทธการตลาดออนไลน์ยอดนิยม ที่หลายสินค้านำมาใช้ เพื่อตอบรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ที่มักจะเชื่อคำแนะนำจากเพื่อนฝูง และการบอกต่อในโลกออนไลน์มากกว่า “โฆษณา”
แต่บริษัท มายด์แชร์ ประเทศไทย มีเดียเอเยนซี่ ก็ได้ตั้งคำถามแล้วว่า การรีวิวสินค้ายังได้ผลอยู่หรือไม่ มายด์แชร์มองว่า มีการรีวิวสินค้าเกิดขึ้นมากมายบนโลกออนไลน์ ทั้งสินค้า โทรศัพท์มือถือ เครื่องสำอาง อาหาร เป็นต้น โดยในมุมมองผู้บริโภครู้สึกปลื้มกับการรีวิสินค้า เพราะมีความรู้สึกว่าเป็นการใช้จริงๆ จากผู้มีประสบการณ์
การรีวิวสินค้า จึงจุดประกายให้กับนักการตลาดที่มองว่านี่คือ อีกกลยุทธ์ทางการตลาดบนโลกออนไลน์ จึงมีการส่งสินค้าให้กับบล็อกเกอร์ หรือผู้มีอิทธิพลบนโลกออนไลน์ ซึ่งวิธีการนี้ใช้งบไม่สูงมากเมื่อเทียบกับค่าโฆษณาในทีวี แต่เมื่อหลายๆ แบรนด์ต่างก็ใช้กลยุทธ์นี้กันเพิ่มมากขึ้น ย่อมส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกว่าการรีวิวนั้นไม่เป็นธรรมชาติ สุดท้ายแล้วต้องถามว่า เครื่องมือนี้ยังคงได้ผลอยู่หรือไม่?
ต้องสร้างแบรนด์เลิฟ ด้วยความจริงใจของแบรนด์
ปัจจุบันผู้บริโภคเชื่อมั่นกับประสบการณ์ของผู้ใช้งานจริง พวกเขาจะได้รับอิทธิพลอย่างมากจากความคิดเห็นของผู้ใช้เหล่านั้น เพื่อที่จะลองผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ พลังของ Word of mouth ในโลกออนไลน์เป็นเหมือนปฏิกิริยาลูกโซ่ที่สามารถสร้างอิมแพ็คแก่ผู้บริโภค แล้วสะท้อนกลับมาหาแบรนด์ได้
แบรนด์สินค้าเองก็ต้องจ้างบล็อกเกอร์หรือผู้มีอิทธิพลบนโลกออนไลน์เพื่อรีวิวสินค้าเหล่านั้น แต่ทั้งนี้ก็อาจจะส่งผลกระทบทางลบต่อแบรนด์ก็เป็นได้ ถ้าผู้บริโภคไม่รู้สึกเชื่อถือ และรู้สึกไม่จริงใจ นักการตลาดควรจะตระหนักถึงกลุ่มดังต่อไปนี้คนที่สามารถมีอิทธิพลต่อคนอื่น เพราะเขาจะสามารถทำให้ผู้บริโภครักแบรนด์ หรือเกลียดแบรนด์ได้ในทันที
ซึ่งในโลกออนไลน์ในปัจจุบันนี้สามารถตรวจสอบแบรนด์ได้ทันทีถ้าพวกเขารู้สึกว่าแบรนด์นั้น “ไม่เนียน” ในการจ้างรีวิวสินค้า ถ้ามีการรีวิวสินค้าชนิดที่ว่า “อวย” จนเกินเหตุ บนโลกออนไลนืก็จะมี “นักสืบพันทิป” คอยหาข้อมูลต่างๆ เพื่อหยุดพฤติกรรมการโฆษณาสินค้าเหล่านั้น
แต่ก็จะมีคนอีกหนึ่งประเภทคือ “เกรียนคีย์บอร์ด” คอยดิสเครดิตแบรนด์อยู่เสมอ นักการตลาดจึงต้องคอยมอนิเตอร์เหตุการณ์อยู่ตลอดเวลา รวมถึงวางแผนสำหรับกลยุทธ์นี้ให้ดี เพื่อไม่ให้เป็นการดูโฆษณาจนเกินไป ต้องให้ผู้บริโภครู้สึกแบรนด์นี้จริงใจกับเขา
อนาคตของสื่อรีวิวสินค้า
จริงๆ แล้วการรีวิวสินค้า หรือ สปอนเซอร์รีวิไม่ใช่เรื่องใหม่ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ มีการใช้อย่างแพร่หลา ยและเป็นที่นิยมด้วยซ้ำไป เพราะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ผู้บริโภครู้สึกว่าได้เสพประสบการณ์จากผู้ใช้สินค้าจริงๆ
ที่สำคัญนักการตลาดต้องเข้าใจธรรมชาติการเขียนของเหล่าบล็อกเกอร์ ปล่อยให้เข้าเขียนรีวิวในสไตล์ของเขา ให้ใส่ความคิดเห็นของเขาลงไปบ้าง ต้องไม่เขียนสคริปต์ให้เขาทั้งหมด เพื่อให้การรีวินั้นออกมาน่าเชื่อถือ
สำหรับอนาคตของสื่อประเภทนี้ ทั้งบล็อกเกอร์และนักการตลาดเองช่วยช่วยกันแสดงความจริงใจให้ได้มากที่สุด ต้องไม่หลอกลวงผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้สื่อประเภทนี้เติบโตไปได้อีกไกล เพราะยังไงแล้วผู้บริโภคก็ย่อมมองหาความคิดเห็นต่อสินค้าในหลากหลายมุมมอง นักการตลาดก็ต้องสรรหาวิธีการให้แยบยลมากที่สุด
ไม่ต้องรีวิวเสมอไป แค่รับฟังก็พอ
ในยุคที่ผู้บริโภคฉลาดมากขึ้น การรีวิวสินค้าในช่วงเวลาถี่ๆ คงจะไม่เหมาะเท่าไหร่นัก นักการตลาดต้องรู้จักปรับตัว ลองเปลี่ยนวิธีการเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคพูดถึงแบรนด์ทั้งด้านบวกและด้านลบ ว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง จากนั้นแบรนด์ก็ทำการฟีดแบ็คกลับไปว่าไปทำการแก้ปัญหาเหล่านั้นแล้วอย่างไรบ้าง
กรณีศึกษาหนึ่ง จากแคมเปญ “First Direct: Live and Unedited” ของธนาคาร HSBC เมื่อหลายปีก่อน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความไว้วางใจ สู่กลุ่มผู้บริโภคในช่วงเวลาที่สถาบันการเงินของอังกฤษสูญเสียความเชื่อมั่น
เขาได้รวบรวมผู้คนให้มาพูดคุยเกี่ยวกับ HSBC บนโลกออนไลน์ ให้บอกทั้งด้านบวกและด้านลบ แล้วทำการออกอากาศเสียงของผู้คนแบบเรียลไทม์ผ่านช่องทางเว็บไซต์ ไปจนถึงบิลบอร์ด ดิจิตอล ซึ่งแคมเปญนี้สามารถเข้าถึงคนได้ถึง 1.5 ล้านคน มีบัญชีเพิ่มขึ้น 240%
มีอีกหนึ่งกรณีศึกษา เป็นการเพิ่มประสบการณ์การช้อปปิ้งให้แก่ผู้บริโภคผ่านแคมเปญ “Best Buy” ผู้บริโภคสามารถหาข้อมูลสินค้าที่สนใจผ่าน QR-CODE โดยที่จะแสดงข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าที่พวกเขากำลังพิจารณา รวมไปถึงสามารถอ่านความคิดเห็นของผู้บริโภคที่เคยใช้สินค้านั้นๆ และมีการเปรียบเทียบคุณสมบัติกับผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกัน ทำให้เขาสามารถตัดใจซื้อสินค้าได้ที่ ณ จุดขายได้เลย และสามารถปิดการขายได้เร็วขึ้นอีกด้วย
อย่างไรก็ตามการรีวิวสินค้าย่อมมีการแสดงความคิดเห็นทั้งแง่บวกและแง่ลบ โดยที่นักการตลาดต้องเปิดใจรับฟังผู้บริโภคให้มากที่สุด แล้วนำความคิดเห็นนั้นมาปรับใช้ เพื่อสร้างแบรนด์ให้น่าชื่อถือ และเป็นแบรนด์เลิฟในใจผู้บริโภค