เจาะ 10 เทรนด์ อีคอมเมิร์ซไทย ปี 2015 ถึงยุคทองของโมบายล์

2014 เป็นปีที่ “อีคอมเมิร์ซ”ของไทยเติบโตแบบก้าวกระโดด ปัจจัยที่สำคัญมาจากการที่ธุรกิจต่างๆ มองว่าเวลานี้ อีคอมเมิร์ซ เป็นช่องทางขายหลักในการเข้าถึงผู้บริโภค การมาของผู้ให้บริการจากต่างประเทศ ระบบชำระเงินออนไลน์ที่พัฒนาไปอย่างมาก (Online Payment) หรือระบบจัดการสินค้าและขนส่งถึงปลายทางพร้อมเก็บเงิน (Warehouse & Fulfillment)

ที่สำคัญที่สุดคือ ตัวเลขของคนไทยที่ใช้อินเทอร์เน็ตเติบโตขึ้นสูงถึง 31 ล้านคน โดย 3G และมือถือสมารท์โฟนราคาถูกเป็นปัจจัยที่ทำให้คนไทยเกือบทุกระดับเริ่มเข้าสู่อินเทอร์เน็ต ทั้งหมดนี้คือปัจจัยที่ทำให้ E-Commerce ของเมืองไทย หรือจะเรียกได้ว่าทั่วทั้งประเทศเอเซียตะวันออกเชียงใต้เติบโตกันทุกๆ ประเทศ

ป้อม-ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com และ นายกสมาคมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ผู้คร่ำหวอดในวงการ E-Commerce มากว่า 15 ปี ได้เจาะถึงเทรนด์หรือแนวโน้มของ E-Commerce ประเทศไทยในปี 2015 ว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง

1.) บริษัทและร้านค้าต่างๆ จะเริ่มเข้ามาเปิดทำการค้าทางออนไลน์กันมากขึ้น (Retail and Corporate move to e-commerce)

จากการเติบโตของการค้าผ่านทาง E-Commerce โดยเฉพาะการเติบของแบรนด์ต่างๆ ที่ขายกันอย่างถล่มทลายที่ประเทศจีนผ่านเว็บ T-Mall และ TaoBao  ป็นตัวอย่างให้เห็นว่าแบรนด์สามารถเข้าสู่โลกออนไลน์ขายตรงไปยังผู้บริโภคได้อย่างอิสระ ทำให้กระแสนี้ปลุกให้แบรนด์ต่างๆ หันมาขายผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น เราจะเห็นสินค้าใหม่ๆ สินค้าที่ขายช่องทางปกติ หันมาขายทางออนไลน์กันมากขึ้น

คำแนะนำ : หากเป็นแบรนด์หรือเจ้าของสินค้า นี่คือโอกาสที่จะเปิดโอกาสการขายขายสินค้าได้แล้ว จะผ่านผู้ให้บริการหรือจะเปิดเว็บขายเองก็ได้

2.) การเข้ามาของผู้ค้าออนไลน์จากต่างประเทศในระดับภูมิภาค (Regional Competition)

ปัจจุบันการค้าออนไลน์ในประเทศต่างๆในอาเซียนหรือประเทศอื่นๆ กำลังเริ่มขยายฐานการขายผ่านออนไลน์ออกไปยังประเทศต่างๆ เช่น Qoo10 ได้ขยายไปยังสิงค์โปร์ มาเลเซีย อินโดนิเซีย (คาดว่าจะเข้าไทยเร็วๆ นี้)​ หรือ Alibaba ก็เริ่มบุกมายังประเทศต่างๆ ในอาเซียน ซึ่งจะเข้าไทยในเร็วๆ นี้เช่นกัน โดยจะทำให้ผู้ซื้อสินค้าในประเทศสามารถซื้อสินค้าของประเทศอื่นๆ ผ่านเว็บไซต์ได้ทันที นั่นหมายถึงการแข่งขันจะรุนแรงมากขึ้น เพราะผู้ประกอบการจากต่างประเทศจะเหาะเข้ามาทำการค้ากับลูกค้าในประเทศของเรา ซึ่งแนวโน้มจะเห็นบริษัทจากต่างประเทศจะเริ่มบุกผ่านเข้ามาทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

คำแนะนำ : คุณควรรีบตั้งรับ และปรับธุรกิจออนไลน์ให้แข็งแรงมากขึ้น เพราะหากคุณช้าเกินไป หรือไม่ได้ปรับตัว อาจจะสูญเสียลูกค้าไปให้กับคู่แข่งต่างประเทศได้ง่ายๆ โดยลูกค้าสามารถหันไปซื้อของคู่แข่งของคุณทางออนไลน์​ซึ่งราคาอาจจะถูกกว่า สินค้าอาจจะมีหลากหลายมากกว่า ดังนั้นจงอย่าช้าครับ

3.) การแข่งขันที่รุนแรงของผู้ให้บริการ E-Commerce หรือเข้าสู่ภาวะฟองสบู่ (E-Commerce Bubble)

ตอนนี้นักลงทุนหลายๆ คนต่างสนใจที่จะลงทุนในธุรกิจ E-Commerce กันอย่างมาก ทำให้เม็ดเงินจำนวนมหาศาลจากเมืองนอกไหลเข้าสู่ธุรกิจ E-Commerce จะเห็นได้ชัดจากการมาของเว็บ E-Commerce จากต่างประเทศที่ต่างกันโฆษณาโปรโมทกันอย่างหนักทางสื่อต่างๆ ซึ่งเป็นการสาดการเงินกันอย่างหนัก ซึ่งบอกได้เลยว่านี่ไม่ใช่เกมส์ระยะสั้น และแต่ละเจ้าไม่ได้มองที่ “กำไร” แต่มองถึงเป้าของการเติบโต (Growth) และการขยายธุรกิจ (Scale) ให้เร็วที่สุด โดยแต่ละเจ้ามีเงินเต็มหน้าตัก พร้อมที่จะเผาเพื่อที่จะทำให้ตัวเองไปอยู่แถวหน้าของธุรกิจให้เร็วที่สุด

คำแนะนำ : หากอยากเปิด E-Marketplace หรือเว็บประกาศซื้อ-ขาย มองว่านี้ไม่ใช่จังหวะที่ดีนัก เพราะการแข่งขันส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในกลุ่มธุรกิจ E-Commerce ประเภทนี้เป็นหลัก หลีกเลี่ยงไปทำ E-Commerce ประเภทอื่นดีกว่าอย่างเช่น ตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ที่ยังไม่มีการแข่งขันสูงมากนัก

4.) การตลาด และโปรโมชั่นแบบเจาะจงแต่ละบุคคล (Personalize Promotion & Marketing)

ด้วยการเปิดกว้างของเทคโนโลยี ทำให้เราสามารถทราบถึงพฤติกรรมของลูกค้าเราได้ดีขึ้น เราทราบว่าลูกค้าซื้ออะไรไป เมื่อไร เขาเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย อยู่ต่างจังหวัดหรือกรุงเทพฯ รวมถึงข้อมูลของผู้ซื้อมากมาย ทำให้นักการตลาดสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์เพื่อทำโปรโมชั่นแบบระบุกลุ่มเป้าหมาย หรือระบุตัวคนได้ (Targeted & Personalize Promotion) รวมถึงเทคโนโลยีการโฆษณาแบบติดตามผู้ชมที่เข้ามาเว็บไซต์เราแล้ว (ReTargeting) ที่จะมีชั้นเชิงมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้การสื่อสารในโลกออนไลน์เข้าถึงลูกค้าเป้าหมายได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ได้ผลมากขึ้น

คำแนะนำ : การตลาดแบบออนไลน์แบบเดิมๆ ดูจะได้ผลน้อยลง และมีแนวโน้มที่ราคาจะเริ่มสูงขึ้นจากผลของการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นของธุรกิจ E-Commerce ที่เข้าไปใช้กัน ดังนั้นการทำการตลาดกับลูกค้าเดิมของเรา และเจาะจงไปยังลูกค้าแต่ละคนจะทำให้ประสิทธิภาพ (Efficiency) ของการตลาดดีกว่า และได้ผลลัพย์ที่ดีกว่า จงเริ่มศึกษาข้อมูลของพฤติกรรมผู้ซื้อของคุณอย่างลงลึกและเริ่มทำการตลาดกลับไปหาเค้าให้มีประสิทธิภาพ

5.) โปรโมชั่นออนไลน์ ลดกระหน่ำ แจกกระจาย ปะทะกันกระจุย (Online Promotion War)

จากการแข่งขันที่ดุเดือนของบรรดาผู้ให้บริการ E-Commerce ทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่า วิธีการดึงลูกค้าได้ดีที่สุดคือ “การจัดโปรโมชั่น ทั้งลดราคาและแจกเงินไปซื้อ (Promotion & Cash Campaign)” ซึ่งเริ่มมีให้เห็นกันมากขึ้นในปลายปี 2014 แต่บอกได้เลยว่าปี 2015 จะมีการทำโปรโมชั่น ส่วนลด แลก แจก แถมกันจากเว็บไซต์ต่างๆ แบบเต็มไปหมด คูปองลดราคา คูปองเงินสด จะแจกกันกระจุยกระจาย เพื่อดึงลูกค้าและสร้างยอดขายให้กับธุรกิจของตนอย่างเร็วที่สุด ผู้ที่ชนะคือ ผู้บริโภค และความจงรักภักดีของผู้บริโภคจะต่ำมาก เพราะใครเสนอให้ราคาถูกกว่าและต่ำกว่า ก็พร้อมจะเปลี่ยนใจไปซื้อได้ทันที

คำแนะนำ : จงอย่าไปอยู่ในเกมส์การแข่งขันที่ดุเดือด ต้องสร้างความแตกต่างและเหนือกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ ในเทคโนโลยีและการสื่อสารกับลูกค้าเก่าที่เคยซื้ออยู่แล้วให้เกิดความต่อเนื่อง และสร้างฐานลูกค้าใหม่ให้มากที่สุด ทำให้เกิด “การซื้อครั้งแรกที่น่าประทับใจ (1st purchase)” ให้ดีที่สุด และลูกค้าก็จะอยู่กับเรา

6.) การแข่งขันแบบดุเดือดของบริษัทบริหารสินค้าและจัดส่ง (Red Ocean of Fulfillment)

ในปี 2014 มีผู้ให้บริการบริหารสินค้าและจัดส่ง (Warehouse & Fulfillment) เกิดขึ้นอย่างมากมายหลายบริษัท ทั้งบริษัทเล็กและบริษัทใหญ่ ซึ่งจะเน้นให้บริการกับบริษัทที่ให้บริการด้าน E-Commerce โดยบางเจ้าก็มีความสามารถในการจัดส่งได้ทั่วประเทศ บางเจ้าก็สามารถให้บริการเก็บเงินปลายทางได้ (COD) หรือบางเจ้าก็มีแวร์เฮาส์ในการเก็บของได้ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งจำเป็นของผู้ที่ทำการค้าออนไลน์ในระดับกลางที่มียอดขายระดับนึงแล้ว ซึ่งตอนนี้เองได้เกิดการแข่งขันทางด้านราคากันอย่างมากแล้ว เราจะเริ่มเห็นบริษัทขนส่งอื่นๆ หันมาทำบริการลักษณะนี้มากขึ้น มาแย่งส่วนแบ่งของไปรษณีย์ไทยมากขึ้นเช่นเดียวกัน

คำแนะนำ : หากต้องการบริษัทที่ให้บริการบริหารสินค้าและจัดส่ง ลองเลือกดูให้ดีๆ ตอนนี้มีเปิดให้บริการมากมายหลายเข้า ลองเปรียบเทียบและเลือกเจ้าที่เหมาะกับธุรกิจของคุณมากที่สุดในการให้บริการกับลูกค้า เพื่อการจัดส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

7.) การส่งของพร้อมเก็บเงินปลายทางจะกลายเป็นช่องทางที่คนไทยนิยมใช้

พฤติกรรมการซื้อของๆ คนไทยและคนเอเซียจะคล้ายๆ กันคือ ต้องการเห็นของก่อนแล้วค่อยจ่ายๆ เงิน  เวลานี้ระบบชำระเงินได้เริ่มพัฒนาไปมากขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถส่งและเก็บเงินปลายทาง (Cash on Delivery – COD) เมื่อผู้รับได้รับของแล้วจึงค่อยเก็บเงินได้ คนไทยก็เริ่มจะนิยมกับการส่งและชำระเงินในรูปแบบนี้กันมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตอนนี้เริ่มมีผู้ให้บริการหลายๆ เจ้าสามารถให้บริการลักษณะนี้ได้แล้ว

คำแนะนำ : หากเว็บไซต์ของคุณยังไม่มีบริการการส่งและเก็บเงินปลายทาง ลองหามาติดตั้งและเปิดให้บริการดู คุณจะพบว่ายอดขายของคุณจะเพิ่มมากขึ้น ลูกค้าจะตัดสินใจซื้อได้ง่ายมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ต้องระวังการยกเลิกการสั่งซื้อ หรือซื้อไปแล้วไม่เอาก็อาจจะมีตัวเลขเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน

8.) การค้าออนไลน์แบบตลาดเฉพาะกลุ่มยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก (Niche Market)

เมื่อการแข่งขันแบบตลาดรวม (Marketplace) หรือเว็บไซต์ที่มีรวมสินค้าทุกอย่าง (B2C Online Store) มีการแข่งขันสูงมาก แต่สำหรับตลาดสินค้าเฉพาะกลุ่ม ยังมีโอกาสอีกมาก เช่น เสื้อผ้าคนอ้วน, เสื้อผ้ารองเท้ากีฬา, อุปกรณ์ทำสวน  เป็นต้น ซึ่งสินค้าเฉพาะกลุ่มเหล่านี้มีกำลังซื้อสูงมาก โดยเฉพาะหากสามารถเปิดออกขายไปยังต่างประเทศด้วย จะทำให้โอกาสการขายเปิดเพิ่มมากขึ้นไปอย่างมาก ซึ่งปัจจุบันการทำการตลาดออนไลน์​ก็สามารถเข้าถึงกลุ่มคนเฉพาะกลุ่มได้ทั่วโลกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการลงโฆษณาผ่าน Google หรือ Facebook ที่กำหนดราคาได้และเลือกกลุ่มลูกค้าได้แม่นยำมากๆ

คำแนะนำ : ลองหาสินค้าเฉพาะกลุ่มดูว่า กลุ่มสินค้ากลุ่มไหนที่คุณสนใจ และลองไปค้นดูในเว็บไซต์ ยังไม่ค่อยมีคนขายหรือเค้าทำแล้วดูท่าจะห่วยกว่าเรา นั้นคือโอกาสที่คุณจะสามารถเข้ามาทำตลาดตรงนี้ได้

9.) การนำข้อมูลที่มีมาวิเคราะห์ในเชิงลึก (E-Commerce Data Scientific and Analytic)

ปัจจุบันการทำการค้าออนไลน์ จะพบว่ามีข้อมูลมากมายที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลพฤติกรรมของคนที่เข้ามายังเว็บไซต์ (Traffic Data) ข้อมูลการสั่งซื้อสินค้า (Order Data) ข้อมูลประเภทและกลุ่มสินค้าที่ขายได้ (หรือไม่ได้) รวมไปถึงข้อมูลของสมาชิก (Member Data) ซึ่งข้อมูลเหล่านี้หากสามาถนำมารวมกันและวิเคราะห์ออกมา มันจะทำให้เห็นข้อมูลที่มีประโยชน์มากๆ ต่อการตัดสินใจ การวางแผน และการวางกลยุทธ์การตลาดออนไลน์ เพื่อที่จะปรับและพัฒนาให้ธุรกิจออนไลน์ของคุณดีขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลเหล่านี้ ถ้าสามารถนำมาวิเคราะห์ได้ดีพอ ซึ่งเดี๋ยวนี้มีเครื่องมือมากมากที่จะมาช่วยวิเคราะห์ได้

คำแนะนำ : ลองตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดที่มีในธุรกิจออนไลน์ ว่ามีข้อมูลอะไรบ้าง และเคยนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์หรือไม่? หากลองนำมาวิเคราะห์ดีๆ จะเห็นจุดอ่อนและจุดแข็งของธุรกิจออนไลน์ได้ไม่อยาก และยังสามารถนำมาตั้งเป็นเป้าและ KPI ให้กับทีมงานในการเดินไปยังเป้าหมายได้ไม่ยาก

10.) ยุคทองของการค้าผ่านมือถือมาแล้ว (Glory of Mobile Commerce)

เราได้ก้าวเข้าสู่ยุคที่คนไทยในทุกชนชั้นใช้มือถือเป็นช่องทางหลักในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ตแล้ว มากกว่า 77% ของคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ หลายคนเริ่มต้นใช้อินเทอร์เน็ตครั้งแรกผ่านมือถือ ซึ่งตัวเลขยังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหากธุรกิจออนไลน์ของคุณยังไม่มีเว็บไซต์ที่มีหน้าที่รองรับขนาดของมือถือ และยังไม่มีการตลาดที่เน้นให้คนเข้ามาทางมือถือโดยเฉพาะ คุณอาจจะสูญเสียลูกค้าให้กับคู่แข่งได้ง่ายๆ

คำแนะนำ : จงสร้างเว็บไซต์ที่รองรับขนาดของมือถือหรือหากสามารถทำรองรับขนาดของแท็บเล็ตจะช่วยทำให้ประสบการณ์ของผู้ใช้ดีมากขึ้น และอัตราที่ผู้ซื้อจะซื้อได้สำเร็จก็จะมีสูงขึ้นได้ด้วยเช่นกัน  แนะนำอยากให้ทำเว็บบนมือถือก่อนที่จะไปทำแอพมากกว่า

หากคุณเองยังไม่เริ่มนำธุรกิจเข้ามาในโลกออนไลน์ บอกได้เลยว่านี้คือ “ปีที่คุณต้องขยับได้แล้ว”​ ก่อนที่คู่แข่งสินค้าประเภทเดียวกันจะเหาะมาเจาะลูกค้าของคุณในประเทศ และสำหรับคนที่ทำอยู่แล้ว นี่คือช่วงเวลาที่ต้องปรับตัวเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขยายตลาดของตัวเองออกไปนอกประเทศมากขึ้น

“เพราะในโลกอินเทอร์เน็ต คนทั่วโลกกับธุรกิจของคุณห่างกันเพียงแค่คลิกเดียวเท่านั้น”

ฉะนั้นจงอย่าจมอยู่แค่เฉพาะค้าขายกับคนในประเทศเท่านั้น!