ถึงแม้มูลค่าตลาดน้ำแร่ ยังมีขนาดตลาด 10% ของตลาดน้ำดื่ม ซึ่งมีอยู่ 25,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าตลาด 2,500 ล้านบาท เติบโตด้วยตัวเลข 2 หลักต่อเนื่องมาตลอด
แรงผลักดันให้ตลาดน้ำแร่เติบโต มาจากเทรนด์การดูแลสุขภาพที่ผู้บริโภคให้ความสนใจมากขึ้น ทำให้ในช่วง 3-5 ปีมานี้ ตลาดน้ำแร่มีอัตราการเติบโตในอัตรา 2 หลักมาโดยตลอด รวมทั้งมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาเขย่าตลาดเพิ่มขึ้น จนเวลานี้ผู้เล่นหลักๆ ในตลาดมี 5 แบรนด์
สำหรับผู้เล่น ที่ครองส่วนแบ่งตลาดหลักๆ ในเวลานี้ คือ “มิเนเร่” และ “ออรา” ครองส่วนแบ่งตลาด 33% และ 30% ตามลำดับ
ที่ผ่านมา กลยุทธ์ในการทำตลาดของน้ำแร่ส่วนใหญ่จึงเป็นการพูดเรื่อง “ฟังก์ชันนอล” ว่ามีความแตกต่างจากน้ำดื่มธรรมดา โดยใช้เรื่องประโยชน์จากแร่ธาตุที่มีในน้ำแร่ รวมทั้งแหล่งที่มาของน้ำแร่ ที่แต่ละเจ้าต่างเคลมคุณสมบัติที่ต่างกัน จะมีในระยะหลังที่ “เพอร์ร่า” จากค่ายสิงห์ ในฐานะผู้มาใหม่ในตลาดจึงต้องการฉีกจากคู่แข่งหันมาเน้นอีโมชันนอล สื่อสารถึงการดื่มน้ำแร่เพื่อชดเชยน้ำที่สูญเสียจากอารมณ์ต่างๆ ของผู้หญิงทั้ง ดีใจ และเสียใจ ล่าสุดใช้ พลอย เฌอมาลย์ มาเป็นพรีเซนเตอร์
“ออรา” น้ำแร่จากค่ายทิปโก้ หนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่ ที่อยู่ในตลาดมายาวนาน 20 ปีแล้ว ครองส่วนแบ่งตลาดได้เป็นอันดับ 2 ในสัดส่วน 30% ซึ่งผ่านมาออราได้ใช้กลยุทธ์ Story Telling ที่เล่าเรื่องราวถึงความเป็นมาของแหล่งน้ำแร่จากน้ำพุเย็นมาโดยตลอด ในขณะที่คู่แข่งอย่างมิเนเร่ ใช้กลยุทธ์ด้านราคาที่ถูกกว่า จนเกือบจะเทียบเท่าน้ำดื่มธรรมดา ทำให้มิเนเร่ครองเบอร์หนึ่งไปตามระเบียบ
เป้าหมายต่อไปของออร่า คือ ขึ้นแท่นเบอร์ 1 ให้ได้ภายใน 3-5 ปี พร้อมกับต้องมีส่วนแบ่งการตลาดราว 35-40% ฉะนั้นการที่ออราจะออกมาเล่าสตอรี่อย่างเดียวคงไม่เพียงพออีกต่อไป
ในปีนี้ออราจึงงัดอาวุธครบมือทั้ง 4 ด้าน คือ ขยายการผลิต ออกแพคเกจจิ้งใหม่ และขยายช่องทางการจัดจำหน่าย แต่ยังไม่ทิ้งคาแรคเตอร์เดิมคือการสร้างการรับรู้เรื่องแหล่งกำเนิดน้ำแร่
1. ออราได้ลงทุนเครื่องจักรใหม่ด้วยมูลค่าการลงทุน 200 ล้านบาท สามารถขยายการผลิตเพิ่ม 2.4 เท่า หรือ 140% ทำให้มีกำลังการผลิต 24,000 ขวด/ชั่วโมง หรือ 130 ล้านขวด/ปี จากเดิมที่ผลิตได้ 10,000 ขวด/ชั่วโมง
2. เพิ่มแพคเกจจิ้งไซส์เล็กในขนาด 330 มิลลิลิตร ในราคา 8 บาท เจาะตลาดกลุ่มผู้หญิงที่ส่วนใหญ่ดื่มน้ำขวดขนาด 500 มิลลิลิตรไม่หมด และยังพกพาได้สะดวก อีกทั้งยังได้ในเรื่องของราคาที่ต่ำลงมา จากเดิมที่ขนาด 500 มิลลิตร ราคา 10 บาท โดยที่ไม่ต้องเล่นกลยุทธ์เรื่องราคากับไซส์ปกติเพื่อกระทบภาพลักษณ์ของแบรนด์
3. ขยายช่องทางจัดจำหน่ายไปยังกลุ่ม Food Service โรงแรม โรงพยาบาล ร้านอาหาร เพื่อเจาะกลุ่มงานสัมมนาเพิ่มขึ้น จากแต่เดิมที่มีพาร์ทเนอร์กับร้านแบล็กแคนยอน ที่มีกว่า 350 สาขา และร้านค้าในเครือ CRG (มิสเตอร์โดนัท และอานตี้ แอนส์) 360 แห่ง เท่านั้น
4. การสร้างการรับรู้เรื่องแหล่งกำเนิดของน้ำแร่ที่ไม่เหมือนใครอย่างที่ออราทำมาโดยตลอด แต่มีการใช้หมัดเด็ดด้วยการชูเรื่องแร่ธาตุ “ซิลิก้า” ที่ช่วยเรื่องการสร้างคอลลาเจนใต้ชั้นผิว ทำให้ชะลอความเสื่อมวัย มาช่วยเสริมในแง่ของคุณประโยชน์เรื่องความสวยความงาม เจาะตลาดสาวๆ รักสุขภาพ
พีรพงษ์ อาชวพงษ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัท ทิปโก้ เอฟแอนด์บี จำกัด กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาตลาดน้ำแร่เติบโตขึ้นมากเฉลี่ย 2 หลักมาโดยตลอด และเติบโตมากกว่าน้ำดื่มธรรมดาไม่ต่ำกว่า 5% ทั้งนี้เป็นเพราะเรื่องเทรนด์การดูแลสุขภาพที่เป็นกระแสมาทั่วโลก ในประเทศไทยเองก็เช่นกัน โอกาสและช่องว่างในการทำตลาดยังคงมีอีกเยอะทั้งเรื่องช่องทางการจัดจำหน่ายที่จะเข้าไปให้ครอบคลุม และเรื่องของกลุ่มเป้าหมายที่เป็นความท้าทายในการทำให้คนที่ดื่มน้ำดื่มธรรมดาหันมาดื่มน้ำแร่”
ออราได้ใช้งบการตลาดทั้งปีทั้งหมด 200 ล้านบาท ครอบคลุมทั้งการทำโฆษณาทางโทรทัศน์ ช่องทางออนไลน์ และสื่อทรานซิส และเน้นการเป็นสปอนเซอร์ในกิจกรรมเพื่อสุขภาพอย่างการวิ่งมาราธอน