ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ จัดทัพใหม่ลุยตลาดเต็มสูบ ดันผู้บริหารหนุ่มไฟแรง ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด ขึ้นแท่น“ซีอีโอ” หลัง ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประกาศวางมือหันมารับบทประธานที่ปรึกษา โดยมี ดร.สรณ์ จงศรีจันทร์ กูรูนักสร้างแบรนด์แถวหน้าของไทย พร้อมด้วยผู้บริหารฝีมือดีจาก ออพติมัม มีเดีย ไดเรคชั่น (ประเทศไทย) ร่วมเป็นที่ปรึกษา ขยายเครือข่ายพันธมิตรมีสำนักงานใหญ่ 13 แห่งใน 11 ประเทศ ผนึกเป็นเครือข่ายบริษัทที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์และการสื่อสารใหญ่ที่สุดในเอเชีย ให้บริการครอบคลุม ทั้งด้านประชาสัมพันธ์ สื่อสารการตลาด การสร้างและบริหารแบรนด์ รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับสื่อมวลชน ผ่านกลยุทธ์เชิงรุก ชูจุดแข็งเชี่ยวชาญด้านบริหารสื่อครบวงจร ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ผ่านกิจกรรม Below the Line และ Above the Line
ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ ที่เข้ามานำทัพ ดีซี คอนซัลแทนส์ ต่อจากดนัย จันทร์เจ้าฉาย เปิดเผยว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและลบต่อประเทศไทยแน่นอน ไม่เว้นธุรกิจประชาสัมพันธ์ที่จะมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ทั้งนี้ ธุรกิจประชาสัมพันธ์ทั่วโลกกำลังกลายเป็นผู้นำในการใช้กลยุทธ์การสื่อสารโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ในการสื่อสาร เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า สื่อมวลชนและผู้ถือหุ้น ทุกวันนี้ใครมีสมาร์ทโฟนก็สามารถเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้อย่างสะดวก เราจึงต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การสื่อสารให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นการบริหารสื่อแบบครบวงจร ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ ที่ตอนนี้มีช่องทีวีดิจิทัลเพิ่มขึ้นมาเป็นทางเลือกในการเผยแพร่ข่าวสารมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีสื่อวิทยุ สื่อออนไลน์ที่รวมถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ไลน์ และเสิร์ชเอ็นจิ้นยักษ์ใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกอย่างกูเกิ้ล ตลอดจนแอปพลิเคชันต่างๆ บนสมาร์ทโฟน
“ด้วยจุดแข็งที่เรามีเครือข่ายพันธมิตรที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ผนวกกับกลยุทธ์สำคัญที่จะทำให้การประชาสัมพันธ์ประสบความสำเร็จเสมอ คือการมีความสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมและการรักษาความสัมพันธ์ให้ยั่งยืน ระหว่างนักประชาสัมพันธ์กับสื่อมวลชนแขนงต่างๆ จะทำให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าพวกเขาจะได้รับบริการที่เหนือความคาดหมายอย่างแน่นอน” ดร.วิทย์ กล่าว
นอกเหนือจากบริการให้คำปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์แล้ว สิ่งที่เป็นจุดแข็งอีกอย่างหนึ่งคือการจัดอบรมหรือเทรนนิ่งให้กับองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ครอบคลุมและครบครันในทุกสายงาน ไม่ว่าจะเป็นด้านสื่อมวลชนสัมพันธ์ การสร้างแบรนด์เอกลักษณ์องค์กร นักลงทุนสัมพันธ์ ไปจนถึงการสื่อสารเพื่อรับมือกับวิกฤติการณ์ และการบริหารความสัมพันธ์กับหน่วยงานภาครัฐ
หัวข้อในการอบรมมีตั้งแต่การบริหารความสัมพันธ์กับหน่วยงานภาครัฐและสาธารณกิจ การสร้างแบรนด์/การตลาดสู่ผู้บริโภค ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร การสื่อสารองค์กร การจัดงานและนิทรรศการการสื่อสารเพื่อรับมือกับวิกฤติการณ์ การสื่อสารในตลาดทุน การนำเสนอแนวคิดการมีความรับผิดชอบต่อสังคมในระดับปัจเจกบุคคล การอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับสื่อมวลชนและการสื่อสาร การสื่อสารและประชาสัมพันธ์ด้านสิ่งแวดล้อม สื่อมวลชนสัมพันธ์ การผลิตสื่อประชาสัมพันธ์องค์กรและสื่อการตลาด การติดตามและรวบรวมข่าวสาร การสื่อด้วยภาพและเสียง นอกจากนี้ยังมีบริการด้าน Editorial และ Copywriting อีกด้วย
ขณะเดียวกัน ดร.สรณ์ จงศรีจันทร์ ผู้ก่อตั้งและผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างกลยุทธ์ และการบริหารจัดการแบรนด์ บริษัท แบรนด์เอนี่ติง จำกัด กล่าวว่า “การสร้างแบรนด์ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนความยั่งยืนของธุรกิจ สำหรับก้าวแรกในการสร้างแบรนด์นั้น กลยุทธ์ที่โดดเด่นและแตกต่างจะสามารถสร้างความสำเร็จและยั่งยืนให้กับแบรนด์ได้เป็นอย่างดี กลยุทธ์เปรียบเสมือน DNA เมื่อแบรนด์มี DNA ที่แข็งแรง แบรนด์ย่อมมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงตามไปด้วย ทำให้ปราศจากการถูกคุกคามจากสิ่งภายนอกหรือจากการแข่งขันที่รุนแรงในแต่ละภาคอุตสาหกรรม กลยุทธ์จึงเปรียบเสมือนเข็มทิศและแผนที่ที่คอยชี้นำให้แบรนด์เดินไปสู่จุดหมาย แม้ว่าจะมีอุปสรรคขวางกั้นบ้างในระหว่างทาง แต่ท้ายที่สุดแบรนด์ที่ถูกวางกลยุทธ์เอาไว้อย่างถูกต้อง ก็ย่อมฟันฝ่าอุปสรรคเหล่านั้นไปได้อย่างราบรื่น”
สำหรับผู้บริหารที่เข้ามาเป็นคณะที่ปรึกษาให้กับบริษัทดีซี คอนซัลแทนส์ฯ นอกจากจะมีผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการบริหารงานด้านต่างๆ อาทิ นายอธึก ปราโมช ณ อยุธยา ร้อยตรี หม่อมหลวงสิทธิไชย ไชยันต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมและสารสนเทศของอาเซียนแล้ว ยังมี สุณี ปริปุณณะ ประธานกรรมการบริหาร และ สุภาณี เดชาบูรณานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ออพติมัม มีเดีย ไดเรคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ที่เข้ามาเสริมความแข็งแกร่งให้บริษัทอีกด้วย
ด้าน นายไมเคิล เดอ เครทเซอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โก คอมมูนิเคชั่นส์ หนึ่งในผู้บุกเบิกธุรกิจประชาสัมพันธ์ในภูมิภาคเอเชีย เปิดเผยว่า ธุรกิจประชาสัมพันธ์เป็นหนึ่งในธุรกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชียคิดเป็น 20% ต่อปี มีมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อปี แวดวงพีอาร์จึงต้องการมืออาชีพที่มีฝีมือในการบริหารกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์แบบบูรณาการเพื่อให้ใช้ได้กับสื่อแบบดั้งเดิมและสื่อดิจิทัล คาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าอาชีพพีอาร์จะสามารถอัพเกรดขึ้นเทียบเท่ากับอาชีพแพทย์ นายธนาคารและแม้แต่ทนายความ เพราะเป็นอาชีพที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ทั้งนี้การปฏิวัติดิจิทัลที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในเอเชียทำให้บริษัทต่างๆ ต้องมีการใช้จ่ายสูงถึง 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐภายในสิ้นปี 2558 นี้ ซึ่งโลกดิจิทัลนี่แหละที่ถือเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจประชาสัมพันธ์ที่จะจุดประกายให้เกิดกระแสได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นกลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์จึงต้องแรงและตรงประเด็น
“โลกดิจิทัลและสื่อสังคมออนไลน์ที่นับวันยิ่งพัฒนาขึ้นถือเป็นยุคทองของการประชาสัมพันธ์ เนื่องจากมีหลากหลายช่องทางให้เราสื่อสารประเด็นสำคัญที่ลูกค้าต้องการจะสื่อไปยังกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายได้อย่างเหมาะสม รวดเร็วและโปร่งใส ดังนั้นลูกค้าจึงยอมที่จะจ่ายมากขึ้นเพื่อแลกกับบริการที่มีประสิทธิภาพที่ดีกว่า แต่ขณะเดียวกันเราก็ยังคงให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การสื่อสารแบบเดิมที่ยังต้องอาศัยสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเลกทรอนิกส์ในการเผยแพร่ข่าวสารอยู่” นายไมเคิล กล่าวเสริม
ปัจจุบัน กลุ่ม โก เป็นเครือข่ายบริษัทที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์อิสระที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย มีพันธมิตรในหลายประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย จีน ฮ่องกง มาเก๊า อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ศรีลังกา อินเดีย กัมพูชา ลาว เวียดนาม และฟิลิปปินส์ มีพนักงานกว่า 450 คน ดูแลลูกค้า 350 รายทั่วภูมิภาคเอเชียจากหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งโรงแรม การท่องเที่ยว การแพทย์ การเงิน สายการบิน การต้อนรับ อสังหาริมทรัพย์ ไอที แฟชั่น เครื่องสำอางและยา
ลูกค้าของบริษัทพันธมิตรภายใต้กลุ่ม โก ในประเทศต่างๆ มีตั้งแต่ PUMA, Shell, RICOH, Wacoal, FOX Channels, Cartoon Network, Coca Cola, Nikon, Canon, TATA Motors ธนาคารทหารไทย และอีกมากมาย
ทั้งนี้ กลยุทธ์ของกลุ่ม โก จะแตกต่างกับพีอาร์เอเยนซีข้ามชาติรายอื่นๆ ที่ดำเนินธุรกิจแบบ 1 แบรนด์ 1 วัฒนธรรม โดยที่กลุ่ม โกจะร่วมเป็นพันธมิตรกับพีอาร์เอเยนซีชั้นนำในแต่ละประเทศในเอเชีย ซึ่งแต่ละรายก็จะมีแบรนด์และวัฒนธรรมของตัวเองอยู่แล้ว และแต่ละประเทศก็จะอยู่ภายใต้กลุ่ม โก ซึ่งจะมีการแชร์ทรัพยากรและความเชี่ยวชาญระหว่างแก่กันและกัน