อะโดบีเปิดเผยผลการศึกษา “เรื่องการปฏิรูปการศึกษาด้วยเทคโนโลยีโมบายล์และดิจิตอล” (Transforming Education with Mobile and Digital Technology’) ระหว่างการประชุมผู้นำด้านการศึกษาของอะโดบี (Adobe Education Leadership Forum) ครั้งที่ 10 ซึ่งจัดขึ้นที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย โดยนักการศึกษากว่า 1,000 คนจาก 13 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกได้ตอบแบบสอบถามสำหรับการศึกษาวิจัยดังกล่าว ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อวัดสถานะ “การปรับใช้เทคโนโลยีโมบายล์ในห้องเรียน” รวมถึง “ความสำคัญของโมบิลิตี้ และเครื่องมือดิจิตอลในแวดวงการศึกษา”
ผลการศึกษาดังกล่าวเปิดเผยว่า แทนที่จะลังเลในการยอมรับการปรับใช้อุปกรณ์พกพาในห้องเรียน นักการศึกษากลับเชื่อมั่นว่า การใช้อุปกรณ์พกพาอย่างแพร่หลายก่อให้เกิดผลดี และมีอิทธิพลต่อรูปแบบการเรียนการสอน ขณะที่นักการศึกษากลุ่มผู้อนุรักษ์นิยมเห็นว่า อุปกรณ์พกพาในห้องเรียนจะบั่นทอนสมาธิของผู้เรียน แต่ 77% ของนักการศึกษาจากเอเชีย-แปซิฟิก และ 85% ของนักการศึกษาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เชื่อว่าการใช้อุปกรณ์พกพาในการเรียนการสอนจะก่อให้เกิดผลดีโดยรวม
การสนับสนุนระบบโมบิลิตี้ดังกล่าวมีเหตุผลที่เรียบง่าย กล่าวคือ 83% นักการศึกษาจากเอเชีย-แปซิฟิก และ 98% ของนักการศึกษาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รู้สึกว่า การเข้าใช้เครื่องมือดิจิตอลและแอพพลิเคชั่นต่างๆ บนอุปกรณ์พกพาจะช่วยให้เข้าใจแนวคิดและข้อมูลต่างๆ ได้ดีขึ้น และสามารถปรับปรุงแนวคิดและข้อมูลดังกล่าวก่อนที่จะรวมไว้ในบทเรียนที่จะใช้สอนนักเรียน อย่างไรก็ตาม นักการศึกษา 89% จากเอเชีย-แปซิฟิก และ 100% จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รู้สึกว่าสถาบันการศึกษาจำเป็นที่จะต้องดำเนินการบางอย่างเพิ่มเติมเพื่อให้นักเรียนสามารถเข้าถึงอุปกรณ์พกพาได้
นอกจากนี้ ผลการศึกษาดังกล่าวยังเน้นย้ำถึงอุปสรรคที่ขัดขวางการปรับใช้เทคโนโลยีโมบายล์ในสถาบันการศึกษา ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก นักการศึกษารู้สึกว่าการจัดสรรงบประมาณ (39%) และปัญหาในการบูรณาการระบบโมบิลิตี้เข้ากับโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ (27%) เป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการปรับใช้เทคโนโลยีโมบายล์ในสถาบันการศึกษา
มร. เวย์น เวส ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจด้านการศึกษาของอะโดบี ซิสเต็มส์ ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลการศึกษานี้ โดยระบุว่า “ความสามารถในการแสดงผล หรือผสานประสบการณ์การเรียนรู้แบบอินเทอร์แอคทีฟในห้องเรียนผ่านทางอุปกรณ์พกพาจะช่วยสร้างความแตกต่างอย่างมากใน “ผลของการเรียนรู้” โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กรุ่นใหม่ ผลการศึกษาของเราชี้ว่า ปัญหาท้าทายที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็คือ การขาดการสนับสนุนการปรับใช้เทคโนโลยีโมบายล์อให้กว้างขวางมากขึ้น นักการศึกษาและสถาบันการศึกษาจำเป็นที่จะต้องทำงานร่วมกันเพื่อก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง โดยจะต้องเสริมสร้างศักยภาพให้แก่นักเรียนในการใช้งานดิจิตอลคอนเทนต์อย่างเหมาะสม รวมถึงการสร้างสรรค์คอนเทนต์ดิจิตอลด้วยเช่นกัน”
สามารถดาวน์โหลดรายงานผลการสำรวจความคิดเห็นและอินโฟกราฟิกได้ที่ http://www.adobe-eduforum.com/2015/mobility
ผลการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างประเทศต่างๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก
นักการศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเกาหลีใต้ (85% ทั้งคู่) เชื่อมั่นในผลดีของเทคโนโลยีโมบิลิตี้สำหรับการศึกษา มากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ ในทางตรงกันข้าม นักการศึกษาในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (ANZ) (69%) ไม่ค่อยเชื่อมั่นใจผลดีของการใช้อุปกรณ์พกพาในการเรียนการสอน
โดยรวมแล้ว นักการศึกษาส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ (83%) เชื่อมั่นในศักยภาพของเครื่องมือดิจิตอลและแอพพลิเคชั่นต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้อาจารย์และนักเรียนนักศึกษาเพลิดเพลินกับการเรียนการสอน โดยนักการศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (98%) และจีน (90%) มีความเชื่อมั่นในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก
นักการศึกษาทั้งหมดทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเชื่อว่า สถาบันการศึกษาควรสนับสนุนนักเรียนนักศึกษาอย่างเต็มที่ ด้วยการจัดหาเครื่องมือและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการศึกษาดิจิตอล เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับยุคดิจิตอลคอนเทนต์ (89%)
เกี่ยวกับการประชุมผู้นำด้านการศึกษาของอะโดบี (Adobe Education Leadership Forum) ประจำปี 2558:
Adobe Education Leadership Forum เป็นการประชุมผู้นำทางความคิดด้านการศึกษาที่สำคัญของอะโดบีสำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในปีนี้มีผู้บริหารด้านการศึกษากว่า 107 คนจาก 10 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเข้าร่วมการประชุม หัวข้อ “เร่งจุดประกายความคิดสร้างสรรค์: เพิ่มพลังขับเคลื่อนแห่งอนาคต” การประชุมดังกล่าวเปิดโอกาสให้ผู้นำทางความคิด นักวิจัย และนักการศึกษาร่วมอภิปรายเกี่ยวกับแนวโน้มด้านการศึกษา รวมไปถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ปัญหาท้าทาย โอกาส และความจำเป็นในการสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์
การประชุม Adobe Education Leadership Forum ประจำปี 2558 นับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการรับฟังข้อมูลและความคิดเห็นจากผู้นำอุตสาหกรรมทั่วเอเชีย-แปซิฟิกเกี่ยวกับแนวโน้มล่าสุดและเรื่องราวความสำเร็จ
วิทยากรหลักในการประชุมนี้ได้แก่:
แดน เฮสเลอร์ นักการศึกษา นักเขียน และที่ปรึกษา ทำงานร่วมกับโรงเรียนหลายแห่งในออสเตรเลีย เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการมีส่วนร่วมและความเป็นอยู่ที่ดี เขามุ่งมั่นสร้างความเท่าเทียมกันในด้านการศึกษาและการเข้าถึงเยาวชน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แดนได้สั่งสมชื่อเสียงในฐานะหนึ่งในนักคิดและผู้บรรยายด้านการศึกษาที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในเอเชีย-แปซิฟิก
รศ.ดร.บัณฑิต ทิพากร รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาการศึกษา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มีประสบการณ์กว่า 20 ปีในการสอนนักศึกษาในสาขาวิศวกรรม โดยได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อผลักดันการปฏิรูปการศึกษาอย่างต่อเนื่องของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รวมถึงสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย
เทรเวอร์ เบลีย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการศึกษาทั่วโลกและภาครัฐของอะโดบี มีหน้าที่จัดการดูแลโครงการและกลยุทธ์ที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ของอะโดบีพร้อมใช้งานอย่างกว้างขวางสำหรับสถาบันการศึกษา รวมทั้งทำงานร่วมกับสถานศึกษาทั่วโลกอย่างใกล้ชิด ทั้งในระดับประถม มัธยม และอุดมศึกษา เพื่อให้โซลูชั่นของอะโดบีสามารถตอบสนองความต้องการของนักเรียนนักศึกษา คณาจารย์ และผู้บริหารสถานศึกษา เป้าหมายหลักของเทรเวอร์คือ การเสริมสร้างศักยภาพของนักการศึกษา ด้วยการผสานรวมเทคโนโลยีเข้ากับการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่
โทนี่ คัทซาบาริส ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาและภาครัฐประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของอะโดบี ทำหน้าที่ดูแลธุรกิจภาครัฐและการศึกษาของอะโดบีในภูมิภาคนี้ โดยมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือแก่ภาครัฐและสถาบันการศึกษา เพื่อนำเสนอประสบการณ์ที่เหมาะสมแก่นักเรียนนักศึกษาและประชาชนทั่วไป ด้วยการใช้โซลูชั่น Marketing Cloud ของอะโดบี
การประชุมนี้จัดขึ้นในวันที่ 26-27 มีนาคม ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประชุมดังกล่าวได้ที่: http://www.adobe-eduforum.com/2015 หรือติดตาม @AdobeEDU และเข้าร่วมการสนทนาโดยใช้ #EduForum15