วอร์ตัน สคูล แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิเวเนียได้จัดการประชุมระดับโลก Wharton Global Forum Bangkok 2015 ครั้งที่ 47 ในหัวข้อ “เอเชียในยุคที่โลกไร้พรมแดน” ณ โรงแรมแชงกรีล่า กรุงเทพฯ มีผู้ร่วมงานกว่า 670 คน ซึ่งล้วนเป็นผู้บริหารจากองค์กรชั้นนำในภาคธุรกิจ ภาครัฐ และแวดวงวิชาการ จากทั้งในและนอกประเทศ เนื้อหาการอภิปราย ข้อมูลเชิงลึก และการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ระหว่างวิทยากรได้นำเสนอแง่มุมที่น่าสนใจเกี่ยวกับเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมีระบบเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น รวมทั้งเป็นภูมิภาคที่มีพลวัตและศักยภาพแห่งหนึ่งของโลก
เวทีการประชุมระดับโลก Wharton Global Forum มีผู้ให้ความสนใจอย่างคับคั่ง และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิต่างแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจ ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาธุรกิจและเศรษฐกิจในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นด้านการท่องเที่ยว พลังงานทดแทน โครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน และการบริหารจัดการคนเก่งในยุคนี้ เป็นต้น
เนื้อหาเด่นจากเวทีการประชุมนี้ ได้แก่คำกล่าวของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่นอกจากจะกล่าวถึงความสำคัญของการค้าและการพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานในภูมิภาคแล้ว ยังกล่าวถึงความท้าทาย แนวทาง และมาตรการแก้ไขปัญหาของแต่ละประเทศที่มีความเฉพาะตัวแตกต่างกัน
ดร. เจฟฟรีย์ การ์เร็ต คณบดี วอร์ตัน สคูล กล่าวว่า “ในฐานะที่วอร์ตัน สคูลเป็นสถาบันระดับโลก การได้มีส่วนร่วมมาอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับอนาคตของเอเชีย ณ ประเทศที่มีเศรษฐกิจเปิดเชื่อมโยงกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนั้นเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้น ภูมิภาคนี้ได้แสดงให้เห็นถึงพลวัตที่มีพลังขับเคลื่อนสูงและมีอัตราการเติบโตที่ดี เราจึงหวังว่าการประชุมนี้ จะเป็นทั้งโอกาสในการแบ่งปันหรือแลกเปลี่ยน ข้อมูลและมุมมองจากทางวอร์ตันให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม รวมทั้งเป็นโอกาสในการที่เราจจะได้เรียนรู้จากผู้เข้าร่วมประชุมด้วยในเวลาเดียวกัน”
เหตุการณ์สำคัญในช่วงหนึ่งของการประชุมคือ การมอบรางวัล Dean’s Medal ให้แก่ ตัน ศรี ดาโต๊ะ ดร. เซติ อัคตาร์ อาซิซ ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งมาเลเซีย โดยเหรียญรางวัลจะมอบให้แก่ศิษย์เก่าของวอร์ตันที่ประสบความสำเร็จในสาขาอาชีพ ดร. เซตินั้นได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียเมื่อปีพ.ศ.2521 และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งมาเลเซียในปีพ.ศ.2543 ซึ่งดร.เซติมีบทบาทสำคัญในการปรับระบบการเงินในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย ทำให้ประเทศมาเลเซียสามารถฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง ในฐานะที่เป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งสภาที่ปรึกษาอาเซียน (Asian Consultative Council) ของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ หรือ Bank for International Settlements (BIS) ดร.เซติยังดำรงตำแหน่งประธานร่วมคนแรกของคณะกรรมการดูแลเสถียรภาพทางการเงินของกลุ่มที่ปรึกษาภูมิภาค (Financial Stability Board Regional Consultative Group for Asia) ปัจจุบันดร.เซติดำรงตำแหน่งประธานด้านการกำกับดูแลกิจการ ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศแห่งธนาคารกลาง (BIS Central Bank Governance Group)
การอภิปรายในหัวข้อโครงสร้างขั้นพื้นฐานของอาเซียนนั้น มีการพูดคุยทั้งในประเด็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจริง ๆ ที่ภูมิภาคนี้จำเป็นต้องพัฒนา รวมถึงความสอดคล้องในด้านกฎระเบียบต่าง ๆ ที่จะมารองรับ ช่วยให้สินค้าและบริการเคลื่อนย้ายระหว่างกันในภูมิภาคได้อย่างคล่องตัว ดร. สตีเฟ่น โคบริน เป็นผู้ดำเนินการอภิปรายโดยยกประเด็นเรื่องการจัดลำดับความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐาน ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงกระบวนการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศในอาเซียนที่ดำเนินการไปแล้ว รวมถึงการพัฒนาระบบรางของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ดร.เฟรเซอร์ ธอมสัน นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยแม็คคินซีย์โกลบอล ชี้ให้เห็นว่าอาเซียนจำเป็นต้องมีการลงทุนด้านสาธาณูปโภคขั้นพื้นฐานประมาณ 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งด้วยมูลค่าที่สูง จึงต้องเป็นการลงทุนจากทั้งภาครัฐฯและเอกชนร่วมกัน
วิทยากรร่วมอภิปรายแสดงความเห็นเรื่องพลังงานทดแทนในเอเชีย ประเด็นนำโดยดร. แอน แฮริสัน ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ภูมิภาคเอเชียกำลังพบกับความท้าทายด้านพลังงานอันสืบเนื่องมาจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันที่ลดลงในปัจจุบันอาจทำให้อุปสรรคเบาบางลง แต่ในระยะยาว ทั้งภาครัฐและเอกชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องร่วมกันรับมือกับปัญหาความต้องการใช้พลังงานที่มีมากขึ้น และกำหนดว่าแหล่งพลังงานทดแทนอื่น ๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม ชีวภาพ เป็นต้นเหล่านี้จะมีบทบาทอย่างไรในอนาคต
การประชุมในช่วงนี้เน้นที่ศักยภาพในอนาคตของการลงทุนในเมียนมาร์ ดำเนินการอภิปรายโดยดร. ริชาร์ด มาร์สตัน ที่ได้ชี้ถึงศักยภาพมหาศาลทว่าก็มีความท้าทายสำหรับนักลงทุนอยู่ด้วยเช่นกัน วงเสวนาเห็นว่าการพัฒนาภาคการเงินและการธนาคารให้แข็งแกร่ง เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดต่อการพัฒนาเพื่อดึงดูดการลงทุน มร. อู อเย ลวิน เลขาธิการร่วมสมาพันธ์หอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพเมียนมาร์ กล่าวถึงความคืบหน้าต่าง ๆ ในการพัฒนาสาธาณูปโภคขั้นพื้นฐานและการพัฒนาระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งได้ก้าวหน้าไปมาก อย่างไรก็ดี ขอให้อดทนและเข้าใจสถานการณ์ของเมียนมาร์ที่กำลังเร่งพัฒนาขณะที่มีอุปสรรคหลายอย่างอยู่ด้วยเช่นกัน
เมื่อสิ้นสุดการประชุมวันแรก ผู้เข้าร่วมประชุมและแขกผู้มีเกียรติได้ล่องเรือไปยังหอประชุมกองทัพเรือเพื่อร่วมรับประทานอาหารในบรรยากาศไทย ๆ ที่จัดขึ้นเป็นพิเศษ มีการจัดการแสดงหลายชุดเพื่อสะท้อนให้เห็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมและศิลปะไทย เช่น โขน ศิลปะป้องกันตัว และดนตรีพื้นบ้าน เป็นต้น นอกจากนี้ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและประธานกิตติมศักดิ์ในการประชุมระดับโลกครั้งที่ 47 ยังได้กล่าวต้อนรับแขกผู้มีเกียรติในงานเลี้ยงกาล่าดินเนอร์ และกล่าวถึงหัวข้อการอภิปรายที่จัดสรรได้อย่างเหมาะสม เข้ากับบริบทของภูมิภาคและประเทศไทย
สำหรับวงเสวนาเรื่อง “พลังและอำนาจของผู้บริโภคของกลุ่มชนชั้นกลางใหม่ในเอเชีย” นั้น ดร. เมาโร กุยเล็นได้นำเสนอข้อมูลทางเศรษฐกิจและประชากรศาสตร์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในเศรษฐกิจโลก และเอเชียมีบทบาทในแนวโน้มนี้อย่างไร ปัจจัยหลักประการหนึ่งที่ขับเคลื่นเศรษฐกิจเอเชียคือ การเติบโตของชนชั้นกลางในประเทศส่วนใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มลูกค้าใหม่ที่มั่งคั่งขึ้นเหล่านี้ก็ต้องการสินค้าและบริการต่าง ๆ มารองรับ นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น และ นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและข้อมูลเกี่ยวกับการขยายตัวของชนชั้นกลางไทยด้วย
ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของการประชุมระดับโลก Wharton Global Forum Bangkok 2015 เป็นผลมาจากความร่วมมือและการทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่างวอร์ตัน สคูลและศิษย์เก่าชาวไทยของสถาบันที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการดำเนินงานจำนวน 12 ท่าน นำโดย ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและประธานกิตติมศักดิ์, ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ ประธานการจัดงาน และ ดร. ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานจัดงาน Wharton Global Forum Bangkok 2015 ทั้งนี้ คณะกรรมการได้ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์การประชุม ติดต่อผู้สนับสนุนต่าง ๆ เชื้อเชิญผู้นำจากภาครัฐและภาคธุรกิจให้เข้าร่วม และประสานงานด้านลอจิสติกส์กับทางผู้จัดงาน
ในตอนท้ายของจัดการประชุมระดับโลก Wharton Global Forum Bangkok 2015 นั้น ดร. เจฟฟรีย์ การ์เร็ต คณบดี วอร์ตัน สคูลได้ประกาศสถานที่จัดงานประชุมระดับโลก Wharton Global Forum ในอีกสองครั้งถัดไป ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ตามลำดับ