ถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องใส่ใจเรื่องการวิเคราะห์และจัดการศักยภาพของเยาวชนไทย เพื่อสร้างคน สร้างแรงงานของประเทศที่เหมาะสมกับแต่ละสายงาน ซึ่งเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะนำประเทศสู่เวทีการแข่งขันระดับโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก และถือเป็นการใช้งบประมาณของชาติในด้านการศึกษาได้อย่างคุ้มค่ายิ่งขึ้น ล่าสุดเปิดตัว ‘สเปียร์ เฮด โปรแกรม’ เสนอสู่ภาคการศึกษาและองค์กรระดับใหญ่ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการประเมินศักยภาพและความเป็นตนเองให้แก่นักศึกษา พร้อมทั้งเป็นผู้ช่วยองค์กรระดับใหญ่ใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์เพื่อเฟ้นหา ‘ตัวจริง’ เข้ามาเติมเต็มตำแหน่งงาน
นางสาวกิติมา หงส์ศิริกาญจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ ศูนย์พัฒนาศักยภาพมนุษย์ สมาร์ท พีเอดี เปิดเผยว่า ปัจจุบันการจัดการปัญหาเรื่องศักยภาพแรงงานถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ไทยต้องให้ความสำคัญ เพราะหากประเทศมีระบบการจัดการแรงงานก่อนเข้าสู่ระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพจะสามารถช่วยให้กลไกโดยรวมของตลาดแรงงานนั้นมีศักยภาพในการแข่งขันทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลกได้อย่างดี
ทั้งนี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ระบุว่า ในปี 2557 ที่ผ่านมา มีผู้สำเร็จการศึกษา 547,853 คน แบ่งเป็น ผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีรวม 336,879 คน หรือคิดเป็น 61%, ผู้สำเร็จการศึกษาระดับ ปวส. และอนุปริญญาตรีรวม 74,550 คน หรือ 14%, ผู้สำเร็จการศึกษาระดับ ปวช. รวม 48,884 คน หรือ 9%, ผู้สำเร็จการศึกษาระดับ ม.6 รวม 22,936 คน หรือ 4% และผู้สำเร็จการศึกษาระดับ ม.3 รวม 64,604 คน หรือ 12% และจากการสำรวจพบว่า กลุ่มผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีมีอัตราว่างงานสูงถึง 160,000คนในปีที่ผ่านมา โดยในปี 2557 มีกลุ่มคนว่างงานประมาณ 306,148 คน ขณะที่อัตราขาดแคลนแรงงานอยู่ที่ 181,827 คน ซึ่งคาดว่าในปี 2555-2559 บริษัทในประเทศไทยมีความต้องการรับผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ (ป.ตรี) เพียงแค่ปีละ 150,000 คนต่อปีเท่านั้น ขณะที่จะมีจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ในระดับปริญญา ตรีเข้าสู่ตลาดแรงงานเฉลี่ยที่ปีละ 300,000 – 400,000 คน
“กลไกโดยรวมของตลาดแรงงานไทย ประกอบด้วย ตัวแรงงาน, ครอบครัว สถาบันการศึกษา และสถานประกอบการ ซึ่งแต่ละปัจจัยล้วนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการก้าวหน้าของประเทศ เพราะหากเรามีแรงงานที่เข้าสู่ตลาดไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ก็จะทำให้เกิดปัญหาการว่างงานและการขาดแคลนแรงงานตามมา” นางสาวกิติมา หงส์ศิริกาญจน์ อธิบายเพิ่มเติม “ครอบครัวถือเป็นด่านแรกที่ส่งผลต่อทิศทางการเลือกอาชีพของเยาวชนไทย โดยส่วนมากมักจะเลือกสายอาชีพตามกระแสนิยมโดยไม่คำนึงถึงความถนัดของเยาวชน หรือแม้กระทั่งตัวผู้เรียนเองก็ยังขาดการประเมินศักยภาพของตนทำให้ความโดดเด่นของตนเองถูกบดบังและพุ่งไปในส่วนงานที่ไม่มีความถนัดหรือไม่ได้ชอบอย่างแท้จริง ทำให้เมื่อเข้าสู่การสถาบันศึกษาบางคนไม่สามารถศึกษาต่อได้จนจบ หรือหากจบแล้วเมื่อได้ทดลองทำงานไปและรู้ว่าไม่ใช่แนวทางที่ตนชอบหรือถนัดก็จะนำไปสู่ปัญหาการเปลี่ยนงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ประเทศเสียงบประมาณด้านการศึกษาไปโดยเปล่าประโยชน์ สถานประกอบการณ์ก็ได้บุคลากรเข้าไปทำงานอย่างไม่มีเสถียรภาพ และที่สำคัญที่สุดคือประเทศชาติต้องเสียบุคลากรที่มี
ความถนัดในด้านใดด้านหนึ่งไปเพราะแรงงานไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วตนเองเหมาะ และมีพรสวรรค์ในสายอาชีพใด ด้วยเหตุดังกล่าวนี้เองทำให้ ศูนย์พัฒนาศักยภาพมนุษย์ สมาร์ท พีเอดี เกิดขึ้น เพื่อเป็นตัวช่วยในการพัฒนาและจัดกลไกการจัดการด้านแรงงานของไทยให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นผ่าน ‘สเปียร์ เฮด โปรแกรม’ โดยมุ่งไปที่นักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 และนักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 4 เป็นหลัก โดยโปรแกรมดังกล่าวจะช่วยให้นักศึกษาได้รู้จักตนเองในเชิงลึกทั้งบุคลิกภาพ ความถนัด จุดแข็งของตน เพื่อประกอบการเลือกอาชีพและสายงานที่ทำ ทั้งยังได้ทราบข้อมูลเชิงลึกของทิศทางและแนวโน้มตลาด จนถึงทักษะ ความรู้ ความสามารถและสมรรถนะที่จำเป็นและเหมาะสมพร้อมในการแข่งขันสำหรับภาคอุตสาหกรรมนั้นๆ ช่วยให้มีการเตรียมตัวในเรื่องเทคนิคการสัมภาษณ์งาน ทัศนคติและพฤติกรรมที่เตรียมพร้อมในการเป็น “ผู้เลือก” มิใช่ “ผู้ถูกเลือก” และสุดท้ายช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเสียเวลาในการทดลองงาน ทดลองบริษัท การเลือกงานเพื่อค้นหาตนเองไปเรื่อยๆ”
ปัจจุบันภาวะการขาดแคลนแรงงานที่มีความสามารถและสมรรถนะ “ตรง” กับความต้องการเพื่อประโยชน์ในการแข่งขันทั้งๆ ที่มี แรงงานที่ต้องการงานในตลาดเยอะ แต่ยังมีตัวเลขของการหาผู้ที่มีคุณสมบัติเข้าทำงานนานมากกว่า 6 เดือนอยู่เยอะเช่นเดียวกัน แสดงให้เห็นว่า เกิด “Supply-Demand Mismatch” คนว่างงานก็มีเยอะและไม่ได้งาน ขณะที่บริษัทที่ต้องการแรงงานก็ไม่ต้องการคนที่มาสมัคร “สเปียร์ เฮด โปรแกรม จะช่วยให้องค์กรโดยเฉพาะภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากได้บุคลากรที่มีคุณสมบัติตรงความต้องการและมีความสามารถทัศนคติในการทำงาน เติบโต และพัฒนาไปได้กับองค์กร สามารถแข่งขันได้กับประเทศคู่แข่งใน AEC ทั้งยังช่วยให้องค์กรลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเลือกบุคลากรและปัญหาจากการพัฒนาคน ช่วยยกระดับความพร้อมในการทำงานของตลาดแรงงานไทยการแข่งขันกับบริษัทในประเทศในกลุ่ม AEC และเตรียมความพร้อมทักษะของแรงงานไทยโดยเฉพาะบัณฑิตจบใหม่ ให้พร้อมกับแนวโน้มและการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอันใกล้อีกด้วย” นางสาวกิติมา หงส์ศิริกาญจน์ กล่าวสรุป
ศูนย์พัฒนาศักยภาพมนุษย์ สมาร์ท พีเอดี:
เราเป็นองค์กรที่ทำการจัดอบรมให้กับองค์กรต่างๆในหัวข้อที่แต่ละองค์กรต้องการ เราให้ความสนใจกับส่วนที่มีความสำคัญที่สุดในองค์กร “คน” เรามีความตั้งใจที่จะช่วยผู้คนในการพัฒนาศักยภาพในส่วนบุคคล และในส่วนของการรับผิดชอบต่อทีมงาน และสังคมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ลักษณะการจัดโปรแกรมของเราจะไม่เพียงแต่เน้นที่ทฤษฏี แต่ยังรวมถึงเนื้อหาที่พัฒนามาจากการปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวันอีกด้วย