ญี่ปุ่นได้พัฒนาอย่างรวดเร็วกลายเป็นประเทศมีความทันสมัยมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก หากแต่กาลเวลาได้ทำให้สถานที่บางแห่งกำลังจะเลือนหายไป สถานที่เหล่านี้ทรงคุณค่าทั้งในด้านประวัติศาสตร์ และสะท้อนวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นได้อย่างดี
สถานที่ 5แห่งในแดนอาทิตย์อุทัยที่ควรแก่การไปเยี่ยมชม ก่อนที่จะกลายเป็นแค่ความทรงจำ ได้แก่
1. โรงอาบน้ำสาธารณะ
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง แทบทุกบ้านของชาวญี่ปุ่นจะมีห้องอาบน้ำ ทำให้โรงอาบน้ำสาธารณะ หรือ เซนโต ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป หากแต่ในอดีตโรงอาบน้ำไม่เพียงแต่เป็นสถานที่ผ่อนคลาย และชำระล้างความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานในแต่ละวัน หากแต่ยังเป็นศูนย์รวมของชุมชน ที่มีทั้งเรื่องซุบซิบและข่าวสารวงใน โรงอาบน้ำจึงเป็นสถานที่ที่ผู้ใช้บริการสามารถพูดคุยเรื่องสัพเพเหระ และสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านได้เป็นอย่างดี
ทุกวันนี้ โรงอาบน้ำเกือบจะสูญหายไปทั้งหมดแล้ว โดยบางส่วนถูกปรับปรุงเป็นคาเฟ่ และอีกจำนวนมากกลายเป็น “ออนเซน” หรือ “สปา” ซึ่งถึงแม้มีลักษณะคล้ายคลึงกัน หากแต่มีความหรูหราและมีความเป็นส่วนตัวมากกว่า นอกจากนี้ออนเซนส่วนใหญ่ยังมีลูกค้ากลุ่มหลักเป็นนักท่องเที่ยว จึงแตกต่างจากโรงอาบน้ำ ซึ่งเป็นสถานที่บริการสำหรับคนในชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง
สามารถค้นหาโรงอาบน้ำที่ยังหลงเหลืออยู่ในญี่ปุ่นได้จากเว็บไซต์ http://www.sentoguide.info/
2. ชาวประมงดำน้ำ
การทำประมงโดยวิธีการดำน้ำใช้เพื่อหาสัตว์น้ำที่อยู่ใต้ท้องทะเลลึก หรือสิ่งมีค่าที่อยู่ในผืนทรายใต้ทะเล เช่น ไข่มุก หอยเม่น หรือปะการัง ชาวประมงดำน้ำ ที่เรียกว่า “อามะ” มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 200ปี โดยเกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิงที่ดำลงหาสมบัติใต้ท้องทะเลลึกกว่า 25 เมตรด้วยชุดปกติ และไม่ต้องใช้ถังออกซิเจนช่วยในการหายใจ
ในทศวรรษ1950 ญี่ปุ่นมีนักดำน้ำ “อามะ” ถึง 17,000คน แต่ทุกวันนี้มีเหลือเพียง 2,000 คนเท่านั้นในจังหวัดอิชิกาวะและจังหวัดมิเอะ โดยเกือบทั้งหมดอายุมากกว่า 40 ปีแล้ว
บริษัทมิกิโมโต้ ผู้ผลิตไข่มุกชื่อดังของญี่ปุ่น ได้ช่วยให้นักดำน้ำ “อามะ” กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ด้วยการส่งเสริมให้นักดำน้ำมืออาชีพเหล่านี้ทำงานเพาะเลี้ยงไข่มุกในเกาะของบริษัทมิกิโมโต้ ที่จังหวัดมิเอะ โดยมีการแสดงสาธิตการดำน้ำของเหล่า “อามะ ให้ชมได้ด้วย
ผู้สนใจติดตามรายละเอียดได้จากเว็บไซต์
http://www.mikimoto-pearl-museum.co.jp/eng/index.html
3. อ่าวเซโตะ
อ่าวเซโตะ ที่จังหวัดโอกายามะ เป็นทะเลน้ำเค็มที่ล้อมรอบด้วยผืนแผ่นดิน และมีเกาะน้อยใหญ่มากกว่า700 เกาะ โดยเกาะที่ใหญ่ที่สุดคือเกาะโชโดชิมะ มีประชากรราว 20,000 คน อย่างไรก็ตามเกาะขนาดเล็กอื่นๆมีประชากรน้อยกว่า 500 คน
อ่าวเซโตะถึงแม้จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ หากแต่การประมงพื้นบ้านที่ลดน้อยถอยลง ตลอดจนคนหนุ่มสาวที่มีการศึกษาได้ย้ายออกจากพื้นที่ไป ทำให้อ่าวเซโตะมีแต่คนชราเท่านั้น
รัฐบาลท้องถิ่นได้สร้างความสะดวกให้กับชาวเกาะ โดยสร้างสะพานเชื่อมกับผืนแผ่นดินใหญ่ หากแต่ในความสะดวกสบายนั้นก็ได้ทำให้วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวเกาะเจือจางลงไปเช่นเดียวกัน
เกาะหลายเกาะในอ่าวเซโตะเปิดต้อนรับให้นักท่องเที่ยว ซึ่งจะได้สัมผัสวัฒนธรรมและการแสดงของชาวเกาะที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า400 ปี หากแต่เกาะอีกจำนวนมากไม่สามารถจะเดินทางไปถึง เพราะไม่มีเรือโดยสารบริการ เกาะบางแห่งมีชาวประมงท้องถิ่นอาศัยอยู่แค่ 230คนเท่านั้น
เกาะหลายแห่งในอ่าวเซโตะได้ร่วมกันจัดนิทรรศการศิลปะ ซึ่งผสานผสานระหว่างศิลปกรรมสมัยใหม่กับวัฒนธรรมพื้นเมือง รายละเอียดติดตามได้จากเว็บไซต์
http://benesse-artsite.jp/en/
4. นาขั้นบันได
นาขั้นบันไดยังมีปรากฏอยู่ในหลายประเทศอาเซียน แต่สำหรับญี่ปุ่นแล้วนับว่าหายากเต็มที เนื่องจากญี่ปุ่นได้ก้าวข้ามผ่านจากประเทศกสิกรรมเป็นประเทศอุตสาหกรรมอย่างสมบูรณ์มาหลายสิบปีแล้ว นาขั้นบันไดซึ่งต้องอาศัยการปักดำและเก็บเกี่ยวด้วยมือนั้นจึงกลายเป็นสิ่งที่แทบจะสูญหายไปตามกาลเวลา โดยยังคงหลงเหลืออยู่ในชนบทบางแห่งของแดนอาทิตย์อุทัย และผืนนาสาธิตที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่นหรือองค์การพัฒนาเอกชนเท่านั้น
5. ตลาดปลาสึคิจิ
ตลาดปลาสึคิจิ ในกรุงโตเกียว สร้างขึ้นเมื่อปี 1935 และเป็นตลาดค้าส่งปลาขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และยังเคยประมูลปลาทูน่าขนาดยักษ์เป็นมูลค่าสูงที่สุดถึง 1.7 ล้านดอลลาห์สหรัฐฯ
ตลาดปลาสึคิจิ กำลังจะถูกย้ายเพื่อนำสถานที่ไปใช้รองรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ที่กรุงโตเกียวจะเป็นเจ้าภาพในปี 2020 โดยถึงแม้จะมีผู้คัดค้าน ทำให้การย้ายล่าช้าไปถึงสองปี หากแต่ก็ไม่อาจทัดทานมติของรัฐบาลได้
ตลาดปลาสึคิจิจะย้ายไปยังเกาะใหม่กลางอ่าวโตเกียว ซึ่งเป็นเกาะที่มนุษย์สร้างขึ้นจากการถมทะเล โดยสถานที่ใหม่จะมีพื้นที่มากกว่าตลาดเดิมถึงสองเท่าตัว หรือราว 460,000 ตารางเมตร หากแต่บรรยากาศตลาดค้าปลาแบบดั้งเดิมกำลังจะเลือนหายไป รวมทั้งร้าน “ไดซูชิ” ร้านซูซิที่มีชื่อเสียงที่สุด ที่ตั้งอยู่ภายในตลาดปลาสึคิจิด้วย.
ที่มา : http://manager.co.th/Japan/ViewNews.aspx?NewsID=9580000039175