"โมบายเอ็กซ์โป” ชี้ทิศตลาดมือถือ

ตลาดโทรศัพท์มือถือนับเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตมากที่สุดในกลุ่มอุตสาหกรรมไอซีที สวนทางต่อแนวโน้มของตลาดคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป และโน้ตุบ๊ก ที่เริ่มถดถอย แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ยังทำให้ผู้ผลิตหลายรายต่างโอดครวญถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ตลาดสมาร์ทโฟนไม่เติบโตเท่าที่ควร

โอภาส เฉิดพันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็ม วิชั่น จำกัด ผู้จัดงานไทยแลนด์ โมบาย เอ็กซ์โป (TME) กล่าวถึงภาพรวมตลาดโทรศัพท์มือถือในช่วงเวลานี้ว่า กำลังอยู่ในช่วงที่ตลาดหดตัว เพราะจากข้อมูลของผู้จำหน่ายหลายๆ รายระบุว่า ตลาดรวมตกลงประมาณ 20-30% โดยมีผลกระทบโดยตรงจากสภาพเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ประกอบกับกำลังซื้อบางส่วนเป็นกำลังเงินส่วนเดียวกับที่นำไปใช้ในการท่องเที่ยว
       
“ช่วงกลางปีต้องยอมรับว่าเป็นช่วงที่ตลาดมือถือจะมียอดจำหน่ายตกลง เนื่องจากประเทศไทยมีวันหยุดค่อนข้างเยอะ ทั้งช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมกับวันหยุดยาวช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนที่กันเงินไว้สำหรับใช้จ่ายใช้ไปหมดแล้ว ทำให้กำลังซื้อในส่วนของสินค้าไอทีลดลง”
       
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผู้ผลิตก็เห็นตรงกันว่า มีการหดตัวของตลาด ยิ่งทำให้แต่ละแบรนด์อัดโปรโมชันเข้ามาวางจำหน่ายภายในงาน TME เพื่อกระตุ้นยอดในช่วงกลางปี ไม่ว่าจะเป็นในฝั่งของโอเปอเรเตอร์ที่มีเซอร์ไพรส์อย่างการที่เอไอเอสนำ iPad Air และ iPad Mini 2 มาลดราคาสูงสุดกว่า 8,000 บาท ทำให้ผู้บริโภคที่มีความตั้งใจจะซื้อ iPad อยู่แล้วตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

“เชื่อว่าผู้บริโภคคนไทยบางส่วนยังมีเงินพร้อมที่จะจับจ่ายใช้สอย แต่จะเป็นกลุ่มในระดับกลาง-บนมากกว่า เพียงแต่ต้องมีการกระตุ้นให้เกิดการซื้ออย่างการจัดโปรโมชันที่โดนใจ หรือลดราคาให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น”
       
นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าถ้าภายในงานยิ่งมีการแข่งขันกันสูงมากแค่ไหน ก็จะชี้ให้เห็นถึงทิศทางตลาดที่จะเกิดขึ้นต่อไปในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากปัจจุบันเริ่มเห็นผลิตภัณฑ์ในระดับไฮเอนด์ทยอยเข้าสู่ตลาดมากยิ่งขึ้น ทำให้ภายในงานครั้งนี้มีการเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ จากหลากหลายแบรนด์
       
***ผลกระทบของเข้าไม่ทัน ผู้บริโภคหันเลือกเครื่อง 4G
       
แม้ว่าจะเป็นการจัดงานช่วงกลางปีที่หวังว่าจะมีการนำรุ่นใหม่ของแต่ละแบรนด์ เข้ามาวางจำหน่ายภายในงานครั้งนี้ แต่ด้วยผลกระทบจากช่วงวันหยุดยาว ส่งผลให้ผู้ผลิตหลายรายไม่สามารถนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายได้ทัน โดยส่วนใหญ่ติดปัญหาจากการขออนุญาตที่ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินงาน ส่งผลให้ภายในงานครั้งนี้มีการเปิดจองสมาร์ทโฟนมากที่สุดตั้งแต่จัดงานมา
       
“จากเดิมเกือบทุกแบรนด์วางแผนที่จะนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายภายในงาน แต่ปรากฏว่า ไม่สามารถนำสินค้าเข้ามาได้ทัน ทำให้เครื่องรุ่นใหม่จากหลายๆ แบรนด์ส่วนใหญ่กลายเป็นเข้ามาจำหน่ายภายหลังงาน ส่งผลให้ในงานจะมีการเปิดจองกันแทน”
       
อีกเทรนด์หนึ่งที่เห็นชัดภายในงานคือ หลายๆ แบรนด์ต่างนำสมาร์ทโฟนที่รองรับ 4G เข้ามาเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค เพราะเชื่อว่าลูกค้าที่ต้องการซื้อเครื่องใหม่ในเวลานี้จะเริ่มมองหาเครื่องที่รองรับ 4G มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าในเขตเมือง และตามหัวเมืองต่างๆ ส่งผลให้ได้เห็นเครื่อง 4G ราคาต่ำกว่า 5,000 บาทมากยิ่งขึ้น

 
“ตอนนี้กลุ่มคนเมืองส่วนใหญ่จะเปลี่ยนเครื่องจาก 2G เป็น 3G ไปหมดแล้ว ทำให้ถ้ามีการเลือกซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ก็จะมองหาเครื่องที่รองรับการใช้งาน 4G เพื่อรองรับการบริการที่มากยิ่งขึ้น แต่ 4G ยังไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้คนเกิดการเปลี่ยนเครื่อง ทำให้ตอนนี้ตลาดกลุ่มนี้จะทรงๆ ตัว”
       
ในจุดนี้จึงส่งผลกระทบต่อเจ้าตลาดอย่างซัมซุงค่อนข้างมาก เนื่องจากคู่แข่งต่างมีเครื่องที่รองรับ 4G ในระดับราคาต่ำกว่า 5 พันบาท ในขณะที่ซัมซุงเครื่องที่รองรับ 4G ยังมีราคาสูงอยู่ แต่ทั้งนี้ ซัมซุง มองว่า ยังไม่ใช่จุดสำคัญของการเปลี่ยนผ่านไป 4G เพราะท้ายที่สุดแล้ว 4G ก็จะเข้ามาแทนที่เครื่อง 3G เหมือนที่ตอนนี้ 3G เข้ามาแทนที่ 2G เรียบร้อยแล้ว
       
***หวังตลาดกลับมาสดใส
       
วิชัย พรพระตั้ง รองประธานองค์กร ธุรกิจโทรคมนาคมและไอที บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ ให้ข้อมูลว่า ตอนนี้ธุรกิจมือถือยังเป็นธุรกิจที่หอมหวน ทำให้มีผู้เล่นเข้ามาในตลาดค่อนข้างมาก แต่แน่นอนว่า ผู้ที่จะอยู่รอดในตลาดนี้ต้องมีนวัตกรรม ไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถยืนระยะอยู่ในตลาดได้
       
“ตลาดมือถือในตอนนี้ถือว่าเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มาก แต่ไม่ใช่ว่าแบรนด์ทุกรายที่เข้ามาจะขายได้ เพราะถ้าไม่มีการสร้างนวัตกรรมที่เป็นจุดต่าง ทำแต่การกระหน่ำลดราคาสินค้า ท้ายที่สุดก็จะหายไปจากตลาด ดังที่เห็นจากหลายช่วงที่ผ่านมา”
       
โดยปัจจุบันสัดส่วนตลาดสมาร์ทโฟนจะอยู่ที่ระดับล่าง และกลางอย่างละ 40% ในขณะที่ตลาดบนจะอยู่ราว 20% ทำให้ผู้เล่นที่เข้ามาในตลาดส่วนใหญ่หันไปจับกลุ่มกลางล่างเป็นหลัก จึงทำให้เกิดการแข่งขันที่ดุเดือด เพียงแต่ด้วยเศรษฐกิจในปัจจุบันยังส่งผลกระทบต่อยอดขายอยู่
       
เอกราช ปัญจวีณิน ผู้อำนวยการฝ่ายการบริหารสินค้าคอนซูเมอร์ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ตอนนี้สภาพเศรษฐกิจมีผลกระทบต่อตลาดไอทีพอสมควร โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้งานเครื่องแรกระดับราคาต่ำกว่าหมื่นบาท แต่เชื่อว่าในกลุ่มระดับกลางบนยังมีกำลังซื้ออยู่
       
ประกอบกับในขณะนี้ถือเป็นช่วงที่ไมโครซอฟท์กำลังหันมาให้ความสำคัญต่อตลาดแท็บเล็ต ที่เน้นความเป็นโมบิลิตีอย่างการนำ Surface 3 มาจำหน่าย ซึ่งเชื่อว่ายังมีกลุ่มลูกค้าที่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่มาตอบโจทย์การใช้งานลักษณะนี้ในระดับราคา 17,400 บาท เพิ่มเติมจากก่อนหน้าที่ทำตลาด Surface Pro 3 ในระดับราคาเกือบ 3 หมื่นบาท
       
ในขณะที่ฝั่งของธุรกิจโมบายดีไวซ์ ไมโครซอฟท์ เองก็พยายามที่จะเติมไลน์สินค้าในระดับกลางให้มากขึ้น ด้วยการนำรุ่นที่รองรับ 4G เข้ามาเสริม ทำให้มีสินค้าที่ครอบคลุมในตลาดกว่า 20 รุ่น ตั้งแต่ระดับราคา 3,000 บาทขึ้นไป
       
เซซิล เมนโกลิ ผู้จัดการทั่วไป ไมโครซอฟท์ โมบาย ดีไวซ์ ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ตอนนี้ไมโครซอฟท์ยังไม่มีรุ่นที่เป็นไฮเอนด์แฟลกชิปออกมา เพราะต้องรอความพร้อมของแพลตฟอร์มใหม่ อย่าง วินโดวส์ 10 ที่จะเป็นตัวเติมเต็มอีโคซิสเตมส์ของไมโครซอฟท์ให้สามารถใช้งานข้ามดีไวซ์ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
       
“ด้วยเป้าหมายหลักของไมโครซอฟท์คือ การกลับมาเป็นผู้นำในตลาดสมาร์ทโฟน ทำให้ต้องมีการปรับกลยุทธ์ โดยเริ่มจากผู้ใช้กลุ่มที่มีสัดส่วนสูงที่สุดก่อน อย่างตลาดระดับกลาง-ล่าง ทำให้ตอนนี้จะเห็นว่าไมโครซอฟท์มีการเติมไลน์ในระดับนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดกระแสการใช้งานจนบอกต่อเป็นจุดเริ่มต้น ก่อนที่จะเดินเครื่องอย่างจริงจังครอบคลุมทุกตลาดในช่วงปลายปี ที่คาดว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคจะกลับมา”
       
แน่นอนว่า สิ่งที่ไมโครซอฟท์พยายามชูจุดเด่นคือ เรื่องของมูลค่าเพิ่มที่ได้รับจากการใช้งานสินค้าของไมโครซอฟท์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้งาน Office 365 ฟรี ได้พื้นที่ใช้งาน One Drive เพิ่มขึ้น ที่สำคัญคือ การที่ดีไวซ์แต่ละเครื่องสามารถซิงก์ข้อมูลเข้าหากัน

***แบรนด์จีนเริ่มกลับมากระแทกตลาด
       
ถือว่าเป็นช่วงสำคัญของแบรนด์จีนอย่างเลอโนโว และเอซุส ที่กำลังหมายมั่นจะกลับมายิ่งใหญ่ในตลาดสมาร์ทโฟนอีกครั้ง หลักจากปีที่ผ่านมา เคยเข้ามาสร้างสีสันให้ตลาดได้คึกคักจากการทำตลาดสมาร์ทโฟนราคาถูกให้ผู้บริโภคได้เลือกหามาใช้
       
โดยคราวนี้ทาง เลอโนโว ได้มีการปรับกระบวนทัพใหม่ ด้วยการเข้าไปร่วมมือกับโอเปอเรเตอร์อย่างทรูมูฟ เอช ในการนำสมาร์ทโฟนรองรับ 4G ราคา 4,090 บาท เข้ามาพร้อมไปกับการออกสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ครอบคลุมทุกระดับราคา
       
เช่นเดียวกับทางเอซุส ที่เตรียมความพร้อมในการวางจำหน่าย Zenfone 2 ที่จะมีทั้งรุ่นที่จำหน่ายเอง และร่วมกับโอเปอเรเตอร์ ซึ่งถ้า 2 แบรนด์นี้สามารถกลับมาในตลาดได้ ก็จะทำให้ผู้เล่นที่อยู่ในตลาดได้รับผลกระทบพอสมควร
       
ดังนั้น เมื่อนับกับแบรนด์ที่เข้ามาชิงพื้นที่ในตลาดแล้ว อย่าง หัวเว่ย ออปโป้ วีโว่ อาจจะรวมไปถึงวีโก ก็จะเกิดปัจจัยที่มากระตุ้นให้ผู้บริโภคยอมควักเงินออกมาซื้อสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ก็ได้
      
***ตลาดเกมเติบโตขึ้นอีก
       
ในส่วนของตลาดเกมบนมือถือ ถือเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีอัตราการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีมูลค่ารวมหลายพันล้านบาท ซึ่งจากการที่ราคาสมาร์ทโฟนต่ำลง แต่ได้เครื่องที่มีสเปกสูงสามารถเล่นเกมได้หลากหลาย จึงทำให้ตลาดนี้กลับมาสดใสอีกครั้ง
       
ที่สำคัญคือ ผู้พัฒนาเกมเริ่มมีการเปลี่ยนรูปแบบการทำตลาดจากเดิมที่ใช้วิธีการจ่ายเงินซื้อก่อนเล่น กลายเป็นเปิดให้ดาวน์โหลดมาเล่นฟรี ถ้าต้องการของพิเศษภายในเกม หรือหาวิธีลัดก็ใช้วิธีจ่ายเงินซื้อสินค้าเพิ่มแทน
       
โอภาส ให้ความเห็นว่า หลังจากนี้จะเริ่มเห็นบริษัทเกมมือถือจากจีนเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยมากขึ้น เพราะกลุ่มคนที่เล่นเกมถือว่ามีกำลังซื้อค่อนข้างสูง ดังที่เห็นได้จากแพลตฟอร์มแชตอย่าง Line ยังให้ความสำคัญต่อตลาดนี้อย่างต่อเนื่องโดยภายในงานครั้งนี้ก็จะเห็นว่าทางเอ็มวิชั่น มีความร่วมมือกับทางคอมเกมเมอร์ ในการจัดโซนเกมมือถือเพิ่มขึ้นมา พร้อมจัดการแข่งขัน eSport ให้ผู้ที่เข้าร่วมงาน หวังเป็นการสร้างสีสันให้ตลาดนี้เพิ่มมากขึ้น และเชิญชวนให้ผู้ที่ซื้อสมาร์ทโฟนได้เข้ามาทดลองเล่นเกมด้วย

ที่มา : http://manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9580000052178