GMM ดิ้นปรับขายโฆษณา แย้มลดงบลงทุนดิจิตอล

ASTVผู้จัดการรายวัน – เศรษฐกิจซึมหนัก ดิจิตอลทีวีเข็นไม่ขึ้น คาดเม็ดเงินโฆษณาจริงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ 50-60% ฟันธงปีนี้วัดกันที่สายป่าน ใครยาวอยู่รอด “จีเอ็มเอ็ม 25” กัดฟันเดินหมากสู้ ทยอยปล่อยคอนเทนต์ต่อเนื่อง จับทางกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ ชูเรตติ้งผ่านมัลติสกรีน เพิ่มยอดโฆษณา หวังประคองรายได้ปีนี้สู่ 800 ล้านบาท
 
นางสายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม แชนแนล ดิจิตอล ทีวี บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมสถานการณ์ในปีนี้มองว่าเศรษฐกิจค่อนข้างนิ่งมาก เอเจนซี่ส่วนใหญ่ให้คำตอบว่าลูกค้าไม่มีเงินลงโฆษณา เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ทั้งในช่วงปีที่มีการประท้วง หรือปีที่มีภัยธรรมชาติพบว่าเมื่อเข้าสู่ไตรมาสสี่ลูกค้าจะกลับมาใช้เงินลงโฆษณาหลังจากที่อั้นใช้เงินจากปัญหาดังกล่าว แต่ในปีนี้คาดการณ์ได้ยากว่ามีปัญหาเกิดจากอะไร ทำไมลูกค้าจึงไม่ใช้เงิน ส่งผลให้ในครึ่งปีหลังคาดการณ์ลำบากว่าภาพรวมเม็ดเงินโฆษณาในสื่อทีวีดิจิตอลจะเป็นเช่นไร
 
ทั้งนี้ ยังมองว่าภาพความเป็นจริงจากตัวเลขของ “เน็ลสัน” ที่ระบุว่าเม็ดเงินโฆษณาในสื่อทีวีดิจิตอลเติบโตสูงขึ้นทุกเดือน เชื่อว่าเป็นตัวเลขที่สูงเกินจริงร่วม 60-70% เนื่องจากความเป็นจริงมีการลดราคาโฆษณาลงมาจากราคาตั้งไม่ต่ำกว่า 70-80% ดังนั้นสถานการณ์ของทีวีดิจิตอลในปีนี้คาดว่าช่องที่อยู่รอดได้คือช่องที่มีสายป่านยาว เพราะในความเป็นจริงบางช่องที่มีเรตติ้งรายการดีจริงแต่ในแง่โฆษณาก็ไม่ได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้
 
ในส่วนของช่อง “จีเอ็มเอ็ม 25” เดิมปีนี้มีแผนใช้งบลงทุนทั้งสิ้น 1 พันล้านบาท แบ่งออกเป็น ค่าผลิตคอนเทนต์ 700 ล้านบาท และอื่นๆ อีก 300 ล้านบาท โดยในส่วนของการผลิตคอนเทนต์นั้นเป็นการทยอยผลิตลงผังต่อเนื่องตลอดปี เน้นในส่วนของละคร ซิทคอม และวาไรตี้ต่างๆ แต่หลังจากสภาพเศรษฐกิจนิ่งแบบนี้ ทั้งปีอาจจะใช้งบลงทุนต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้โดยจะมีการปรับแผนการลงทุนตามสถานการณ์ ดังนั้นหากการลงทุนต่ำกว่าเป้าหมาย รายได้ที่เดิมตั้งไว้ 800 ล้านบาทในปีนี้ก็อาจจะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เช่นกัน
 
นางสายทิพย์ กล่าวต่อว่า ช่อง “จีเอ็มเอ็ม 25” ยังพร้อมให้ความสำคัญในการผลิตคอนเทนต์เพื่อสร้างเรตติ้งและสร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันละคร “คลับ ฟราย เดย์ เดอะ ซีรีส์” ยังเป็นคอนเทนต์ที่มีโฆษณาและเรตติ้งสูงสุด ส่วนรายการอื่นๆ เริ่มมีโฆษณาเข้ามาบ้าง ทั้งนี้ พบว่า ทาร์เก็ตช่องจะเป็นกลุ่มวัยรุ่นคนรุ่นใหม่อายุ 12-29 ปี และกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไปที่มีหัวใจเป็นวัยรุ่น โดยส่วนใหญ่จะชมผ่านมัลติสกรีนกว่า 70% และทางช่องทางปกติ 30% ทำให้ต้องมีการปรับวิธีขายโฆษณาใหม่เป็นแพกเกจ นำเรตติ้งในมัลติสกรีนเข้ามาช่วย เน้นเรื่องการไท-อินสินค้าเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายรับรู้ได้ในช่องทางมัลติสกรีน ถือเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้มีรายได้ตามที่วางไว้
 
ปัจจุบันช่อง “จีเอ็มเอ็ม 25” ผลิตคอนเทนต์เอง 60% ไทม์แชร์ริ่ง 30% และอื่นๆ อีก 10% ขณะที่เรตติ้งช่องอยู่ในอันดับที่ 12-13 ในกลุ่มทีวีรวม ถึงสิ้นปีนี้ต้องการขึ้นเป็นท็อป10 หรือมีส่วนแบ่งการตลาดที่ 4% ของตลาดรวมทีวีมูลค่า 7 หมื่นล้านบาทในปีนี้