“INFRASTRUCTURE FUND” กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความมั่นคงของประเทศ

ปัจจุบันภาครัฐมีนโยบายผลักดันให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีศักยภาพและมีความพร้อมทางการเงินให้พิจารณาการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อจัดหาแหล่งเงินทุนทางเลือกใหม่ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งจะช่วยลดการก่อหนี้สาธารณะและเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มคุณภาพด้านการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานและสร้างความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
 
กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานคือ กองทุนรวมประเภทหนึ่งที่ตั้งขึ้นเพื่อระดมทุนจากผู้ลงทุนทั่วไปทั้งรายย่อยและสถาบัน เพื่อลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์สาธารณะในวงกว้างของประเทศไทย โดยกิจการโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้เป็นกิจการที่มีความจำเป็น และเป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ อีกทั้งเป็นโครงการที่ใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานจึงจะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระงบประมาณการลงทุนและการก่อหนี้สาธารณะของภาครัฐตลอดจนเป็นทางเลือกในการระดมทุนของภาคเอกชนในการพัฒนากิจการโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ได้ โดยการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานมีข้อกำหนดว่าต้องมีเงินทุนโครงการไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท และเป็นกิจการโครงสร้างพื้นฐาน 12 ประเภท ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กำหนดไว้ ดังนี้
 
1. ระบบขนส่งทางรางหรือทางท่อ
2. ประปา
3. ท่าอากาศยาน
4. โทรคมนาคมหรือโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
5. ระบบบริหารจัดการน้ำหรือการชลประทาน
6. ถนนและทางพิเศษ
7. ท่าเรือน้ำลึก
8. พลังงานทางเลือก
9. ไฟฟ้า
10. ระบบป้องกันภัยธรรมชาติ
11. ระบบกำจัดของเสีย
12. กิจการโครงสร้างพื้นฐานหลายกิจการประกอบกัน
 
โดยล่าสุดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. หัวเรือใหญ่ด้านการไฟฟ้าของประเทศ ได้เปิดระดมทุนผ่าน ‘กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 1 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( EGATIF)’ ซึ่งเป็นการระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้า โดย EGATIF ลงทุนในสิทธิรายได้ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 1 เป็นระยะเวลา 20 ปี และต้องย้ำว่าทรัพย์สินที่กองทุนรวมฯ เข้าลงทุนคือ ‘สิทธิในรายได้ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 1’ ส่วนสิทธิความเป็นเจ้าของและการบริหารโรงไฟฟ้าฯ นั้น ยังคงเป็นของ กฟผ. โดยการระดมทุนในรูปแบบนี้จึงไม่ใช่เป็นการขาย การให้เช่า หรือนำไปสู่การแปรรูป กฟผ. แต่อย่างใด
 
คราวนี้มาทำความรู้จักกับโรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 1 ซึ่งจัดเป็นโรงไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่ และเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าที่ใหม่ที่สุดในปัจจุบันของ กฟผ. กัน … โรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 1 นั้นเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีพลังงานความร้อนร่วมซึ่งทันสมัยและได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาที่ทำกับกองทุนรวมฯ จำนวน 670 เมกะวัตต์ เรียกได้ว่าเป็นโรงไฟฟ้าหลักที่จ่ายกระแสไฟฟ้าซึ่งตั้งอยู่ใกล้แหล่งที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากที่สุดในประเทศไทย 
 
โดยหากถามถึงจุดเด่นของ EGATIF ซึ่งเป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนโดยรัฐวิสาหกิจกองแรกของไทย โดยเป็นกองทุนรวมฯ ประเภทไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุด และเป็นกองทุนรวมฯ ที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอนั้น ต้องบอกว่ามีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก โดยสรุปได้ดังนี้ 
 
– EGATIF เป็นกองทุนที่สนับสนุนโดย กฟผ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้ามากที่สุดในประเทศ 
 
– โรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 1 ใช้เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่ทันสมัยและได้รับการยอมรับในระดับสากล รวมถึงมีการพัฒนาประสิทธิภาพอย่างสม่ำเสมอ โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้ได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงไฟฟ้าต้นแบบของ กฟผ. ภายใต้โครงการ EGAT Best 2014 – 2025
 
– โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 มีความสามารถในการดำเนินงานที่โดดเด่น มีความพร้อมจ่ายไฟฟ้าในระดับสูง และมีทีมงานในการบำรุงรักษาที่มีประสิทธิภาพ
 
– EGATIF เป็นกองทุนรวมที่มีโครงสร้างรายรับตามสัญญาที่ชัดเจนและสม่ำเสมอ โดยรายรับที่เป็นผลตอบแทนของกองทุนมาจากความพร้อมในการจ่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า พระนครเหนือชุดที่ 1 ซึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับการจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ ปริมาณการใช้ไฟฟ้าความต้องการใช้ไฟฟ้า หรืออัตราค่าไฟฟ้าแต่อย่างใด 
 
– EGATIF ไม่มีภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าฯ เพราะ กฟผ. ซึ่งเป็นองค์กรที่มีประสบการณ์สูงในการบริหารโรงไฟฟ้าจะเป็นผู้ดูแลเองโดยตรง
 
– โอกาสสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนกับ EGATIF โดยจะมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับเงินปันผลอย่างน้อยร้อยละ 90 ของกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้วและจ่ายเงินปันผลอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง โดยผู้ลงทุนทั่วไปที่เป็นบุคคลธรรมดาจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินปันผล เป็นระยะเวลา 10 ปี นับจากปีภาษีที่มีการจัดตั้งกองทุนรวมฯ
 
และที่สำคัญที่สุดนอกเหนือจากจุดเด่นหรือความน่าสนใจของกองทุนรวมฯ  คือเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศ โดยการจัดสรรหน่วยลงทุนของกองทุนรวมฯ ให้แก่ผู้จองซื้อทั่วไป จะจัดสรรในรูปแบบ Small Lot First  คือเป็นการจัดสรรหน่วยลงทุนให้ผู้จองซื้อทั่วไปทุกรายตามจำนวนหน่วยจองซื้อขั้นต่ำตามที่กำหนดไว้ในรอบแรก และวนไปเรื่อยๆ รอบละเท่าๆกันจนกว่าจะครบตามจำนวนที่เสนอขายต่อผู้จองซื้อทั่วไป ในกรณีที่จำนวนหน่วยลงทุนไม่เพียงพอต่อการจัดสรรให้กับผู้จองซื้อทั่วไปได้ครบทุกรายในการจัดสรรรอบใดๆ จะใช้วิธีสุ่มเลือกรายชื่อผู้ได้รับการจัดสรรโดยระบบคอมพิวเตอร์ (Random) 
 
โดย กฟผ. จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปลงทุนในการพัฒนากิจการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างความยั่งยืนทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศต่อไป  
 
 
อย่างไรก็ตามนักลงทุนควรต้องศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน โดยเฉพาะปัจจัยความเสี่ยงต่าง ๆ โดยกองทุน EGATIF มีความเสี่ยงด้านการบริหารจัดการไฟฟ้า ในกรณีโรงไฟฟ้าฯ ไม่สามารถเดินเครื่องตามชั่วโมงความพร้อมจ่ายไฟฟ้าที่ระบุในสัญญา การขึ้นค่าเบี้ยประกันภัยของโรงไฟฟ้าที่ต้องทำใหม่ทุกปี รวมถึงความเสี่ยงในการไม่พร้อมจ่ายไฟฟ้าในบางกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน 
 
ทั้งนี้ กองทุน EGATIF ได้ป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อรายได้ของ EGATIF โดย กฟผ. ได้จัดทำประกันภัยทั้งหมด 4 ประเภท ให้แก่ โรงไฟฟ้าฯ ซึ่งหากเกิดเหตุที่ทำให้โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 ได้รับความเสียหายและไม่สามารถเดินเครื่องจักรผลิตกระแสไฟฟ้าได้ กฟผ. จะส่งมอบสินไหมทดแทนจากประกันภัยประเภทธุรกิจหยุดชะงักให้แก่ EGATIF … จึงสบายใจได้ระดับนึงเรียกว่านอกจากจะได้มีส่วนร่วมในการช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าของประเทศแล้ว กองทุน EGATIF ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจและสามารถตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนชาวไทยได้อย่างแท้จริง 
 
ศึกษาข้อมูลหรือดาวน์โหลดร่างหนังสือชี้ชวนได้ที่ www.egatif.com
 
คำเตือน
 
– ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
 
– กองทุนรวมนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอจากสำนักงาน ก.ล.ต. 
 
– ผู้ลงทุนควรได้รับคำแนะนำก่อนการลงทุน
 
– กองทุนรวมนี้มีการลงทุนในสิทธิรายได้ในอนาคต ซึ่งเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาตามสิทธิรายได้ที่กองทุนรวมลงทุนแล้วมูลค่าอาจลดลงจนถึงศูนย์บาทได้ และกองทุนรวมนี้ไม่ได้สำรองเงินทุนไว้สำหรับการจ่ายคืนเงินลงทุนในสิทธิรายได้ดังกล่าวให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนแต่อาจจะจ่ายคืนเงินลงทุนบางส่วนหรือทั้งหมดให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนโดยการลดทุนจดทะเบียนของกองทุนรวมก่อนการเลิกกองทุนรวมก็ได้