เขย่าผัง ถอนรายการคืนช่อง ชิงเรตติ้งทีวีดิจิตอล

ปฏิบัติการชิงไหวชิงพริบระหว่างช่องแอนะล็อกเดิม และช่องทีวีดิจิตอลเกิดใหม่ กับการปรับผังรายการเพื่อชิงเรตติ้ง และฐานคนดู ในสงครามทีวีดิจิตอล

ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายนัก กับการที่ช่อง 3 ถอดรายการ “ชิงร้อย ชิงล้าน Sunshine Day” ออกจากผังรายการ วันอาทิตย์ช่วงบ่าย มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2558 นี้เป็นต้นไป

ก่อนหน้านี้ ช่อง 3 ได้ไล่ถอดรายการต่างๆ ที่ผลิตโดยจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เช่น  เฮง เฮง เฮง และผู้กองเจ้าเสน่ห์ และวาไรตี้พรมแดงมาแล้ว
แม้ว่ารายการเหล่านี้จะเรียกได้ว่าเป็นรายการระดับแม่เหล็กครองเรตติ้งสูงเป็นอันดับ 2 ของรายการวาไรตี้ อยู่คู่กับช่อง 3 มานาน แต่เมื่อผู้ผลิตเหล่านี้ได้กลายสภาพมาเป็น “เจ้าของสถานีทีวีดิจิตอล” จากคู่ค้ามาเป็นคู่แข่ง เงื่อนไขของธุรกิจย่อมเปลี่ยนแปลง

ช่อง 3 เองก็ประเมินแล้วว่า ในเมื่อผู้ผลิตเหล่านี้ก็มีช่องรายการของตัวเอง ก็ควรนำรายการไปออกในช่องทีวีดิจิตอล แทนที่จะปล่อยให้คู่แข่งมาหารายได้แล้วไปนำเงินไปพัฒนารายการมาแข่งกับช่อง 3

อย่างที่ สุรินทร์  กฤตยาพงศ์พันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด บอกถึงสาเหตุว่า ช่อง 3 ไม่ได้มีปัญหากับเวิร์คพอยท์ แต่เมื่อเวิร์คพอยท์มีช่องทีวีดิจิตอลแล้ว ก็ควรนำรายการไปออกในช่องของตัวเอง

การเขย่าผังรายการของช่อง 3 ถึงแม้จะไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์ แต่ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าช่อง 3 จะถอดรายการเหล่านี้เร็วขึ้นกว่ากำหนดการเดิมที่วางไว้ 

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์บอกว่า เป็นที่รับรู้กันแล้วว่า เวิร์คพอยท์จะต้องนำรายการ “ชิงร้อย ชิงล้าน Sunshine Day” ออกจากช่อง 3  แต่กำหนดการคือช่วงต้นปี 2559 แต่ปรากฏว่า รายการกลับถูกถอดออกเร็วกว่ากำหนดถึงครึ่งปี 

ในมุมของช่อง 3  เอง คงประเมินแล้วว่า  ถึงแม้รายการ “ชิงร้อย ชิงล้าน Sunshine Day” จะมีเรตติ้งสูง 4.25 เป็นอันดับ 2 ของรายการวาไรตี้ทั้งหมด แต่ไหนๆ ก็ต้องแยกทางกันแล้วก็ควรรีบทำทันที ไม่ควรปล่อยให้เวลายาวนานออกไป ยิ่งนานวันคู่แข่งก็ยิ่งแข็งแรง สะสมฐานคนดูเพิ่มมากขึ้น เรตติ้งมากขึ้น ย่อมไม่เป็นผลดีต่อช่อง 3

นอกจากนี้ ช่อง 3 จะได้มีเวลาเตรียมตัวจัดรายการที่จะมาแทนรายการชิงร้อยชิงล้านของเวิร์คพอยท์ ซึ่งเวลานี้ได้ผู้ผลิตรายการแล้ว คือ รายการ 3 วาไรตี้ของ ต๋อย-ไตรภพ จะออนแอร์ในช่วงบ่ายวันอาทิตย์ เวลา 14.45-16.45 น.

รายการที่จะมาแทนรายการของทางซีเนริโอ คือ กอสซิปเกิร์ล แทน สมรภูมิพรมแดง ซึ่งมองเป็นเรื่องปกติที่กลุ่มช่องทีวีดิจิตอลจะนำรายการไปลงในช่องตัวเอง โดยช่อง 3 ได้มีการเตรียมการวางแผนผลิตและหาคอนเทนต์มาแทนอยู่แล้ว

ส่วนเวิร์คพอยท์เองก็มีโจทย์ใหญ่รออยู่ แม้ว่าเรตติ้งของช่องจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนขึ้นมาเป็นเบอร์ 3 แล้วก็ตาม แต่ถึงอย่างไรฐานคนดูยังห่างจากช่อง 7 และช่อง 3 การที่เอเยนซีจะยอมซื้อโฆษณาในอัตราเท่ากับสมัยออนแอร์อยู่ช่อง 3 นาทีละ 300,000 บาท ก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย

ถึงแม้จะมีการแจ้งกับทางนักวิเคราะห์หลักทรัพย์แล้วว่า เมื่อย้ายรายการชิงร้อยชิงล้านไปอยู่ที่ช่องเวิร์คพอยท์ จะมีการลดค่าโฆษณาจะลดลง 50% เหลือ 150,000 บาทต่อนาทีก็ตาม แต่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของเวิร์คพอยท์ได้ออกมาปฏิเสธว่า ไม่ได้ลดค่าโฆษณาลง ยังคงยืนราคา 300,000 บาทต่อนาที แต่สามารถต่อรอง ลด แลก แจก แถมเวลาโฆษณาให้กับลูกค้า

นอกจากนี้ เวิร์คพอยท์ยังได้ชี้แจงด้วยว่า ข้อดีของการถอดรายการออกจากช่อง 3 ครั้งนี้ จะทำให้เวิร์คพอยท์ไม่ต้องจ่ายค่าเช่าเวลาให้กับช่อง 3 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 50-60% ของรายได้  

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเวิร์คพอยท์ได้ทยอยถอดรายการที่เคยออกอากาศให้กับช่องแอนะล็อกเดิมมาตลอด เช่น ชิงช้าสวรรค์ ตลก 6 ฉาก คนอวดผี  ไอเดนทิตี้ ไทยแลนด์ My Man Can แฟนฉันเก่ง เป็นต้น ยกเว้น รายการชิงร้อยชิงล้าน Sunshine Day เท่านั้น ที่ยังคงออกอากาศอยู่กับช่อง 3  เพราะถือเป็นรายการอู่ข้าวอู่น้ำ

ดูจากไตรมาสแรกของปีนี้ ฝ่ายประชาสัมพันธของเวิร์คพอยท์ชี้แจงถึงรายได้จากธุรกิจโทรทัศน์รวม 385 ล้านบาท เป็นรายได้จากช่องเวิร์คพอยท์ทีวี 295 ล้านบาท รายได้จากรายการชิงร้อยชิงล้าน 70 ล้านบาท ถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยทีเดียว

ส่วนรายการอื่นๆ ที่ยังคงอยู่ในช่อง 3  อย่าง ไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ สุรินทร์ บอกว่า ยังไม่มีนโยบายถอดรายการนี้ออก เนื่องจากเจ้าของลิขสิทธิ์ คือ บริษัท ยูนิลีเวอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เพียงแต่ให้เวิร์คพอยท์ และโซนี่มิวสิค เป็นผู้ผลิตรายการและจัดการแข่งขันเท่านั้น  

รวมทั้งรายการ “เดอะวอยซ์ ไทยแลนด์” ยังคงออนแอร์ที่ช่อง 3 เช่นเดิม เพราะเป็นลิขสิทธิ์ ของ บริษัท AP&J PRODUCTION ผลิตรายการโดย ทรู มิวสิค ส่วนบริษัท โต๊ะกลมโทรทัศน์ จำกัด ในเครือเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ มาร่วมผลิตในปีแรก

การเขย่าผังรายการบนหน้าจอ “ทีวีแอนะล็อกเดิม” ถือเป็นส่วนหนึ่งของ “สงครามทีวีดิจิตอล” ที่ต้องมีการการชิงไหวชิงพริบระหว่างช่องแอนะล็อกเดิม และช่องทีวีดิจิตอล เพราะช่องดิจิตอลเกิดใหม่ อย่าง เวิร์คพอยท์ และช่องวัน เมื่อสะสมฐานคนดู และเรตติ้งมากขึ้นเรื่อยๆ จึงทยอยถอดรายการออกจากช่อง 5 และช่อง 9 

ส่งผลให้ช่อง 5 และช่อง 9  ต้องตกที่นั่งลำบาก ไหนจะต้องเผชิญกับคู่แข่งมากหน้าหลายตาแล้ว หลังจากถูกทอดรายการเรตติ้งก็ยิ่งร่วงหล่นจนถูกช่องดิจิตอลหน้าใหม่วิ่งแซงหน้าไปแล้ว จึงต้องวิ่งหาผู้ผลิตรายใหม่มาแทน พร้อมกับลดปรับลดค่าเวลาลง เพื่อหวังจะกอบกู้สถานการณ์

การแข่งขันของทีวีดิจิตอลนับจากนี้ ทั้งช่องแอนะล็อกเดิม และช่องดิจิตอลหน้าใหม่ เมื่อถอนรายการออกไปแล้ว ต้องสู้กันด้วย “คอนเทนต์” กันอย่างดุเดือดเลือดพล่าน ชนิดที่ไม่มีใครยอมใคร

 

ครึ่งปี 58 แข่งเดือด อัดคอนเทนต์เต็มสูบ

เขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี และอุปนายกสมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ประเมินว่า สถานการณ์ในครึ่งปีหลังของทีวีดิจิตอลน่าจะดี เพราะหลังจากที่ผู้ประกอบการได้จ่ายค่าประมูลใบอนุญาตงวดที่ 2 ไปอีก 30% ยังเหลือการชำระค่าประมูลใบอนุญาตอีก 20% แบ่งเป็นปีละ 10%  ภาระที่ผู้ประกอบการต้องแบกไว้จะเบาลงไป ทำให้กล้าการลงทุนมากขึ้น

ในช่วงครึ่งปีหลังจากนี้ จะมีการลงทุนคอนเทนต์แบบจัดเต็ม โดยคาดว่า 5 ช่องทีวีดิจิตอลรายใหญ่ เช่น เวิร์คพอยท์, ช่อง 8, ช่อง 3, ช่องกลุ่มแกรมมี่ และไทยรัฐทีวี จะมีการใช้งบลงทุนอีกราว 300-500 ล้านบาท โดยสังเกตได้จากการที่ช่อง 3 มีการจัดอีเวนต์ใหญ่เปิดตัวละคร ทุกคนกล้าลงทุนกันมากขึ้น

สำหรับช่องพีพีทีวีเอง ตั้งเป้างบลงทุนในครึ่งปีหลังอีกราว 500 ล้านบาท ซึ่งถ้ารวมงบลงทุนทั้งปีจะมากกว่า 1,000 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนคอนเทนต์เป็นวาไรตี้ 70% และ ข่าว 30% แต่จะมีการเพิ่มคอนเทนต์ “ละครไทย” ให้มีมากขึ้น คาดว่าจะมีลงจออีก 10 เรื่อง และมีผู้จัดละครอยู่ 7-8 รายแล้ว หลังจากที่ผ่านมาพีพีทีวีเน้นคอนเทนต์ของ “ซีรีส์ต่างประเทศ” ค่อนข้างเยอะ ปัจจุบันมีเรื่อง “ปริศนา” เป็นละครไทยเพียงแค่เรื่องเดียวของช่อง แต่มีผลตอบรับค่อนข้างดี เพราะเข้าถึงผู้ชมได้ง่าย

ส่วนช่อง 3 มองว่า นี่คือจังหวะและก้าวย่างสำคัญ  สุรินทร์ มองว่า ธุรกิจทีวีไม่เหมือนธุรกิจประเภทอื่น ธุรกิจอื่นเมื่อเศรษฐกิจไม่ดีจะส่งผลให้ยอดขายตกลงไปด้วย แต่ธุรกิจทีวีสามารถโตได้ และยังทำรายได้ดี หากมีคอนเทนต์ที่ดีและเข้มแข็ง ซึ่งบางครั้งสามารถขายโฆษณาได้ดีกว่าในช่วงเศรษฐกิจดีด้วยซ้ำ

“ในช่วงที่เศษฐกิจไม่ดีสำหรับผู้ซื้อโฆษณาอาจจะมีการลดงบโฆษณาลง แต่จะไปทุ่มให้กับช่องที่มีคอนเทนต์ที่ดีที่สุด ซึ่งถ้าเราเป็นช่องที่มีคอนเทนต์ที่ดีที่สุดได้ก็จะเติบโตไปได้”

อย่างไรก็ตาม ช่อง 3 เอง ยอมรับว่าการที่มีช่องทีวีดิจิตอล 3 ช่อง และ 2 ช่องเพิ่งเริ่มดำเนินการนั้น ปีนี้ยังคงอยู่ในภาวะขาดทุน ซึ่งตามแผนเดิมที่วางไว้จะขาดทุน 3 ปีแรก อาจจะต้องเลื่อนออกไปเป็น 4-5 ปีแทน