จาก เหตุการณ์ระเบิดที่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 58 ได้สร้างความสะเทือนขวัญ และการสูญเสียชีวิตมากมาย ในโลกออนไลน์ก็ได้มีการแชร์ข่าว และรูปภาพกันกระหน่ำโซเชียล มีเดียเช่นกัน โดยที่บางข่าวยังไม่ได้ผ่านการกลั่นกรองให้ดีก่อน
ในมุมมองนักวิชาการแล้ว “ธาม เชื้อสถาปนศิริ” นักวิชาการสื่อสาธารณะ ได้โพสต์แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว Time Chuastapanasiri เกี่ยวกับสิ่งที่ “ชาวเน็ต” ได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ มีเนื้อหาดังนี้
หลังเหตุการณ์ระเบิดที่ราชประสงค์ และรอมาจนครบ 48 ชั่วโมง มีสิ่งที่ผมเห็นในสื่อสังคมและอยากจะบันทึกเพื่อเตือนสติและสรุปเป็นมุมมอง ที่น่าสังเกตสนใจดังนี้ คือ
1. “ไม่แชร์ภาพผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต”
เป็นเรื่องที่เห็นชัดเจนที่สุด ไม่ว่าจะเป็นในไลน์ส่วนตัว หรือบนเฟซบุ๊ค หรือในเครือข่ายสื่อสารสังคมออนไลน์อื่น มีผู้คนมากมายที่หันมารณรงค์และร่วมกันทำภาพโปสเตอร์ หรือการไปแสดงความคิดเห็น การตั้งสเตตัสส่วนตัว แม้กระทั่งคนใกล้ชิดผมในเฟซบุ๊ค เพื่อนหลายคนตั้งสถานะเพื่อเตือนชาวเน็ตร่วมกันว่า อย่าแชร์ภาพศพ หรือชิ้นส่วนมนุษย์ เพื่อเป็นการเคารพสิทธิ และศักดิ์ศรีของผู้ตาย
นอกจากนี้ ที่น่าชื่นชม คือ สำนักข่าวหนังสือพิมพ์หลายฉบับ (ที่เห็น คือ โพสต์ทูเดย์ สมาคมนักข่าว สภาการหนังสือพิมพ์ และเพื่อนร่วมวิชาชีพสื่อมวลชนหลายๆ ท่าน ) ร่วมหันมารณรงค์ทำรูปโปสเตอร์เพื่อให้ผู้คนไม่ร่วมแชร์ภาพเหตุการณ์นี้
น่าชื่นชมว่า เหตุผลสำคัญ คือ “การไม่ผิดจริยธรรมและละเมิดสิทธิ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ซึ่งสะท้อนว่ามีผู้ใช้งานเน็ตหลายคนที่เริ่มตระหนักในความสำคัญตรงนี้ และแตกต่างอย่างมากกับสื่อกระแสหลักบางเจ้า เว็บไซต์ข่าวออนไลน์บางแห่ง ที่กลับใช้ภาพเหยื่อผู้เสียชีวิตมาลงเผยแพร่ในเว็บไซต์ของตนเอง ทั้งที่เป็นสื่อมวลชนที่ควรจะมีจริยธรรมมากกว่า
2. “ระดมขอความช่วยเหลือ”
สิ่ง ที่น่าชื่นชมและรับรู้ถึงความเป็นคนไทย คือ การหันมาช่วยระดมข้อมูลการสื่อสารอย่างกระตือรือร้น ในการหาล่ามแปลภาษา การระดมบริจาคเลือดสำหรับผู้ป่วย ทุกๆ คนพยายามแชร์และส่งต่อข้อมูลเพื่อให้ความช่วยเหลือ จนสำนักข่าวต่างชาติมองเห็นและกลายเป็นมุมเรื่องดีๆ ที่มาช่วยปลอบโยนคนไทยที่กำลังอกสั่นขวัญหายไปจากเหตุการณ์ร้ายได้ระดับ หนึ่ง สะท้อนความมีน้ำใจโอบอ้อมอารีของผู้คน
3 “แชร์ข้อมูลความรู้เตือนภัย”
หลายๆ เพจ ความรู้ทำสิ่งที่เปลี่ยนไปด้วยการเพิ่มเติม ให้ข้อมูลความรู้เตือนภัยเกี่ยวกับระเบิด วัตถุต้องสงสัย และมีการเอาตัวรอด และหลบภัย ดูแลตัวเองในสถานการณ์ก่อการร้าย เรื่อยไปจนกระทั่งให้ข้อมูลควรรู้ ควรปฏิบัติที่เราสามารถช่วยระงับเหตุการณ์ความรุนแรง ซึ่งนับว่ามีประโยชน์และได้ความรู้มากขึ้น
4. “ระดม ตามล่าหาตัวผู้ต้องสงสัย”
สถานการณ์ล่าสุด คือ การแชร์ภาพผู้ต้องสงสัยที่อาจเป็นมือระเบิด มีการประกาศ ระดม ภาพ คลิป ข้อมูลจากชาวเน็ต ผู้ที่อาจมีเบาะแสสืบสาวภาพและข้อมูลจากเหตุการณ์ ที่อาจตามไปจนถึงเบาะแสอื่นๆ
(ที่ชาวเน็ตอาจต้องเพิ่มความระมัดระวัง คือ เพจต่างๆ ที่ “ปรักปรำ หรือทึกทักเอาว่า คนโน้น คนนี้ คือ มือระเบิด” อันนี้ระวังกฎหมายหมิ่นประมาทนะครับ ถ้าเห็นอะไรแบบนี้ ก็อย่าไปกดไลค์ หรือแชร์ต่อ เพราะเรื่องการประกาศผู้ต้องสงสัย เป็นหน้าที่ของตำรวจ และต้องรออย่างเป็นทางการเท่านั้น อย่าไปเอารูปหน้าเหมือน หน้าคล้าย มาวางรูปคู่ประกบกันนะครับ เพราะผิดกฎหมายทั้งพรบ. คอมพิวเตอร์ และ กฎหมายหมิ่นประมาท
นอกจากนี้ หลายๆ เพจ ยังสามารถให้ข้อมูลเบาะแส เงื่อนงำที่เป็นประโยชน์ ข้อความบางคน อาจจะยังผสมผสานระหว่างข่าวลือ ข่าวมั่ว ข่าวลวง แต่หลายๆ เงื่อนงำ ก็เป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ที่จะช่วยขยายผลการสืบสวน
5. “การเชื่อมโยงข้อมูลที่ลึก รอบด้านมากขึ้น”
เหตุการณ์ข้อมูลข่าวสารนี้ ช่วยเพิ่มรับความกว้างของข้อมูลข่าวสาร ให้ชาวเน็ตเริ่มมองอะไรมากกว่าความขัดแย้งในประเทศที่ผ่านมา มีการส่งต่อและแชร์บทความ ทัศนะมุมมองใหม่ๆ โดยเฉพาะจากสื่อมวลชนต่างประเทศ
มีการเชื่อมโยงเหตุการณ์และเบาะแสใหม่ๆ ที่ทำให้เราสามารถมองเรื่องนี้อย่างรอบคอบและรอบด้านมากขึ้น ซึ่งสื่อมวลชนหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ช่วยได้มากขึ้น (นอกจากข่าวเชิงเหตุการณ์ ปรากฏการณ์แล้ว) ก็ยังพบว่าบทความ บทวิเคราะห์นี้สามารถเขียนและถ่ายทอดชี้เงื่อนงำและวิเคราะห์ผลกระทบได้มากขึ้น
หลายเพจ หลายบทความ ต้องอ่านด้วยความระมัดระวังมากขึ้น และเริ่มมีคนทักท้วง ตั้งคำถามกับข้อมูลต่างๆ ที่เผยแพร่ผ่านโลกออนไลน์ ด้วยการระมัดระวังมากขึ้น
6. “การแชร์ผลกระทบของเหตุการณ์”
ถ้าไม่นับมุกตลก ล้อเลียน เสียดสี ที่ถือว่าเป็นเรื่องไม่ดีนักต่อการนำเอาความรุนแรงมาล้อเลียนบุคคลและเจ้าหน้าที่รัฐต่างๆ สำหรับข้อมูลเรื่องผลกระทบ สภาพบรรยากาศ การท่องเที่ยว ก็นับว่าทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าผลกระทบของระเบิดนั้น สร้างความเสียหายในเชิงเศรษฐกิจได้
แต่น่าสนใจว่าฝ่ายสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่รัฐ รับมือกับการโจมตีหวังผลกระทบนี้ได้เร็ว สังเกตได้จากสำนักข่าวในประเทศ และต่างประเทศ สามารถนำเสนอสกู๊ปข่าวเพื่อเรียกความมั่นใจของประเทศกลับมาได้ในระดับหนึ่ง สื่อมวลชนไทยเองก็สามารถพลิกมุมประเด็นข่าวเพื่อเรียกร้องความสนใจจากนักท่องเที่ยวมาก (ด้วยการนำเสนอบรรยากาศ ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว) ซึ่งนับว่าเป็นการช่วยสถานการณ์ได้ดีระดับหนึ่ง
การนำเสนอข่าวการเยียวยา การสร้างมาตรการป้องกัน เร่งติดตามจับกุม นับว่าเร็วมากสำหรับ 2 วันที่ผ่านมา
อาจมีสิ่งไม่ดีบ้างที่หลุดออกมา เช่น ข่าวลือ ข่าวรั่ว ข่าวสร้างส่งต่อเพื่อสร้างกระแสหวาดหวั่นวิตก แต่เท่าที่ผมสังเกตคิดว่ารอบนี้ชาวเน็ตไทยรับมือกับสถานการณ์นี้ได้ดีมาก อาจมีบ้างเล็กๆ น้อยๆ ที่แชร์ภาพผู้เสียชีวิต หรือคนที่อาศัยกระแสนี้สร้างชื่อ สร้างภาพ สร้างราคาให้กับตัวเอง ต่างกรรมต่างวาระ ก็ถือว่าเป็นเรื่องน่ารังเกียจและควรตักเตือนด้วยเหตุผล
การร่วมกันแสดงความรู้สึกเสียใจ ร่วมกับผู้เสียชีวิต ร่วมประณามต่อผู้กระทำความรุนแรง และช่วยกันใช้ข้อมูลข่าวสารไปในทางที่เป็นประโยชน์ ผมเห็นผู้คนมากมายหันมาร่วมคิดแสดงออกต่อเหตุการณ์ความรุนแรงนี้ไปในทาง สร้างสรรค์มากกว่าทำลาย หลายคนเริ่มมากดรีพอร์ท และพูดคุยตักเตือนกันเองในช่องการแสดงความคิดเห็น หลายคนยอมรับและเห็นด้วยที่จะไม่แชร์ภาพ ข่าว และข้อมูลที่เป็นเท็จ
น่าสนใจต่อไปว่า “ระเบิดราชประสงค์” ได้เปลี่ยนแปลงสภาพข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์ให้เป็นไปในทางที่สร้างสรรค์ และกระตุ้นเตือนพลเมืองเน็ตให้ใช้สื่อออนไลน์อย่างระมัดระวังมากขึ้น
ระเบิดครั้งนี้ทำให้ผู้เสียชีวิตมากมาย และมันจะทำให้สังคมไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เรื่องความมั่นคงและการก่อการร้าย และอาจนำสังคมไทยไปสู่ความรุนแรงที่อาจจะมากขึ้นต่อเนื่องจากนี้
แต่การใช้งานของชาวเน็ต และสื่อมวลชนในครั้งนี้ ก็เป็นสัญญาณที่ดีว่า เราควรและได้เรียนรู้ว่าสื่อออนไลน์นั้น ต้องใช้อย่างระมัดระวังและมีสติ มีวิจารณญาณมากขึ้น
ระเบิดลูกนี้ อาจทำให้ผู้คนในสังคมไทย ได้คิดและหันมารักและใส่ใจ เข้าใจปัญหาของประเทศ และเสพข้อมูลข่าวสารอย่างมีสติมากขึ้นอีกในอนาคต
และเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า สื่อมวลชนต้องปรับตัวเองให้เท่าทันและเดินขึ้นนำสังคมและประชาชน ยกระดับการทำหน้าที่ของตนเองอีกมาก ผมคิดว่าสื่อมวลชนอาจต้องร่วมกันลงมือทำข่าวสืบสวนสอบสวนมากขึ้น กว่าที่เราจะพึ่งสายตาและมุมมองของสือมวลชนต่างประเทศ เราต้องหันมาคิดทบทวนดูว่า การข่าว งานข่าว รายงานข่าว ของสื่อมวลชนไทยที่ผ่านมา เรารู้ตื้นลึกหนาบางอย่างไรต่อภัยและความมั่นคง เพื่อสร้างสถาวะการรับมือเท่าทันกับสถานการณ์ความรุนแรงแบบนี้ และครั้งนี้หรือครั้งต่อๆ ไปในอนาคต
สื่อออนไลน์ในประเทศไทยยังมีหลายสำนัก แต่เราตรวจสอบระแวดระวังภัยมากพอกันแล้วละหรือที่ผ่านมา? คุณภาพข่าวสารจากสื่อมวลชนของเราเพื่อให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารสำคัญ มีดีมีพร้อมมากเพียงไหน
เป็นคำถามและบทเรียนจากระเบิดที่ราชประสงค์