ถึงแม้ว่าธุรกิจหลักของโรงภาพยนตร์ รายได้จะมาจากตั๋วในการชมภาพยนตร์ของผู้บริโภคทั่วไป แต่ในแง่ของลูกค้าองค์กรก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” ต้องการจับให้อยู่หมัด เพราะมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ “จำนวน” การชมภาพยนตร์ของลูกค้าทั่วไปมีจำนวนน้อยลง ถึงแม้ “มูลค่า” จะสูงขึ้น (ตามราคาตั๋ว) ก็ตาม
เมเจอร์ได้ทำการตลาดสำหรับกลุ่มลูกค้าองค์กรมาราว 5-6 ปีแล้ว โดยมีทั้งหมด 3 รูปแบบด้วยกัน คือ 1. จัดอีเวนท์ 2. การเหมาโรงภาพยนตร์เพื่อดูหนังเป็นกลุ่ม หรือ Group Booking และ 3. การจองตั๋วล่วงหน้า ซึ่งในปี 2557 ที่ผ่านมามีการเติบโตถึง 27-30% แต่ตัวเลขรายได้ยังถือว่าเล็กน้อยอยู่ คาดว่าสิ้นปีนี้จะทำรายได้รวม 180 ล้านบาท
การจัดงานอีเวนท์สามารถครองสัดส่วนรายได้สูงสุดในกลุ่มคือ 40% และเป็น Group Booking 30% และจองตั๋วล่วงหน้า 30% ลักษณะของการจัดงานอีเวนท์มีทั้งในรูปแบบของงานแถลงข่าวเปิดตัวสินค้า หรือแคมเปญของแบรนด์ การจัดทอล์คโชว์ การจัดสัมมนาขายตรง หรือแม้แต่จัดงานวันเกิด หรือการขอแต่งงานก็ได้ ส่วน Group Booking เป็นการที่แบรนด์ปิดเหมาโรงภาพยนตร์เพื่อทำกิจกรรมให้ลูกค้าได้ดูภาพยนตร์ฟรี
อภิชาติ คงชัย รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายธุรกิจโรงภาพยนตร์ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “โจทย์หลักของเราในปีนี้ก้คือว่าเราจะทำโรงหนังให้ Beyond Cinema ให้เป็นมากกว่าโรงหนัง นอกจากการเหมารอบชมภาพยนตร์แล้ว พบว่าลูกค้ากลุ่มองค์กร เอเจนซี และออร์แกไนเซอร์ต่างให้ความสนใจในการเช่าพื้นที่โรงภาพยนตร์ในการจัดกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเรามองเห็นศักยภาพในตลาดของลูกค้ากลุ่มนี้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และทางเมเจอร์เองก็ต้องทำการตลาดในรูปแบบใหม่ๆ บ้าง เพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้า”
สิ่งที่เมเจอร์จะใช้เป็นจุดแข็งในการนำโรงภาพยนตร์เข้าไปเป็นหนึ่งในตัวเลือกของลูกค้าองค์กรก็คือ “จอภาพยนตร์” ที่มีขนาดใหญ่ พร้อมกับเทคโนโลยีแสง สี เสียง จะเป็นจุดแตกต่างจากการจัดงานในโรงแรม และในเรื่องของ “ราคา” ที่มีเรทราคาถูกกว่าสถานที่ในโรงแรมเฉลี่ยราว 10-15% ราคาจะมีตั้งแต่หลักหมื่น ไปจนถึงหลักหลายแสนบาท
โรงภาพยนตร์ของเมเจอร์ที่นิยมใช้จัดงานมากที่สุดยังคงอยู่ในโซนใจกลางเมือง ได้แก่ สยามพารากอน, เอ็มควอเทียร์, เอสพลานาด รัชดา, รัชโยธิน และเมกา บางนา เป็นสาขาที่มาแรงมีการเติบโตสูงมาก รองรับกลุ่มลูกค้านอกเมือง
“ในปีนี้ในแง่ของมูลค่าตลาดโรงภาพยนตร์จะเติบโต ซึ่งยังไม่มีตัวเลขออกมาอย่างชัดเจน แต่ในแง่ของจำนวนตั๋วหนังมีอัตราลดลง 5-7% เพราะหน้าหนังมีส่วนอย่างมาก และปีนี้มีหนังไทยเข้าฉายน้อย ซึ่งหนังไทยเป็นคอนเทนต์สำคัญสำหรับลูกค้าต่างจังหวัด ทำให้ในปีนี้สัดส่วนหนังไทยตกไปอยู่ที่ 25% จากปีที่แล้ว 30% ส่วนหนังฮอลลีวู้ด 75% เพิ่มจาก 70% แต่ในปี 2017 จะเป็นปี Golden Year ของวงการภาพยนตร์ เพราะมีหนังฟอร์มยักษ์เข้าฉายเพียบทั้ง Avatar และ Avenger”
สำหรับภาพรวมรายได้ของเมเจอร์ในปี้นี้ ตั้งเป้าอยู่ที่ 7,500 ล้านบาท มีอัตราการเติบโต 2 หลัก แบ่งเป็นรายได้จากตั๋วชมภาพยนตร์ 68% และป๊อปคอร์น เครื่องดื่ม 32% ซึ่งรายได้จากตั๋วแบ่งเป็นในกทม.70% และ ต่างจังหวัด 30%
ส่วนรายได้ของลุกค้าองค์กรยังเป็นสัดส่วนที่เล็กมาก ตั้งเป้ารายได้ในปีนี้ 180 ล้านบาท มีอัตราการเติบโต 35% มีจำนวนงานทั้งหมด 2,400 งาน คาดการณ์ปีหน้ามมีรายได้ 250 ล้านบาท และสามารถขึ้นไปถึง 500 ล้านบาท ภายใน 5 ปี
เปิดแผน “เมเจอร์” รุกตลาดลูกค้าองค์กร… ใช้โรงหนัง จัด “อีเวนท์”
– การจัดงานมี 3 รูปแบบด้วยกัน คือ 1. อีเวนท์ 2. เหมารอบชมภาพยนตร์ และ 3. จองตั๋วล่วงหน้า
– กลุ่มลูกค้าองค์กรมีการเติบโตสูงถึง 27-30%
– ใช้จุดเด่นมีมีมากกว่าโรงแรมคือเทคโนโลยีด้านจอภาพยนตร์ และระบบแสง สี เสียง รวมทั้งมีราคาที่ถูกกว่าโรงแรมราว 10-15%
– สัดส่วนกลุ่มลูกค้าองค์กรแบ่งเป็น กลุ่มบริษัทเอกชน 40% รัฐวิสาหกิจ 30% และรัฐบาล 30%
– ตั้งเป้ารายได้ในปีนี้ 180 ล้านบาท เติบโต 35% และปีหน้า 250 ล้านบาท และสามารถขึ้นไปถึง 500 ล้านบาทภายใน 5 ปี
– ภาพรวมรายได้ของเมเจอร์ ตั้งเป้าสิ้นปีนี้มีรายได้รวม 7,500 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากตั๋วชมภาพยนตร์ 68% และป๊อปคอร์น เครื่องดื่ม 32%
– สัดส่วนของภาพยนตร์ในปี 2558 ภาพยนตร์ไทย 25% และภาพยนตร์ฮอลลิวู้ด 75%
– การขยายสาขาสิ้นปีนี้จะมีทั้งหมด 604 โรง จากทั้งหมด 88 สาขา ตั้งเป้าในปี 2020 จะมีโรงภาพยนตร์ครบ 1,000 โรง เฉลี่ยเปิดปีละไม่จำกว่า 100 โรง (ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ)