บทสรุป 20 ปรากฏการณ์ร้อนฉ่า แห่งปี 2558 (ตอนที่ 1)

ในปี 2558 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป ได้เกิดปรากฏการณ์ทางการตลาดมากมาย ที่เป็นทั้งกระแสบนโลกออนไลน์ และออฟไลน์ โดยที่หลายเหตุการณ์สามารถส่งผลถึงไลฟ์สไตล์ และรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภคเลยก็เป็นได้

แต่เราได้รวบรวม และคัดเลือก 20 ปรากฏการณ์สุดร้อนแรงแห่งปีมาให้ได้ชมกัน

1. ค้าปลีกสุดสตรอง 

ปี 2558 เป็นปีทองของค้าปลีกเสียจริง เพราะได้เห็นการเคลื่อนไหวของตลาดอย่างต่อเนื่องทั้งปี ทั้งผู้เล่น 2 รายใหญ่ในตลาดอย่าง “เซ็นทรัล” และ “เดอะมอลล์กรุ้ป” ก็ต่างผุดบิ๊กโปรเจ็คต์เพื่อสร้างกระแสให้เป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ในปีนี้เซ็นทรัลสามารถสร้างกระแสด้วยการเปิด “เซ็นทรัลเวสต์เกต บางใหญ่” รวมไปถึง “เซ็ลทรัล เฟสติวัล อีสต์วิลล์” ส่วนของเดอะมอลล์กรุ้ปมูฟไปถึงการสร้างย่าน “เอ็ม ดิสทริค” ที่มีเอ็มโพเรี่ยม เอ็มควอเทียร์ และกำลังก่อสร้างเอ็ม สเฟียร์

ทางด้านกรุงเทพฯ ฝั่งเหนือก็ร้อนแรงไม่แพ้กัน เพราะ “ฟิวเจอร์พาร์ค” ก็ผุดบิ๊กโปรเจคต์ “สเปลล์ แอท ฟิวเจอร์พาร์ค” เพื่อรองรับลูกค้าที่มีกำลังซื้อในย่านนั้นที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากการผุดบิ๊กโปรเจ็คต์แล้ว “การรีโนเวท” ก็เป็นอีกหนึ่งการเคลื่อนไหวสำคัญของตลาดค้าปลีกเช่นกัน ห้างต่างๆ ต้องมีการปรับโฉมเพื่อปรับตัวในตลาดรับกับการแข่งขันที่สูงขึ้นเรื่อยๆ อย่าง โรบินสัน ที่มีการปรับโฉมภายใน พร้อมกับเพิ่มความเป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น และ “อิเซตัน” สัญชาติญี่ปุ่นก็มีการรีโนเวทเช่นกัน โดยการเนรมิตให้เป็นบรรยากาศสไตล์ญี่ปุ่น

ส่วนที่มีความเคลื่อนไหวรุนแรง และชัดเจนมากที่สุดคงจะหนีไม่พ้นกลุ่ม “ทีซีซี แลนด์” ธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครือไทยเบฟเวอเรจ ที่ในปีนี้ได้ทำการรีโนเวท พร้อมกับเปลี่ยนคอนเซ็ปต์ศูนย์การค้าพร้อมกันทั้งหมด 3 ศูนย์ด้วยกัน ได้แก่ “พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ” ที่มีการยกเครื่องทั้งหมดทั้งดีไซน์ และเปลี่ยนคอนเซ็ปต์เป็นเทคไลฟ์มอลล์ “ดิจิตอล เกตเวย์” ได้ทำการปรับโฉมพร้อมเปลี่ยนชื่อเป็นเซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยามแสควร์ และ “เกตเวย์ เอกมัย” มีการปรับคอนเซ็ปต์ด้วยการเพิ่มความเป็นไลฟ์สไตล์เข้าไปมากขึ้น  รวมทั้งการเปิดของศูนย์การค้า “เดอะสตรีท” ภายใต้เครือเดียวกัน บริหารงานโดย “ทีซีซี แอสเซ็สต์”

 

2. การเดินทางของไลน์ สู่ซิงเกิ้ล แพลตฟอร์ม 

แม้เทรนด์เรื่อง “สติ๊กเกอร์” จะไม่บูมเท่า 1-2 ปีก่อนที่ไลน์เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยใหม่ๆ แต่ก็ยังมีแบรนด์ที่ยังใช้สติ๊กเกอร์เป็นเครื่องมือทางการตลาดอย่างต่อเนื่องอยู่ ซึ่งไลน์เองก็ได้แตกไลน์บริการออกมาเรื่อยๆ เพื่อรองรับทั้งผู้ใช้งาน และในภาคธุรกิจ

บริการใหม่ๆ ไลน์ได้ตั้งโจทย์ว่าจะต้องครอบคลุมกับชีวิตประจำวันของผู้ใช้มากขึ้น ในปีที่ผ่านมาจึงได้เห็นแอพพลิเคชั่นของไลน์ทั้งในด้านต่างๆ ทั้ง LINE TV, LINE Music, LINE Here, LINE Gift shop, LINE Pay, LINE Shop, LINE@ และ LINE Webtoon เป็นต้น

รวมไปถึงการย้ายค่ายของ “อริยะ พนมยงค์“ อดีต Head Country คนแรกของกูเกิล ประเทศไทย มาสู่การเป็น MD คนแรกของไลน์ ประเทศไทย ก็เป็นอีกหนึ่งก้าวที่น่าจับตามอง เพราะความท้าทายสำคัญของอริยะที่ได้ประกาศกร้าวไว้ว่า ต้องการรวมไลน์ให้เป็นซิงเกิลแพลตฟอร์ม

 

3. การตั้ง “เฟซบุ๊กประเทศไทย” แต่ไม่มีสำนักงานในไทย 

เป็นอีกหนึ่งทิศทางการทำตลาดของเฟซบุ๊คที่ได้เบนเข็มมาประเทศไทยด้วยการเปิดตัวเฟซบุ๊ก ประเทศไทย คาดว่าจะมีการหารายได้ที่มากขึ้น แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่เห็นวี่แววถึงการตั้งสำนักงานในประเทศไทย ซึ่งตอนนี้ทางกลุ่มบริหารของคนไทยก็ยังประจำอยู่ที่สำนักงานที่ประเทศสิงคโปร์อยู่

 

4. บอลไทยฟีเวอร์ 

เป็นกระแสฮือฮามาสักพักใหญ่แล้วหลังจากที่ฟุตบอลทีมชาติไทยสามารถคว้าแชมป์ “เอเอฟเอฟ ซูซูกิคัพ 2014” มาได้ ทำ รวมถึงสร้างผลงานอีกหลายรายการให้คนไทยได้ชื่นใจกันทั้งประเทศ ก็ทำให้เกิดประแส “บอลไทยฟีเวอร์”  ขึ้นมา แบรนด์ต่างๆ ได้มีการโหนกระแสบอลไทยทั้งการดึงโค้ชซิโก้ และนักฟุตบอลทีมชาติมาเป็นพรีเซ็นเตอร์มากมาย ทั้ง แบรนด์ซุปไก่, สปอนเซอร์, กาแฟเบอร์ดี้ และรถซูซูกิ เป็นต้น

 

5. “ใหม่ ดาวิกา” เจ้าแม่พรีเซ็นเตอร์คนใหม่

ในปีก่อนเจ้าแม่พรีเซ็นเตอร์ต้องยกให้สาว “ชมพู่ อารยา เอฮาร์เก็ต” แต่ในปีนี้ดูเหมือนว่าสาว “ใหม่ ดาวิกา” จะขึ้นมาเบียดซะแล้ว และคว้าตำแหน่งนี้ไปครอง โดยที่ขึ้นแท่นพรีเซ็นเตอร์แบรนด์ต่างๆ มากมาย เช่น วีต้า, แมคนั่ม, คอลลี่, ลักซ์, ลอรีอัล, Le Vif, Veet และ ZA เป็นต้น

 

6. คาแรคเตอร์ มาร์เก็ตติ้ง ยังสร้างความฟินอยู่  

เป็นอีกหนึ่งอาวุธที่แบรนด์ต่างๆ ยังคงไว้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การตลาด โดยการใช้ตัวการ์ตูนมาทำการตลาด เพื่อดึงดูดผู้บริโภค ในปัจจุบันในหลายๆ ธุรกิจก็ได้ใช้คาแรคเตอร์ มาร์เก็ตติ้งอย่างแพร่หลาย ทั้งธนาคาร, ค้าปลีก, อาหาร แคมเปญสุดสำคัญแห่งปีก็คือ “ศึกสแตมป์” ของเหล่าบรรดาร้านสะดวกซื้อ ที่ในปี 2558 ได้มีการพร้อมใจทำแคมเปญพร้อมๆ กัน โดยที่ใช้คาแรคเตอร์ต่างกัน เซเว่นได้ใช้ลีรัคคุมะ แฟมิลี่มาร์ท ได้ใช้ตัวการ์ตูนวันพีช และเทสโก้ โลตัสใช้มิกกี้เมาส์ 

 

7. “ตลาดน้ำดำ” ไม่ใช่ฤดูร้อนก็ขายได้

ปกติเราจะได้เห็นตลาดน้ำดำ หรือเครื่องดื่มน้ำอัดลมมีการแข่งขันดุเดือดอย่างมากในช่วงฤดูร้อน แต่ในปีนี้มีการแข่งขันตลอดทั้งปี แม้แต่ช่วงไตรมาส 4 ส่งท้ายปียังมีการส่งแคมเปญใหญ่ๆ ของ 2 แบรนด์ใหญ่ โค้ก และเป๊ปซี่ออกมาให้เห็นในแคมเปญอิโมติคอล และอิโมจิ

การแข่งขันของตลาดน้ำดำอันดุเดือดรวมไปถึงการกลับมาของอาร์ซี โคล่า และบิ๊กโคล่า เป็นอีก 2 แบรนด์ที่กลับมาทำตลาดในประเทศไทยอย่างจริงจังมากขึ้น

 

8. “น้ำมะพร้าว” เครื่องดื่มสุดเนื้อหอม

น้ำมะพร้าวเป็นอีกหนึ่งเครื่องดื่มที่บูมมากในปี 2558 ต่อเนื่องมาจากเทรนด์การดูแลสุขภาพ ทำให้ได้เห็นแบรนด์เครื่องดื่มหลายแบรนด์ลงมาจับตลาดมากขึ้น เพราะมองเห็นโอกาสทางการตลาด มีทั้งแบรนด์ใหญ่ในตลาดอย่าง มาลี, เมจิคฟาร์ม, คิงไอร์แลนด์, ยูเอฟซี และมีการเกิของแบรนด์ใหม่อย่าง โคโค่ แมกซ์ ที่เกิดมาจากโรงงานผลิตวัตถุดิบเกี่ยวกับมะพร้าวอยู่แล้ว

 

9. “ฮิป มาร์เก็ต” ตลาดฮิปๆ ของวัยรุ่น

ปีนี้เป็นปีที่ได้เห็นการเกิดของอีเวนท์ตลาดนัดมากมายสารพัด ทั้งที่อยู่ภายในห้างสรรพสินค้า และนอกห้างสรรพสินค้า แต่ที่เห็นจะเป็นกระแส และถูกพูดถึงมากที่สุดเห็นจะเป็น “อาร์ตบ็อก” เป็นอีเวนท์ตลาดนัดแบบมีคอนเซ็ปต์ด้วยการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ พร้อมกับใส่ความเป็นศิลปะเข้าไป ทำให้อาร์ตบ๊อกกลายเป็นที่นิยมของกลุ่มวัยรุ่น แม้จะมีการเปลี่ยนสถานที่ถึง 3 ครั้งแล้ว จากบริวเณมักกะสัน ไปยัง EZ Park ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ล่าสุดกับบริเวณเอ็ม ดริสทริค ก็ยังมีแฟนคลับตามติดอยู่เสมอ ซึ่งกระแสความนิยมของอาร์ตบ๊อก สามารถก่อให้เกิดอีเวนท์อื่นๆ อีกมากมายอีกด้วย

 

10. “ฟู้ดทรัก” สร้างแบรนด์อร่อยติดล้อ

ฟู้ดทรัก เป็นกระแสที่แจ้งเกิดพร้อมๆ กับตลาดฮิป อย่าง อาร์ตบ๊อกจะมีโซนขายสินค้าแฟชั่น ขายอาหาร และมีโซนฟู้ดทรัก แต่เดิมฟู้ดทรักในประทเศไทยมีเพียงแค่ไม่กี่ราย และส่วนใหญ่จะเป็นอาหารประเภทแฮมเบอร์เกอร์ ฟู้ดทรักที่เป็นที่รู้จักมาทกี่สุดก็คือ “มาเธอร์ ทรักเกอร์” ต่อมาฟู้ดทรักได้กลายเป็นหนึ่งในไอเดียของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการมีธุรกิจเป็นของตัวเอง และมีอาหารหลากหลายมากขึ้น ทั้งอาหารญี่ปุ่น ก๋วยเตี๊ยว อาหารทะเล ไอศกรีม เป็นต้น