รถเอสยูวีกระแสกำลังมาแรงในไทย ล่าสุดค่ายฮอนด้าสยายปีกเปิดตัววางจำหน่าย “บีอาร์-วี” (BR-V) อย่างเป็นทางการ ทำให้ปัจจุบันฮอนด้าเป็นแบรนด์รถตลาด ที่มีเอสยูวีขายครอบคลุมกลุ่มลูกค้ามากที่สุด โดยน้องใหม่บีอาร์-วีเป็นรุ่นเล็กถูกส่งลงสนามเปิดศึกในกลุ่มซับคอมแพ็กต์ หรือบี-เอสยูวี (B-SUV) ส่วนจะปั้นฝันให้ฮอนด้าครองตลาดเอสยูวีแบบเบ็ดเสร็จหรือไม่? ลองมาดูทีเด็ดของบีอาร์-วีเทียบข้อมูลเทคนิคกับคู่แข่ง ว่าจะโดดเด่นเรียกความสนใจจากลูกค้าได้แค่ไหน?!
ทั้งนี้กลุ่มรถซับคอมแพ็กต์เอสยูวี หรือบี-เอสยูวี ส่วนใหญ่จะพัฒนาบนพื้นตัวถังของเก๋งขนาดเล็ก มีขนาดเครื่องยนต์ระดับ 1.5-1.6 ลิตร ซึ่งหากนำช่วงราคาของรถกลุ่มนี้มาเปรียบเทียบร่วมด้วย จะครอบคลุมรถบางรุ่นที่มีเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร และมีขนาดตัวถังใกล้เคียงกัน ทำให้ปัจจุบันรถกลุ่มบี-เอสยูวีมีทำตลาดในไทย 4 รุ่น ประกอบด้วย ฮอนด้า บีอาร์-วี, นิสสัน จู๊ค, ฟอร์ด เอคโค่สปอร์ต และ 2 รุ่นย่อยเริ่มต้นของมาสด้า ซีเอ็กซ์-3 ขณะที่ “ฮอนด้า เอชอาร์-วี” ถึงจะมีขนาดตัวถังและเครื่องยนต์ใกล้เคียง แต่จากการปรับราคาล่าสุดได้ขยับขึ้นไปไม่อยู่ในช่วงเดียวกัน จึงไม่ถือเป็นคู่แข่งโดยตรงของกลุ่มรถบี-เอสยูวี
ตัวถังใหญ่-ความอเนกประสงค์กินขาด
แม้ฮอนด้า บีอาร์-วี จะวางตำแหน่งลงมาบุกตลาดบี-เอสยูวี แต่ขนาดตัวถังนับว่าใหญ่มากกว่ารุ่นพี่อย่าง ฮอนด้า เอชอาร์-วีเสียอีก และหากเทียบกับคู่แข่งในกลุ่มนับว่ากินขาด เห็นได้จากขนาดตัวถังที่ใหญ่กว่าในเกือบจะทุกมิติ(ดูจากตารางข้อมูลเทคนิครถกลุ่มบีเอสยูวี) จะมียกเว้นเพียงเรื่องของความกว้างที่แคบกว่าคู่แข่งทุกราย ดังนั้นเมื่อมองจากภายนอกภาพรวมๆ บีอาร์-วีจึงเป็นซับคอมแพ็กต์เอสยูวีไซส์ยักษ์ ขณะที่ภายในก็มีความใหญ่จากฐานล้อและความสูงกว่ารุ่นอื่นๆ อาจจะดูแคบกว่าแต่การจัดวางก็ไม่ถึงกับทำให้อึดอัด
นี่จึงน่าจะเป็นจุดขายของ “ฮอนด้า บีอาร์-วี” เช่นเดียวกับเก๋งอีโคคาร์บางรุ่นที่ใช้จุดขายดังกล่าว จนทำให้ประสบความสำเร็จทางด้านยอดขายมาแล้ว…
เมื่อบวกกับตัวเลือก 2 รุ่นย่อยของบีอาร์-วี ที่มีให้เลือกระหว่างเน้นขนของกับรุ่นเบาะนั่ง 2 แถว 5 ที่นั่ง กับรุ่นเบาะนั่ง 3 แถว รองรับผู้โดยสารมากถึง 7 ที่นั่ง แต่ไม่ว่าจะอย่างไรฮอนด้านับเป็นค่ายรถที่โดดเด่น ในเรื่องของปรับเบาะที่นั่งให้ใช้งานอเนกประสงค์อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเวอร์ชั่น 2 หรือ 3 แถว เรื่องการขนสัมภาระไม่น่าจะเป็นปัญหาแต่อย่างใด และการที่มีความสูงใต้ท้องรถมากสุด ทำให้มั่นใจในการลุยได้มากกว่าด้วย
ส่วนการออกแบบรูปลักษณ์ดูเหมือน ฮอนด้า บีอาร์-วี และฟอร์ด เอคโค่สปอร์ต จะออกแนวดุดันตามสไตล์ของรถเอสยูวีทั่วๆ ไป ขณะที่มาสด้า ซีเอ็กซ์-3 และนิสสัน จู๊ค ออกแบบให้มีความโฉบเฉี่ยวดูสปอร์ตมากกว่า ซึ่งเป็นไปตามบุคลิคและวัตถุประสงค์หลักของแต่ละค่าย
สมรรถนะไม่ด้อยเป็นรองแค่ซีเอ็กซ์-3
ขุมกำลังของฮอนด้า บีอาร์-วี อาจจะเล็กสุดเหมือนกับ ฟอร์ด เอคโค่สปอร์ต วางเครื่องยนต์ขนาด 1.5 ลิตร แต่นับว่าให้กำลังไม่ด้อยกว่าคู่แข่งที่มีเครื่องยนต์ใกล้เคียงกัน มีเพียงต้องยอมให้กับ “มาสด้า ซีเอ็กซ์-3” ที่มีห้องเครื่องใหญ่กว่ากับขนาด 2.0 ลิตร แต่ก็ยังเด่นกว่านิสสัน จู๊ค ที่มีปริมาตรความจุกระบอกสูบมากกว่า เมื่อผสานกับระบบเกียร์อัตโนมัติแบบ CVT ใหม่ จึงน่าจะส่งกำลังการขับเคลื่อนได้ไหลลื่นทีเดียว
นอกจากนี้บีอาร์-วี ยังมีน้ำหนักรถ 1,206 -1,241 กิโลกรัม(แล้วแต่รุ่น) ทั้งที่มีตัวถังใหญ่กว่าคู่แข่งมาก นับว่าใกล้เคียงกับรายอื่นๆ เมื่อผสานกับเทคโนโลยีของเครื่องยนต์ และระบบส่งกำลัง จึงส่งผลต่อเรื่องอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมัน ตลอดจนปริมาณการปล่อยมลพิษก๊าซ CO2 โดยสามารถทำอัตราดีที่สุดในกลุ่ม (ดูข้อมูลทางเทคนิคจากตารางประกอบ)
อย่างไรก็ตาม หากดูรถในกลุ่มที่มีราคาใกล้เคียงกัน จะเห็นว่าสมรรถนะขุมกำลังและการประหยัดน้ำมัน(ตามป้าย Eco Sticker) “มาสด้า ซีเอ็กซ์-3” นับว่ามีความโดดเด่นสุด ถึงเครื่องยนต์เบนซินจะมีขนาด 2.0 ลิตร แต่จากเทคโนโลยีใหม่สกายแอคทีฟ(Skyactiv) ทำให้เป็นรถที่แรงแต่มีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันและการปล่อยมลพิษต่ำ
ออปชั่นใกล้เคียงไม่เด่นต่างกันพิเศษ
ในเรื่องของอุปกรณ์มาตรฐานและความสะดวกสบาย ไฟหน้าโปรเจคเตอร์เหมือนกับคู่แข่งส่วนใหญ่ แต่บีอาร์-วีไม่ได้เป็นแบบเปิด/ปิดอัตโนมัติ เหมือนกับรุ่นบนๆ ของนิสสัน จู๊ค และฟอร์ด เอคโค่สปอร์ต เช่นเดียวกับรุ่นซีเอ็กซ์-3 แต่ใน 2 รุ่นย่อยที่ราคาชนกับกลุ่มบี-เอสยูวี มาสด้ากลับไม่ติดตั้งเป็นอุปกรณ์มาตรฐานมาให้ และรุ่นเอคโค่สปอร์ตจะเด่นอีกจุดตรงหลังคาซันรูฟปรับไฟฟ้าเพิ่มความหรูหราในรุ่นท็อป
สำหรับอุปกรณ์ภายในเนื่องจากฮอนด้ามีรุ่นเบาะ 3 แถว จึงต้องเพิ่มระบบปรับอากาศผู้โดยสารด้านหลัง ส่วนรุ่น 2 แถว เหมือนกับยี่ห้ออื่นๆ ส่วนระบบปรับอากาศเป็นแบบอัตโนมัติ ที่มาครบทุกรุ่นย่อยจะมีในนิสสัน จู๊ค ส่วนยี่ห้ออื่นๆ จะมีเฉพาะในรุ่นท็อป หรือตัวบนๆ เท่านั้น
ด้านระบบ Infotainment ทุกยี่ห้อจะมีเครื่องเล่นวิทยุ AM/FM ยังรองรับแผ่น CD/MP3 นอกจากเพียงบีอาร์-วี ที่มาแนวทางเดียวกับรถใหม่หลายรุ่นของฮอนด้า แต่สามารถรองรับการเชื่อมต่อสมาร์ทโฟน, USB, HDMI และช่อง AUX สำหรับอุปกรณ์ต่อพ่วงเหมือนกับยี่ห้ออื่นๆ และบีอาร์-วียังมาพร้อมกับจอสัมผัสขนาด 6.1 นิ้ว อาจจะเล็กกว่าซีเอ็กซ์-3 และนิสสัน จู๊ค ที่มากับจอขนาด 7 นิ้ว(รุ่นที่ติดตั้งจอสัมผัสไม่มีในรุ่นเริ่มต้น) ส่วนฟอร์ด เอคโค่สปอร์ต โดดเด่นกับระบบสั่งด้วยเสียง SYNC แต่ไม่มาครบทุกรุ่นย่อยเหมือน มาสด้า ซีเอ็กซ์-3 ที่ติดตั้งระบบสั่งด้วยเสียง(Voice Recognition)เช่นกัน รวมถึงมีระบบนำทาง(Navigator) ให้ในทุกรุ่น ยกเว้นรุ่นเริ่มต้นเหมือนกับนิสสัน จู๊ค
เทคโนโลยี-ความปลอดภัยต้องซีเอ็กซ์-3
ขณะที่เรื่องของเทคโนโลยีและความปลอดภัย ทุกรุ่นทุกยี่ห้อให้มาใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นปุ่มสตาร์ทรถอัตโนมัติ หรือระบบความปลอดภัยพื้นฐานต่างๆ รวมถึงระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน ซึ่งกลายเป็นมาตฐานของรถเอสยูวีรุ่นใหม่ๆ ไปแล้ว จะมีเพียงนิสสัน จู๊ค เท่านั้นที่ไม่ระบบดังกล่าว แต่จู๊คเด่นตรงที่รุ่นท็อปติดตั้งถุงลมด้านข้างและม่านถุงลมมาให้
ทั้งนี้ในหมวดเทคโนโลยีและระบบความปลอดภัย ที่โดดเด่นพิเศษเห็นจะเป็นมาสด้า ซีเอ็กซ์-3 ไม่ว่าจะเป็นระบบประหยัดพลังงาน i-STOP และ i-ELOOP ตลอดจนระบบความปลอดภัยจัดมาให้เต็มที่ แม้จะเป็น 2 รุ่นย่อยเริ่มต้นก็ตาม ยิ่งไม่ต้องพูดถึงรุ่นบนติดตั้งมาให้ครบครันกันเลย เพียงแต่ราคาโดดไปมากกว่าบี-เอสยูวีรุ่นอื่นๆ จึงตัดออกจากการเปรียบเทียบครั้งนี้
สรุป…ทีเด็ดรถบี-เอสยูวี
แน่นอนความชัดเจนในเรื่องของกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการตอบโจทย์รถอเนกประสงค์แบบเอสยูวีเล็ก “ฮอนด้า บีอาร์-วี” นับว่าเป็นทางเลือกที่เหมาะสมอย่างมาก รวมถึงการวางราคากลางๆ ที่ไม่ได้ต่ำหรือสูงมาก และแม้จะวางเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร แต่สมรรถนะก็ยังเด่นกว่าเครื่องยนต์ใกล้เคียงกัน ที่สำคัญมีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันที่โดดเด่นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย
ส่วนผู้ที่ต้องการสมรรถนะและเทคโนโลยี-ระบบความปลอดภัย คงต้องยกให้ “มาสด้า ซีเอ็กซ์-3” แต่อาจจะด้อยกว่าในเรื่องของความอเนกประสงค์ หรือหากเน้นเรื่องราคาและการใช้งานอเนกประสงค์ น่าจะพิจารณาตัวเลือก “ฟอร์ด เอคโค่สปอร์ต” ขณะที่อีกรุ่น “นิสสัน จู๊ค” ราคาที่ถูกปรับขึ้น(ไม่รวมเรื่องแคมเปญมาพิจารณา) และวางตลาดมานาน ทำให้เวลานี้ด้อยกว่าคู่แข่งในทุกๆ ด้านพอสมควร…
ทั้งหมดเป็นการพิจารณาจากข้อมูลทางเทคนิค และไม่รวมเรื่องของบริการหลังการขาย หรือราคาขายต่อ ซึ่งผู้บริโภคหลายท่านคงจะนำมาตัดสินใจร่วม แต่ขอแจ้งว่าควรจะไปลองขับเปรียบเทียบ ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อรถทุกครั้ง…