ท่ามกลางการแข่งขันในตลาดทั้งชาเขียว และอาหารที่รุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของ “โออิชิ กรุ๊ป” ทำให้การทำตลาดต้องมีอะไรใหม่ๆ เพื่อสร้างความแตกต่าง นอกจากการมีแคมเปญโปรโมชั่นที่ช่วยเสริมในเรื่องรายได้แล้ว กลยุทธ์อื่นๆ ก็จำเป็นต้องมีเข้ามาสนับสนุนด้วยเช่นกัน
ในปีนี้โออิชิจึงอัดกลยุทธ์อย่างเต็มสูบทั้งธุรกิจเครื่องดื่ม และอาหาร โดยที่ทิศทางของธุรกิจเครื่องดื่มจะเป็นในเรื่องของการ “ปรับพอร์ตสินค้า” เรียกว่าเป็นการล้างพอร์ตก็ได้ เพราะมีการโละแบรนด์ ปรับแบรนด์ ปรับแพ็กเกจจิ้ง เพื่อให้เข้ากับตลาดมากขึ้น แบรนด์แรกที่โออิชิตัดสินใจโละทิ้งก่อนเพื่อนก็คือ “มิลค์ที” ที่มี 2 รสชาติก็คือโตเกียวบานาน่า และมัทฉะ เพราะตลาดมิงค์ทีมีการลดลงอย่างรุนแรงถึง 43% จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่สามารถหาซื้อที่ร้านกาแฟทั่วไปได้
แบรนด์ต่อไปก็คือ “โอเฮิร์บ” ที่ลุ่มๆ ดอนๆ อยู่ระหว่างความเป็นและความตาย ซึ่งโออิชิไม่ได้ทำการโละออกเสียทีเดียว ยังคงวางจำหน่ายอยู่ เพียงแต่ไม่มีการโฟกัส ไม่เน้นการทำการตลาดมากนัก ปล่อยให้เป็นตามกลไกตลาด
ส่วนพระเอกของโออิชิในปีนี้ก็คือกลุ่ม “ฟรุตที” หรือชาผลไม้ เพราะมองเห็นการเติบโตที่เพิ่มขึ้นถึง 36% และเพื่อต้องการที่จะเจาะกลุ่มวัยรุ่นให้มากขึ้น ฟรุตทีจึงเป็นอีกหนึ่งอาวุธในการที่จะสื่อสารกับกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ ซึ่งโออิชิเองได้ปั้นแบรนด์โออิชิ ฟรุตโตะขึ้นมา แต่ว่าในอนาคตจะมีการปรับโดยการลบแบรนด์ฟรุตโตะทิ้ง ให้เป็นโออิชิกรีนทีเหมือนกันทั้งหมด
เจษฎากร โคชส์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “จริงๆ เรามีแผนในการปรับพอร์ตสินค้ามาตั้งแต่ปี 2557 แล้ว เป็นแผนที่จะโฟกัสตัวใดตัวเดียวเป็นพิเศษ จะสังเกตเห็นว่าจากที่แต่ก่อนจะมีชาคูลซา โอเฮิร์บเราก็มีการปรับ มียกเลิกบางแบรนด์ที่ไม่สร้างรายได้ออกไป อย่างมิลค์ทีทิ้งเลย เมื่อคำนวณจากงบลงทุนในการทำกิจกรรม กับรายได้มามันไม่ช่วยกัน การตัดมิลค์ทีเลยจะเป็นสิ่งแรก แต่ตอนที่ออกมิลค์ทีก็ทำให้ภาพรวมของแบรนด์มีอะไรใหม่ๆ มีความเป็นญี่ปุ่น มันเป็นเทรนด์ในตอนนั้นด้วย ส่วนแบรนด์โอเฮิร์บยังคงวางจำหน่าย แต่ไม่โฟกัส เพราะเราจะโฟกัสความเป็นญี่ปุ่น ในขณะที่ภาพของโอเฮิร์บไม่ค่อยเข้าตาเท่าไหร่ ก็ต้องตัดใจล้าง”
สำหรับพระเอกอย่างฟรุตที เจษฎากรมองว่า เป็นเรื่องของโอกาสทางธุรกิจที่ยังมีอีกเยอะ เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เพราะคนสมัยนี้มองหาอะไรใหม่ๆ และวัยรุ่นก็มองหานวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะมาไดรฟ์ตลาด ฟรุตทีจึงตอบโจทย์ในด้านนี้ แต่ต่อไปแบรนด์ฟรุตโตะอาจจะหายไป จะเป็นการปรับเพื่อให้ผู้บริโภคไม่สับสน จะเป็นแบรนด์โออิชิอย่างเดียว แต่เป็นรสชาติแตกต่างกันไป รสชาติความเป็นฟรุตโตะยังอยู่
“อาหาร” นำร่องโปรผ่อน 0% 3 เดือน
“แค่โปรโมชั่นลด 50% ตอนนี้มันกลายเป็นโปรโมชั่นธรรมดาที่ไม่ว้าวสำหรับผู้บริโภคอีกต่อไปแล้ว” ไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ให้เหตุผลแรกต่อการอัดแคมเปญสุดว้าวของปีนี้
นั่นก็คือการผ่อนชำระค่าอาหารภายในเครือของโออิชิในอัตราดอกเบี้ย 0% นาน 3 เดือน ช่วงเวลาของแคมเปญเดือนมีนาคม-เมษายน ร่วมกับพันธมิตรธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้รับส่วนลด 15% และผ่อนค่าอาหารได้ 0% 3 เดือน แต่ต้องมียอดชำระเกิน 1,500 บาทขึ้นไป
โดยโออิชิได้เลือกช่วงเวลาที่เป็นเดือนที่ขายดีที่สุด ก็คือเดือนเมษายน เพื่อกระตุ้นการกินให้ถี่ขึ้น และช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีการเติบโตราว 30%
“แคมเปญนี้เหมือนเป็นการสร้างความผ่อนคลายให้กับผู้บริโภคมากกว่า อยากกระตุ้นให้เขามาทานอาหารช่วงอื่นบ้าง ไม่ต้องรอเพียงแค่ช่วงเงินเดือนออกปลายเดือน กลางเดือนก็สามารถมาทานได้ ซึ่งแคมเปญในแต่ละปีมันต้องว้าวมากพอ เราก็เลยต้องเปลี่ยนวิธีคิดให้มากขึ้น”
และในปีนี้จะมีการออกสินค้า RTE มากขึ้น เพราะตอบรับพฤติกรรมผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ต้องการความสะดวก เน้นกลุ่มแซนด์วิช และเกี๊ยวซ่า
โดยในปีหน้าอาจจะมีการรีแบรนด์ร้านอาหารให้ทันสมัยขึ้น ในปีนี้จะอยู่ในช่วงการทำรีเสิร์ช และปีหน้าบางแบรนด์จะรีแบรนด์ แต่ก็ต้องดูผลตอบรับจากผู้บริโภคก่อน
สำหรับภาพรวมของทั้งโออิชิ กรุ๊ป มีการใช้งบลงทุนรวม 1,500 ล้านบาท แบ่งเป็นเพิ่มไลน์การผลิตเครื่องดื่ม Cold Aseptic Filling ไลน์ที่ 4 จำนวน 950 ล้านบาท ขยายสาขาร้านอาหาร 390 ล้านบาท และอื่นๆ 160 ล้านบาท การใช้งบการตลาดจะให้น้ำหนักกับสื่อออนไลน์มากขึ้น โดยมีการใช้งบในส่วนออนไลน์ในสัดส่วน 25% จากงบการตลาดทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ใช้ 15% ในปี 2558 โดยจะใช้ช่องทางเฟซบุ๊กเป็นหลัก และมีการทำคลิปวิดีโอเป็นภาพยนตร์สั้น หรือไวรัล
ตั้งเป้าขยายสาขาร้านอาหารอีก 30 สาขา ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ชาบูชิ และอาจจะขยาย 2 สาขาในประเทศพม่า แต่ยังอยู่ในขั้นตอนเจรจา
และตั้งเป้าภาพรวมรายได้ของโออิชิ กรุ๊ปในปี 2558 รวม 12,879 ล้านบาท เติบโต 4% แบ่งเป็นธุรกิจอาหาร 6,572 ล้านบาท ลดลง 0.5% และเครื่องดื่ม 6,307 ล้านบาท เติบโต 9% ตั้งเป้ารายได้ปี 2559 รวม 14,000 ล้านบาท หรือเติบโต 9%