เมื่อ “นันยาง” ลุยรองเท้าผ้าใบผู้หญิง ส่ง “นันยาง ชูก้าร์” เขย่าตลาด

ตลาดรองเท้านักเรียนเป็นตลาดที่ค่อนข้างมีการเติบโตอย่างคงที่ มีมูลค่าตลาด 5,000 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 3-5% ถึงแม้ว่าจะมีกลุ่มลูกค้าประจำอยู่แล้วคือกลุ่มนักเรียน แต่ในทุกๆ ปีก็มีเด็กนักเรียนที่จบการศึกษาเช่นกัน ทำให้โจทย์ใหม่ของตลาดในตอนนี้ก็คือการแตกเซ็กเมนต์ไปยังกลุ่มลูกค้าอื่นๆ เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย
 
“นันยาง” แม้จะทำตลาดมาเป็นเวลากว่า 60 ปีแล้ว ที่วางจุดยืนแบรนด์รองเท้านักเรียนผ้าใบวัยเก๋าที่สามารถครองใจเด็กนักเรียนไทยมาได้อย่างยาวนาน แต่นันยางเองก็ยอมรับแต่โดยดีเลยว่าเป็นแบรนด์ที่ค่อนข้าง Conservative ทำให้ไม่ค่อยได้เห็นการตลาดที่หวือหวาออกมาจากนันยางมากนัก
 
แต่ทิศทางสำคัญก็คือการแตกเซ็กเมนต์ของกลุ่มสินค้าไปกลุ่มอื่นมากขึ้น โดยที่ปี 2558 ได้แตกเซ็กเมนต์สำหรับเด็กเล็ก อายุ 6-9 ขวบ ครั้งแรกในแบรนด์ นันยาง แฮฟ ฟัน (Nanyang Have Fun) หลังจากที่ทำตลาดรองเท้านันยางพื้นเขียว และรองเท้าเตะนันยาง (ช้างดาว) มาช้านาน
 
ในปีนี้ได้เห็นนันยางเขย่าวงการอีกครั้งด้วยการเจาะกลุ่ม “ผู้หญิง” ด้วยการออกรองเท้าผ้าใบสีขาวสำหรับผู้หญิงในแบรนด์ “นันยาง ชูก้าร์ (Nanyang Suger)” โดยทางนันยางเองได้ใช้เวลาในการคิดโปรเจกต์นี้เป็นเวลา 6 เดือน และใช้งบลงทุนในการ R&D ทั้งหมด 3 ล้านบาท
 
 
 
โจทย์หลักของการออกสินค้าตัวนี้ก็คือคำถามที่ว่า “ทำไมผู้หญิงถึงไม่ใส่นันยาง?” เพราะด้วยรูปทรงที่ดูแมนเกินไป จึงดีไซน์สินค้าใหม่ และใช้ชื่อว่านันยาง ชูก้าร์ เพราะสื่อถึงผู้หญิงหวาน มีการใส่กิมมิคด้วยเชือกหลายสีสัน อีกทั้งในตลาดของผ้าใบผู้หญิงยังไม่มีผู้เล่นอย่างจริงจัง ทำให้มีโอกาสธุรกิจสูง และการเติบโตของกลุ่มรองเท้าผู้หญิงก็สูงด้วยเช่นกัน มีการจำหน่ายในราคาคุ่ละ 329 บาท
 
จักรพล จันทวิมล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด กล่าวว่า “เราเป็นผู้นำตลาดรองเท้าผ้าใบมานาน ซึ่งรองเท้าผ้าใบชายเป็นกลุ่มที่เราแข็งแกร่งมาก ทีนี้โจทย์ต่อไปมันอยู่ที่ว่าถ้าเราอยากโต อยากได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มก็ต้องมองหาตลาดอื่น เพราะเด็กนักเรียนก็มีจบการศึกษาทุกปี และปัจจุบันอัตราการเกิดก็น้อยลง ทำให้มามองตลาดผู้หญิงที่จะเป็นตลาดสำคัญ พบว่ายังมีช่องว่างอีกมาก ยังไม่มีผู้เล่นอย่างจริงจัง”
 
 
การเจาะตลาดผู้หญิงในครั้งนี้ของนันยาง สามารถกินรวบได้ทั้งกลุ่มเด็กนักเรียนที่สามารถใส่ไปโรงเรียนได้ เพราะได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการเรียบร้อยแล้ว และอีกกลุ่มหนึ่งคือเด็กวัยรุ่นทั่วไปที่ใส่เป็นรองเท้าลำลองที่เปลี่ยนสีเชือกตามใจชอบได้
 
ส่วนในอนาคตนันยางจะแตกเซ็กเมนต์ไปยังกลุ่มอื่น หรือไปรองเท้าแฟชั่นหรือไม่ จักรพลได้เล่าว่า “นันยางยังคงเป็น Functional Shoes อยู่ ที่เน้นเรื่องการใช้งานเป็นหลัก ถ้าขยับไปเป็นร้องเท้าแฟชั่นคงยังไม่ไป บอกตามตรงว่าตามแฟชั่นไม่ทัน เรามองว่าเป็นนันยางแบบนี้ดีแล้ว ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย ที่สำคัญองค์กรเราค่อนข้าง Conservative จะออกสินค้าอะไรก็ต้องคิดแล้วคิดอีก
 
นันยางได้ตั้งเป้ายอดขายของนันยาง ชูก้าร์ในปีแรกไว้ที่ 300,000 คู่ หรือมีรายได้ 100 ล้านบาท หลังจากที่มีเซ็กเมนต์กลุ่มผู้หญิงเข้ามาเติมเต็มในพอร์ตให้นันยางนั้น ได้ตั้งเป้าการเติบโตของรายได้ที่ 5-8% จากที่ในปี 2558 เติบโต 3-5%
 
ช่องทางการขายหลักของนันยางเป็นเทรดิชันอลเทรด 60% และโมเดิร์นเทรด 40% และแบ่งสัดส่วนรายได้ของสินค้าได้เป็นรองเท้าผ้าใบ 50% และรองเท้าแตะ 50%