Classical Conquerors Crossover Charts

จากคอนเสิร์ตที่เพิ่งผ่านไปของ วง 12 หมวย ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่ผ่านบ้านเราไป ความน่าสนใจของนักดนตรีกลุ่มที่เพิ่งเปิดการแสดงสดผ่านบ้านเราไปนี้เป็นการทัวร์คอนเสิร์ตรอบเอเชียครั้งแรกของพวกเธอ

สิ่งที่น่าสนใจของปรากฏการณ์ทางดนตรีที่เกิดขึ้นกับสาวๆ กลุ่มนี้และกับนักร้องทั้งในและต่างประเทศที่เข้ามาในบ้านเรา เป็นมีลักษณะของกลุ่มคลื่นทางดนตรีแบบหนึ่ง ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “crossover wave” เป็นปรากฏการณ์การข้ามสายพันธุ์ระหว่างดนตรี ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือความสุดขั้วทางดนตรีระหว่างดนตรีคลาสสิก และดนตรีป๊อป ที่เริ่มเกิดขึ้นในสิบกว่าปีที่ผ่าน 12 สาวหมวยของเรากำลังที่จะปรับและรุกคืบ จากตะวันออกไปตะวันตกเป็นคู่เส้นขนานไปอีกทาง

เราคงไม่ปฏิเสธว่าเราไม่รู้จัก Vanessa Mae หรือ Bond นักดนตรีเครื่องสายล้วนชื่อก้องโลก จนเราเรียกไม่ถูกว่าพวกเธอเหล่านี้ว่านักดนตรีป๊อป (หมายถึงดนตรีกระแสหลักที่เป็นที่นิยม) หรือนักเล่นดนตรีแนวคลาสสิกดี ก็เลยมีศัพท์เรียกเฉพาะขึ้นมาว่า ดนตรีข้ามสายพันธุ์ หรือ “crossover”

เราคงต้องยอมรับว่าดนตรีคลาสสิก รวมทั้งเพลงบรรเลง (Instrumental Music) กำลังอยู่ในช่วงขาลงหรือรอการเปลี่ยนผ่านมาแล้วในช่วงเวลาหลายปี (หากไม่นับเพลงบรรเลงที่เติบโตควบคู่โดยมีฟังค์ชั่นการทำงานไปพร้อมกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เช่น เพลง “Soundtrack” ในยุคแรกการบันทึกเสียงดนตรีในยุคแรก จะเป็นการบันทึกเพื่อที่จะรักษาความงดงาม หรือเก็บรักษาคุณค่าทางศิลปะของเสียงให้อยู่ยาวนานที่สุด นั่นหมายถึงเพลงควรจะมีคุณค่าสมควรแก่การบันทึก บทเพลงคลาสสิกจึงมักจะอยู่ในลำดับแรกของการพัฒนาการทางเทคโนโลยี เป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง …

ต่อมาเมื่อคุณค่าของความงามของเสียงลดลงไป ดนตรีก็เปลี่ยนไปเพื่อให้เข้าถึงคนส่วนใหญ่ให้มากที่สุด การเกิดขึ้นของแนวเพลงใหม่ๆ และ Pop Culture นักดนตรีและค่ายเพลง เริ่มบันทึกเพลงคลาสสิกแบบรวมฮิตในวันคริสต์มาส แบบที่นักร้องนักดนตรีคลาสสิกหันมาออกเทปกันเป็นล่ำสันเพื่อเอาใจในช่วงวันเทศกาล ไปพร้อมๆกับการเกิดขึ้นกับวัฒนธรรมเพลงป๊อปและร็อค

ปัจจุบันคำว่าดนตรีคลาสสิก ถ้าไม่นับกลุ่มที่ได้ความยกย่องว่าฝีมือดีในสายอาชีพระดับบนว่ายังคงขายอยู่ ธุรกิจดนตรีเริ่มที่จะเปลี่ยนมา หันหานักดนตรีที่ดูเด็ก หรือมีสิ่งที่เรียกว่า “Pop-star Looks” มีศักยภาพที่ข้ามพรมแดนอย่างไฮอาร์ตและป๊อปอาร์ต กลุ่ม “crossover” จึงเป็นกลุ่มที่ใหญ่ขึ้นมากทุกทีๆ จนถือเป็นคลื่นใหม่ทางดนตรี

เมื่อมองนักร้องนักดนตรีในกลุ่มนี้ กลุ่มนักดนตรีที่เราเคยเห็นและคุ้นหน้าคุ้นตา เรายังเห็น Maksim Mrvica นักเปียโน, Charlotte Church นักร้องโซปราโนสาว หรือ ไกลไปอีกหน่อยหลายๆคนก็คงรู้จักกับ Josh Groban นักร้องหนุ่มเสียงนุ่มหูแบบ Quasi-Classical รวมทั้ง Andrea Bocelli นักร้องเพลงคลาสสิกตาบอดที่เพิ่งจะร้องคู่กับ Celine Dion นอกจากนั้นยังมี นักร้องโซปราโนที่มาได้ดิบดีในเพลงป๊อปอย่าง Sarah Brightman และอื่นๆ อีกมาก

อะไรเป็นตัวทำให้นักร้อง นักเล่นดนตรีชาวคลาสสิกกลุ่มนี้ เดินหน้าก้าวข้ามชาร์ตเข้ามาติดฮิตในบิลบอร์ดต่างๆ ได้

แม้ว่าเรารู้ว่าดนตรีแบบข้ามพรมแดนนี้กำลังขายดิบขายดี แต่ถ้ามองในแง่ของการตลาด เป็นคำถามที่ว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ความนิยมแบบนั้น “ขาย”

หวังเสี่ยวจิง ผู้ก่อตั้งและควบคุมวงของ 12 สาวให้สัมภาษณ์ว่า “12 Girls Band ไม่เพียงเล่นดนตรีแบบใหม่ๆให้คนฟังๆแล้วเพราะ แต่เป็นดนตรีที่ชมผ่านทางสายตาได้ด้วย”…???

*ค่ายเพลงคลาสสิก

EMI ถือเป็นบริษัทที่มีผลงานการบันทึกแผ่นเสียงเพลงคลาสสิกมากที่สุด มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 30 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีผลงานอันมีชื่อของนักร้องนักดนตรีคลาสสิกอย่าง Maria Callas, Elisabeth Schwarzkopf, Yehudi Menuhin หรือ Otto Klemperer

ในยุคเริ่มต้น ผลงานแผ่นเสียงดนตรีคลาสสิกฉบับต้นตำรับ ถูกจำหน่ายออกเฉพาะกลุ่ม เพื่อความซาบซึ้งกับสุนทรีย์ทางโสตผ่านนักดนตรีระดับโลกเหล่านี้ ปัจจุบันแม้ว่าชื่อของ EMI จะเคยเป็นชื่อค่ายเพลงที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก แต่ EMI ก็ได้กลายเป็นตำนานหลังจาก 70 กว่าปีแห่งความยิ่งใหญ่

ขณะที่ EMI Classics ยังคงอยู่ ชื่อดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 1999 เพื่อเอาไว้ใช้เก็บผลงานดาวรุ่งทาง Opera อย่าง Enrico Caruso, Dame Kiri Te Kanawa และ Placido Domingo, นักเปียโน Martha Argerich และงานวาทยากรของ Claudio Abbado

เวลาผ่านไปหลังผ่านการพัฒนาองค์กรของ EMI ไปสู่ความเป็นบรรษัทข้ามชาติ 36 ประเทศ ความคิดเรื่องยอดการจำหน่าย การใช้งบประมาณ กำไรขาดทุนถูกนำมาวิเคราะห์ยังอย่างเข้มข้นในสังคมสมัยใหม่ ในปรากฏการณ์ครั้งแรกที่เกิดขึ้นสำหรับ EMI ในการทำการตลาดแบบ “cross-media marketing campaign” เปลี่ยนผ่านรูปศิลปะการดนตรีไปสู่ภาคความบันเทิง

Nigel Kennedy (ปี1992) จึงถือเป็นเบอร์แรกของโลกคลาสสิกสมัยใหม่ผ่านระบบการตลาดที่ถือเป็นปรากฏการณ์งานขายได้กว่า 5 ล้านแผ่นทั่วโลกอย่างไม่เคยมีมาก่อนกับตลาดเพลงคลาสสิก กับการนำเพลงของชุด The Four Seasons (ที่แต่งโดย Antonio Vivaldi ปี1725) กับงานเพลงที่แต่งขึ้นเมื่อเกือบ 300 ร้อยปีที่แล้วในสมัยบาโรค หากดูที่หน้าตาของเขาก็คงไม่พิสมัย แต่ความเป็นเอกลักษณ์อย่างเขาก็เป็นจุดขายไม่น้อย จนได้ฉายาว่า “The Comeback Kid” ในวัยดึก

ผลงานที่เป็นแคมเปญทั่วโลกที่ถือว่าเป็น Case study สำหรับของที่ไม่ค่อยจะมีคนคิดว่าจะขายได้อย่างเพลงคลาสสิก ก็คือ กรณีของ “Vanessa Mae”

การปลุกปั้นนักไวโอลินสาววัยรุ่นลูกครึ่งไทย-สิงคโปร์ ที่ชื่อ Vanessa Mae (วาเนสสา เม) ให้เป็นจุดสนใจไปทั่วโลก ก่อนหน้านั้น ใครจะนึกได้ว่า สาวสิงคโปร์ จะมาเล่นเพลงคลาสสิกจนโด่งดัง จากเดิมที่จำกัดกันแค่เฉพาะศิลปินผิวขาวถึงจะมีชื่อ แผนการตลาดของ EMI ทำให้แนวดนตรีแบบครอสโอเวอร์เพลงคลาสสิกประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น ผ่านการตกแต่งต่อเติม มีการใช้ภาพของศิลปินยืนถ่ายรูปอยู่ริมทะเล แบบที่ไม่อาจจะจินตนาการนึกขึ้นได้ว่าจะเจอได้บนปกซีดีของนักร้องโอเปร่าแห่งยุคอย่าง Maria Callas หรือใครๆในช่วงเดียวกัน

การพิถีพิถันตั้งแต่การเลือกเพลง ทำปกซีดี มีมิวสิกวีดีโอก็เพื่อการเพิ่มสื่อในวงกว้าง การออกแบบเครื่องแต่งกาย การทัวร์ออกแสดงคอนเสิร์ต การทำวง Back-up และการเปลี่ยนรูปแบบเครื่องดนตรีตัวเองทำไวโอลินไฟฟ้าตัวแรกของโลก ก่อนที่จะมีเครื่องอื่นตามมาอย่าง วิโอล่าและเชลโล่กับ Bond วิธีการดังกล่าวเป็นรูปแบบการสร้างวงที่ถูกใช้ในหลายๆกรณี ทั้ง Bond, Maksim หรือ 12 Girls Band

ก่อนหน้าที่ วาเนสสา เม ออกอัลบั้มในปี 1995 ตั้งแต่อายุ 13 ปี มีผลงานมาแล้ว 3 อัลบั้ม ที่ไม่มีแววใดๆ ว่าจะเปลี่ยนลุคและมากับ EMI แม้ปัจจุบันวาเนสสา เม ปัจจุบันเลือกจะบันทึกเสียงอยู่กับค่าย Sony Classics

ความสำเร็จของภาพลักษณ์ พาเธอไปสู่การจัดอันดับจาก People Magazine ว่าเป็นหนึ่งใน 50 คนที่สวยที่สุดในโลก FHM ก็จัดให้เธอเป็นหนึ่งในผู้หญิงที่สวยที่สุดในโลก นอกจากนั้นในงานแฟชั่นวีคที่ปารีส เธอเป็นนางแบบรับเชิญให้กับ Jean-Paul Gaultier ในชุดฟินาเล่ไปพร้อมๆกับการแสดงสด… ผู้ที่ชักนำเธอเข้าวงการ ชื่อ Mel Bush ชาวอังกฤษที่เป็นที่มาของทั้งทั้ง Bond และ Maksim (Bond ปัจจุบันอยู่ค่าย Universal Classics ในขณะที่ Maksim ยังคงอยู่กับ EMI Classics)

เมล บุช เป็นแมวมอง (Impresario) ชาวอังกฤษที่จุดประกายหันเหสาวน้อยมหัศจรรย์แห่งวงการคลาสสิกมาสู่เส้นทางของป๊อบมิวสิค (ดนตรีกระแสหลัก) จนทำให้เกิด electric violinist คนแรกของโลก ที่นำเอาไวโอลินขึ้นเวทีทำเป็นไวโอลินไฟฟ้า โดยไม่มีใครเคยคิดทำมาก่อน อัลบั้มแรกของวาเนสสา ชื่อค่อนข้างจะเรียบง่ายว่า The Violin Player หลังจากนั้นแม็กซิมก็ใช้อัลบั้มแรกว่า The Piano Player เช่นกัน

*หากนักดนตรีคลาสสิกสมัยนี้ต้องมี Celebrity Appeal

Maksim ปรากฏตัวสู่วงการในชุดหนังสีดำ ด้วยรูปร่างหน้าตาสะโอดสะอง แพรวพราวไปด้วยการแต่งตัวด้วยแบรนด์หรูระยับอย่าง Jean Paul Gaultier, Christian Dior หรือ Helmut Lang เรียกได้ว่าสไตล์ของเขาเป็นเอกลักษณ์อีกแบบที่มีสไตลิสต์คอยกำหนด ว่ากันว่า มักซิมจะมีเอกลักษณ์การแต่งกายเหมือนดาราคือมีสไตล์การแต่งตัวที่เป็นตัวของตัวเอง และจะไม่แต่งทักซิโดขึ้นคอนเสิร์ตเป็นอันขาด

นักเปียโนอายุ 20 คนนี้เล่นงานของ รัชมานินอฟ และโชแปง หรือแฮนเดล โดยเอามาสปินแบบสุดขั้ว แบบเทคโนบีท

หากใครได้ชมคอนเสริต์ที่เต็มรูปแบบของเขา ภายใต้เปียโนหลังเดียว กลับมีการยิงแสงเลเซอร์ มีการปล่อยดรายไอซ์ ไปจนถึงแม้กับมีแดนเซอร์ออกมาเต้นกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

*Classical Crossover Marketing

เมื่อวิเคราะห์ดูแล้ว ปรากฏว่าดนตรีคลาสสิกในตอนนี้กำลังประสบกับปัญหาอย่างหนัก เนื้อหนังของความเป็นคลาสสิกโดยแท้กำลังถูกพยายามทำให้ออกไปสู่วงกว้างมากที่สุด เนื่องมาจากเห็นผลในการทำตลาดเป็นสำคัญ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับ 12 สาวหมวยจากจีน เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนเพื่อให้เห็นภาพการเดินทางทางวัฒนธรรมดนตรีที่ผ่านไปสู่รูปแบบของการเป็นมวลชน ซึ่งวงดนตรีแบบเดิมๆที่เธอเคยเรียนมาจากมหาลัยวิทยาลัยในกรุงปักกิ่งมาดัดแปลงทำเช่นนั้น แล้วจะประสบความสำเร็จนั้นยากมาก!!!

เหตุผลหนึ่งที่วงการคลาสสิกอาจจะไม่สามารถสร้างซุปเปอร์ที่เกิดความนิยมกันจนข้ามสายพันธุ์ไปมวลชนเองได้ ก็เพราะว่าใน โลกของดนตรีป๊อป ให้ความสนใจเรื่องของฝีมือแค่ในระดับที่พอสมควร แต่ให้ความสนใจที่เหนียวแน่นกับ วิธีการแสดงออก เอกลักษณ์ เน้นที่ความงดงามของหน้าตา

ลบมุมมองภาพที่เคยมีอยู่ในตัวตนของนักดนตรีคลาสสิกเน้นฝีมือแบบเดิม ด้วยการสร้างสิ่งที่เรียกว่า celebrity appeal หรือรัศมีดารา ท่าทางการแสดงออก สร้างการเรียกร้องความสนใจด้วยเอกลักษณ์ หน้าตา หรือเสน่ห์บางอย่าง ซึ่งอาจจะไม่เคยเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักดนตรีคลาสสิกแต่เก่าก่อนเมื่อหลายร้อยปี

สิ่งที่น่าสงสัยของการเกิดขึ้นใหม่ หรือจะเกิดอีกต่อไปสำหรับนักดนตรีรุ่นใหม่ เมื่อหากการแจ้งเกิดบนเวทีในฐานะป๊อปสตาร์พวกเขาหรือเธอ ทำได้แค่การเล่นดนตรีคลาสสิกด้วยฝีมือที่อ่อนด้อย แต่กลับมีหน้าตาที่ดี จะเป็นเหตุผลให้กลายเป็นตัวนำชื่อเสียงมาสู่ตัวเอง ได้หรือไม่???

เป็นคำถามที่ต้องตอบกันในใจสำหรับนักดนตรีและนักฟัง ว่า สุดท้ายแล้วเราดึงงานศิลปะลงมาเพื่อรับใช้คนส่วนใหญ่ เพราะมุมมองทางศิลปะ หรือว่าเพราะความจำเป็นเรื่องเงินเป็นขับเคลื่อนกันแน่

ปรากฏการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านของของดนตรีคลาสสิก ไปสู่รูปแบบใหม่อย่างที่ไม่เคยเป็นมา โดยมีการตลาดเป็นตัวตัดสิน เพราะว่า ถ้าเมื่อคน(ส่วนใหญ่) ไม่ชอบเพลงคลาสสิก ก็ตอบได้ง่ายๆว่า แล้วใครจะเป็นผู้ซื้อ คนเล่นดนตรีคลาสสิกก็ไม่มีที่ยืน ไม่มีรายได้ มีอาชีพ ก็ต้องเปลี่ยนแปลงและปรับตัวเป็นธรรมดา

ในขณะที่บางเสียงก็ว่านี่คือ loop ที่กลับมาในรอบ 400 ปีหลังจาก Palestrina, Gabrielli, Bach, Mozart, Beethoven, Paganini, Dvorak, หรือแม้แต่ Gershwin จะกลับมาหลังจากที่ผู้คนกำลังลืมเดอะบีตเทิลส์กันไป

เป็นคำถามมาเมื่อ 400 ปีถัดมา ได้ข้อสรุปเป็นอันว่า ดนตรีคลาสสิกกำลังจะตาย หรือว่าดนตรีคลาสสิกกำลังจะเกิดใหม่กันแน่!!!

ยุคนี้จะเรียกว่ายุคแห่งการล่มสลายของวัฒนธรรมเพลงคลาสสิกหรือไม่ คำตอบอาจจะไม่ใช่อย่างนั้นทั้งหมด แต่ปรากฏการณ์การเกิดขึ้นของเหล่านักร้องเหล่านี้ทำให้เราเห็นได้ว่า แรงสนับสนุนของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ อย่างน้อยก็เป็นการปลุกตลาดที่มีการหลับใหลให้ตื่นขึ้น ในประเทศไทย “แกรมมี่” เอง ก็เพิ่งวางแผง “Bangkok Xylophone” กลุ่มนักดนตรีไทยโดยต่อเนื่องจากกระแสโหมโรง วางแผงไปเมื่อ 1 มิถุนายน โดยกำลังรอผลตอบรับอยู่…

แต่เมื่อนักฟังตื่นขึ้นมาก็มีความต้องการจะพบกับสิ่งที่คาดหวัง ประสบการณ์สอนให้รู้ว่าผู้บริโภคจะหลับต่อ และจะยากขึ้นที่จะยอมถูกหลอกให้ตื่นขึ้นอีก

แม้ในตลาดที่เป็น Niche Market อย่างดนตรีคลาสสิก จะขายได้ประมาณ 3 พันแผ่นได้ในแต่ละประเทศ ก็นับว่าขายดีแล้ว แต่ตัวอย่างอย่าง Bond และ วาเนสสา เม ก็ถือว่าเป็นการสร้างการตื่นตัวแบบกระตุ้นตลาดได้ง่ายมากกว่าที่จะเจาะเข้าไปในกลุ่มคนที่ชอบคลาสสิกอยู่แล้ว

การเกิดขึ้นของดนตรีแนวนี้ไม่ได้ทำให้ตัวเลขของเพลงคลาสสิกแท้ๆอื่นๆจะขายได้มากขึ้นแต่อย่างใด ย่อมเป็นตัวที่จะบอกว่าตลาดของทั้งสองกลุ่มนี้แยกออกจากกัน

Peter Alward ในฐานะประธานของของ EMI Classics เคยให้สัมภาษณ์ว่า “แน่นอนว่าย่อมจะอยู่ที่ค่ายเป็นสำคัญที่จะปลุกปั้นนักร้องให้ออกมาเพื่อขาย แต่ตัวศิลปินเองก็ต้องมีความคิดที่จะอยากให้เป็นอย่างนั้นด้วย”

ในแง่การตลาดจึงเป็นวิธีการที่ค่อนข้างจะเสี่ยง หากการทุ่มงบสร้างลงไปแล้วไม่ประสบความสำเร็จไม่ได้รับผลตอบรับในแง่ที่คุ้มกับต้นทุน เขายอมรับว่าเหตุผลทางการตลาดเป็นตัวตัดขาดวงจรของดนตรีคลาสสิกให้ออกไปจริงๆ การคิดและการตัดสินใจจึงเป็นเรื่องในระยะมากกว่าการหวังผลในระยะสั้น เพื่อให้คนฟังรุ่นใหม่หันมาฟังเพลงในแนวนี้ “ถ้าทุกคนรู้สึกเหมือนโดนหลอก มันแย่ทั้งตัวศิลปินและทั้งค่ายเอง”

แม้ว่า “crossover wave” จะเป็นเพียงแค่ผลการตลาดที่เกิดจากกรรมวิธี mass marketing ที่ธุรกิจบันเทิงขายฝันมักจะเชี่ยวชาญเป็นอย่างดี แต่หากเรามองในมุมที่ใหญ่มากขึ้นก็น่าเศร้า เพราะการตลาดแบบนี้มักจะใช้ได้ผลดีในสังคมที่อ่อนการศึกษา และอำนาจสื่อเป็นใหญ่…

Did you know?

จากการศึกษาของ Knight Foundation ว่ากันว่าในขณะนี้แม้แต่ประเทศอเมริกา สัดส่วนการออกนอกบ้านไปชมดนตรีคลาสสิกอยู่ที่ร้อยละ 4 ส่วนซีดีคลาสสิกที่มีขายอยู่ในตลาดตอนนี้เทียบเป็นร้อยละ 3 ของทั้งอุตสาหกรรมดนตรี ให้ภาพที่น่าเป็นห่วงสำหรับดนตรีคลาสสิกอย่างมาก

Link

http://www.sonyclassical.com
http://www.universalclassics.com
http://www.emiclassics.com
http://www.bondmusic.net
http://www.vanessamae.com
http://www.charlottechurch.com