รถไฟใต้ดินสายที่ 14 ในปารีส

คนอังกฤษเรียกรถไฟใต้ดินว่าอันเดอร์กราวนด์ (Underground) คนอเมริกันเรียกซับเวย์ (Subway) คนฝรั่งเศสเรียก “เมโทร (Metro)” ถ้าเดินไปตามถนนในประเทศทั้งสาม แล้วเห็นป้ายดังที่เขียนไว้ในวงเล็บ ก็ขอให้รู้ว่านั่นเป็นทางลงสถานีรถไฟใต้ดิน ที่จะพาเราไปไหนๆ ได้อย่างรวดเร็ว แต่ป้าย Metro ของฝรั่งเศสดูจะเก๋เกินหน้าใครๆ เพราะทำด้วยเหล็กดัดอ่อนช้อยงดงามด้วยศิลปะแบบอาร์ต นูโว

คน (ทำ) งานในประเทศฝรั่งเศสชอบนัดหยุดงาน เขาทำจนกลายเป็นเรื่องปรกติ เป็นกิจกรรมประจำวันเราในฐานะนักท่องเที่ยวเคยเจอพิษสงเข้ากับตัวเองอยู่บ้าง เช่น เมื่อคราวไปเที่ยวปราสาทแถบลุ่มน้ำลัวร์ เราต้องเดินไต่เนินเขา ระยะไม่ไกลแต่ก็ไม่ใกล้ ขึ้นไปถึงหน้าประตูรั้วทางเข้าปราสาทมีป้ายบอกว่า หยุดงานทั่วประเทศ ให้เดินชมบริเวณสวนของปราสาทได้ แต่ตัวปราสาทไม่เปิด

วันต่อมาเราไปปราสาทชองบอร์ด (Chambord) ใจเต้นตุ้มๆ ต่อมๆ กลัวเสียเที่ยวเพราะป้ายเมื่อวานบอกว่าเป็นการนัดหยุดงานทั่วประเทศ ตอนไปถึงชองบอร์ดเห็นนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งยืนทำหน้าเลิกลั่กละล้าละรัง เดาว่าคงมีอะไรไม่ชอบมาพากล แต่ไหนๆ มาถึงแล้ว ลงรถไปดูให้แน่ๆ ดีกว่า

แล้วก็จริงอย่างที่กลัวคือ พนักงานที่นี่นัดหยุดงาน แต่หยุดแบบใส่ความคิดสร้างสรรค์และความเห็นอกเห็นใจนักท่องเที่ยวตาดำๆ ลงไปหน่อย คือทั้งตัวปราสาทและสวนป่ามหึมาเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ โดยมีพนักงานจำนวนหนึ่งมาทำงาน เช่นยังมีพนักงานนั่งประจำอยู่ที่ช่องขายตั๋ว นักท่องเที่ยวต้องเข้าแถวเอาตั๋ว ตั๋วที่ได้มาหน้าตาเหมือนปรกติ เพียงแต่มีคำ ว่า GRATUIT ซึ่งแปลว่า “ให้เปล่า” หรือ “อภินันทนาการ” พิมพ์ไว้ หมายความว่าเราได้เข้าชมโดยไม่ต้องเสียสตางค์ ตอนเดินเข้าก็ยังมีพนักงานเช็คตั๋วเหมือนปรกติ ในตัวปราสาทมีเจ้าหน้าที่ดูแลโดยทั่วไปบ้าง แต่จะไม่มีบริการอื่นๆ เช่นไม่มีไกด์พานำเที่ยว ไม่มีคนจุดไฟในเตาผิง ไม่มีคนทำความสะอาด ฯลฯ อากาศช่วงเดือนเมษายน -พฤษภาคม บางครั้งก็ยังเย็นและมีฝนตก เมื่อไม่มีใครจุดไฟในเตาผิง ปราสาทมหึมาที่สร้างด้วยหินเก็บกักความเย็นไว้ได้มาก ยิ่งเดินยิ่งหนาวขึ้นเรื่อยๆ ตัวสั่นงันงก น่าสงสารมาก

*เมโทรสายที่ 14

พนักงานของรถไฟใต้ดินที่ปารีสก็ชอบประท้วงอยู่เสมอ บางครั้งอาจไม่ถึงกับหยุดงานโดยสมบูรณ์แต่อาจจะจะทำงานให้ช้าลง จนตารางเวลารวนเรกันไปหมด คนฝรั่งเศสคงเห็นเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว แต่ก็สร้างความเดือดร้อนให้คนใช้บริการอยู่เป็นประจำ รัฐบาลฝรั่งเศสต้องออกมาแก้ปัญหาด้วยการสร้างรถใต้ดินสายใหม่คือสายที่ 14 ที่ไม่ใช้พนักงานควบคุมรถ !?

ใช่แล้ว… ไม่มีคนขับ แต่เป็นระบบอัตโนมัติ ทุกอย่างถูกตั้งโปรแกรมเอาไว้ล่วงหน้าและการควบคุมมาจากศูนย์ อีกเหตุผลหนึ่งของการสร้างก็คือ เพื่อแก้ปัญหาความคับคั่งซึ่งปรกติในชั่วโมงเร่งด่วนวันธรรมดาก็มีมากอยู่แล้ว แต่ในวันที่มีการแข่งขันกีฬา(ฟุตบอล) ยิ่งรุนแรงหลายเท่า

รถไฟใต้ดินไร้คนขับนี้ จึงเป็นจุดเชื่อมกับสถานีทั้งหลายที่ตั้งอยู่โดยรอบสนามกีฬาแห่งชาติ ทำให้สามารถรองรับถ่ายเทผู้คนที่ออกมาจากสนามทีเดียวเป็นจำนวนมาก ๆ ในวันที่มีการแข่งขันได้อีกทางหนึ่งด้วย เมโทรสาย 14 เป็นสายที่วิ่งจากใจกลางเมืองย่านธุรกิจคับคั่ง สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารจากสายเดิมที่แออัดอย่างมากได้ด้วย ถ้าจะมีการนัดหยุดงานจากสายอื่น ๆ ก็ยังมีสายใหม่นี้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนลงได้บ้างเล็กน้อย

*น่าสนใจตรงความแตกต่าง

นอกจากจะเป็นรถไฟใต้ดินแบบไร้คนขับแล้ว การออกแบบอื่นๆ ก็มีความพิเศษเช่นมีล้อเป็นยาง ทำให้เงียบและนุ่มนวลกว่าล้อเหล็ก ชานชาลาบริเวณสถานีจะมีประตูอัตโนมัติปิดสนิท กั้นระหว่างผู้โดยสารที่ยืนรอรถกับบริเวณรางเอาไว้โดยสมบูรณ์ ป้องกันความปลอดภัยเอาไว้ชั้นหนึ่งก่อน เพราะหากคนเกิดพลัดตกไปที่ราง คนขับไม่เห็นเพราะไม่มีคนขับ เบรคก็ไม่ได้ เพราะทุกอย่างถูกกำหนดไว้หมดแล้ว เขาจึงต้องทำประตูปิดสนิทจนกว่ารถไฟจะจอดเทียบชานชาลา ประตูรถไฟกับประตูชานชาลาจะตรงกันพอดีและทำงานประสานปิดเปิดพร้อมกัน (รถไฟใต้ดินของเราก็เป็นระบบเช่นนี้)

ส่วนวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างสถานีจะเป็นชนิดทนทานและดูแลง่าย เช่นผนังของสถานีจะทำด้วยวัสดุที่ไม่ติดสีที่พวกจิตรกรมือสมัครเล่นทั้งหลายชอบเอาสีสเปรย์มาฉีดพ่น พื้นจะเป็นยางที่ดูเหมือนเซรามิค แสงในสถานีจะสว่างกว่าสถานีรุ่นเก่า ทางเข้าทางออกจะสังเกตเห็นได้ง่ายกว่า บริเวณสถานีจะกว้างขวางโปร่งโล่งกว่า เป็นต้น

วันนั้น อ้น เพื่อนรุ่นน้องที่ใช้ชีวิตอยู่ในปารีสพาลูกสาวลูกครึ่งฝรั่งเศสชื่ออรินมา เพื่อจะพาเราไปนั่งเมโทรสาย 14ที่ว่านี้ ทันทีที่เราขึ้นรถได้ อรินรีบวิ่งไปตู้หน้าสุด หวังว่าจะได้นั่งเก้าอี้ตัวแรกเพราะเราจะเห็นรางและอุโมงค์มืดๆ ที่ทอดยาวอยู่ข้างหน้าเรา โดยไม่มีห้องคนขับมาบัง แต่เก้าอี้แถวแรกมีคนนั่งอยู่แล้ว เราก็เลยต้องนั่งตัวถัดมา แต่ก็ใกล้พอที่จะมองออกไปเห็นอุโมงค์มืดๆ รู้สึกถึงความตื่นเต้นเมื่อรถไฟสองขบวนวิ่งสวนกันด้วยความเร็วสูง อ้นบอกว่านอกจากคนปารีสแล้ว นักท่องเที่ยวก็ชอบมาลองนั่งรถไฟสายนี้

เมโทรสาย 14 เปิดใช้ครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2541 เป็นสายสั้น ๆ ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร มีทั้งหมดเพียง 7 สถานี เริ่มจากสถานีชื่อ “แมดแลง” ซึ่งอยู่ใจกลางกรุงปารีสไปสุดสายที่สถานีชื่อ

“บลิบิโอแต็ค ฟรองซัวส์ มิตเแตรองด์” “บลิบิโอแต็ค”แปลว่า ห้องสมุด ฟรองซัวส์ มิตเตรองด์ ซึ่งเป็นชื่ออดีตประธานาธิบดีของฝรั่งเศส คงจะเดากันได้ว่าที่สุดสายของรถไฟใต้ดินแห่งนี้มีหอสมุดแห่งชาติใหม่ ใหญ่มากตั้งอยู่ เดิมบริเวณนี้เคยเป็นชานกรุงปารีสซึ่งตอนนี้ก็ไม่น่าจะเรียกว่าชานเมืองแล้ว เพียงแต่ไม่ใช่ย่านธุรกิจหรือย่านนักท่องเที่ยว การเดินทางอันเร้าใจบนรถไฟหนึ่งเที่ยวก็ใช้เวลาประมาณ 10 นาทีเท่านั้น

*รถไฟสายวัฒนธรรม

สิ่งแตกต่างที่น่าสนใจเกี่ยวกับรถไฟสายนี้อีกอย่างหนึ่งก็คือ ความร่วมมือร่วมใจกันระหว่างทางการนครปารีสกับเอกชน สถานีใต้ดินแต่ละแห่งจะมีการตกแต่งที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง

วิธีการก็คือเขาจะเอาโรงเรียนด้านการออกแบบบ้าง โรงเรียนเทคนิคบ้าง หรือบริษัทห้างร้านที่เกี่ยวข้องกับงานด้านศิลปะหรือการออกแบบ ที่ตั้งอยู่ในเขตโดยรอบของแต่ละสถานีมาช่วยคิด ช่วยวางแผนว่าอยากให้สถานีตรงนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร เขตนั้นๆ มีประวัติศาสตร์หรือเรื่องราวอะไรบ้างที่จะเอามาจัดแสดงเพื่อให้น่าสนใจ น่าติดตามและน่าเรียนรู้ทั้งสำหรับคนฝรั่งเศสเองและนักท่องเที่ยว เช่นสถานีแมดแลงจะมีตู้จัดแสดงงานการออกแบบตกแต่ง ตู้แสดงงานทางด้านสถาปัตยกรรม และตู้ประกาศกิจกรรมทางด้านศิลปวัฒนธรรมของเขตนี้ ส่วนสถานีปิรามิด จะเน้นการแสดงงานศิลปะร่วมสมัย สถานีชาเตอเลต์ จะมีจอวิดีโอฉายหนังเรื่อง “งานสร้างสรรค์ของคนหนุ่มสาว” เป็นต้น รถไฟใต้ดินสายนี้จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “รถไฟสายวัฒนธรรม”

*สวนสาธารณะ VS โรงอาหาร ทางเท้าและลูกชิ้นปิ้ง

เราลงที่สถานี กูร์ แซงต์ เตมิลิยง (Cour Saint Emillion) ซึ่งเป็นสถานีก่อนสุดท้าย อ้นเล่าว่า ในสมัยโบราณ เหล้าองุ่นจากเมืองทางใต้ จะถูกขนมาทางเรือเป็นถังๆ และนำขึ้นมาเก็บเอาไว้ในโรงเก็บที่สร้างเป็นถ้ำจำลองเลียนแบบถ้ำในภูเขาที่ใช้เก็บถังเหล้าองุ่น เขาเลยเอาชื่อเมืองแซงต์ เตมิลิยงที่ว่านี้มาตั้งเป็นชื่อเมืองตรงชานกรุงปารีส และกลายมาเป็นชื่อสถานีรถไฟใต้ดินในที่สุด เรายังเห็นถ้ำที่ว่า แต่ตอนนี้ถูกแปลงให้เป็นร้านค้าและร้านอาหารแล้ว

เหตุผลที่เราลงที่สถานีนี้ก็เพราะอ้นจะพาไปดูโรงเรียนที่อรินเรียนซึ่ง เป็นโรงเรียนประถมเล็กๆ มีอาคารอยู่หลังเดียว หน้าตาเหมือนเอาตู้สินค้ามาต่อกันสองชั้น ติดกับโรงเรียนมีสวนสาธารณะชื่อยิคชัค ราบิน ขนาดของสวนไม่ใหญ่นัก ยิคซัค ราบิน เป็นอดีตประธานาธิบดีของอิสราเอลที่ถูกลอบยิงเสียชีวิตโดยคนยิวที่ต่อต้านนโยบายเดินสายกลางของราบิน คนฝรั่งเศสเขาก็ใจกว้าง แม้ราบินจะเป็นเป็นคนชาติอื่น แต่เขาก็ยกย่องเอามาตั้งเป็นชื่อสถานที่ในประเทศของเขา

อ้นเล่าว่า พอตอนบ่ายโรงเรียนเลิก เด็กๆ จะวิ่งห้อกันเข้าไปเล่นในสวนอย่างมีความสุข วิปถามว่า “แล้วไม่มีลูกชิ้นปิ้ง หมูสะเต๊ะ ก๋วยเตี๋ยว มาขายที่หน้าประตูโรงเรียนหรือครับ” น้าอ้นหัวเราะชอบใจบอกว่า “ไม่มีหรอกค่ะ ไม่เหมือนที่เมืองไทย” วิปบอก “ผมก็ว่าอย่างนั้น พวกผมก็มีความสุขหลังเลิกเรียนที่จะกรูกันไปที่โรงอาหาร เข้าแถวซื้อน้ำซื้อขนม ก๋วยเตี๋ยว” เราแอบเสริมอยู่ในใจ “แถมนอกประตูโรงเรียนยังมีพ่อค้าแม่ค้าอีกไม่รู้กี่เจ้าวางแผงขายของให้เด็กๆ ได้รุมซื้อกัน ทุกวันหลังโรงเรียนเลิกจึงมีทั้งรถ ทั้งคนขายและคนซื้อมะรุมมะตุ้มกันบนทางเท้าและบนถนนเต็มไปหมด”

ในสวนค่อนข้างเงียบสงบ อากาศหนาวเย็นเหมือนทุกวัน รู้สึกดีที่ได้ออกมาจากใจกลางกรุงปารีสที่พลุกพล่านไปด้วยผู้คนและร้านค้า เดี๋ยวเราจะนั่งเมโทรสาย 14 ย้อนกลับไปที่สถานีแมดแลงอีก อรินก็เหมือนเดิมคือ ขึ้นรถได้ก็วิ่งไปตู้แรกหาเก้าอี้หน้าสุด อ้นว่า อรินขึ้นสายนี้มาไม่รู้กี่สิบเที่ยวแล้ว แต่ก็ยังตื่นเต้นสนุกสนานทุกครั้งไป ก็ตามประสาเด็ก (เล็ก) ส่วนเด็ก (โต) อย่างวิป ให้ตื่นเต้นยังไง ก็ต้องวางมาดเอาไว้ก่อน

*รถไฟใต้ดินสายที่ 1 กรุงเทพฯ

ป้ายสถานีรถไฟใต้ดินกรุงเทพฯ คงไม่มีสัญลักษณ์อื่นใด นอกจากป้ายชื่อสถานีกับตราสัญลักษณ์ของบริษัทรถไฟฟ้ามหานคร (รฟม.) ตอนนี้เราก็มีระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพกับเขาเหมือนกัน

รถไฟใต้ดินสายที่ 1 ปารีส กรกฎาคม พ.ศ. 2443
รถไฟใต้ดินสายที่ 1 กรุงเทพฯ กรกฎาคม พ.ศ. 2547

ไชโย…