ในปัจจุบันหลักสูตร MBA ของสถาบันต่างๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด แม้มีความต้องการจากผู้เรียนจำนวนมาก แต่เมื่อมีผู้ผลิตรายเดิมครองตลาดอยู่ ทางออกของผู้ผลิตรายใหม่คือการแตกย่อยหลักสูตรให้มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เพื่อแสวงหากลุ่มเป้าหมายเฉพาะและยึดครองตลาดนั้นๆ ไว้ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็เกิดขึ้นด้วยหลักการเช่นเดียวกันนี้
โดยเริ่มเปิดตัวในปี 2541 ด้วยหลักสูตร Master of Management (International Program) ที่อาคารไทยพาณิชย์ปาร์คพลาซา จากนั้นเมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มกระเตื้องขึ้นในปี 2543 จึงเปิดหลักสูตรภาษาไทย ที่อาคารรัจนาการ ถนนสาทร เพื่อการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด จนกระทั่งปี 2545 จึงขยายไปเปิดวิทยาเขตนครสวรรค์ เปิดสอนสามสาขาวิชาคือ สาขาการจัดการทั่วไป สาขาการจัดการของผู้ประกอบการ และสาขาการจัดการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันมีนักศึกษารวมประมาณ 700 คน
ศ.เลียงชัย ลิ้มล้อมวงศ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัย กล่าวว่า การก่อตั้งวิทยาลัยมีจุดประสงค์ที่จะผลิตมหาบัณฑิตด้านการจัดการในสาขาต่างๆ ให้มีความรู้ในทฤษฎีการจัดการสมัยใหม่ โดยมีปรัชญาของหลักสูตร คือ การสร้างและพัฒนาศักยภาพ ทรัพยากรบุคคลให้เป็นผู้นำธุรกิจ และเป็นผู้นำสังคมรุ่นใหม่ ที่มีคุณธรรมและจริยธรรม มีความรู้ในเชิงวิเคราะห์ สามารถนำทฤษฎีสมัยใหม่มาประยุกต์ให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานในยุคปัจจุบัน อย่างมีประสิทธิภาพ
“เป้าหมายของเราคือการเป็นสถาบันทอปเท็นของเอเชียให้ได้ภายในปี 2553 โดยโฟกัสที่ 3 ปัจจัยหลักคือ คณาจารย์ นักศึกษา และอุปกรณ์การเรียนการสอน โดยจะจ้างอาจารย์ Full-time มากขึ้น หลักสูตรนานาชาติจะจ้างอาจารย์เพิ่มจากอเมริกา เยอรมัน สวีเดน เพื่อสร้างความเป็น World Class Lecturer โดยเตรียมงบประมาณไว้ราว 10 ล้านบาท ส่วนนักศึกษาจะลดจำนวนรับลง สัดส่วนที่รับ 1 : 5 จากจำนวนผู้สมัคร และเพิ่มเกณฑ์คะแนน TOEFL เป็น 530 คะแนน จะลงทุนด้านเทคโนโลยีมากขึ้น สร้าง Incubation unit เป็นห้องปฏิบัติการธุรกิจจำลอง ในอนาคตกำลังจะเปิดหลักสูตรปริญญาเอกเพิ่มเติม เพราะเห็นแนวโน้มความต้องการของตลาด ซึ่งนิตยสาร The Economists ยังระบุว่าอนาคตกำลังจะเข้าสู่ The future of business education”
ในขณะที่มหิดลเฉพาะเจาะจงสร้างหลักสูตรปริญญาโทด้านการจัดการ ไม่ใช่ MBA เช่นสถาบันส่วนใหญ่ ความคาดหวังของผู้ที่ตัดสินใจเลือกเรียนที่นี่ก็มีความเฉพาะเจาะจงเช่นกัน อุดม พัฒนวรกิจ Strategic Customer Section Manager บริษัท Advance Agro จำกัด (มหาชน) เลือกเรียนสาขาการจัดการทั่วไป ด้วยเหตุผล เพื่อให้เข้าใจกระบวนการบริหารจัดการ และประชุมกับผู้บริหารระดับสูงได้อย่างเข้าใจและตามทัน
“ทำงานที่นี่มา 9 ปีเริ่มงานในตำแหน่งเซลล์ ไต่ระดับมาเรื่อยๆ จนอยู่ในตำแหน่งนี้มา 4 ปีแล้ว เห็นความจำเป็นที่ต้องหาความรู้เพิ่มเติม เพราะเมื่ออยู่ในระดับ Manager ต้องรู้หลักที่จะเอาไปใช้บริหารทีมได้ เห็นว่าหลักสูตรของมหิดลตรงกับความต้องการใช้งาน และชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยมหิดลมีจุดแข็งด้านวิทยาศาสตร์ เชื่อว่าจะมีการการถ่ายทอดแนวคิดทฤษฎีที่นำไปสู่การปฏิบัติจริงได้”
นักศึกษาอีกรายคือ นาถลดา บุณยมาลิก เจ้าของกิจการ บริษัท Bed and Bath Design จำกัด เลือกเรียนสาขาการจัดการของผู้ประกอบการ มีประสบการณ์การทำงานถึง 12 ปี เลือกเรียนหลักสูตรของมหิดลเพราะต้องการทันเหตุการณ์ อัพเดตความรู้และแนวคิดการจัดการไม่ให้ตกยุค คาดหวังว่าจะมีความเข้าใจในวิชาการต่างๆ ที่จำเป็นต่อการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะด้านการเงิน และนำไปใช้ในการบริหารกิจการที่ทำอยู่
ส่วน ปรียามาศ นิ่มพิทักษ์พงศ์ Deputy Manager วังน้ำเย็นรีสอร์ท ซึ่งทำงานมาแล้ว 4 ปี ตัดสินใจเลือกเรียนสาขาการจัดการทั่วไป ด้วยเหตุผลว่า การทำธุรกิจบริการก็ต้องการความรู้ด้านการจัดการเช่นกัน ต้องการทฤษฎีความรู้ต่างๆ ที่จำเป็นทั้งบัญชี สถิติ รวมทั้งการตลาด นอกจากนั้น ด้วยความที่ยังอายุน้อยเพียง 28 ปี ปรียามาศเลือกมาเรียนเพราะคาดหวังการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากเพื่อนร่วมชั้น เพื่อเป็นกรณีศึกษาและปรับใช้กับงานของตัวเองด้วย
นอกจากนั้น ทุกคนต่างเชื่อมั่นอย่างสูงต่อแบรนด์ “มหิดล” และคำขวัญที่ว่า Where Theory Meets Practice