Advertising in Penang : เรียบ เงียบ สงบ

การไปปีนังตามคำเชิญของ Fuji Xerox Printers โดยการประสานงานของ Spark Communications ครั้งนี้ นอกจากจะได้ชมโรงงานผลิต printer รุ่น Phaser 8400 ที่นิคมอุตสาหกรรมปราอิแล้ว ยังได้เยี่ยมๆ มองๆ สื่อโฆษณาในเมืองปีนัง เก็บเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาฝากกัน

หากจะคาดหวังความหวือหวาจากโฆษณาทั้ง indoor outdoor print ad หรือแม้กระทั่ง tvc จากเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซียคงเป็นไปได้ยาก

หากจะเรียกความรก ความถี่ที่พบเห็นได้ทุกหัวมุมถนนของบรรดา billboard wrap ad หรือแม้กระทั่ง Brochure (ที่ไม่แน่ใจว่า สักกี่สิบเปอร์เซ็นต์ที่ลงไปกองในถังขยะ) ว่าเป็นการพัฒนาของวงการโฆษณาและกลยุทธ์การตลาดด้าน below the line ที่แสนเก๋แล้ว กรุงเทพฯ เรากินขาดปีนังหลายช่วงตัว แต่จะว่าไปไม่ต้องถึงขั้นเปรียบเทียบกับมหานครของเราก็ได้ เทียบกับจังหวัดเล็กๆ ของไทย ก็เห็นว่าปีนังด้อยพัฒนาด้านนี้เป็นอย่างมาก

Taxi ad สื่อโฆษณาแบบใหม่ที่ปรากฏให้เห็นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาในไทย หาได้พานพบไม่ในแท็กซี่เมืองปีนัง ความเปล่าเปลือยต่างหากที่มีอยู่

แท็กซี่ (ไร้มิเตอร์) ของปีนังอยู่เป็นที่เป็นทาง เฉพาะ airport สถานีขนส่ง ห้างสรรพสินค้า เท่านั้น ขณะที่ระบบขนส่งมวลชนของปีนังไม่เลอเลิศเหมือนรถเมล์บ้านเรา ที่มียุบยับ มีเครือข่ายทุกเส้นสาย (แม้บางครั้งจะรอนานแสนนานก็ตาม) แถมถูกห่อหุ้มด้วยสินค้านานาชนิดที่โหมประโคมโปะลงไปทั่วทั้งคัน

รถเมล์ปีนังมีน้อยสาย ผ่านเฉพาะสถานที่สำคัญๆ เช่น ย่านศูนย์การค้าแถบตึก Komtar ตึกที่สูงที่สุดในปีนัง (59 ชั้น) bus ad มีให้เห็นบ้าง ไม่กระจ่างตานักเพราะน้อยเหลือเกิน

ด้วยการคมนาคมที่ไม่สะดวกสบาย คนปีนังส่วนใหญ่มีรถขับกันแถบทุกครัวเรือน รถแห่งชาติ เช่น Proton มีให้เลือกหลากรุ่น แถมราคายังถูก เพราะทางการมาเลเซียเขาส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ นับเป็นเรื่องที่น่ายกย่อง

ส่วน billboard อาจจะเป็นเพราะกฎหมายผังเมืองที่จำกัดความสูงของ billboard ที่ปีนัง เราจึงพบเห็น billboard ที่สูงกว่าเพื่อนเพียง 1.30-2 เมตรเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ billboard สูงๆ เห็นน้อยมากแม้จะอยู่ตามถนนสายหลักก็ตาม และไม่ได้มีลูกเล่นแพรวพราวเหมือน billboard บ้านเรา ขณะที่การ wrap ตึกลืมไปได้เลย

ความที่ตึกก็เป็นตึก แท็กซี่เป็นแท็กซี่นี่เอง ที่ทำให้ปีนังดูสะอาดตา ทัศนวิสัยเยี่ยม ไร้วัตถุที่เกินความจำเป็น และการวางผังเมืองที่ให้ความสำคัญกับต้นไม้เป็นหลัก ทำให้สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ หากจะตัดถนนต้องหลบต้นไม้ ประมาณว่าถนนเบี้ยวไม่ว่าแต่ต้นไม้ห้ามตัด!

แม้ปีนังจะหลีกหนีกระแสความวุ่นวายของโลกาภิวัตน์ (ที่แสร้งว่าคือความเจริญ) ไปไม่พ้น แต่ปีนังก็ยังคงมีเสน่ห์ คงความเป็นตัวตนไว้ได้เป็นอย่างดี 3 วัฒนธรรมหลักของปีนัง อันได้แก่ มาเลเซีย จีน และอินเดีย ยังคงสอดผสานกันอย่างกลมกลืน ความเก่าแก่ของอาคารหลายร้อยปี ด้วยสถาปัตยกรรมสไตล์ Chino-Portuguese สมัยเป็นอาณานิคมของอังกฤษได้รับการอนุรักษ์อย่างเต็มที่จากรัฐบาล ห้ามรื้อถอนหรือทำใหม่ใดๆ ทั้งสิ้น

ด้วยความที่ปีนังเป็นเมืองเงียบสงบ ตกดึกอาจจะถึงขั้นที่เรียกว่า “สงัด” เลยก็เป็นได้ nightlife ของปีนังจึงอยู่ที่ตลาดอาหารมากกว่า เป็นรูปแบบที่เรียกว่า drive car ที่แต่ละเจ้าจะขับรถมาจอดชุมนุมกันตามช่องพอดิบพอดี ขายเสร็จก็จรลีจากไป รอแสงอาทิตย์รำไรๆ ก็พบกันใหม่ ตลาดที่ว่านี้อยู่ข้างๆ ห้างใหม่ล่าสุดของปีนัง นาม Gurney ที่ตลาดแห่งนี้รวบรวมอาหารอร่อยๆ หลายอย่าง ขายดีกันเป็นเทน้ำเทท่าเลยทีเดียว

ปัญหาก่ออาชญากรรมที่ปีนังพบได้น้อยมาก ด้วยความเป็นเมืองตากอากาศที่เงียบสงบทำให้บรรดาเศรษฐี มหาเศรษฐีจากทั่วมาเลเซียหลั่งไหลมาจับจองเป็นเจ้าของคอนโดหรูริมทะเล หรือตามเชิงเขา จึงผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ด ทะเลถูกถมแล้วถมเล่าเพื่อขยายแผ่นดินให้มากขึ้น การล่วงล้ำทะเลปรากฏให้เห็นอย่างปฏิเสธไม่ได้ ด้วยความจำเป็นของมนุษย์

อดีตปีนังเคยรุ่งเรืองด้วยวัฒนธรรม และเป็นศูนย์กลางสินค้าปลอดภาษีที่เลื่องชื่อ แต่ ณ บัดนี้ได้ผ่องถ่ายหน้าที่ไปยังลังกาวีแล้ว

ท่ามกลางความพร่าเลือน ไร้สีสันของ advertising ในปีนัง กลับปรากฏความแจ่มชัดของวัฒนธรรมที่หยั่งรากฝังลึกมาเนิ่นนาน แม้จะสัมผัสเพียงบางเบา