ความขัดแย้งรายล่าสุดในวงการคอมพิวเตอร์ โยงไปถึงอนาคตของวงการเพลงโลก เมื่อแอปเปิล ผู้ผลิตเครื่องเล่น ipod ขัดแย้งกับเรียลเน็ทเวิร์ค ผู้ผลิตโปรแกรมเล่นเพลง ชื่อ เรียล เพลย์เยอร์ เพราะที่ผ่านมา ipod ติดก๊อบปี้ไรท์กับเครื่องให้อ่านไฟล์ MP3 เฉพาะประเภท DRM ที่ผู้ใช้ต้องซื้อเพลงผ่านเว็บไซต์ Itune ของ ipod เท่านั้น และอัดเพลงไปใช้กับเครื่องอื่นไม่ได้
ตอนนี้เรียล เน็ทเวิร์ค ออกเทคโนโลยี่ ชื่อ “ฮาร์โมนี่” ที่ให้ผู้บริโภคซื้อเพลง MP3 ผ่านเว็บไซต์ของเรียล เน็ทเวิร์ค แล้วแปลเพลงเป็น DRM ทำให้เล่นกับเครื่องรุ่นไหนก็ได้ รวมถึง ipod ด้วย การเข้าตลาดครั้งนี้ปิดฉากกอบโกยของแอปเปิล ipod ที่เคยเป็นเจ้าตลาดทั้งเครื่องและเพลง MP3
ช่วงเดียวกันนี้ ยังมีข่าวขยายตัวของเว็บไซต์ Bigpondmusic.com รวมสังกัดอิสระให้จำหน่ายเพลงในระบบ MP3 โดยไม่ต้องพึ่งพาระบบตลาดเพลงแบบเดิมอีกต่อไป
เพลงดิจิตอลจึงดูเหมือนเป็นอนาคตเดียวที่อุตสาหกรรมดนตรีเดินไปในตอนนี้
นอกเหนือจากเว็บไซต์ขายเพลงลิขสิทธิ์ดาวน์โหลดที่เปิดตัวกันคึกคัก ทางด้านฮาร์ดแวร์ หรือเครื่องเล่นก็แข่งขันกันอย่างที่สุด โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ต้องเล่น MP3 ได้ และหลายต่อหลายค่ายแข่งกันพัฒนาเครื่อง MP3 ที่เบา จุและราคาถูก ฟิลิปส์ยังมี MP3 Player แบบพวงกุญแจออกมา
การหลุดกระแสของค่ายเพลงใหญ่
ถึงอย่างนั้น ณ สิงหาคม 2004 เพลงดิจิตอลยังเป็นอนาคตที่ค่ายเพลงใหญ่ๆ ไม่ยอมเดินตาม
นอกจากเคยออกมาฟ้องเว็บไซต์ดาวน์โหลดเถื่อน โดยเฉพาะเว็บเน็บสเตอร์ เมื่อปี 2002-2003 ตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2003 เป็นต้นมา องค์กรกลางของอุตสาหกรรมสื่อบันทึกเสียงในอเมริกายังฟ้องร้อง 900 คดี ต่อผู้ละเมิดโหลดเพลงออนไลน์ แต่ตอนนี้เมื่อเว็บไซต์เถื่อนถูกปิดหมดและยอมแก้ไขระบบใหม่ให้ถูกกฎหมาย ค่ายเทปก็ถอยไปยืนมอง ปล่อยให้เว็บไซต์ของบริษัทผลิตเครื่อง MP3 หรือเว็บไซต์ขายเพลงของบริษัทอินเทอร์เน็ต เข้ามาเป็นตัวแทนขายเพลงลิขสิทธิ์แบบดาวน์โหลด
ส่วนค่ายเพลงใหญ่ๆ แค่คอยร้องโอดครวญและปล่อยข่าวมาเป็นระยะแบบยังไม่ยอมเลิกว่าการดาวน์โหลดไฟล์ “ฆ่า”อุตสาหกรรมดนตรี เพราะยอดขายอัลบั้มเพลงในตลาดโลกลดลงมาเรื่อยๆ ในสี่ปีหลังนี้ (2000-2003)
มีเสียงตอบกลับจากผู้บริโภคว่า การดาวน์โหลดไฟล์ไม่เคยฆ่าอุตสาหกรรมดนตรี มันแค่ใกล้ปิดฉากการกอบโกย ”กำไรเกินควร” ของค่ายเพลงที่ดำเนินมาอย่างยาวนานเท่านั้น!!!
โดยเฉพาะในช่วงยี่สิบปีกว่าปีหลัง (1980 เป็นต้นมา) ที่มีการผลิตซีดีขึ้นมาแทนการผลิตแผ่นเสียงไวนีล มูลค่าตลาดในอุตสาหกรรมดนตรีได้สูงขึ้นมากกว่าสองเท่าด้วย จากการตั้งราคาซีดีไว้สูงกว่าราคาแผ่นเสียงมาก ทั้งที่ซีดีมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าแผ่นเสียง และยังมีต้นทุนต่ำกว่าในการทำหีบห่อ การขนส่ง การจัดเก็บ รวมถึงผลิตใหม่ได้ง่ายกว่า
ผู้บริโภคมองว่า การโอดร้องครวญของอุตสาหกรรมดนตรีในตอนนี้ไม่ใช่การร้องครวญเพราะเจ็บตัวใดๆ เลยแต่เป็นการร้องครวญเพราะ ”กำไรมากมหาศาล” ลดลง
หมดยุคกำไรล้นเหลือของค่ายเพลง
“กำไรมากมหาศาล” เคยอยู่ในระดับไหนนั้น ผู้บริโภคอาจเห็นได้ง่ายๆ จากรายการ Crib ทางเอ็มทีวี ออกอากาศทางเอ็มทีวีอเมริกาไม่นานเท่าไร ราวปี 2000-2001 นี้เอง ภาพหลายตอนที่ศิลปินเพลงหน้าใหม่ “ฮิตชั่วคราว”บางราย ออกมาโชว์บ้านสิบห้อง พร้อมห้องเล่นเกม รถห้าคัน (บางคันเป็นรถแอนติก) สนามบาส สระว่ายน้ำ ซึ่งทั้งหมดหาได้จากการแต่งเพลงดังเพลงเดียว
เมื่อพิจารณาต่อไปว่า ศิลปินแต่ละวงได้ส่วนแบ่งผลกำไรไม่เกินแผ่นละหนึ่งดอลลาร์ เงินจำนวนนี้ยังต้องแบ่งกันสี่ห้าคนในวง อย่างนั้นผู้บริหารบริษัทแผ่นเสียงและผู้ถือหุ้นจะร่ำรวยมหาศาลขนาดไหน ในเมื่อต้นทุนการผลิตซีดี รวมค่าลิขสิทธิ์ให้นักร้อง ค่าประชาสัมพันธ์ และค่าบริหารต่างๆ ไม่น่าจะเกินแผ่นละสามดอลลาร์ แต่ในอดีตซีดีเคยขายสูงถึงแผ่นละ 15-18 ดอลลาร์
ปี 2003 ที่เริ่มมีการเปิดตัวเว็บไซต์ดาวน์โหลดเพลงดิจิตอลอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพิ่งเป็นปีแรกที่ค่ายเพลงเริ่มหันมาลดราคาซีดีกันอย่างจริงจัง โดยล่าสุดอัลบั้มเพลงในอเมริกาลดลงมาเหลือแผ่นละ 10-15 ดอลลาร์ แต่การลดราคายังเป็นกลยุทธ์เพลย์เซพของค่ายเพลง โดยไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ของผู้บริโภคอย่างเดิม เพราะศิลปินป็อปตามกระแสตลาด (ที่ศิลปินได้ส่วนแบ่งเปอร์เซ็นต์ต่อแผ่นมากกว่า) จะถูกตั้งราคาไว้ถูกกว่า เพราะขายได้มากแผ่นกว่า แต่ศิลปินคุณภาพดี ที่มีแฟนเพลงแน่นอนในระดับหนึ่งยังถูกตั้งราคาไว้สูงติดเพดานบน
ช่วงปี 2000 เป็นต้นมา ผู้บริโภคยังเริ่มพบว่า ที่ผ่านมาเคยถูกเอาเปรียบจากระบบราคาซีดีในท้องตลาดอย่างมาก เพราะสามารถสั่งซื้อซีดีลิขสิทธิ์ทางเว็บไซต์ถูกกว่าการซื้อตามร้านค้าถึงครึ่งหนึ่ง
ยังไม่แค่นั้น ช่วงสามปีหลัง ค่ายเพลงยังพบปัญหาจากความเจริญทางเทคโนโลยี่ที่สามารถอัดแผ่นซีดีได้ในบ้าน ตอนนี้ผู้ฟังยังซื้อแผ่นเดียว แล้วอัดแจกกัน และในประเทศกำลังพัฒนา ค่ายเพลงยังต้องรับมือกับซีดีเถื่อนที่เทคนิคพัฒนาตอนนี้อัดได้เสียงคมชัดขึ้น แถมถ่ายปกได้ละเอียดเหมือนจริง
วิทยุอินเทอร์เน็ต ยังเป็นอีกช่องทางที่เข้าข้างผู้บริโภค เพราะเป็นโอกาสให้ผู้ฟังได้เลือกฟังเพลงมากกว่าวิทยุระบบเดิม และไม่จำเป็นต้องซื้ออัลบั้มที่มีเพลงดีเพลงเดียวอีกต่อไป
ค่ายเพลงหันมาแก้ปัญหา เช่น การเพิ่มเพลงโบนัสในอัลบั้ม และการออกแผ่นแบบจำกัดจำนวน หรือลิมิเต็ด เอ็ดดิชั่น แต่เมื่อทำเช่นนี้ก็บวกราคาเพิ่ม จึงแทบไม่กระตุ้นอะไร
สุดท้าย ค่ายเพลงหันมาหาวิธีการลดต้นทุนเพื่อรักษากำไร ถึงปี 2004 มีการรวมตัวกันของบีเอ็มจี กับโซนี่ มิวสิค (ทางการเมื่อเดือนมิถุนายน) และข่าวว่าจะรวมตัวกันของอีเอ็มไอกับวอร์เนอร์ มิวสิค อาจเหลือ “ดิสทริบิวเตอร์” หรือผู้จัดจำหน่ายเพลงค่ายใหญ่ในตลาดโลกสามราย อีกรายคือ ยูนิเวอร์แซล มิวสิค ที่เป็นอันดับหนึ่งครองตลาดอยู่ การรวมตัวกันนี้จะส่งผลให้ค่ายเพลงใหม่ลดค่าใช้จ่ายบริหารงาน โดยเฉพาะสำนักงานสาขาในตลาดต่างประเทศ
ทางออกที่ต้องรีบออก
น่าแปลก น่าพิศวง ที่อุตสาหกรรมดนตรีหันไปแก้ปัญหากำไรลด ด้วยวิธีการอื่นๆ แทบทุกอย่าง แต่ยังยืนกรานไม่ปรับตัวตามกระแสการเติบโตของเพลงดิจิตอล ปล่อยให้บริษัทอินเทอร์เน็ต และคอมพิวเตอร์ เข้ามาขายเพลงดาวน์โหลดและกินกำไรส่วนมาก ค่ายเพลงได้ลิขสิทธิ์ไม่เท่าไร
โอกาสของค่ายเพลงใหญ่ นอกจากราคาซีดีที่ต้องลดให้ถูกกว่านี้ในทุกประเทศทั่วโลก และไม่ละเลยคุณภาพด้วย อย่าให้ผู้บริโภคจริงจังยังต้องพึ่งซีดีนำเข้าราคาแพงเพราะมีคุณภาพดีกว่า
หนึ่ง ยืดหยุ่นให้ตัวแทนในต่างประเทศ สามารถผลิต “เบอร์” ครบครันมากขึ้น และวางแผงได้ในระยะเดียวกับอังกฤษ อเมริกา ทำให้ผู้บริโภควางใจว่าพึ่งพาแผ่นลิขสิทธิ์ได้ เช่นกรณีประเทศไทย ซีดีเถื่อนบางเจ้ายังพึ่งพาได้มากกว่าค่ายเทป เพราะนำแผ่นเข้ามาจากเมืองนอกโดยตรง มีตัวเลือกมากกว่าและเร็วกว่า ไม่ต้องผ่านขั้นตอนการตลาดว่า “เบอร์”นี้ออกแล้วจะขายดีหรือไม่
สอง ค่ายเพลงหันมาทำการตลาด MP3 ด้วย แม้กำไรน้อยกว่าการขายแบบเดิม แต่มีโอกาสขยายตลาดมากกว่า เช่นผู้บริโภครายได้ต่ำ กำลังซื้อไม่พอ ส่วนคนที่มีกำลังซื้อก็จะจ่ายเพิ่มขึ้น เพื่อลองฟังเพลงก่อนไปซื้ออัลบั้มจริง เพราะถึงอย่างไร ตอนนี้เพลงจากอัลบั้มจริงยังมีระบบเสียงที่ดีกว่า MP3 อยู่
สาม ค่ายเพลงควรคัดสรรศิลปินให้ดีขึ้น เลือกผลิตที่ขายได้นานไม่ใช่ฮิตเพลงป็อปเพลงเดียว แต่ที่เหลือฟังไม่ได้ นอกจากนั้นต้องผลิตเพลงให้หลากหลายสไตล์ และ เปิดโอกาสให้ศิลปินแนวที่แตกต่างจากกระแสนิยม ได้ออกเพลงมากขึ้น เพราะต้นทุนการทำเพลง ผลิตแผ่น และการตลาดก็ถูกลง แค่ปล่อยเพลงซิงเกิลฟรีสักเพลงทางออนไลน์ ตอนนี้เข้าถึงผู้ฟังได้ทั่วโลก
สุดท้ายนั้น ค่ายเพลงควรยกเลิกระบบป้องกันก๊อบปี้ที่ติดแน่นมากับบางแผ่น เพราะการอัดเพลงแจกกันนั้น ที่จริงเป็นธรรมดาของวงการฟังเพลง แทบไม่แตกต่างกับยุคไวนีล ที่มีการอัดเพลงใส่เทปโครเมียมแจกจ่ายกัน เมื่อใครลองฟังแล้วพอใจและมีกำลังซื้อก็ไปซื้อแผ่นจริงฟัง
ธรรมชาติตลาดที่แท้จริง คือ สุดท้ายคนก็ยังอยากเก็บเพลงที่ชอบไว้ในรูปอัลบั้มจริง พร้อมหน้าปกและแผ่นซีดีที่พิมพ์ด้วยกระดาษอย่างดีจากค่ายเพลง
ดิจิตอลเปลี่ยน พาณิชย์เปลี่ยน แต่ความรู้สึกของคนไม่เปลี่ยน คนยังเหมือนเดิม ตอนนี้จึงเป็นโอกาสสุดท้ายและต้องรีบเร่งแล้วที่ค่ายเพลงจะทำความเข้าใจกับผู้บริโภค
จากผู้บริโภคถึงค่ายเพลง
ทั้งหมดที่เพลงละเมิดลิขสิทธิ์ทำคือทลายระบบเดิมที่อุตสาหกรรมบันทึกเสียงยึดครองตลาด และบีบให้พวกเขาขายเพลงในราคาที่มีเหตุผลกว่านี้
เดวิด อังกฤษ
ผมเป็นเจ้าของเว็บไซต์ชื่อ www.dontbuycds.org ราคาแพงเกินเหตุเป็นเหตุหนึ่งที่เราเริ่มต้นเว็บไซต์นี้แต่เริ่มแรก อย่างน้อย ที่นี่คือข้อพิสูจน์ว่าคนจะซื้อเมื่อราคาสมเหตุสมผลกว่านี้
แมทธิว อเมริกา
ขอบคุณผู้ค้าทางอินเทอร์เน็ตที่ผมสามารถซื้อสิ่งที่ผมหาซื้อไม่ได้ตามร้านในระบบสาขาที่จำหน่ายแต่ขยะตามรายการเพลงที่วิทยุเปิด
ร็อบ อเมริกา
มันไม่เกี่ยวกับราคา มันเกี่ยวกับคุณภาพและความมุ่งมั่นสร้างสรรค์ เพิ่มคุณภาพสินค้าและมันจะขายได้ ปั่นขยะเพื่อเงินด่วน แล้วท้ายสุดพวกคุณ (ค่ายเพลง) จะเอาตัวเองและศิลปินจอมปลอมออกไปเอง
ร็อบ อเมริกา
ของพวกนี้ต้นทุนต่ำในการผลิตและหีบห่อ ฉะนั้นผลิตมากองสูงๆ แล้วขายให้ถูก
นิค รีฟส์ อังกฤษ
เมื่อไรบริษัทเพลงจะตระหนักว่าคนไม่ต้องการเพลงฮิตผิดคาด (one-hit wonder)แค่ระยะเดียว พวกเขาต้องการวงที่สามารถฟังกันไปได้สองสามปี โปรดลงทุนในวงที่เล่นใช้ได้และฟังได้นาน
แอนดี้
บางทียอดขายเหล่านี้สะท้อนถึงคุณภาพของดนตรีที่นำเสนอ ทุกวันนี้เราผลิตกันไม่สิ้นสุดสำหรับดนตรีคุณภาพต่ำ ด้อย สำเนียงอิเล็กทรอนิกส์ เล่นโดยพวกโมเดลหน้าพลาสติก แทนที่จะเป็นดนตรีต้นตำรับ ฟังได้ ดี เล่นโดยนักดนตรีที่มีทักษะแท้ๆ
แดนนี่ อังกฤษ
ร้านริมถนนชั้นนำส่วนใหญ่ขายเกินราคา และบางทีอินเทอร์เน็ตเป็นหนทางดีที่สุดสำหรับศิลปินและสังกัดเล็กๆ เพื่อขายตรงให้ผู้บริโภคโดยไม่มีคนกลาง
เดวิด สหรัฐ
ผมมีสังกัดเพลงพังก์ ซีดีอัลบั้มที่เราออกมีต้นทุนต่อหน่วย 1.20 ปอนด์ ซึ่งรวมถึงต้นทุนการบันทึกเสียง กระจายข่าว และการโฆษณาแล้ว นั่นหมายถึงว่าเราสามารถขายอัลบั้ม 6 ปอนด์ต่อหน่วย และยังคงมีกำไรมหาศาลสำหรับเราและวง ค่ายเพลงผลิตซีดีในจำนวนมากเช่นหลักหมื่น แสน ต้นทุนจะต่ำลงมาเหลือเพียง ? ของราคานั้น
จอน
ซีดีราคาถูกขึ้นเป็นเรื่องดีสำหรับอุตสาหกรรมและผู้บริโภค ผมเคยซื้อแค่ 5-6 ซีดีต่อปี เพราะผมคิดว่าราคาในร้านเป็นราคาโกงกัน ตอนนี้ผมซื้อถูกกว่าจาก cd-wow ผมเริ่มเลือกเพลงหลากหลายขึ้น และท้ายสุดจ่ายเงินเพื่อดนตรีมากขึ้นทุกปี แบบนั้นถือว่าไม่ดีสำหรับอุตสาหกรรมได้อย่างไร
เจ้อ ไอร์แลนด์
ในฐานะอดีตลูกจ้างของอุตสาหกรรมดนตรี ผมรับรู้เต็มอกว่าต้นทุนถูกแค่ไหน ที่ซีดีผลิตมา และแพงแค่ไหนที่ความโลภของทั้งบริษัทเพลงและร้านเร็คคอร์ดดันราคาขึ้นไปในระดับน่าเกลียด
ดันแคน อังกฤษ
บริษัทเพลงจำเป็นต้องเข้าใจว่ามีความต้องการบริโภคอยู่ในราคาที่เหมาะสม ถ้าพวกเขาอ้าแขนรับสื่อใหม่ แทนที่จะพยายามหยุดมัน พวกเขาสามารถลดต้นทุนมหาศาลของการจัดจำหน่าย และการขายปลีก
ริชาร์ด อังกฤษ
อุตสาหกรรมดนตรีดูเหมือนลืมไปว่าการดาวน์โหลดเพลงช่วยกระตุ้นยอดขาย คุณซื้ออัลบั้มถ้าคุณชอบเพลงที่ดาวน์โหลด แต่ไม่ซื้อถ้าเพลงไม่ดี พยายามผลิตสินค้าที่ดีกว่าและลุกขึ้นรับความจริงที่ว่าเราต้องการอัลบั้มใหมของโรลลิ่ง สโตนส์ ไม่ใช่อัลบั้มใหม่ของกาเร็ต เกทส์
สจ๊วต สหรัฐ
น่าเศร้าที่ข้อแก้ตัวล่าสุดคือเพลงละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่เคยบอกว่าผลิตภัณฑ์แย่ การเลือกวงแย่ และขาดตัวเลือกให้สาธารณชน !!!
ฟิล อังกฤษ
น่าประหลาดใจที่อุตสาหกรรมเพลงฟูมฟายว่าการดาวน์โหลดไฟล์ กำลัง “ฆ่าธุรกิจของพวกเขา” มันเป็นธุรกิจของพวกเขาจริงหรือ พวกเขาแค่หาผลประโยชน์จากทักษะ (ของศิลปิน) เท่านั้น ถ้าใครบางคนจะฆ่าอุตสาหกรรมเพลง มันเป็นบริษัทเพลงเองที่ผลักดันขยะขึ้นชาร์ต
มาร์ตี้ สหรัฐ
(จากเว็บบอร์ดข่าว ”อุตสาหกรรมเพลงปีล่าสุดได้ยอดจำนวนอัลบั้มเพิ่ม 3% เป็นครั้งแรก นับแต่ปี 2000 ที่ยอดอัลบั้มลดลงมาโดยตลอด แต่ราคาซีดีที่ถูกลงในปีที่ผ่านมา ทำให้มูลค่าตลาดรวมยังลดอยู่” รายงานโดยบีบีซี)
ส่วนแบ่งตลาดดนตรีสากลโลกปี 2003
อันดับ ค่ายเพลง ส่วนแบ่ง ศิลปินฮิต
1 Universal 23.5% เอ็มมิเน็ม, ยูทู, ชาเนีย ทเวน, เอลตั้น จอห์น
2 EMI 13.4% โคลด์เพลย์, เดอะ บีทเทิลสื ,นอร่า โจนส์
3 Sony 13.2% ดิ๊กซี่ ชิค, เจนนิเฟอร์ โลเปซ, บียองซ์, เซลีน ดิออน
4 Warner 12.7% มาดอนน่า, เฟท ฮิลล์, เรด ฮ็อด ชิลี เป็ปเปอร์
5 BMG 11.9% เอฟริล ลาเวีย
6 ค่ายเพลงอิสระที่เหลือ 25.3%