เมื่อปี 2525 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเริ่มก่อตั้งสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ ด้วยแรงผลักดันจากภาคธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่ง บัญชา ล่ำซำ แห่งธนาคารกสิกรไทย และได้รับความสนับสนุนทั้งด้านการเงินและความร่วมมือจากหลายองค์กรที่บริจาคเงินให้รายละ 6 แสนบาท/ปี ส่วนด้านวิชาการก็มี Wharton และ Kellogg School of Management โรงเรียน MBA ชื่อดังมาเสริมทัพ ประกอบกับมีผู้นำที่มากด้วยบารมีอย่าง ศ.เติมศักดิ์ กฤษณามระ จึงทำให้ศศินทร์เป็นโมเดลแห่งความสำเร็จที่จุฬาฯ ใช้เป็นแบบอย่างเล็งผลเลิศในการแตกหน่อสถาบันต่อไป
ในปี 2547 แรงผลักดันจากภาคธุรกิจ ทำให้จุฬาฯ ต้องตั้งสถาบันขึ้นมาผลิตบุคลากรรองรับตลาดอีกครั้ง แต่คราวนี้ในมาดนักบริหารที่โฟกัสด้านธุรกิจสินค้าแฟชั่น ด้วยการสนับสนุนจากกระทรวงอุตสาหกรรม และโครงการกรุงเทพเมืองแฟชั่น จุฬาฯ ได้เงินก้นประเป๋า 263 ล้านบาท เพื่อเปิดสถาบันผลิตบุคลากรด้านแฟชั่น ซึ่งต้องเริ่มทำการภายในเดือนธันวาคม 2547 นี้ และหลังจาก 18 เดือน จะกลายเป็นสถาบันเอกชนเต็มตัวที่มีระบบบริหารจัดการของตัวเอง คล้ายศศินทร์
รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการจัดตั้งศูนย์พัฒนาบุคลากรด้านแฟชั่น ของจุฬาฯ กล่าวว่า ตอนนี้กำลังทำสัญญาเช่าและเข้าปรับปรุงพื้นที่ที่จะตั้งสถาบันบนชั้น 20 สยามทาวเวอร์ คาดว่าจะพร้อมใช้งานได้ในอีก 2 เดือนข้างหน้า ขณะเดียวกันคณะทำงานกำลังกำหนดรายละเอียด Module แต่ละหลักสูตร และจะเดินทางไปเจรจากับสถาบันแฟชั่นในต่างประเทศเพื่อความร่วมมือในการส่งอาจารย์มาสอน
“จะเลือกจับมือกับบางสถาบันที่มีชื่อเสียงแข็งแกร่งจริงๆ เท่านั้น ซึ่งอาจเป็น Central Saint Martins College of Art & Design ที่ London, FIT ที่ New York, Paris Fashion Institute หรือ Bunka Fashion Institute ที่โตเกียว โดยการบริหารจัดการจะใช้โมเดลเดียวกับการก่อตั้งศศินทร์ ซึ่งในช่วงแรกจะขอให้ภาคธุรกิจบริจาคเงินสนับสนุน และใช้เป็น Deposit เพื่อส่งบุคลากรมาเรียนได้ ขณะเดียวกันเราก็ประสานกระทรวงการคลัง ให้บริษัทสามารถนำใบเสร็จไปหักลดค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีได้ 200% เป็น incentive ให้เขา”
โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการ Bangkok Fashion Institute ในราวเดือนพฤศจิกายน 2547 นี้ ซึ่งจะประกาศรายละเอียดหลักสูตร และเปิดรับสมัครในเดือนตุลาคม
โครงการนี้แทบจะเรียกได้ว่าเป็นความหวังของรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมเลยทีเดียว ถึงกับออกปากเตรียมจัดเวทีแสดงงานให้ที่ปักกิ่งในปีหน้า ทั้งที่สถาบันยังไม่เกิดอย่างเป็นรูปธรรม จุฬาฯ เองก็รู้ว่างานนี้อาจเป็นเผือกร้อน ถ้าปล่อยให้โต้โผในวงการแฟชั่นทั้งหลายต้องผิดหวัง จุฬาฯ อาจต้องตกที่นั่งลำบาก แต่ขณะเดียวกันจุฬาฯ เองก็มีความคาดหวังกับโครงการนี้เช่นกัน ว่าจะเป็น Business Unit ที่มีประสิทธิภาพ เหมือนเป็นศศินทร์ที่แปลงกายมาในภาคแฟชั่น
หลักสูตร :
Bangkok Fashion Institute จะแบ่งออกเป็น
1. สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
2. อัญมณีและเครื่องประดับ
3. เครื่องหนัง
ผู้เรียน : เป้าหมายรับ 600 คน แยกเป็น ด้านออกแบบ 150 คน ด้านการบริหารจัดการ 240 คน ด้านการจัดการเทคโนโลยี 210 คน
รูปแบบการเรียน : เป็นโมดูลๆ ละ 4-6 สัปดาห์ คอร์สในช่วงแรกเปิด 2 แบบคือ ระยะสั้น 6 เดือน และระยาว 1 ปี อนาคตจะปรับเป็นหลักสูตรปริญญาโท (เรียน 8 โมดูล ซึ่งเท่ากับ 24 หน่วยกิต และทำวิทยานิพนธ์อีก 12 หน่วยกิต)
อาจารย์ผู้สอน : สถาบันฯ จะเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาสอนเป็นรายโมดูลไป เช่น ด้านเครื่องหนัง อาจเชิญอาจารย์จาก Polimoda ประเทศอิตาลี ด้านการออกแบบเชิญอาจารย์จาก Central Saint Martins College of Art & Design ที่ London
ค่าเรียน : ประมาณการณ์ว่าจะใช้อัตราเดียวกับโรงเรียน MBA คือประมาณ 2-4 แสนบาท/ปี