ON THE TOW

Hollywood to Bollywood

ภาพของขนาดอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในอินเดียเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชื่อ “Bollywood” จึงกลายเป็นชื่อเรียกเล่นๆ ของเขตอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในอินเดีย ณ เมืองบอมเบย์ (มุมไบ) เนื่องมาจากคนอินเดียมีวิถีชีวิตที่รักหนังเป็นชีวิตจิตใจ ถึงแม้ว่าหนังส่วนใหญ่ในประเทศจะเดินตามขนบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

หนังกลุ่มนี้เรียกว่า มาซาลา (Masala) ได้แก่หนังที่มักจะมีความยาวเป็นพิเศษ (3-4 ชั่วโมง มีช่วงพักระหว่างเรื่อง) เน้นเพลงสำหรับร้องและเต้นกว่าสิบเพลงด้วยคนหมู่มาก ใช้พลังคู่ขวัญดารา และเป็นมักเป็นเรื่องราวการสัมผัสชายหญิงแบบโรมานซ์ แต่ไม่มีการจูบหรือสัมผัสพิเศษ และมักจะจบอย่างแฮปปี้เอนดิ้งเสมอ มีเอกลักษณ์จนสามารถแยกออกได้เป็นประเภทของหนัง (genres) ที่มีความเฉพาะตัวประเภทหนึ่ง

คนอินเดียประมาณ 14 ล้านคนจะบริโภคหนังอินเดียในแต่ละวัน (คิดเป็น 1.4% ของประชากร 1 พันล้านคน) โดยแต่ละคนจะเสียเงินเท่ากับรายได้เฉลี่ยในแต่ละวัน (ประมาณ 40-120 บาท) เพื่อที่จะดูหนังกว่า 800 เรื่องที่ผลิตและสร้างโดย “Bollywood” ในแต่ละปี เป็นจำนวนที่มากกว่าเป็นเท่าตัวของหนังที่ผลิตในอเมริกา เป็นขนาดของอุตสาหกรรมระดับยักษ์

การผลิตภาพยนตร์บอลลีวู้ด จะมีรัฐบาลกลางเป็นผู้ลงทุนสร้างโรงถ่ายที่เรียกว่า “Film City” อยู่บริเวณชานเมืองทางตอนเหนือของมุมไบ แต่เนื่องจากประเทศอินเดียมีความหลากหลายทางภาษา (16 ภาษาราชการ) เขตอุตสาหกรรมจึงถูกแบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ โดยมีเมืองมุมไบเป็นศูนย์กลาง ผลิตหนังภาษาฮินดี ในขณะที่ภาษาเบงกาลีจะมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองทามิลและกัลกัตตา แม้แต่เมืองอย่างลาฮอร์ Lahore ที่ติดชายแดนปากีสถาน ก็เรียกตัวเองว่า “Lollywood” เมื่อวางตัวเป็นศูนย์กลางแห่งการผลิตภาพยนตร์

ล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียได้มอบหมายให้บริษัทเครือ “Sahara Group” (กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในหลายสาขาตั้งแต่บันเทิง การเงิน พลังงาน จนถึงสินค้าอุปโภคบริโภค) ในการเพิ่มพื้นที่ภายใน Firm Cityที่มีรัฐบาลเป็นเจ้าของนั้นออกอีก 150 เอเคอร์ เพื่อเสริมต่อมูฟวี่ทาวน์ออกไปด้วยโครงสร้างในระดับเวิลด์คลาสในรูปคอมเพล็กซ์

พื้นที่ใหม่ที่เพิ่มเข้ามาจะประกอบไปด้วยอุปกรณ์อำนวยความสะดวกทั้งด้านพรีและโพสโปรดักชั่น ไม่ว่าจะเป็นกล้องดิจิตอล เครื่องตัดต่อแบบ Nonlinear อุปกรณ์ซาวน์ ห้องมิกซ์เสียง และแอนิเมชั่น รวมถึง โรงพรีวิวภาพยนตร์ และเพิ่มพื้นที่เป็นเอาต์ดอร์โลเกชั่นจากสถาปัตยกรรมต่างๆ เพื่อรองรับกับขนาดของอุตสาหกรรมที่นับวันจะโตขึ้นทุกที่ โดยเฉพาะจากต่างประเทศ

Bollywood to Wellywood : The Middle Earth ภาคสวรรค์ของนิวซีแลนด์

นิวซีแลนด์ “The Lord of the Rings” ได้กลายเป็นตำนานเมื่อคว้ารางวัลออสการ์ไปมากถึง 11 รางวัล อันเป็นจำนวนมากที่สุดเมื่อเทียบกับภาพยนตร์อย่าง “Titanic” หรือ “Ben-Hur” และภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สร้างและถ่ายทำที่นิวซีแลนด์ตลอดทั้งเรื่อง

The Lord of the Rings (LOTR) ใช้เวลาถ่ายทำนานถึง 14 เดือน กว่า 150 โลเกชั่นที่ใช้ถ่ายทำ ตั้งแต่เกาะเหนือจรดเกาะใต้ เพื่อเนรมิตให้กลายเป็น Middle Earth เมืองในมหากาพย์ตำนานบนพื้นดิน โดยมีเมืองเวลลิงตัน (Wellington) เป็นที่ตั้งของศูนย์ประสานงานระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยมีงบในการสร้างทั้ง 3 ภาคถึง 14,000 ล้านบาท !!!

LOTR ถือว่าเป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่สุดเท่าที่เคยถ่ายทำกันมาในซีกโลกใต้ มีโลเกชั่นทั่วประเทศนิวซีแลนด์ปรากฏในเรื่องตั้งแต่พื้นที่มรดกโลก ภูเขาไฟที่ยังไม่ดับ ตลอดจนอุทยานแห่งชาติอีกหลายแห่ง ดารานำทุกคนไม่ว่าจะเป็น เซอร์เอียน แมคเคลเลน (Sir Ian McKellen) จอห์น รีส เดวิส (John Rhys-Davies) วิคโก มอร์เทนสัน (Viggo Mortenson) หรือเอไลจาห์ วูดด์ (Elijah Wood) ต่างก็กล่าวชมความงามของสถานที่ท่องเที่ยว และความประทับใจที่มีต่อประเทศนิวซีแลนด์อย่างไม่รู้จบ กลายเป็นทูตประชาสัมพันธ์ไปโดยปริยาย

ปีเตอร์ แจ็คสัน ผู้กำกับชาวนิวซีแลนด์กล่าวถึงความได้เปรียบของนิวซีแลนด์ ว่ามีภูมิประเทศอันหลากหลาย และอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ตั้งแต่ป่าฝนเขตร้อน ภูเขาที่มีหิมะปกคลุม ทุ่งเลี้ยงสัตว์อันอุดมสมบูรณ์ ชายหาด และเมืองที่ทันสมัย เป็นความงามอย่างประหลาดล้ำ

นับตั้งแต่ LOTR ภาคแรกได้ปรากฏโฉมสู่สายตาของคนทั้งโลก ทำให้การท่องเที่ยวนิวซีแลนด์ใน 2 – 3 ปีที่ผ่านมามีปริมาณนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดย 75% ของคนที่มาเที่ยวที่นิวซีแลนด์ในช่วงนี้คือคนที่ได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างน้อยหนึ่งครั้งใน 2 ปีที่ผ่านมา และเกือบทุกคน (95%) ที่มาทราบว่านิวซีแลนด์เป็นที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ ในจำนวนนั้น 1 ใน 10 คน บอกว่าเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มาเที่ยวที่นี่

ประเทศนิวซีแลนด์ถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ของฮอลลีวู้ด ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดยักษ์ที่ทุ่มทุนสร้างหลายล้านเหรียญ มีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อย่าง “The Last Samurai” ที่ล่าสุดจำลองภาพบรรยากาศแบบญี่ปุ่นมาอยู่ในหนัง

New Approach : Films as tools of economic stimulus

ในแง่เศรษฐกิจโดยภาพรวมของประเทศนิวซีแลนด์ ล่าสุดก็ได้ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อย่าง “The Last Samurai” เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ด้วยจำนวนเงินกว่า 3,500 ล้านบาทที่ใช้จ่ายภายในประเทศ ได้ส่งผลในแง่การลงทุน หรือหมุนเวียนภายในประเทศได้มากกว่า 8,100 ล้านบาท กระจายไปกว่า 2.3 เท่า โดยภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างประเภทของงานเพิ่มขึ้นถึง 1,403 ประเภท ภายใน 14 อุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน ในระยะเวลาเพียงแค่ปีเดียว อันเป็นผลกระทบสู่เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอันเนื่องมาจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ต่ออุตสาหกรรมโดยรอบ เป็นการเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศให้สูงขึ้น

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้ปั๊มเงินเข้าระบบเศรษฐกิจของประเทศในระดับหลายหมื่นล้านบาท คาดการณ์ว่าส่วนของภาพยนตร์นั้นจะเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของ GDP ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ ที่สร้างความมั่นคงต่อการแข่งขันในระดับโลกสำหรับประเทศเล็กๆ ทีเดียว

จากสิ่งที่เกิดขึ้นจึงพอที่จะทำให้เห็นภาพได้ว่า “หนัง” ได้กลายเป็นแม่เหล็กระดับโลก เฮเลน คล้าค นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์กล่าวถึงปรากฏการณ์นี้ว่าเป็นการปรับนิยาม (สร้างภาพลักษณ์) ของประเทศใหม่ในการสื่อถึงความสามารถและความเจริญด้านเทคโนโลยีของนิวซีแลนด์ได้อย่างดี (“redefining New Zealand as smart and innovative”) นอกจากนั้นยังได้ปล่อยงบประมาณด้านการท่องเที่ยวกว่า 600 ล้านบาท โดยเน้นไปที่การจูงใจผู้สร้างจาก “สหรัฐฯ” อย่างเดียว

การกระตุ้นเศรษฐกิจวิถีใหม่ในประเทศเล็กๆ จึงเป็นการใช้ต้นทุนที่มีเฉพาะในประเทศคราวที่กระแสของ LOTR เมืองเวลลิงตันถูกพัฒนาให้กลายเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทำ ถึงกับตั้งชื่อเรียกเล่นๆ ว่า “Wellywood”

แม้ตำนานมหากาพย์จะปิดฉากสุดท้ายลงไปนับปีแล้ว แต่นคร Middle Earth ที่เป็นภาพสู่สายตาชาวโลกของประเทศนิวซีแลนด์ยังคงอยู่

ความเย้ายวนใหม่แห่งเอเชีย : THE Upcoming Business (HUB of Movie Production)

ปัจจุบันประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันออกไม่ว่าจะเป็น Czech Republic, Hungary หรือ Romania ก็เป็นประเทศที่รู้จักกันไปทั่วเนื่องจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ จากทุนทางวัฒนธรรมที่มีของประเทศ ไม่ว่าจากทรัพยากรทางธรรมชาติ หรือความสวยงามทางสถาปัตยกรรม

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือฉากเบื้องหลังการถ่ายทำที่งดงามจากภาพยนตร์เรื่อง “Hero” ของจาง อวี้ โหมว ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน ในโลเกชั่นที่ตื่นใจระดับโลกไม่ว่าจะเป็นผืนป่า แม่น้ำ หรือความสวยงามของทะเลทรายที่อ้างว้าง เป็นที่ตื่นตาแก่คนอเมริกันภายหลังหนังเข้าฉายที่สหรัฐฯ เป็นการประชาสัมพันธ์ประเทศทางอ้อมที่ได้ผลมากกว่าพึ่งพาการใช้สื่อหรือแม้แต่องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศเอง

เมื่อกัมพูชาถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำ “Tomb Raider” นำแสดงโดย แองโจลิน่า จูลี่ เป็นผลให้นครวัดมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจำนวนมาก รวมถึงประเทศเวียดนาม กับหนังเรื่อง “The Quiet American” ที่ถ่ายทำกันที่ฮานอยและโฮจิมินห์ซิตี ก็เป็นความเย้ายวนใหม่ที่เผยแพร่ไปทั่วโลก อย่างน้อยก็สร้างสัมผัสของความรู้สึกบนพื้นที่ (Location) เมื่อได้ดูหนัง

ไม่กี่ปีก่อนประเทศไทยก็ถูกนำมาใช้เป็นฉากถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง “The Beach” จนอ่าวมาหยา เกาะพีพี เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และเคยถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ระดับโลกหลายเรื่องมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอย่าง Good Morning Vietnam, James Bond 007(Tomorrow Never Dies), The Man with the golden gun (เกาะพะงัน), หรือเมื่อต้นปีหนังทุนสร้างหนักจากฮอลลีวู้ด เรื่อง Alexander ของโอลิเวอร์ สโตน โดยฉากทะเลทรายถ่ายทำที่โมร็อกโก ในขณะที่ฉากการต่อสู้ชนช้างถ่ายทำที่เมืองไทย

Website

Filming in LA : http://www.eidc.com/
Filming in Thailand : http://www.thailandfilmoffice.org/
Filming in New Zealand : http://www.filmnz.com/
Kantana Movie Town : http://www.kantana.com/corporate/movietown
Matching Motion Picture : http://www.matchingstudio.com/mmp/index.html
ประกาศ BOI : http://www.boi.go.th/thai/announcements/sor2_2547.pdf