MY THEATRE โรงหนังสะดวกซื้อ

ชื่อก็บอกแล้วว่าเป็นโรงหนังที่สนองตอบความต้องการส่วนบุคคล ที่เป็นการฉีกทิ้งรูปแบบโรงหนังแบบเดิมๆ ทีเด็ดอยู่ที่การเป็นโรงหนังขนาดเล็กๆ จุคนได้ตั้งแต่ 2 คน จนถึง 30 คน แถมยังเลือกดูหนัง เล่นเกม ร้องคาราโอเกะ

และที่น่าสนใจ My Theatre เป็นต้นแบบของโครงการขนาดใหญ่ของชินแซทเทลไลท์ ที่เริ่มปักธงเปิดตัวให้บริการในเดือนตุลาคม ที่จังหวัด “ราชบุรี” เพื่อใช้เป็น Prototype ตัวแรกก่อนการเปิดตัวที่จังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ

โครงสร้างที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนให้เห็นภาพใหญ่การมองธุรกิจ “Entertainment เชิงรุก” ของกลุ่ม “ชินคอร์ป” จนนำไปสู่การบริโภคความบันเทิงแบบใหม่ ที่คาดว่าจะเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในปัจจุบันระดับหนึ่ง

“ผมคิดว่าปัจจุบันเทคโนโลยีต่างๆ เช่น อินเทอร์เน็ต หรืออะไรๆ แทนที่จะเป็นแมสมาร์เก็ตติ้ง แต่กลับพุ่งไปที่การสนองความต้องการส่วนบุคคล ว่าแต่ละคนชอบอะไร ซึ่งการตลาดแบบ 1-1 นั้นเป็นเรื่องปกติไปแล้วในปัจจุบัน” สุจิตร โสรจศรีโสม ผู้จัดการส่วนช่องสัญญาณ IPTV ให้ความเห็น

โครงการ “เซเว่น-ความบันเทิง” เป็นการลงมือการแพร่ขยายสินค้าแบบร้านสะดวกซื้อไปทุกหัวมุมถนน โดยของที่วางอยู่บนชั้นวางสินค้าก็จะประกอบไปด้วย ดนตรีคาราโอเกะ เกมออนไลน์ แพล็ตฟอร์ม รวมถึงการมีคอนโซลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเอ็กบ๊อกซ์ เพลย์สเตชั่น หรือพีซี นอกจากนั้นโดยตัวหลักก็ยังมีภาพยนตร์ทั้งแบบที่ชนโรง และภาพยนตร์เก่า ดีวีดีต่างๆ ที่ได้คุณภาพสูง หรือแม้แต่ยูบีซี

“เราผสมผสานเอาเทคโนโลยีกับการตลาดเข้าไว้ด้วยกัน ให้บริการผู้บริโภคที่ต้องการเลือกใช้บริการบางอย่างที่ไม่ไปซ้ำกับคนอื่น เขาสามารถที่จะใช้บริการอะไรก็ได้ ซึ่งน่าจะเป็นข้อดีสำหรับเขา”

เป็นความตั้งใจให้รูปแบบของโครงการใช้พื้นที่ขนาดเล็ก เพื่อต้องขายแฟรนไชส์ให้กับผู้สนใจลงทุนที่มีแค่ห้องแถวย่านใจกลางเมือง ก็สามารถเปิด My Theatre ให้บริการแก่ลูกค้าได้ โดยมีชื่อ “อีจีวี” เป็นเครื่องประกันคุณภาพความบันเทิง ระบบทดลองที่ราชบุรีนี้ก็มีนัยที่จะทดลองในจังหวัดขนาดเล็กเช่นกัน…

“ที่เลือกราชบุรีเพราะเป็นจังหวัดกลางๆ เพื่อจะให้เป็นตัวแทนให้กับจังหวัดในทั่วประเทศ เพราะถ้าเลือกจังหวัดใหญ่บางทีอาจจะทำให้เรามองภาพของทั่วประเทศผิด สมมุติว่าถ้าขายดีมา เราก็ไม่อาจจะขยายไปในบางจังหวัดที่ไม่มีศักยภาพมากได้”

เมื่อเป้าหมายของการกระจายตัวของคุณภาพความบันเทิงที่ถูกทำให้กลายเป็นดิจิตอล (Digitalize) ไปหมดทุกอย่าง ทั้งหนัง เกม เพลง ซึ่งอนาคตการบันทึกการแสดงสด และการแข่งขันกีฬาต่างๆ กำลังถูกนำมาใช้เป็นแหล่งทำมาหาเงินให้กับธุรกิจที่ต้องการคอนเท็นต์เป็นความบันเทิงอย่างเข้มข้น

แต่เมื่อคำตอบสุดท้ายของเทคโนโลยีที่จะตอบโจทย์ ก็คือ ดาวเทียม…

My Theatre เกิดมาจากความร่วมมือระหว่างชินแซทเทลไลท์ และ EGV ซึ่งทั้งสองจะใช้โนฮาวที่แตกต่างกันคนละด้านมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดย EGV ที่มีความจัดเจนในเรื่องของการทำธุรกิจภาพยนตร์ และการเข้าถึงลูกค้าในแง่สินค้าความบันเทิง จึงถูกวางตัวไว้ในฐานะ Content Provider รูปแบบของโรงภาพยนตร์ My Theatre ก็ถอดแบบมาจาก D-Cine ของ EGV

ส่วนชินแซทเทลไลท์ ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี “ไอพีสตาร์” เป็นเครือข่ายในการส่งเนื้อหา ที่เป็นภาพยนตร์ เกม ยิงสัญญาณขึ้นดาวเทียมไปยัง My Theatre ทีตั้งอยู่ทั่วประเทศ ไปในเวลาเดียวกัน โดยไม่ต้องใช้ม้วนฟิล์ม และย่นระยะเวลา

การเกิดขึ้นของโรงภาพยนตร์ดิจิตอล เป็นความพยายามในการสร้างระบบของโรงภาพยนตร์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ เพื่อลดขั้นตอนการใช้ฟิล์มในระบบโรงภาพยนตร์ ทั้งในแง่ของการถ่ายทำด้วยกล้องดิจิตอล และระบบการตัดต่อ เนื่องจากปัจจุบันการตัดต่อหนังเกือบทุกเรื่องสิ้นสุดที่ขั้นตอนสุดท้ายในเครื่องคอมพิวเตอร์ แล้วค่อยถ่ายลงฟิล์มอีกทอด เป็นการสูญเสียคุณภาพความคมชัดไป ซึ่งการฉายด้วยระบบดิจิตอลนั้นเป็นความชัดที่สุด

โดยหลักการเมื่อดิจิตอลถูกใช้แทนที่ฟิล์ม ปริมาณฟิล์มที่สูญเสียไปจากการฉายทุกรอบจะมีค่าเท่ากับศูนย์ การเคลื่อนย้ายข้อมูลที่เป็นดิจิตอลไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการขนส่งแบบเดิม ไปสู่การเคลื่อนย้ายหนังผ่านสาย หรือแม้แต่กระทั่งดาวเทียม ซึ่งเป็นความสะดวก รวดเร็ว และลดค่าใช้จ่ายในระดับ 20-30% จากแบบเดิม

แม้ว่าโมเดลธุรกิจแบบมูฟวี่ดิจิตอลมีความคิดและเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ข้อดีที่เห็นนั้นเป็นความต้องการที่ยังไม่สามารถทำได้จริงในธุรกิจเพราะอะไร

ประการแรก การลงทุนเพื่อเปลี่ยนแปลงจากเครื่องฉายจากฟิล์มมาเป็นเครื่องฉายดิจิตอลใช้การลงทุนมากกว่าเกือบ 10 เท่า สอง การประหยัดจะเกิดขึ้นได้จึงต้องเป็นแบบประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) การลงทุนน้อยจะไม่ส่งผลต่อภาพรวม สาม รสนิยมของคนดูไม่ได้ต้องการหรือเรียกร้องความชัดเจนมากมายจากระบบดิจิตอล คนก็ยังดูฟิล์มเป็นปกติ สี่ การส่งตัวหนังผ่านสายไม่ทำให้ผู้ผลิตเกิดความมั่นใจว่าจะไม่เกิดการลักลอบนำไปใช้ (Piracy) จากตัวหนังที่ถูกเปลี่ยนเป็นไฟล์ข้อมูลไปแล้ว โดยไม่นับการแอบถ่าย

ปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่โรงต่างๆ บอกว่า “ดิจิตอลเธียเตอร์” นั้นจะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ไม่ได้แน่ในเวลาอันใกล้

แต่สิ่งที่จะเกิดกับ My Theatre น่าจะเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ตีโจทย์แตก” สำหรับจุดอ่อนต่างๆ ที่มี

เมื่อการตลาดต้องการสินค้าที่เป็นความบันเทิงแบบสะดวกซื้อ และดาวเทียมก็คือคำตอบสุดท้าย บทสรุปที่เราอาจเห็นในอนาคตก็คือ

1. จำนวนร้านแบบนี้จะมากขึ้นถึง 200-500 โรงทั่วประเทศ เป็นการใช้ศักยภาพของดาวเทียมในมิติใหม่เพียงไม่ใช่แต่การใช้การเช่าช่องสัญญาณ (Transponder) ปรับมุมมองไปเพื่อรูปแบบการขายสัญญาณโดยตรง ซึ่งเป็นลงทุนแบบประหยัดต่อขนาดในระดับสูง โดยการขยายแบนด์วิชและปล่อยสัญญาณลงสู่จำนวนโรงมากขึ้น ก็ไม่ทำให้ค่าใช้จ่ายแตกต่างกันมากนัก

2. การใช้ดาวเทียมเป็นเครื่องมือสำหรับการชมหนังแบบ Real Time ที่มีระบบการถอดสัญญาณเป็นการเฉพาะ เป็นมาร์เก็ตติ้งภาพยนตร์ในระดับที่เป็นเซ็กเมนต์ของชุมชนได้อย่างละเอียดที่สุด และสร้างความมั่นใจให้กับค่ายหนังได้มากขึ้น โดยมีไอพีสตาร์จะลดปัญหาสำหรับการถ่ายทอดสดในสภาพอากาศที่แตกต่างกันทั่วประเทศ

3. เป็นเครื่องมือการอัพเดตข้อมูลลงในเซิร์ฟเวอร์ที่มีอยู่ในแต่ละร้าน เป็นการใช้ประโยชน์จากดาวเทียม เพื่อลดขั้นตอนการขนส่ง หรือลดปัญหาการแบ่งแยก Authorized Partner ในแบบเดิม โดยเฉพาะสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าของเกม หรือคาราโอเกะ ภาพยนตร์ว่าจะไม่โดนก้อปปี้จากต้นฉบับ

4. โรงแบบนี้ถูกวางโพสิชั่นนิ่งที่โฮมเธียเตอร์ เพื่อสร้างประสบการณ์เฉพาะที่แตกต่าง จากภาพยนตร์ที่ได้จากจอใหญ่ จึงไม่เป็นการแข่งกันเอง จึงถือว่าเป็นการใช้ซอฟต์แวร์ภาพยนตร์ในอีกแง่มุมอื่น

โครงการนี้ใช้การลงทุนรวมประมาณ 3-4 ล้านเริ่มต้น ก่อนที่จะแตกดอกออกผลไปในระดับหลายร้อยล้าน ใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ ในฐานะผู้ให้บริการความบันเทิงคุณภาพสูง “เราจะได้ทดสอบตลาดเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น อยู่ระหว่าง 3-6 เดือน 3 เดือนแรกคงได้ไอเดีย ในขณะที่ 6 เดือนเราคงจะมั่นใจกับอะไรได้มากขึ้น ซึ่งในระหว่างนั้นทางผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายก็จะคุยกันเป็นเรื่องเป็นราวอีกที”

“ภาพจะประมาณเซเว่นตามหัวมุมถนน เราจะประกบติดข้างเซเว่นเลย …(หัวเราะ)”

Website

http://www.shinbroadband.com

ปฏิวัติโลกภาพยนตร์สู่ระบบดิจิตอล

เป็นเวลากว่า 100 ปีมาแล้ว ที่ฟิล์มเริ่มต้นส่งภาพเคลื่อนไหว (Motion Picture) ขึ้นฉายบนจอขนาดใหญ่ จากหลักการทำงานที่ง่ายๆ ของแสงที่วิ่งผ่านแผ่นเซลลูลอยด์เข้าเลนส์และขยายให้ภาพไปขึ้นบนจอขาว อันเป็นเทคโนโลยีที่แม้แต่เครื่องฟิล์มในปัจจุบันก็ดำเนินการอย่างไม่ต่างกันมากนัก จากระบบฉายต้นกำเนิดเมื่อเกือบร้อยปีก่อน

อย่างไรก็ดีเมื่อ ระบบส่งต่อข้อมูลมีความรวดเร็ว โลกของดิจิตอลก็ก้าวมาแทนที่ระบบอนาล็อก การเกิดใหม่ของระบบดิจิตอลจึงถูกพัฒนาเพื่อรองรับกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ระบบภาพยนตร์แบบดิจิตอลก็ได้รับการพัฒนาทั้งด้านการถ่ายทำไปจนถึงระบบฉาย

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา รอยเตอร์รายงานว่า จะมีการเพิ่มขึ้นของโรงภาพยนตร์ระบบดิจิตอลในสิ้นปีนี้อีกสองเท่าที่อังกฤษ ส่วนในอเมริกากระแสภาพยนตร์ดิจิตอลถูกปลุกไปเมื่อ 2 ปีก่อน ตอนที่หนังสตาร์วอส์ “Attack of The Clones” (2002) ถูกยืนกรานจากลูคัสว่าจะตัดต่อและเปิดฉายครั้งแรกเป็นระบบดิจิตอล ล่าสุดหนังดิจิตอลเรื่อง “The Last Samurai” (2003) โด่งดังขึ้นจากการจัดฉายใน Man’s Chinese Theatre โรงภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ชื่อดังระดับโลกที่ฮอลลีวู้ด เพิ่งติดตั้งระบบนี้เข้ากับโรงภาพยนตร์ของตัวเอง

โดยรวมทั่วโลกจำนวนโรงภาพยนตร์ที่อยู่ในระบบนี้มีอยู่น้อย เมื่อสองปีที่แล้วตัวเลขของโรงยังไม่ถึงหลักร้อย และปัจจุบันระบบนี้ก็ยังถูกฉายระบบคู่ควบกับฟิล์มที่เป็นระบบหลักอยู่ และมักจะเห็นประเด็นของคำว่าภาพยนตร์ดิจิตอล ในแง่มุมของการตลาดมากกว่ามุมของการบริหารและการจัดการ

เมื่อโรงดังกล่าวมีจำนวนน้อย ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่หนังจะขายได้หรือเปล่า มันอยู่ที่ว่าจะมีที่พอให้ฉายหรือเปล่า ถ้ามีความต้องการจะฉายซอฟต์แวร์ของหนังที่ต้องการระบบนี้ ทั้งๆ ที่ระบบการถ่ายทำได้ถูกแปลงสัญญาณไปอยู่ในรูปดิจิตอลกันเกือบหมดแล้ว

SF cinema city ได้นำเข้าเทคโนโลยี 2K DLP เครื่องฉายขนาดเท่าจอฉายภาพยนตร์ในประเทศไทยเป็นรายแรก ด้วยราคาระบบเกือบ 20 ล้านเมื่อปลายปี ในขณะที่เมเจอร์ยังรอนำเข้าเครื่องฉายดิจิตอลอีก 3 เครื่องรวมเป็น 5 เครื่อง ว่ากันว่า 2K เป็นขนาดความคมชัดที่เทคโนโลยีเครื่องฉาย ให้คุณภาพของภาพดีกว่าวิธีการฉายด้วยฟิล์ม ภาพยนตร์ดิจิตอลในบ้านเราเปิดฉายครั้งแรกเรื่อง “Star Wars : Episode II”ของเมเจอร์ในระบบ 1.3 K และตามด้วยเรื่องแรก ของ SF คือ “Finding Nemo” ในระบบ 2K

ในฝั่งของ EGV สร้างจุดยืนตามกระแสด้วย “D-CINE” เปิดตัวโรงดิจิตอลของตัวเองไปในเดือนมกราคม การเกิดขึ้นของ D-CINE เป็นก้าวแรกในการลงทุนของ EGV ที่จะเลือกวางจุดต่างในช่องว่างของเวลาสำหรับคนที่ต้องการดูหนังได้ทันทีเมื่อมาถึงโรง แทนที่จะต้องรอคิวหรือรอรอบ เป็นโรงขนาดเล็กมีความเป็นส่วนตัวและขายตัวเองพ่วงไปกับอาหารและคาราโอเกะ เน้นกลุ่มครอบครัว (Family Entertainment) หรือวัยรุ่นนักศึกษา (Young Adult) ที่ต้องการสถานที่เพื่อผ่อนคลายหรือสนุกสนานนอกบ้านที่ต่างจากโฮมเธียเตอร์ ในฐานะโรงหนังส่วนตัว (Private Digital Cinema)

ข้อดีของ “Digital Cinema”

ภาพยนตร์ดิจิตอลนั้นทำให้ผู้ชมเข้าถึงอรรถรสและความรู้สึกที่ผู้กำกับต้องการนำเสนอ เนื่องจากการให้ภาพที่สมจริง สีสันสดใส มากกว่า 35 พันล้านล้านเฉดสี ซึ่งมากกว่าเครื่องฉายฟิล์ม 35 มม. ถึง 8 เท่า ไม่ว่าคุณจะชมภาพยนตร์เรื่องนั้นในรอบเปิดตัวหรืออีก 1 เดือนถัดมา ตัวภาพยนตร์เองก็ยังคงความคมชัด สมจริง เหมือนเดิม ปราศจากรอยขีดข่วนบนจอภาพ หรือภาพกระตุกจากการฉายซ้ำๆ ของฟิล์ม เนื่องจากฟิล์มที่ฉายซ้ำคุณภาพก็จะกร่อนลงเรื่อยๆ

นอกจากนั้น ระบบการส่งต่อฟิล์ม (Film Distribution) ในธุรกิจโรงภาพยนตร์เอง ก็เป็นกิจกรรมที่สร้างขั้นตอนบางอย่างให้กับธุรกิจโรงฉาย ไม่ว่าระบบการก๊อบปี้ฟิล์ม การกระจายสู่โรงฉายตามภูมิภาค หรือการขนส่งฟิล์มข้ามประเทศจากตัวแทนจำหน่ายไปประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่เสียค่าใช้จ่ายสูง ฟิล์มที่สูญเสียไปในแต่ละปีของระบบฉายใช้ไปในระดับหลายล้านฟุต ในทางกลับกัน หากลองคำนวณดูราคาของเครื่องฉายเครื่องหนึ่งรวมกับเซิร์ฟเวอร์ในการเก็บไฟล์ข้อมูลของหนังดิจิตอล ก็รวมกันเกือบถึง 30 ล้าน เพื่ออย่างน้อยให้ได้ระบบที่สามารถแทนที่ระบบเดิม ซึ่งการเปลี่ยนมาใช้ระบบใหม่ก็เป็นต้นทุนที่แพงกว่าระบบเก่าถึง 9-10 เท่า