สมาคมผู้ดูแลเว็บไทยได้จัดประชุมสามัญประจำปีขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา ไฮไลต์เด็ดคือการสัมมนาที่บรรดาเว็บมาสเตอร์ต้องหูผึ่งฟัง นั่นคือการเชิญผู้ที่มีอำนาจพิจารณาซื้อสื่อ (media buyer) โฆษณาบนเว็บจาก 2 เอเยนซี่ใหญ่ คือ เอกวิทย์ ฉัตรจรัสกุล m-One Manager จาก MindShare Thailand และ อรรถวุฒิ ทองยืน Account Manager, Interactive Unit จาก SC Matchbox บริษัทโฆษณาในกลุ่มชิน มาเป็น “ซินแสดูฮวงจุ้ย” ว่าเจ้าของเว็บควรทำเว็บและ “ทำตัว” อย่างไรให้เงิน(โฆษณา)ไหลเข้า ที่สำคัญงานนี้ “ซินแส” เองเป็นผู้มีอำนาจกุมเม็ดเงินโฆษณา ส่วนพิธีกร 2 คนเป็นเว็บมาสเตอร์ทั้งคู่ จาก thaisecondhand.com และจาก siam2you.com ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นเหมือน “ตัวแทนพ่อค้า” ขึ้นมาซักถามข้อข้องใจกับลูกค้ารายใหญ่แทนเว็บมาสเตอร์สมาชิกทั้งหมด
เปิดฉากสัมมนาด้วยการสรุปว่าเม็ดเงินโฆษณาบนเว็บนั้นกำลังสดใสเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจ บริษัทเจ้าของสินค้าเข้าใจสื่อเว็บมากขึ้น บางแห่งถึงกับตัดสินใจซื้อ banner โฆษณาเพราะไปเล่นเว็บแล้วบังเอิญเห็น banner ของคู่แข่งโชว์อยู่ตำตา นอกจากนี้กลุ่มเป้าหมายขยายกว้างขึ้นจากยุคแรกที่คนเล่นเว็บจะเป็นวัยรุ่นนักศึกษาเสียส่วนใหญ่ และที่เป็นจุดแข็งอย่างยิ่งของสื่อเว็บคือง่ายที่จะรับข้อมูลตอบกลับจากลูกค้าเพื่อสร้างฐานข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย หรือทำแบบสอบถามในเรื่องต่างๆ ส่วนหลักใหญ่ของการเลือกลงโฆษณาคือเว็บนั้นต้องมีผู้เข้าชมมาก ซึ่งทั้งคู่ใช้ truehits.net ของ NECTEC เป็นเครื่องมือหลักในการตรวจวัด และผู้เข้าชมส่วนใหญ่ต้องเป็นกลุ่มเป้าหมายของโฆษณาตัวนั้นๆ ซึ่งหลัก 2 ข้อนี้สำคัญพอๆ กัน
แต่ปัญหาที่ media buyer พบคือบรรดาเจ้าของหรือผู้ดูแลเว็บมักจะเป็นเพียงผู้เชี่ยวชาญไอทีที่ขาดความเป็นมืออาชีพในทางธุรกิจและความรู้ทางการตลาด เช่นไม่มีข้อมูลผู้เข้าชมว่าเป็นคนกลุ่มไหน ไม่ได้ตั้งราคาหรือรูปแบบการโฆษณาไว้ เมื่อเอเยนซี่สนใจติดต่อไปนั้นบางรายถึงกับถามว่า “แล้วคุณจะให้เท่าไร?” ซึ่งแทบจะทำให้เอเยนซี่โฆษณาเลิกติดต่อเว็บนั้นไปเลย
ทั้งคู่ยังแนะการ “ทำเว็บ” เช่นไม่ควรวางเนื้อที่ลงโฆษณาไว้ตำแหน่งที่เห็นไม่ชัด ไม่ดึงดูดสายตา หรือดูปะปนกับเนื้อหาอย่างยุ่งเหยิง ไม่ควรเปลี่ยนตำแหน่งและขนาด banner ไปมา ซึ่งถือเป็นการไม่รักษาสัญญาทางธุรกิจเลยทีเดียวไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ ไม่ควรลง banner ของสินค้าหรือบริการหนึ่งๆ ประกบหรือใกล้กับคู่แข่ง และไม่ควรให้หน้าหนึ่งๆ มี banner โฆษณามากเกินไปจนทำลายเนื้อหาทำให้ผู้เข้าชมเบื่อหน่าย ทางออกก็คือให้มีการหมุนป้ายโฆษณา (banner rotation) นอกจากนี้ควรเตรียมเนื้อที่ลงโฆษณาไว้ด้วยขนาดมาตรฐาน เช่น 468 คูณ 60 pixel ซึ่งเป็นที่นิยมที่สุดในปัจจุบัน (ดูมาตรฐานทั้งหมดที่ www.webmaster.or.th/tiab/about.html ในหน้า 2)
ฝ่ายผู้ฟังคือบรรดาเว็บมาสเตอร์ก็ได้ติติงกลับไปยังฝ่ายเอเยนซี่ใน 2 เรื่อง คือไม่ควรใช้ banner ที่ไฟล์ใหญ่เกินไปหรือไฟล์หนังโฆษณาที่ยาวเกินไป และไม่ควรใช้โฆษณาแบบ pop-up เพราะปัจจุบันบรรดาโปรแกรมดูเว็บอย่าง Internet Explorer นั้นได้เพิ่มความสามารถในการปิดกั้น pop-up ไม่ให้แสดง ซึ่ง 2 เรื่องนี้ฝ่ายเอเยนซี่ก็รับความคิดเห็นไว้
Did you know?
ถ้าคุณอยากรู้มาตรฐานในทุกด้าน รวมถึงศัพท์เทคนิคเกี่ยวกับการโฆษณาบนเว็บ เช่น Cost Per Impression (CPI), Cost Per Click (CPC), Cost Per Lead หรือ Commission เข้าไปดูได้ในเว็บของสมาคมผู้ดูแลเว็บไทยในหน้า www.webmaster.or.th/tiab/about.html