4 ปี่ที่แล้ว นิตยสารสำหรับวัยรุ่นคนหนุ่มสาวเล่มหนึ่งเกิดขึ้นมาในช่วงเศรษฐกิจภายหลังฟองสบู่แตก แค่การออกนิตยสารหัวใหม่ก็เรียกได้ว่ากล้าพออยู่แล้ว แต่รูปแบบการกำเนิดของนิตยสารเล่มนี้มีความไม่ธรรมดาไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะมันเกิดจากการชวนผู้อ่านมาร่วมลงขันทำหนังสือด้วยกัน
มาถึงวันนี้สามารถพูดได้ว่าน้อยคนที่จะไม่รู้จัก a day และ “โหน่ง วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์” หนึ่งใน 3 ผู้ก่อตั้งบริษัท เดย์อาฟเตอร์เดย์ จำกัด ผู้ผลิตนิตยสาร a day
POSITIONING ฉบับ Young Executive ได้พูดคุยกับวงศ์ทนง ในฐานะหนึ่งใน 50 Young Executive ที่มาจากการโหวตของผู้อ่าน ถึงการเติบโต การเปลี่ยนแปลง ของ a day และ เดย์อาฟเตอร์เดย์ของเขา
POSITIONING : 4 ปี จนถึงวันนี้บทบาทของวงศ์ทนงกับ a day เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ?
วงศ์ทนง : ด้วยความที่บริษัทเรามันเล็กมาก เราเริ่มต้นทำหนังสือด้วยคนแค่ 6 คนเอง เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็ต้องทำหน้าที่ควบคู่กันหลายอย่าง ผมเองนอกจากเป็นบรรณาธิการ ดูแลเนื้อหาและรูปเล่มของหนังสือแล้ว ยังต้องทำคอลัมน์เองเยอะมาก a day ยุคแรกนี่ผมเขียนเองเกินครึ่งเล่มมั้ง นอกนั้นผมก็ต้องออกไปขายโฆษณาเองด้วย แต่ช่วงปีที่ 2 เป็นต้นมา งานผมก็เริ่มเบาลง เพราะหนังสือเราไปได้ดี ไม่ว่าจะในด้านธุรกิจหรือการยอมรับของผู้อ่าน เราจึงสามารถออก HAMBURGER ได้อีกเล่ม ช่วงแรกผมก็นั่งเป็น บ.ก. HAMBURGER เอง แต่ผ่านไปได้ประมาณครึ่งปีก็มอบให้ วิภว์ บูรพาเดชะ ดูแลต่อ ส่วน a day ผมก็ได้ วชิรา รุธิรกนก มาเป็น บ.ก. แล้วปีที่ 4 ของบริษัทเราก็ออก a day weekly อีกเล่ม โดยได้อธิคม คุณาวุฒิ มาเป็น บ.ก.
สรุปว่างานในช่วง 2 ปีแรกผมต้องลงไปปฏิบัติการเยอะ แต่หลังจากนั้นก็เน้นงานบริหารเสียส่วนใหญ่ ถ้าเปรียบบริษัทเราเป็นทีมฟุตบอล ตอนนี้ผมก็คงเป็นผู้จัดการทีมกึ่งผู้เล่น คือไม่ใช่แค่ใส่สูทสั่งการวางแผนการเล่นข้างสนามอย่างเดียว ถ้าสถานการณ์จำเป็นหรือนึกสนุก ผมก็สามารถเปลี่ยนชุดลงไปเตะกับเขาได้ด้วย
POSITIONING : พอมาอยู่ในตำแหน่งของผู้บริหารมากขึ้นรูปแบบการใช้ชีวิตเปลี่ยนไปบ้างหรือเปล่า ?
วงศ์ทนง : สำหรับผม a day ไม่ใช่แค่หนังสือ แต่มันเป็นบทเรียนชีวิตให้ผมด้วย มันหล่อหลอมให้ชีวิตผมกลมกลืนกับตัวมัน บังคับให้ผมต้องเปลี่ยนวิธีคิดและวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิง เพราะก่อนหน้านี้ผมเหมือนลูกจ้างบริษัทน่ะ ไม่ต้องรับผิดชอบมากมาย แล้วตั้งใจทำหนังสือให้ตายยังไงเราก็ไม่เข้าใจหัวใจในการทำธุรกิจหนังสืออย่างแท้จริงหรอก แต่พอผมมาทำหนังสือเอง มันสอนผมหมดทุกเรื่องเลย ไม่ว่าจะเรื่องความรับผิดชอบ วิธีคิด วิสัยทัศน์ หลักการดำเนินชีวิต a day มันเหมือนเป็นศาสนาส่วนตัวของผมเลย
ผมคิดว่าผมไม่มีงานอดิเรก ยิ่งของสะสมอะไรนี่ไม่มีเลย การพักผ่อนของผมก็ง่ายมากๆ ไม่อ่านหนังสือก็ดูหนังหรือขับรถไปเที่ยวต่างจังหวัด ผมคิดว่าการได้อ่านหนังสือดีๆ สักเล่มหรือดูหนังดีๆ สักเรื่อง มันมีคุณูปการต่อชีวิตมากเลย ตรงกันข้าม การอ่านหนังสือห่วยๆ หรือดูหนังแย่ๆ ก็ถือเป็นการสูญเปล่าในชีวิตอย่างหนึ่ง จริงๆ ผมเป็นคนที่โคตรธรรมดาเลยนะ เรียกว่าปะปนไปกับฝูงชนได้สบาย ผมไม่ชอบเป็นคนมีชื่อเสียง เพราะผมมีเพื่อนที่มีชื่อเสียงหลายคน ผมเห็นเขาเหมือนถูกสาปน่ะ เวลาสุขก็สุขมหาศาล แต่เวลาทุกข์ก็ทุกข์ท่วมท้น นี่คือผลพวงของชื่อเสียง ซึ่งผมไม่ปรารถนาชีวิตสุดโต่งแบบนั้น ผมชอบมีชีวิตแบบกลางๆ ค่อยๆ เบาๆ น่ะ ผมว่าชีวิตอย่างนี้จะอยู่ได้สบายและนานกว่า
POSITIONING : 4 ปีที่ผ่านมา a day โตขึ้นมากเลยในสายตาของคนทั่วไป
วงศ์ทนง : ถ้าดูจากบิลลิ่ง ดูว่าเรามีหนังสือเยอะขนาดนี้อยู่ในมือ ดูว่าพนักงานเพิ่มจาก 6 คนเป็น 86 คนใน 4 ปีแล้วจะพูดว่าอย่างนั้นก็คงไม่ผิด แต่ผมเชื่อว่าเราเติบโตแบบมีทิศทางและก็มีพื้นฐานที่แน่นหนามั่นคงนะ ถ้าเอาไปเปรียบเทียบกับการทุ่มเททำงานของพวกเราแล้ว ผมว่าเติบโตแค่นี้ยังน้อยไปด้วยซ้ำ
POSITIONING : รูปแบบธุรกิจของ a day ที่เกิดขึ้นมาโดยการระดมทุนจากคนอ่าน คิดว่ามันจะมีโอกาสเกิดขึ้นมาอีกได้หรือไม่ ?
วงศ์ทนง : ทุกวันนี้บริษัทขนาดยักษ์ใหญ่ลงมาจับธุรกิจสิ่งพิมพ์กันแล้ว ซึ่งบางบริษัทไม่ได้เกี่ยวกับธุรกิจสิ่งพิมพ์เลยด้วยซ้ำ เคยทำแต่ทีวี ทำเพลง แต่ลงมาทำหนังสือเพราะ content บางอย่างมันเหลือใช้ และผมคิดว่าเขาคงมองเห็นช่องทางที่จะทำเงินและแตกหน่อต่อยอดไปทำอย่างอื่นได้ อีกอย่างข้อดีของธุรกิจสิ่งพิมพ์ คือมันไม่ต้องมีสัมปทาน เมื่อเทียบกับสื่ออื่นๆ อย่างวิทยุหรือโทรทัศน์ ซึ่งเป็นเรื่องปวดใจที่เราต้องไปผูกชะตากรรมไว้ เพราะฉะนั้นสิ่งพิมพ์จึงน่าสนใจ และดูแล้วบ้านเรามีโอกาสเติบโตอีกมาก
ส่วนตัวแล้วผมชอบเรื่องการแข่งขันนะ เพราะด้านหนึ่งมันก็เป็นการกระตุ้นให้เราพัฒนาศักยภาพ วิ่งคนเดียวเราก็ไม่รู้หรอกว่าเราจะวิ่งได้เร็วกว่านี้อีกไหม แต่อีกด้านหนึ่งเมื่อบริษัทใหญ่ลงมาเล่นกันมาก มันก็เหมือนกับปิดช่องที่จะเกิดของบริษัทเล็กๆ ไปโดยปริยาย มีคนบอกผมว่า โมเดลแบบที่ a day ทำ คือคนเล็กๆ ลุกขึ้นมาทำธุรกิจหนังสือด้วยตัวเอง ต่อจากนี้ไปมันคงยากที่จะเกิดขึ้นแล้ว ถึงขั้นเป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำ
POSITIONING : เติบโตจนเป็นที่สนใจของยักษ์ใหญ่หลายบริษัท แต่ทำไมถึงเลือกร่วมลงทุนกับ Traffic Corner ?
วงศ์ทนง : เพราะเราต้องการขยายธุรกิจเพิ่ม และต้องการศักยภาพในเรื่องอื่นๆ ที่เราไม่มี แต่บริษัทที่ใหญ่กว่าเรามี ก่อนจะร่วมลงทุนกับ Traffic Corner เราก็เลือกอยู่หลายบริษัท ใช้เวลาคุยกันอยู่เกือบปี สุดท้ายพิจารณาดูแล้วเห็นว่า Traffic Corner มีครบทุกอย่างที่เราต้องการ แล้วก็มีเงื่อนไขที่ไปกันได้ โดยเฉพาะเรื่องอิสระในการทำงาน และให้เราคงความเป็นตัวเองดั้งเดิมไว้มากที่สุด ก็เลยร่วม Joint Venture กัน ซึ่งผมคิดว่าเราได้ดีลที่น่าพอใจ
POSITIONING : อะไรคือข้อตกลงที่บอกได้ว่าน่าพอใจ ?
วงศ์ทนง : ผมคิดว่าตั้งแต่วันที่ร่วมลงทุนกัน บริษัทผมแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนไปจากเดิมเลย เปลี่ยนแค่ชื่อ จาก บริษัท เดย์อาฟเตอร์เดย์ จำกัด เป็น บริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด ออฟฟิศยังอยู่ที่เดิม เรายังทำงานกันโดยอิสระเหมือนเดิม ยังมีอำนาจสิทธิ์ขาดในการกำหนดทิศทางสิ่งพิมพ์แต่ละเล่มของเราเหมือนเดิม ที่ได้เพิ่มมาคือความรู้ความเข้าใจในการบริหารต้นทุน การทำการตลาด และการใช้สื่อในเครือของ Traffic Corner เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับหนังสือของเรา ใครจะว่ายังไงก็ช่างนะครับ แต่ผมยังยืนยันว่า a day ยังเป็น independent อยู่ และก็จะเป็นตลอดไป
POSITIONING : การทำธุรกิจร่วมกับบริษัทใหญ่ๆ ที่อยู่ในตลาดหุ้นทำให้เราต้องออกหนังสือมาเยอะๆ เพื่อตอบสนองในตรงนั้นหรือเปล่า ?
วงศ์ทนง : สำหรับบริษัทผมไม่นะครับ เพราะเวลาที่พวกเราจะออกหนังสือใหม่สักเล่มหนึ่ง เราจะไม่มองว่าตลาดต้องการอะไร หรือทำหนังสืออะไรขายดีแล้วถึงไปทำ เพราะถ้าไปคิดอย่างนั้นคุณจะกลายเป็นพวกพ่อค้า Consumer Product ทันที แต่หนังสือเป็นสินค้าภูมิปัญญา ผมเชื่อว่าคนที่ทำหนังสือ เริ่มต้นต้องคิดก่อนว่าอยากให้เนื้อหาอะไรที่มีคุณค่ากับผู้อ่าน กับสังคม แล้วถึงค่อยเอาการออกแบบ เอาเทคนิคการตลาด เอาการโฆษณาประชาสัมพันธ์มาจับเพื่อให้หนังสือมันขายดีขึ้นมา ผมเชื่อว่าคนทำหนังสือถ้าเริ่มต้นทำหนังสือด้วยความปรารถนาดีแล้ว ไม่ช้าก็เร็วผู้อ่านเขาจะเห็น
POSITIONING : แล้วทำอย่างไรที่จะให้หนังสือออกมาแล้วประสบความสำเร็จ ?
วงศ์ทนง : ผมคิดว่าพวกเรามีสายตาพิเศษในการมองเห็นตลาดที่คนอื่นไม่เห็น หลักอย่างหนึ่งที่เราใช้คือ เราจะไม่ทำหนังสือซ้ำกับที่มีอยู่แล้ว ยกตัวอย่าง ที่เราทำ a day ถ้าดูตามหมวดหมู่ของมันก็จะตกอยู่ในประเภทของหนังสือวัยรุ่น ซึ่งก่อนหน้านี้หนังสือวัยรุ่นเจ้าตลาดเขาก็มีอยู่แล้ว คนหมู่มากมีภาพจำหนังสือวัยรุ่นอยู่แล้ว ซึ่งถ้าเป็นคนอื่นจะทำหนังสือวัยรุ่นสักเล่มก็คง reference ทำให้มันดูคล้ายๆ กับหนังสือเจ้าตลาด สมัครใจที่จะยืนต่อแถวเป็นลำดับที่ 5 ที่ 6 แล้วก็หวังว่าวันหนึ่งจะขึ้นไปเป็นที่ 2 ที่ 3 แต่พวกเราไม่ชอบอย่างนั้น เราชอบวิธีทำให้มันแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงกับหนังสือเจ้าตลาดเลย พูดง่ายๆ ว่าไม่เข้าแถวเดิม แต่ออกมาตั้งแถวใหม่ โอเคว่าในระยะแรก อาจจะต้องให้เวลาผู้อ่านหรือตลาดทำความเข้าใจกับความแปลกใหม่ของเราสักหน่อย แต่พอมันติดขึ้นมาแล้ว คุณเป็นหัวแถว เป็นที่ 1 ทันทีเลยนะ วิธีนี้ผมใช้มาตลอด ตั้งแต่ a day, HAMBURGER, a day weekly หรือแม้กระทั่ง Knock Knock! ทุกเล่มเป็นหนังสือวัยรุ่น หนังสือบันเทิง หนังสือวิเคราะห์ข่าวอีกแบบหนึ่ง
POSITIONING : การทำหนังสือจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องจับกระแสในช่วงนั้นตลอดเวลา
วงศ์ทนง : กระแสไม่ใช่เรื่องเลวร้ายนะ ผมแปลกใจว่าทำไมคนเราพูดถึงคำว่ากระแสมักจะมีความรู้สึกว่าเป็นเรื่องไม่ดีพ่วงมาด้วย ความจริงคือทุกอย่างรอบๆ ตัวเรามันคือกระแสหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง F4 เรื่องไข้หวัดนก เรื่องแฟชั่นมือถือ เรื่องสถานการณ์ภาคใต้ ผมคิดว่าการเล่นกับกระแสไม่ใช่สิ่งผิด ตรงกันข้าม งานด้านสื่อจำเป็นด้วยซ้ำที่คุณต้องจับกระแสให้อยู่ ไม่ใช่ไม่รู้เรื่องรู้ราวเลยว่าคนสมัยนี้เขาสนใจอะไร เขาชอบอะไรไม่ชอบอะไร ความสำคัญอยู่ที่ว่าเราจะหยิบจับกระแสนั้นมาเสนอในประเด็นไหนมากกว่า สำหรับหนังสือของผมทุกเล่ม เราไม่หลุดกระแส แต่ถ้าจะให้ตามแห่ แบบอะไรดังขึ้นมานิดนึงก็ไปฮือฮา ไปเกาะขาขอขายไปกับเขาด้วยโดยไม่สนว่ามันดีหรือไม่ดี อย่างนี้เราไม่เอาด้วย
POSITIONING : การทำหนังสือต้องผสมผสานหลายอย่างรวมทั้งการตลาดด้วยจริงไหม ?
วงศ์ทนง : แน่นอนครับ เคยมีคนมาสัมภาษณ์ผม ถามผมว่า 2 ขาที่สำคัญของหนังสือ คือเนื้อหากับรูปเล่ม ผมให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่า ผมตอบว่าหนังสือไม่ได้มี 2 ขานะครับ แต่มี 3 ขา ขาที่สำคัญที่คุณละเลยไม่ใส่ใจไม่ได้เด็ดขาดคือธุรกิจและการตลาด เพราะมันหมายถึงการอยู่ได้อย่างยาวนานของหนังสือของคุณ แต่ที่สุดแล้วผมก็พยายามไม่ให้เรื่องค้าขายมายุ่งกับตัวหนังสือจนเกินไป การทำหนังสือดีๆ สักเล่ม ผมว่าไม่ใช่เรื่องยากนะ ส่วนการทำหนังสือให้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ผมก็ว่าง่าย มันมีสูตรแย่ๆ หลายอย่างให้คุณเลือกหยิบไปใช้ได้ แต่สิ่งที่ผมว่าโคตรยากและเหนื่อยมากเลยก็คือ การทำหนังสือดีๆ ที่มันขายดีด้วยนี่แหละ ซึ่งถึงที่สุดแล้วเราก็เลือกที่จะยอมเหนื่อย
POSITIONING : รูปแบบของ Advertorial ที่มีอิทธิพลต่อการทำหนังสือมากขึ้นในยุคนี้
วงศ์ทนง : Advertorial ไม่ใช่ของใหม่ ผมทำหนังสือมา10 กว่าปี เห็นรูปแบบนี้มานานแล้วล่ะ แต่ทุกวันนี้มันอาจจะรุนแรงและเข้มข้นมากขึ้น สื่อต่างๆ มีโฆษณาเข้ามาแทรกแซงในรูปแบบที่แนบเนียนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ หรือสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งผมว่ามันไม่ยุติธรรมเท่าไหร่ถ้าจะไปโทษเอเยนซี่ฝ่ายเดียว เพราะการที่จะเกิด advertorial ได้เนี่ย คิดฝ่ายเดียวมันเกิดขึ้นไม่ได้ แต่ต้องยินยอมพร้อมใจทั้ง 2 ฝ่าย คือเอเยนซี่กับหนังสือ สุดท้ายคำถามก็อยู่ที่ว่าคุณอยากได้แค่ไหนล่ะ ถ้าอยากได้เยอะคุณก็ต้องยอมเยอะ ไม่อยากได้เลยคุณก็ไม่ต้องยอม สำหรับ a day เราอยากได้บ้างครับ แต่ไม่มาก ในสายตาเอเยนซี่บางแห่งเราก็เลยเป็นหนังสือที่ขึ้นชื่อเรื่องความเรื่องมาก ผมว่าเราไม่ได้ดื้อหรอกนะครับ พยายามจะประนีประนอมด้วยซ้ำ แต่เราจะคำนวณกันอยู่ตลอด ว่าสิ่งที่ได้มาชั่วคราวกับสิ่งที่เสียไปอย่างถาวรน่ะมันคุ้มค่ากันหรือเปล่า
POSITIONING : คิดว่าปัจจัยความสำเร็จในการทำธุรกิจสิ่งพิมพ์มีอะไรบ้าง ?
วงศ์ทนง : คิดแบบเร็วๆ เลยก็แล้วกันนะ ข้อแรก ตัวหนังสือต้องดีก่อน ทั้งเนื้อหา และรูปเล่ม ข้อที่สองก็คือ เรื่องการตลาด เรื่องธุรกิจการตลาดต้องแม่น ตรงเป้า และตื่นตัวอยู่ตลอด ข้อสาม การมีบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ บริษัทผมตอนนี้มี 86 คน จากเดิม 6 คน แต่จริงๆ แล้วจำนวนมันยังน้อยเมื่อเทียบกับงานที่เราทำ เพราะเราทำนิตยสารรายเดือน 2 เล่ม รายปักษ์ 1 รายสัปดาห์ อีก 1 ยังไม่นับสิ่งพิมพ์ที่เรารับจ้างผลิตอีก 3-4 เล่มต่อเดือน ถือว่าใช้คนจำนวนน้อยได้เวิร์คมากๆ ข้อที่สี่นี่สำคัญ ผมคิดว่าบริษัทผมมีการดูแลธุรกิจอย่างรอบคอบ เรื่องเงินๆ ทองๆ เราดูแลละเอียดมาก อะไรที่ขี้เหนียวได้ก็ต้องขี้เหนียว แต่อะไรต้องจ่าย ต้องลงทุน โดยเฉพาะเรื่องอุปกรณ์การทำงาน เรื่องสวัสดิการพนักงานผมคิดว่าเราไม่คิดมาก ส่วนข้อห้า ผมคิดว่าเราเป็นบริษัทที่บริหารความสุขเก่งมากเลย เรามี culture แบบของเรา คนทำงานเหมือนทำกิจกรรมในชมรมในมหาวิทยาลัย มีความอิสระสูง บริษัทผมไม่เคยมีการตอกบัตร สามารถนอนกลางวันได้ ดูทีวี เล่นเกมคอมฯ เล่น msn ได้ทั้งวัน มีบรรยากาศทุกอย่างที่เอื้อต่อคนที่ทำงานใช้ความคิด
POSITIONING : แบบนี้ก็ต้องมีวิธีบริหารตัว culture ตัวนี้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ?
วงศ์ทนง : ใช่ครับ เพราะทุกวันนี้จำนวนคนเริ่มเยอะขึ้น พอสภาพแวดล้อมสบายไป แน่นอนว่ามันก็ต้องมีทั้งคนที่ทำงานดีแล้วก็บกพร่อง ผมคิดว่าการที่ผมเติบโตมาจากการทำงานระดับล่างสุดคือกองบรรณาธิการ ไม่ใช่เป็นนายทุนที่ไหนถือเงินเข้ามาทำหนังสือ ผมจึงเข้าใจความสุขและความทุกข์ของคนทำหนังสือว่ามันมีอะไรบ้าง เมื่อผมมาทำบริษัทเอง ผมก็แค่ทำในสิ่งที่ผมรู้ว่าทำแล้วคนทำงานจะความสุข และพัฒนาตนเองไปด้วย ขณะเดียวกันผมก็จะไม่ทำสิ่งที่จะทำให้คนทำงานมีความทุกข์ เป็นหลักง่ายๆ แค่นั้นเองครับ
POSITIONING : แสดงว่าเชื่อถึงเรื่องศักยภาพของคนสามารถควบคุมและดึงมันออกมาใช้ได้ถ้ารู้จักวิธี ?
วงศ์ทนง : ใช่ ผมคิดว่าผมสามารถทำให้คนที่มาทำงานกับผมพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้อีก เพราะผมเชื่อว่าคนแต่ละคนมีศักยภาพในตัวมากกว่าที่เขาเอาออกมาใช้ เพียงแต่เขาอาจจะขาดการชี้แนะ ขาดแรงจูงใจ ขาดวิธีที่จะดึงเอาศักยภาพตรงนั้นออกมา ซึ่งผมคิดว่าผมมีวิธี ผมว่าเรื่องหนึ่งที่พอจะพูดได้ว่าผมเก่ง ก็คือการหาคุณค่าจากสิ่งที่ดูเหมือนจะไร้ค่านี่แหละ
POSITIONING : มีวิธีบริหารคนที่เพิ่มขึ้นอย่างไร ?
วงศ์ทนง : ผมไม่ดูเลยนะว่าจบมาจากสถาบันไหน คนของเรามาจากทุกสถาบันเลย วิชาที่เรียนมาก็หลากหลายมาก และในจำนวน 86 คน ผมคิดว่าผมน่าจะลงมือสัมภาษณ์เองประมาณ 65 คน หลักการเลือกคนเข้าทำงานของผมมีอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกคือเก่ง มีทักษะความสามารถ ในงานที่เขาจะทำ อย่างที่สอง ต้องนิสัยดี จิตใจดี มีน้ำใจ มีบุคลิกที่ดี มีแววว่าสามารถจะพัฒนาขึ้นได้ต่อไป ผมให้ความสำคัญกับการให้รางวัลพนักงาน รวมไปถึงการสนับสนุนให้เขาเติบโตขึ้น อย่างเช่น พนิดา เอี่ยมศิรินพกุล บ.ก.Knock Knock! ก็โตมาจากการเป็นอาร์ตไดฯ ของ HAMBURGER แต่ผมเห็นแววว่าเขาเป็น บ.ก.ได้ เลยโปรโมตให้ นี่คือตัวอย่างการให้รางวัล
POSITIONING : ภาวะเศรษฐกิจที่แกว่งตัว ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ในฐานะผู้บริหารมีการเตรียมรับมือมันอย่างไรบ้าง ?
วงศ์ทนง : ผมเคยทำหนังสือเจ๊งกับมือมาแล้ว คือ Trendy Man มันเตือนผมเสมอว่าอย่าประมาท อย่าเหลิง เพราะธุรกิจสิ่งพิมพ์มันเกี่ยวโยงอยู่กับหลายสิ่งหลายอย่างที่มีขึ้นมีลง ยกตัวอย่างราคากระดาษที่ไปผูกกับราคาน้ำมัน ขณะที่ราคาน้ำมันก็เกี่ยวกับการเมืองด้วย การทำหนังสือต้นทุนกระดาษและการพิมพ์เป็นต้นทุนหลัก เราจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือตลอด อีกอย่างหนึ่งก็คือในช่วงที่พอจะสะสมได้ เราก็ควรจะสะสมทรัพย์ไว้ จะได้มีเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพเอาไว้เผื่อเหลือเผื่อขาด หลักคิดนี้ผมได้มาจากการเป็นคนทำหนังสือเจ๊งมาก่อน ตรงกันข้ามนะ ถ้าผมประสบความสำเร็จมาตลอดเนี่ย ผมจะไม่มีบทเรียนน่ะ ผมเชื่อว่าบทเรียนจากความล้มเหลว มีค่ามากกว่าบทเรียนจากความสำเร็จ
POSITIONING : ถ้าให้บอก Positioning ของบริษัท เดย์ โพเอทส์ ในวันนี้
วงศ์ทนง : ผมยังรู้สึกตลอดเวลาว่าเรายังเป็นบริษัทเล็กๆ เป็นเด็กๆ ในวงการสิ่งพิมพ์ที่ใหญ่โตมโหฬารของประเทศไทย แต่เด็กคนนี้บุคลิกมันอาจจะซ่าและแหกคอกสักหน่อย คนก็เลยเห็นมันชัด ภาพหนึ่งที่คนข้างนอกมองเราที่ผมชอบก็คือ มองว่าหนังสือที่ออกมาจากเราต้องไม่ธรรมดา ไม่ซ้ำ แล้วก็มีอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ พิเศษกว่าชาวบ้านเขา เป็นหนังสือที่อ่านเนื้อหาแล้วว่าไม่ได้ว่าไม่ดี ผมไม่รู้ว่านี่ถือเป็น Positioning ของ เดย์ โพเอทส์ ได้รึเปล่า
POSITIONING : เป้าหมายที่จะทำต่อไปสำหรับ a day คืออะไร
วงศ์ทนง : ทำหนังสือพิมพ์รายวันครับ เป็นความฝันก้อนใหญ่ที่สุดของผมตั้งนานแล้ว ชื่อ a day มันเหมาะเป็นหนังสือพิมพ์รายวันมากเลยคุณว่ามั้ย แต่แน่นอนว่าหนังสือพิมพ์รายวันสเกลมันใหญ่มาก ทั้งเรื่องเงินทุน เรื่องการบริหารงาน บริหารคน ก็คงต้องอาศัยเวลาสักหน่อย ช่วงนี้ที่ทำ a day weekly ก็เสมือนเป็นการซ้อมใหญ่ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น
POSITIONING : สิ่งที่เป็นจุดขายของบริษัท เดย์ โพเอทส์
วงศ์ทนง : เป็นบริษัทของคนหนุ่มสาวที่มีชีวิตชีวาและเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์
Did you know?
นอกจากธุรกิจหลักที่ทำนิตยสาร 4 หัว คือ a day, HAMBURGER, a day weekly และ Knock Knock! แล้ว บริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด ยังมีบริษัทลูกอีก 1 บริษัท คือ ADG ที่ย่อมาจาก a day graphic เป็นบริษัทที่รับจ้างผลิตสิ่งพิมพ์ให้กับหน่วยงานภายนอก ซึ่งปัจจุบันรับผลิตให้กับ ออเร้นจ์ เบเกอรี่มิวสิค และเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ รวมทั้งรับออกแบบสิ่งพิมพ์ให้กับภาพยนตร์บางเรื่อง ซึ่งวงศ์ทนงบอกกับ POSITIONING ว่า เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับบริษัทได้เป็นอย่างดี
นอกจากเป็นผู้บริหาร บริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด ในปัจจุบันแล้ว โหน่ง วงศ์ทนงยังมีกิจการส่วนตัวที่เขาร่วมทำกับนิติพัฒน์ สุขสวย ผู้ร่วมก่อตั้ง a day และเพื่อนอีก 2 คน เป็นร้านขายเสื้อชื่อ Sister Clinic อยู่ที่ตลาดนัดสวนจตุจักร ซึ่งแม้เขาจะออกตัวว่า ทำสนุกๆ แต่ได้ยินมาว่า รายได้แต่ละเดือนไม่น้อยทีเดียว
วงศ์ทนงมีหนังสือรวมเล่มออกมาแล้ว 3 เล่ม คือ a day story, เรื่องเล็ก (หญิงสาวนักขายขนมปัง) และ The Bear Wish Project (นามปากกา เดปป์ นนทเขตคาม)
Profile
Profile
Name : วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์
Education :
ปริญญาตรี มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
Career Highlights:
บรรณาธิการบทความ นิตยสาร GM
บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร Trendy Man
รองบรรณาธิการบริหาร นิตยสาร IMAGE
ผู้ก่อตั้งบริษัทเดย์อาฟเตอร์เดย์ จำกัด ภายหลังเข้าร่วมกับทราฟฟิค คอร์เนอร์ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด ผลิต นิตยสาร a day, Hamberger, a day weekly และ Knock Knock