สงครามแอร์ไลน์ “ชั้นธุรกิจ”

ปีที่ผ่าน นอกจากข่าวเปิดตัวสายการบินต้นทุนต่ำ และเส้นทางบินใหม่แล้ว ธุรกิจแอร์ไลน์บ้านเรายังมีข่าวการปรับตัวของสายการบินหลัก (non low-cost airline) มาเป็นระยะๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวการปรับเปลี่ยนเก้าอี้นอน และสิ่งอำนวยความสะดวกในชั้นธุรกิจ (business class) ของสายการบินชั้นนำระหว่างประเทศ

รายงานของ SKYTREX Research ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยอิสระทางด้านการบินมีหน้าที่จัดอันดับคุณภาพของสายการบินและสนามบินทั่วโลก ระบุถึงความเป็นมาของการแข่งขันอย่างดุเดือดในการปรับปรุงชั้นธุรกิจของสายการบินระดับโลกว่า เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อน โดยบริติชแอร์ไลน์เป็นเจ้าแรกที่เปิดตัวเก้าอี้ปรับนอนที่เอนราบได้เกือบ 180 องศา หรือ lie-flat seat ในไฟลท์บินพิสัยไกล (long haul flight)

เพียงไม่นาน สายการบินชั้นนำอื่นๆ ก็ทยอยเปิดตัวเก้าอี้รูปแบบคล้ายกันออกมา โดยพยายามเน้นที่ความสามารถในการปรับนอน ความกว้างยาวของที่นั่ง และอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะช่วยให้ผู้โดยสารพักผ่อนได้เต็มที่ รวมถึงการจัดเก้าอี้แบบ 2-2-2 หรือน้อยกว่า เพื่อเพิ่มพื้นที่ว่างระหว่างกัน อันจะช่วยสร้างความเป็นส่วนตัวราวกับอยู่บนเตียงนอนได้มากที่สุด

สิงคโปร์แอร์ไลน์เป็นสายการบินที่ให้ความสำคัญกับชั้นธุรกิจอย่างมาก และได้รับเลือกจาก SKYTREX ให้เป็น “Airline of the Year 2004” ใช้ชื่อ “Raffles Class” แทน “business class” และใช้เก้าอี้ “SuperBed” ในไฟลท์บินพิสัยไกล ส่วนในพิสัยใกล้จะใช้เก้าอี้ “Ultimo” ซึ่งสบายน้อยกว่าเพียงเล็กน้อย ขณะที่สายการบินอื่นยังไม่ใส่ใจการปรับที่นั่งชั้นในไฟลท์บินระยะใกล้มากนัก

สำหรับเก้าอี้ SuperBed สามารถปรับเอนได้ถึง 172 องศา ยาวเต็มที่ 78” มีความกว้าง 27” ซึ่งทำให้สิงคโปร์แอร์ไลน์จึงได้รับเลือกเป็น “Best For Rest” และ “Best For Sitting Up Comfort” พร้อมทั้งยังเป็น “Best For Sleep” อันดับสองรองจากบริติชแอร์เวย์

คาเธ่ย์ แปซิฟิค เป็นอีกสายการบินที่ลงทุนมหาศาล และระยะเวลาร่วม 18 เดือนในการพัฒนาเก้าอี้นั่งใหม่ซึ่งปรับเอนได้ราว 168 องศา ความยาวเต็มที่ 75” กว้าง 20.5” หลังจากเปิดตัวเพียงไม่นานก็ได้รับเลือกให้เป็น “Best For Sleep” อันดับที่ 3 และเป็น “Best For Sitting Up Comfort” อันดับ 2 นอกจากนี้ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้นราวกับห้องนอนส่วนตัว เช่น มีห้องแต่งตัวสำหรับผู้โดยสารแต่ละคน มีมุมแขวนเสื้อสูททุกที่นั่ง โต๊ะทำงานขนาดใหญ่แยกจากโต๊ะอาหาร หรือที่พักแขนถูกออกแบบให้สามารถเป็นที่วางน้ำแร่ได้อีกด้วย เป็นต้น

เจแปนแอร์ไลน์เรียกชั้นธุรกิจว่า “Executive Class” โดยเก้าอี้รุ่นใหม่สามารถเอนราบได้ถึง 170 องศา ยาวเต็มที่ 75” กว้าง 23.5” ถูกออกแบบเป็นทรงเปลือกหอย (บ้างก็ว่าเปลือกไข่) เรียกว่า “Shell Flat Seat” ซึ่งนอกจากจะเน้นเพื่อความสวยงามและรูปทรงทันสมัย ยังช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวได้เมื่อเตียงถูกปรับนอนราบ

ลุฟท์ฮันซ่าก็เป็นอีกสายการบินที่เพิ่งเปิดตัวที่นั่งและบริการชั้นธุรกิจใหม่เมื่อต้นปีนี้ โดยทุ่มงบประมาณร่วม 350 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยเรียกเก้าอี้นั่งชั้นธุรกิจว่า “PrivateBed Seat” ปรับเอนได้ถึง 171 องศา ยาวเต็มที่ 78” พร้อมระบบนวดอิเล็กโทรนิคส์ และระบบบันทึกความจำสำหรับปรับที่นั่งส่วนบุคคล

ณ วันนี้อาจกล่าวว่า ชั้นธุรกิจของสายการบินระดับโลกเกือบทุกแห่งต่างก็เล็งเห็นความจำเป็นที่ต้องปรับที่นั่ง และหากวันนี้ สายการบินใดที่ยังไม่มี “lie-flat seat” คงจะสร้างความผิดหวังไม่มากก็น้อยให้กับผู้โดยสาร นอกจากการนอนหลับสบายบน “lie-flat seat” แล้ว ผู้โดยสารชั้นธุรกิจเกือบทุกคนยังคาดหวังที่จะได้ติดต่อ ทำงาน และบันเทิงแม้อยู่บนเครื่องซึ่งกินเวลาหลายชั่วโมง หลายสายการบินชั้นนำจึงลงทุนพัฒนาและติดตั้งนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความพอใจให้ผู้โดยสาร ทั้งความสะดวกทางธุรกิจ และความบันเทิงนานัปการ (in-flight entertainment)

ด้านความสะดวกทางธุรกิจ ชั้นธุรกิจที่ปรับปรุงใหม่ของเกือบทุกสายการบินจะมีปลั๊กเชื่อมต่อกับโน้ตบุ๊คทุกที่นั่ง (in-seat power supply) และมีโทรศัพท์ส่วนตัว (in-seat personal telephone)

ขณะที่บางสายการบินล้ำหน้าไปถึงขั้น ”อินเตอร์เน็ตลอยฟ้า” เช่น ลุฟท์ฮันซ่าได้พัฒนาระบบ “Flynet” ซึ่งเป็นอินเตอร์เน็ตบรอดแบรนด์ไร้สาย หรือ “SkyOnline” ของเจแปนแอร์ไลน์ที่มีบริษัท Connexion by Boeing วางระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้ ขณะที่คาเธ่ย์ฯ มี “Tenzing” ซึ่งเป็นบริการรับส่งอีเมล์และระบบอินทราเน็ตเครือข่ายข้อมูลความเร็วสูงถึง 11 Mb/วินาที ซึ่งนับเป็นสายการบินแรก

สำหรับ in-flight entertainment ชั้นธุรกิจของเกือบทุกสายการบินจะทุ่มงบไม่น้อย ในระบบภาพ คือ จอส่วนตัวที่มีขนาดใหญ่กว่า 10” (จอที่นั่งชั้นธุรกิจรุ่นใหม่ของสายการบินส่วนใหญ่มีขนาด 10.4”) และระบบเสียงแบบ “personal theater” รวมถึงหลากโปรแกรมหนังและเพลงให้เลือกแบบ Audio-Video on Demand (AVOD)

สิงคโปร์แอร์ไลน์ใช้ระบบเสียง Dolby Headphone และ AVOD ให้เลือกกว่า 190 รายการ พร้อมเกม PC และ Nintendo กว่า 40 เกม ส่วนคาเธ่ย์ฯ ใช้ระบบเสียง StudioCX แทน และมี AVOD ให้เลือกกว่า 200 ชั่วโมง มีเกม Nintendo 30 เกมให้เลือก ขณะที่เจเปนแอร์ไลน์ใช้ระบบเสียง Magic ที่มีระบบหูฟังตัดเสียงรบกวน มีเกมให้เล่นราว 13 เกม เป็นต้น

เมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว สายการบินใดเสนอความสะดวกทางธุรกิจ ความบันเทิงที่ครบถ้วน และ “lie-flat seat” ได้ก่อนย่อมมีความได้เปรียบ (competitive advantage) เหนือสายการบินอื่น แต่ในปีนี้สายการบินต่างก็พากันปรับตัวไปทางเดียวกัน “ความสะดวกสบาย” ดังกล่าวจึงกลายเป็น “ความจำเป็นที่ต้องมี” บนสายการบินที่ต้องการดำรง “ความเป็นสายการบินชั้นนำ”

ปีหน้า สิ่งเหล่านั้นย่อมจะกลายเป็นบริการพื้นฐานที่ผู้โดยสารชั้นธุรกิจหวังจะได้รับจากสายการบินชั้นนำ และหากปรับปรุงได้ครบทุกเส้นทางก่อนก็ยิ่งได้เปรียบมากขึ้น ส่วนสายการบินที่ปรับตัวไม่ทันก็ย่อมเสียหายอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะสายการบินของชาติที่วาง “position” ของประเทศเป็น “Business Hub of Region” อย่างสิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ไทยที่พยายามจะเป็น

แม้จะยังไม่มีรายงานชัดเจนว่า การปรับคุณภาพเก้าอี้และอุปกรณ์ชั้นธุรกิจจะทำให้รายได้ของสายการบินเพิ่มขึ้นมากน้อยเท่าไร แต่ยงยุทธ ลุจินตานนท์ ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาดของคาเธ่ย์ฯ ให้ความเห็นว่า “รายได้ชั้นธุรกิจเพิ่มขึ้นทุกปี แม้ส่วนหนึ่งจะเป็นเพราะปัจจัยภายนอก แต่ความสบายของชั้นธุรกิจก็ช่วยกระตุ้นให้นักธุรกิจที่เคยนั่งชั้นประหยัดอัพเกรดมาทดลองใช้เพิ่มขึ้น ส่วนนักธุรกิจที่บินชั้นหนึ่งแต่ต้องการประหยัดงบก็พอใจมากขึ้นกับบริการชั้นธุรกิจ”

ขณะที่วิวัฒน์ สุขทรัพย์ ผู้จัดการฝ่ายขายและผู้โดยสารของสวิสแอร์ มองว่า “การปรับปรุงชั้นธุรกิจไม่ได้ส่งผลต่อรายได้มากนัก แต่ช่วยให้การโฆษณาประชาสัมพันธ์ทำได้ง่ายกว่าและได้รับความสนใจมากกว่า อันจะช่วยสร้างภาพลักษณ์และ “brand loyalty” ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งก็ถือว่าคุ้มค่าในการลงทุน”

วันนี้ “การบินไทย” ก็ตระหนักแล้วถึงการแข่งขันตรงนี้ จึงทุ่มทุนพัฒนาคุณภาพเก้าอี้ และอุปกรณ์บนเครื่องถึง 7 พันล้านบาท เป็นทุนเปลี่ยนเครื่องบินใหม่กว่า 4 พันล้านบาท (เพราะเครื่องที่ใช้อยู่ปัจจุบันค่อนข้างเก่า การเปลี่ยนเฉพาะเก้าอี้ และระบบ in-flight entertainment จึงไม่คุ้มค่า) โดยจะแล้วเสร็จต้นปีหน้าหากไม่มี “อะไร” ผิดพลาด

…ก็คงได้แต่หวังว่า “มาทีหลังจะดังกว่า” หรืออย่างน้อยก็ขอให้ “ดัง” เหมือนก่อน

Did you know?

จากข้อมูลของ SKYTREX Research ได้ผลโหวตว่า “Airline of the Year 2004” คือ 1.สิงคโปร์แอร์ไลน์ 2. เอมิเรตส์ 3. คาเธ่ย์ แปซิฟิก … ส่วนการบินไทยได้อันดับที่ 5 โดยได้คะแนนสูงจากอาหาร และบริการของลูกเรือ ขณะที่ฮาร์ดแวร์อย่างเก้าอี้ และอุปกรณ์บนเครื่องค่อนข้างล้าหลังพอกับความเก่าของเครื่อง

Website :

www.airlinequality.com (SKYTREX Research)
www.jal.co.jp/en
www.cathaypacific.com
www.thaiair.info
www.swissbangkok.info